“…นี่คือข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับข้อครหา 6 รัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยอยู่ระหว่างการหารือนัดวันซักฟอกว่าจะใช้วันไหน และเวลาในการอภิปรายเท่าใด น่าสังเกตว่า รายชื่อรัฐมนตรีทั้ง 6 รายข้างต้น ล้วนมาจากสายพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดิมทั้งสิ้น ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ถูกอภิปรายแม้แต่รายเดียว…”
เคาะชื่ออย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับรัฐมนตรีที่จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี (ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีรัฐมนตรีถูกซักฟอกรวม 6 ราย ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (อ่านประกอบ : เป็นทางการ! เคาะแล้ว 6 รมต.ถูกซักฟอกมี'บิ๊กป้อม'ด้วย-เศรษฐกิจใหม่ถอนตัวฝ่ายค้าน)
สำหรับคอการเมืองรายชื่อข้างต้นคงไม่เซอร์ไพรส์มากนัก เพราะเป็นชื่อที่ถูกเคาะมาตั้งแต่หัววันแล้วว่า 6 รายนี้คือ ‘ตัวยืน’ ที่จะต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว
อาจมีแค่ชื่อของ ‘บิ๊กป้อม’ ที่ถูก ‘ชักเข้าชักออก’ เหมือนฝ่ายค้านลังเลว่าจะซักฟอกดีหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดก็เคาะชื่อเป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนได้
เพื่อให้สาธารณชนทราบที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อครหา 6 รัฐมนตรีดังกล่าว ดังนี้
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ภาพจาก https://thethaiger.com/)
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
แน่นอนว่า ‘บิ๊กตู่’ คือหัวขบวนเบอร์ 1 ของฝ่ายบริหาร มีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบหลายประการที่เกิดขึ้นในการบริหารประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะ 3 ประเด็นใหญ่คือ 1.ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่รุมเร้าเข้ามามากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัว ปัญหาการลงทุนที่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘บางประเทศ’ และ ‘บางกลุ่มทุน’ มากเกินไป แม้ว่าจะออกนโยบาย ‘หากิน’ อย่าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดยังถูกมองว่า เป็นการเอื้อให้ ‘กลุ่มทุนใหญ่’ ได้ผลประโยชน์มากกว่าชาวบ้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจ ‘ยักแย่ยักยัน’ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ยังมีปัญหาการวาง ‘โควตา’ บุคคลมากุมบังเหียนด้านเศรษฐกิจ เพราะยังใช้บริการ ‘จอมยุทธ์กวง’ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ รายเดิม โดยมี ‘ศิษย์ก้นกุฏิ’ อย่างนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง คุมการเงินการคลังของประเทศ ทว่ากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะโดน ‘พิษการเมือง’ เล่นงาน เนื่องจากกระทรวงเศรษฐกิจ ‘เกรด A’ หลายแห่ง ตกเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ?
2.การแก้ไขปัญหาด้านทุจริตของรัฐบาลชุดนี้ สะท้อนให้เห็นตั้งแต่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ที่ปรากฏชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (เป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายด้วย) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาคุณสมบัติ ทั้งกรณีกล่าวหาพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด จนเคยต้องโทษติดคุกที่ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงปัญหาเรื่องการใช้ยศ ‘ร้อยเอก’ ที่ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล หลายราย มีคดีความอยู่ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บางรายถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว เช่น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ บางส่วนด้วย แต่กลับไม่ได้ออก ‘แอ็คชั่น’ อะไร ทั้งที่เคยพูดมาตลอดในช่วง 5-6 ปีว่า จะมีมาตรการในเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริต ?
3.ประเด็นการสืบทอดอำนาจจากยุค คสช. เรื่องนี้คือประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านน่าจะยกมาโจมตีมากที่สุด โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 การแต่งตั้ง ส.ว. 250 ราย รวมถึงการตั้งกรรมการในองค์กรอิสระต่าง ๆ ในยุค คสช. ทำให้ถูกมองว่า ไม่มีความเป็นกลางเท่าที่ควร
(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ภาพจาก www.thairath.co.th)
สอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง
แม้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (2) ‘บิ๊กป้อม’ จะถูกลดบทบาทลงไปเหลือแค่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยความเป็น ‘พี่ใหญ่ 3 ป.’ จึงยังเรืองด้วยอำนาจบารมีอยู่ และน่าจะมีแผลใหญ่อยู่อย่างน้อย 2 กรณีคือ 1.ประเด็น ‘แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน’ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติข้างมากตีตกกรณีนี้ไปแล้วก็ตาม โดย ‘ค้านสายตา’ ประชาชนจำนวนมาก แต่ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบคือ ป.ป.ช. ยังคงไต่สวนอยู่อีก 1 ประเด็น คือกรณีกล่าวหาว่าเป็นการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พันบาทหรือไม่ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาดำเนินการแล้ว ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
2.ประเด็นคนใกล้ชิดถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงาน เช่น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ที่ถูกเด้งฟ้าผ่าเข้ากรุเป็นที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันไปบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่อยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า เด้งเพราะทำอะไรผิด หรือเกิดความไม่ชอบมาพากลในเรื่องใด นี่ยังไม่นับ 2 บิ๊กตำรวจที่เพิ่งโดนเด้งสด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘คนใกล้ชิด’ พล.อ.ประวิตร อีกเช่นกัน ?
(พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ภาพจาก www.posttoday.com)
สาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
บทบาทของ ‘บิ๊กป๊อก’ ทั้งในยุค คสช.เดิม และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (2) ดูเงียบขรึม และไม่หวือหวา หรือปรากฏผ่านหน้าสื่อมากนัก อย่างไรก็ดีมีอย่างน้อย 1 ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบกันนั่นคือ โครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก ก่อนหน้านี้ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเฉพาะประเด็นกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย 324 แห่ง นำไปสู่การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะแต่ละแห่งมูลค่าประมาณพันล้านบาท รวมทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
ท่ามกลางข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘บุตรชาย’ ของ ‘บิ๊กรัฐบาล’ ว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักเคยรายงานว่า ‘บุตรชาย’ คนนี้เคยมีกำหนดหารือนัดพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่งในประเด็นการกำจัดขยะมูลฝอย อย่างไรก็ดีมีการลบข้อมูลในส่วนดังกล่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เคยออกมาปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง ย้ำว่าไม่มีคนในครอบครัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวแน่นอน หากมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานให้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานตรวจสอบได้ ส่งผลให้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : พลิกปูมโครงการขยะมูลฝอย มท.แม่งาน ‘บิ๊กตู่’สั่งการ5ครั้ง-งบก้อนแรก2.7พันล., ร้อง ป.ป.ช.สอบ‘บิ๊กป๊อก’ปมสร้าง รง.กำจัดขยะ 3 แสนล.-‘ลูก’เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต)
(นายวิษณุ เครืองาม, ภาพจาก https://workpointnews.com/)
สี่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย
ฉายาที่สื่อทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ว่า ‘ศรีธนญชัยรอดช่อง’ ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะการแสดงความเห็นโชว์ ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ หลายครั้งของนายวิษณุ มีผลทำให้ฝ่ายรัฐบาลรอดพ้นจากการตรวจสอบแทบทุกครั้งไป ยกตัวอย่าง กรณีกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมหมวกเป็นหัวหน้า คสช.เดิม เป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายวิษณุ เคยแจงหลายครั้งว่า หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าชาวบ้านทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็น เพราะการตีความหลักกฎหมายหลายอย่าง ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐดังที่คาดกันไว้ ?
อีกประเด็นคือ กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและนอกสภา เนื่องจากปรากฏคลิปวีดีโอชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดคำถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุ ระบุว่า กรณีถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการยืนยันเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกับ ‘ความเห็น’ ของศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หากในอนาคตมีบุคคลกล่าวคำถวายสัตย์ฯไม่ครบ จะถือกรณีนี้เป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ ?
สำหรับนายวิษณุ พรรคอนาคตใหม่ เคยแถลง 'จองกฐิน' ขออภิปราย โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือเป็น 'ไม้เบื่อไม้เมา' กับนายวิษณุ มาหลายครั้ง นำทีมเอง รอดู 'กึ๋น' ความหักเหลี่ยมเฉือนคมของนักกฎหมายระดับ 'เซียน' ทั้ง 2 รายนี้กันอีกครั้ง
(นายดอน ปรมัตถ์วินัย, ภาพจาก www.thairath.co.th)
ห้า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้นายดอน เคยโดนข้อครหาตัวเอง และภริยา ถือครองหุ้นเกิน 5% ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 แต่รอดมาได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าได้โอนหุ้นตามกรอบเวลาที่กำหนด หลังจากเรื่องนี้ นายดอน ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อมากนัก นอกจากประเด็นรายวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยทั่วไป
กระทั่งต้นปี 2563 ชื่อของนายดอน กลับมาหราบนหน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อ ‘พลั้งปาก’ เผลอหลุดว่า สหรัฐอเมริกา ‘ส่งซิก’ ให้ประเทศไทย และประเทศในแถบอาเซียนทราบล่วงหน้าว่า จะมีการใช้ขีปนาวุธโจมตีผู้นำระดับสูงของอิหร่านจนเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างหนัก แม้ท้ายที่สุดกระทรวงการต่างประเทศจะออกมาแก้ข่าวว่า ‘เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน’ แต่คำพูดที่ปรากฏในวีดีโอของนายดอน ยังคงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยอยู่ ?
(ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, ภาพจาก www.bbc.com/thai)
หก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
‘ผู้กองธรรมนัส’ ถือเป็นหนึ่งใน ‘คีย์แมน’ สำคัญรัฐบาลชุดนี้ โดยเป็นกลุ่ม ส.ส. ขนาดใหญ่ภายในพรรคพลังประชารัฐ กุมเสียง ส.ส. ไว้จำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ในช่วงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อกลางปี 2562 ร.อ.ธรรมนัส ถูกสื่อประเทศออสเตรเลีย รวมถึงบีบีซี ตรวจสอบพบว่า เคยต้องโทษคดีค้ายาเสพติดที่ออสเตรเลีย โดยศาลออสเตรเลียเคยมีคำพิพากษาให้จำคุก ร.อ.ธรรมนัส ด้วย อย่างไรก็ดี ร.อ.ธรรมนัส ออกมาปฏิเสธ และยืนยันว่า ไม่เคยติดคุกที่ออสเตรเลีย พร้อมกับขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อในออสเตรเลีย และสื่ออื่น ๆ ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
ประเด็นนี้ถูกฝ่ายค้าน และประชาชนทั่วไปรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญจะสามารถดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีได้ แต่ด้วย ‘จริยธรรม’ ของนักการเมือง ไม่สมควรให้บุคคลที่เคยต้องโทษ ‘คดีร้ายแรง’ เช่นนี้เป็นรัฐมนตรี ทว่า ‘บิ๊กตู่’ มิได้ฟังคำทัดทานดังกล่าวแต่อย่างใด ยังคงตั้ง ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยังตรวจสอบพบประเด็นการโอนหุ้นในเครือ ‘ธรรมนัสกรุ๊ป’ อย่างน้อย 16 บริษัท ให้แก่บุคคลอย่างน้อย 7 ราย ได้แก่ น.ส.สุกัญญา โพธิ นางอริส พรหมผ่า (ภริยา ร.อ.ธรรมนัส) นายชัยวัฒน์ โลมากุล น.ส.กัญญรัตน์ การหมั่น (ผู้ช่วย ส.ส. ร.อ.ธรรมนัส) น.ส.พรพิชา การหมั่น กลุ่ม น.ส.ลักคณา ช่วงทิพย์ และ น.ส.วิภาดา เมืองโคตร
ในส่วนบริษัท ตลาดคลองเตย จำกัด นางอริสรา พรหมเผ่า โอนหุ้นจำนวน 5.1 แสนหุ้น มูลค่า 51 ล้านบาท ให้กับ น.ส.วิภาดา เมืองโคตร โดยจากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศราพบว่า ที่อยู่ของ น.ส.วิภาดา มีลักษณะเป็นห้องแถวชั้นเดียวใน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เท่านั้น ส่วน น.ส.กัญญรัตน์ ถูกตรวจสอบพบว่า มีชื่อรับโอนหุ้นจาก ร.อ.ธรรมนัส อย่างน้อย 3 บริษัท อีกด้วย (อ่านประกอบ : INFO: โครงข่ายโอนหุ้น 16 บริษัท ธรรมนัส พรหมเผ่า, มีคูหาเล็กๆ ก็ซื้อหุ้นได้! 'ธรรมนัส' แจงโอน บ.ตลาดฯ ให้กลุ่มนักลงทุนไม่ใช่แค่ 'วิภาดา')
นี่คือข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับข้อครหา 6 รัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยอยู่ระหว่างการหารือนัดวันซักฟอกว่าจะใช้วันไหน และเวลาในการอภิปรายเท่าใด
น่าสังเกตว่า รายชื่อรัฐมนตรีทั้ง 6 รายข้างต้น ล้วนมาจากสายพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดิมทั้งสิ้น ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ถูกอภิปรายแม้แต่รายเดียว แม้ว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมบางราย จะถูกตั้งข้อครหาหลายประการเช่นเดียวกับ 6 รัฐมนตรีข้างต้นก็ตาม ?
จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรอีกหรือไม่ ต้องรอตรวจสอบกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/