"...กรณีนักศึกษามาตรการเยียวยา สาขาวิศวกรรมโยธา ที่มีความประสงค์จะถอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม นั้น เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารแบบถอนรายวิชาแล้ว ปรากฏว่า ลายมือชื่อของนักศึกษาบางคนไม่ได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และนักศึกษาทั้งหมดไม่ได้มาเรียนวิชาวัสดุวิศวกรรมตั้งแต่เปิดการเรียนการสอนในเทอมที่ 2 ปีการศึกษา 2556... "
วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มทร.ศรีวิชัย ได้เปิดการเรียนการสอนมาตรการเยียวยา นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา รุ่นปีการศึกษา 2549-2550 ซึ่งไม่มีสิทธิ์ขอสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรได้ เนื่องจากถูกสภาวิศวกรปฏิเสธการรับรองปริญญาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต รุ่นดังกล่าว โดยใช้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2551 ที่ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกรแล้ว
จากนั้น เมื่อทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2/2556 ปรากฏว่า อาจารย์ผู้สอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม ไม่ยอมลงลายมือชื่อในใบขอถอนรายวิชาและไม่ยอมส่งค่าระดับคะแนนในรายวิชาดังกล่าว จึงทำให้เกิดการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวขึ้น และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงขึ้น และอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย (ในขณะนั้น) ได้เห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2558
ขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้สอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรมรายดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนสาขาวิศวกรรมโยธา โครงการเยียวยา ของ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการฯ มทร.ศรีวิชัย โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความผิดปกติในการออกรหัสนักศึกษา อาจไม่มีการเรียนการสอนจริง (อ่านประกอบ : แฉปม มทร.ศรีวิชัย โดน ป.ป.ช.สอบจัดหลักสูตรเก๊ - เหตุสภาวิศวกรฯ ไม่รับรองปริญญานศ.)
คือ ข้อมูลเบื้องลึก ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยล่าสุด จากบุคลากร ภายในมทร.ศรีวิชัย ต่อกรณีปรากฎข่าวว่า ในช่วงเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายจิรทิปต์ โชติกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือ ที่ ปช 0040 (นศ)/1003 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2562 ถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) เพื่อขอทราบผลการดำเนินการทางวินัยหรือผลดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีข้อกล่าวหา นางสาว ก (นามสมมติ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีร่วมกันทุจริตในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551) (โครงการเยียวยา) กำหนดรหัสประจำตัวนักศึกษาไม่ตรงกับความเป็นจริง และให้คะแนนวัดผลโดยไม่มีการเรียนการสอนจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ มทร.ศรีวิชัย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช. จี้ มทร.ศรีวิชัย แจงผลสอบวินัย 'อดีตอธิการฯ-พวก' จัดสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธาเก๊ )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัญหาการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ตามมาตรการเยียวยา ในส่วนของ มทร.ศรีวิชัย ปรากฎข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้
ที่มาหลักสูตรและปัญหา
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ตามมาตรการเยียวยานักศึกษา จำนวน 46 คน ในภาคการศึกษาที่ 2/2556 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอน จำนวน 7 รายวิชา แต่รายวิชาวัสดุวิศวกรรม อาจารย์ผู้สอนมิได้ดำเนินการจัดส่งค่าระดับคะแนน (เกรด)
มูลเหตุเกิดจาก มทร.ศรีวิชัย ได้รับหนังสือจาก ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ที่ ศธ 0584.15/11 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2558 เรื่อง ขอรายงานผลการติดตามการส่งค่าระดับคะแนน รายวิชวัสดุวิศวกรรม ซึ่งอาจารย์ผู้สอนมิได้ดำเนินการจัดส่งค่าระดับคะแนน
โดยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พยานบุคคล จำนวน 4 ราย และพยานเอกสาร จำนวน 20 ฉบับ
ข้อเท็จริงรับฟังได้ว่า สภาวิศวกร ได้ปฏิเสธการรับรองปริญญาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ของ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มทร.ศรีวิชัย ทำให้นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา รุ่นปีการศึกษา 2549-2550 ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ไม่มีสิทธิ์ขอสมัครสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรได้
มทร.ศรีวิชัย โดย ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ จึงได้เสนอต่อ สภา มทร.ศรีวิชัย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเยียวยานักศึกษาหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา รุ่นปีการศึกษา 2549-2550 จำนวน 47 คน เพื่อให้นักศึกษามีสิทธิ์ขอสมัครสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งสภา มทร.ศรีวิชัย ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเยียวยาดังกล่าว โดยมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. ให้รับนักศึกษารุ่นปีการศึกษา 2549-2550 ที่ต้องเยียวยาทั้งหมดเข้าศึกษาตั้งแต่ภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2555 เป็นกรณีพิเศษ โดยศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551) ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาวิศวกรแล้ว และสามารถใช้ได้ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2551 ถึงปีการศึกษา 2555
2. ให้ยกเว้นค่าบำรุงการศึกษา ค่าลงทะเบียน ค่าสมัครสอบคัดเลือก ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ค่าธรรมเนียมการโอนรายวิชา ค่าคู่มือนักศึกษา ค่ากิจกรรม ค่าบริการคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย และค่าบำรุงห้องสมุด ตลอดหลักสูตร
3. ให้โอนหน่วยกิตทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กำหนด และระเบียบ มทร.ศรีวิชัย ว่าด้วยการเทียบโอนผลการเรียน พ.ศ. 2551
หลังจากนั้น ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินการจัดการเรียนการสอนสำหรับมาตรการเยียวยา นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศกรรมโยธา รุ่นปีการศึกษา 2549-2550 เพื่อประกาศให้อาจารย์ผู้สอนได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ดังนี้
1. อาจารย์ผู้สอนจะต้องส่งแผนการสอนก่อนเปิดภาคการศึกษา อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และส่งบันทึกการสอนหลังประกาศผลการสอบประจำภาคการศึกษา นั้น ๆ ไปแล้ว ไม่เกิน 1 สัปดาห์
2. ให้นับคาบสอนตามรายวิชาที่รับผิดชอบของอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านและสามารถนำคาบสอนดังกล่าวนี้ มาเพิ่มในภาระงานสอนตามปกติ
3. การดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นไปตามดุลยพินิจและความเหมาะสมของอาจารย์ผู้สอนและตามลักษณะของแต่ละรายวิชา (ทฤษฎี/ปฏิบัติ)
4. การวัดและประเมินผลทางการศึกษา เป็นหน้าที่และคามรับผิดชอบของอาจารย์ผู้สอน โดยพิจารณาจากพัฒนาการของนักศึกษา พฤติกรรมการเรียน การสอบ ซึ่งการวัดผลทางการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษาต้องไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อภาคการศึกษา หรือวิธีการอื่นใดที่กำหนดไว้ตามลักษณะของแต่ละรายวิชา (ทฤษฎี/ปฏิบัติ)
5. ในการประเมินผลให้เป็นไปตามข้อบังคับ มทร.ศรีวิชัย ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2551 หมวด 5 การวัดและประเมินผลการศึกษา
ต่อมา ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้มีการเชิญประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงการดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามมาตรการเยียวยาดังกล่าว จำนวนหลายครั้ง
เมื่อมีการเรียนการสอนนักศึกษาตามมาตรการเยียวยา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ปรากฏว่า นักศึกษามีความประสงค์จะถอนวิชาเรียน จำนวน 2 รายวิชา ได้แก่ วิชาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และวิชาวัสดุวิศวกรรม สำหรับภาคการศึกษาที่ 2/2556 โดยนักศึกษาได้ดำเนินการยื่นแบบถอนรายวิชาเรียน (ทบ.06) ต่ออาจารย์ผู้รับผิดชอบในการสอน โดยอาจารย์ทั้ง 2 ราย มิได้ลงลายมือชื่อตัวและสกุลในใบถอนรายวิชาให้นักศึกษา
ซึ่งต่อมา นาย ก (นามสมมติ) อาจารย์ผู้รับผิดชอบในการสอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม ได้มีหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีใจความสรุปได้ว่า กรณีนักศึกษามาตรการเยียวยา สาขาวิศวกรรมโยธา ที่มีความประสงค์จะถอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม นั้น เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารแบบถอนรายวิชาแล้ว ปรากฏว่า ลายมือชื่อของนักศึกษาบางคนไม่ได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และนักศึกษาทั้งหมดไม่ได้มาเรียนวิชาวัสดุวิศวกรรมตั้งแต่เปิดการเรียนการสอนในเทอมที่ 2 ปีการศึกษา 2556 และในขณะเดียวกันนาย ก อ้างว่า ได้รับตารางสอนเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2556 ตลอดจน ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเรียนการสอนของนักศึกษามาตรการเยียวยาดังกล่าวได้ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นนักศึกษาภาคปกติที่ต้องมาเรียนในเวลาปกติ คือจะต้องมาเรียนในวันจันทร์ถึงศุกร์
ต่อมา ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย ได้มีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการประจำ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯเพื่อขอเลื่อนกำหนดการอนุมัติและประกาศผลการศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 2/2556 สำหรับนักศึกษามาตรการเยียวยาฯ จากวันที่ 31 มี.ค. 2557 เป็นวันที่ 10 เม.ย. 2557 เนื่องจากมี 2 รายวิชา ที่นักศึกษามีความประสงค์จะขอถอนรายวิชา แต่อาจารย์ผู้สอนไม่ลงลายมือชื่อในแบบถอนวิชาเรียน ประกอบกับ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวตามลำดับและเวลาสรุปได้ดังนี้
- 4 เม.ย. 2557 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย ได้มีหนังสือถึง นาย ก และนาง ข (อาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชาโปรแกรมคอมพิวเตอร์) เรื่องแบบถอนรายวิชาเรียน ขอให้พิจารณาการถอนวิชาเรียนอีกครั้ง
- 31 ก.ค. 2557 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เรื่องขอให้ส่งผลค่าระดับคะแนนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม โดยขอให้สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแจ้ง นาย ก ส่งผลค่าระดับคะแนน
- 22 ส.ค. 2557 ผู้อำนวยการ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ มีหนังสือถึง นาย ก เรื่องขอให้ส่งผลค่าระดับคะแนน รายวิชาวัสดุวิศวกรรม (ครั้งที่ 1)
- 12 พ.ย. 2557 ตัวแทนนักศึกษาโครงการเยียวยามีหนังสือถึง ผู้อำนวยการ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ เรื่องขอสอบถามความคืบหน้าเกรด (ค่าระดับคะแนน) รายวิชาวัสดุวิศวกรรม
- 27 พ.ย. 2557 ผู้อำนวยการ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ มีหนังสือถึงนาย ก เรื่องขอให้ส่งผลค่าระดับคะแนน รายวิชาวัสดุวิศวกรรม (ครั้งที่ 2)
- 15 ธ.ค. 2557 ผู้อำนวยการ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ มีหนังสือถึงนาย ก เรื่องขอให้ส่งผลค่าระดับคะแนน รายวิชาวัสดุวิศวกรรม (ครั้งที่ 3)
หลังจากนั้นปรากฏว่า นาย ก ยังมิได้ลงลายมือชื่อในใบถอนรายวิชาให้นักศึกษา และไม่ดำเนินการจัดส่งค่าระดับคะแนนในรายวิชาวัสดุวิศวกรรม (ภายหลัง นาง ข ได้ส่งค่าระดับคะแนนวิชาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เหลือเพียง นาย ก ยังไม่ส่ง) ดังนั้น ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ จึงได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0584.15/11 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2558 มายัง มทร.ศรีวิชัย เพื่อรายงานผลกรณีอาจารย์ผู้สอนไม่ได้ดำเนินกการจัดส่งค่าระดับคะแนนของนักศึกษาตามมาตรการเยียวยาฯ ในรายวิชาวัสดุวิศวกรรม
ความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ผู้สอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม สำหรับนักศึกษามาตรการเยียวยา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ดำเนินการส่งค่าระดับคะแนนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร กล่าวคือ
ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้มอบหมายให้นาย ก เป็นอาจารผู้สอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม สำหรับนักศึกษามาตรการเยียวยาฯ เนื่องจากนาย ก เป็นอาจารย์ประจำรายวิชา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551) ตามหลักเกณฑ์ที่สภาวิศวกรรมรับรอง
ประกอบกับนาย ก ได้ยอมรับต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงว่า ได้รับมอบหมายให้มีการสอนรายวิชาวัสดุวิศกรรม ดังนั้น เมื่อนาย ก ได้รับทราบและยอมรับว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรรม นาย ก จึงต้องดำเนินการวัดผลและประเมินผลการศกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับ มทร.ศรีวิชัย ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2551
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า นาย ก มิได้ดำเนินการส่งค่าระดับคะแนนรายวิชาดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากมีข้อโต้แย้งในมาตรการเยียวยาฯ ในหลายประเด็น เช่น การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เป็นไปตามประกาศของ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ มีการขอเปลี่ยนวันในตารางสอนวิชาวัสดุวิศวกรรม เนื่องจากมีวันสอนที่ตรงกัน และไม่มีตารางเรียนรวมถึงรหัสของนักศึกษามาตรการเยียวยา โดยข้อโต้แย้งดังกล่าว ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้มีการชี้แจงไปยังนาย ก ในบางประเด็น ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่า นาย ก ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนรายวิชาวัสดุวิศวกรรม ก็ควรที่จะระบุในแบบสำรวจความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอน ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ได้จัดทำขึ้น โดย ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ขอความร่วมมือให้จัดส่งภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้วางแนวทางในเรื่องการจัดการเรียนการสอนได้
หรือหากนาย ก เห็นว่า การชี้แจงข้อโต้แย้งของ ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ยังไม่ชัดเจน ก็อาจลงชื่อในแบบถอนรายวิชาเรียนวัสดุวิศกรรม ของนักศึกษามาตรการเยียวยาฯ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่นักศึกษาหรือมหาวิทยาลัย
จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงทำให้เห็นว่า นาย ก ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามแบบแผนหรือนโยบายของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรงกับนาย ก ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ สังกัด ว.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมฯ ต่อไป
ความเห็นของผู้สั่งแต่งตั้ง (อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย (ในขณะนั้น) ผู้สั่งแต่งตั้ง) ลงวันที่ 31 ส.ค. 2558 : เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการและให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ประกอบด้วย รองฯ วิชาการ ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน และเจ้าหน้าที่นิติกร
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดผลการสืบสวนข้อเท็จจริง ปัญหาการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ตามมาตรการเยียวยา ในส่วนของ มทร.ศรีวิชัย
ก่อนที่เรื่องจะเงียบหายไป จนกระทั่งป.ป.ช. ทำหนังสือแจ้งถึง อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย เพื่อขอทราบผลการดำเนินการทางวินัยหรือผลดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว ตามที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอไปก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช. จี้ มทร.ศรีวิชัย แจงผลสอบวินัย 'อดีตอธิการฯ-พวก' จัดสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธาเก๊
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/