พลิกแฟ้มประวัติ 9 ผู้เข้ารอบสุดท้ายเข้ารับการสรรหาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ว่าง 2 เก้าอี้ พบ ‘ทหาร’ ชิงดำแค่ 1 เดียว ‘พล.ท.สุรพงศ์ เปรมบัญญัติ’ อดีตตุลาการพระธรรมนูญ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็น ‘ทนาย-อัยการ-ผู้พิพากษา-นักวิชาการ’
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปัจจุบัน เหลือกรรมการอยู่เพียงแค่ 7 ราย จากทั้งหมด 9 ราย เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการไป 2 ราย ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร เนื่องจากอายุครบ 70 ปี
สำหรับกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 1 คณะ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขึ้นมาคัดเลือก หลังจากได้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้ว ให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติ หากผู้ได้รับการเสนอชื่อได้รับเสียงข้างมากของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานวุฒิสภานำชื่อทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯต่อไป
ปัจจุบันกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. แทนเก้าอี้ที่ว่างลง 2 ราย อยู่ในช่วง ‘โค้งสุดท้าย’ แล้ว มีชื่อผู้ได้รับการสรรหารอบสุดท้าย 9 ราย โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้สัมภาษณ์ผู้เข้ารับการสรรหาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ก่อนเคาะ 2 ชื่อสุดท้าย เพื่อส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาต่อ (อ่านประกอบ : กรรมการสรรหาเคาะ 9 ชื่อผ่านคุณสมบัตินั่ง กก.ป.ป.ช. ว่าง 2 ที่-นัดสัมภาษณ์ 24 ม.ค.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พาไปทำความรู้จักผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 9 รายดังกล่าว ดังนี้
1.นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2496 ประวัติการศึกษาจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท Master of Comparative Law, George Washington University, USA และปริญญาโทอีกใบ Master of Law, University of Pennsylvania, USA
ปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ตำแหน่งทางราชการก่อนหน้านี้เคยเป็นอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ, อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี, อธิบดีอัยการ สำนักงานนโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณ, รองอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
ส่วนตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจเคยเป็นกรรมการอิสระ/กรรมการสรรหา/กรรมการบริหารความเสี่ยงในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
2.นายวิฑูลรย์ ศิริวิโรจน์
ปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานมูลนิธิ นอกจากนี้ยังเป็นทนายความผู้จัดการสำนักงาน เค.วี.เอส. ที่ปรึกษากฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยในช่วงเป็นกรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมฯ เคยมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทุจริตโครงการยกระดับฝีมือแรงงานจากน้ำท่วมปี 2554 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2563 พบว่า นายวิฑูลรย์ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท วี.เอส.ไฮจีนิก จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ และบริษัท วี.เอส.กรุ๊ป ทิมเบอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบธุรกิจ จำหน่ายไม้แปรรูป วัสดุก่อสร้าง
3.ว่าที่ร้อยตรี อำนวย อุปถัมภ์
ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นทนายความอิสระ หัวหน้าสำนักกฎหมายอุปถัมภ์และธุรกิจ เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อปี 2560 แต่มิได้รับการคัดเลือก
4.พล.ท.สุรพงศ์ เปรมบัญญัติ
เป็นนายทหารเกษียณอายุราชการ ประวัติการศึกษาจบศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.รามคำแหง จบรัฐศาสตร์บัณฑิตถึง 3 สาขา ได้แก่ สาขาปกครอง สาขาบริหารรัฐกิจ สาขาบริหารงานยุติธรรม ม.รามคำแหง จบเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 59 และนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตำแหน่งทางราชการล่าสุดก่อนเกษียณคือ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารสูงสุด ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 ผ่านเข้าสัมภาษณ์เป็น 1 ใน 4 แคนดิเดตนั่งเก้าอี้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่มิได้ผ่านการคัดเลือก
5.นายนิทรารัตน์ แพทย์วงศ์
พื้นเพเป็นคนสมุทรสงคราม ปัจจุบันเป็นประธานสภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม อดีตเคยเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งสมุทรสงคราม (กกต.จังหวัดสมุทรสงคราม) เคยเป็นรองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กกต. เมื่อปี 2560 แต่มิได้รับการคัดเลือก
6.ผศ.ธานี วรภัทร์
ปัจจุบันเป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมายอิสระ เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และหลักนิติศาสตร์ เขียนหนังสือทางด้านกฎหมายออกมาหลายเล่ม เช่น หลักการพื้นฐานในการทำวิทยานิพนธ์ทางกฎหมาย หลักการพื้นฐานของระเบียบวิธีวิจัยทางกฎหมาย หลักกฎหมายมาตรการบังคับทางอาญา เป็นต้น
7.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล็อตหลัง 33 รายเมื่อปี 2559 ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (1) เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใน สนช. เมื่อปี 2561 ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน
8.ว่าที่พันตรี สมบัติ วงศ์กำแหง
เกิดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2504 ปัจจุบันเป็นทนายความ และผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร จบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ม.รามคำแหง จบปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายธุรกิจ) ม.รามคำแหง เคยอบรมหลักสูตรวิชาการหลายแห่ง เช่น หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 5 ของสำนักงาน ป.ป.ช.
ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายนิติการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) อนุกรรมการสินเชื่อธนาคารนครหลวงไทย อนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธนาคารนครหลวงไทย คณะทำงานแก้หนี้ในสายงานพัฒนาสินทรัพย์และกฎหมาย เพื่อลดปัญหาหนี้ NPL คณะทำงานขายหนี้ NPL ธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น
ในทางการเมืองเคยเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงินในสภาผู้แทนราษฎร
9.นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์
ปัจจุบันเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ก่อนหน้านี้เคยเป็นประธานแผนกคดีผู้บริโภค ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการไต่สวนคดีทุจริต เคยเขียนหนังสือทางวิชาการชื่อ บทบาทของศาลยุติธรรมกับการดำเนินคดีทางการเมือง
ทั้งหมดคือผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายสุดท้าย ก่อนที่คณะกรรมการสรรหาฯจะเคาะเหลือแค่ 2 ชื่อ เพื่อส่งให้วุฒิสภาต่อไป ท้ายที่สุดใครจะ ‘เข้าวิน’ ต้องรอผลการสัมภาษณ์ในเร็ว ๆ นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/