"...ถ้าศาลฯบอกว่าให้โหวตใหม่เฉพาะวาระที่ 2 และ 3 ก็ไม่น่าช้า หรือถ้าศาลฯบอกว่าให้เริ่มใหม่ทั้งหมด และสภาฯเห็นตรงกันว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ วาระ 2 และ 3 ที่เห็นชอบไปนั้น ดีแล้ว ก็ขอโหวต 3 วาระรวด ซึ่งผมคิดว่าทำได้ แต่อยู่ที่ว่าจะใช้เวลาเท่าใด...”
นับเป็นสถานการณ์ที่สร้างความยุ่งยากให้กับการบริหารเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย และน่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องปวดขมับอีกหลายเดือน
เมื่อวิปรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 90 คน ยื่นเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การตราร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากพบว่ามี ส.ส.บางคน ‘เสียบบัตร’ แทนกัน ในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 2 และ 3
ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณของสำนักงบประมาณ ระบุว่า จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 27 ม.ค.2563 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้น อาจต้องเลื่อนออกไปอีก 1-2 เดือน
“ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จะโมฆะหรือไม่นั้น ยังสรุปไม่ได้ และไม่อยากให้ประชาชนมองโลกแง่ร้าย แม้ว่าเรื่องนี้จะส่งกระทบต่อประเทศในภาพรวม เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน แต่ตอนนี้ก็ได้ให้รัฐวิสาหกิจปรับแผนลงทุน และให้กระทรวงการคลังคิดแผนสำรองเอาไว้แล้ว” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา
ในขณะที่ อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแนวทางในการดำเนินงานต่อไปไว้ทุกช่องทางแล้ว ซึ่งรวมถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ หากพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เป็นโมฆะจริง
เป็นที่ทราบกันดีว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2563 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในปีที่แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล
แต่เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปีงบ 2563 ซึ่งเบิกจ่ายได้เพียง 50% ของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2562 อีกทั้งรัฐบาลไม่สามารถอนุมัติและก่อหนี้ในโครงการลงทุนใหม่ๆได้อีกหลายเดือน ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2563 ให้เติบโตได้ที่ 2.7-3.7% ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ไว้นั้น 'เป็นไปได้ยาก'
เพราะ 1 ใน 6 เงื่อนไขสำคัญ ที่สภาพัฒน์ฯ มองว่า จะผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ เติบโตได้ในกรอบ 2.7-3.7% นั้น การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ในภาพรวม จะต้องไม่ต่ำกว่า 92.3% และการเบิกจ่ายงบลงทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 70%
แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบ 2563 (ต.ค.-ธ.ค.2562) การเบิกจ่ายงบรวมอยู่ที่ 765,740 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.52% ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ส่วนการเบิกงบลงทุนทำได้เพียง 51,835 ล้านบาท ของวงเงินลงทุน 593,868 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.73% เท่านั้น
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 18 พ.ย.2562
ส่วนฟากฝั่งของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) แม้จะมีการประเมินว่าเศรษฐกิจปี 63 จะเติบโต 2.8% แต่ 1 ใน 4 ปัจจัยเสี่ยง ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ นั่นก็คือ "พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ที่อาจกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่าคาด รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่อาจล่าช้าและขาดความต่อเนื่องด้วย"
“เป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล เพราะอย่างที่เห็นกัน คือ ในช่วงที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ได้ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐในเดือนต.ค.-พ.ย.2562 ติดลบถึง 15% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถลงทุนโครงการใหม่ๆได้” พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org
พิพัฒน์ ยังกล่าวว่า “ในขณะที่ทุกคนรอให้พ.ร.บ.งบฯผ่าน แต่พอไม่ผ่าน ซึ่งตอนนี้ดีเลย์มาแล้ว 4 เดือน และมีโอกาสที่จะดีเลย์ต่อเนื่อง ก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะการใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้ากลายเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีวิธีหรือแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้มีงบประมาณมาใช้จ่ายได้เร็วแค่ไหน ตอนนี้จึงยังประเมินได้ยากว่าจะกระทบเศรษฐกิจเพียงใด”
พิพัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อใช้แทน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ว่า พ.ร.ก.กู้เงินฯ คงไม่ช่วยอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสิน ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาแล้วว่า การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลจะต้องทำผ่านพ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น และเรื่องนี้ก็เขียนไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่ทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทุกอย่างก็วนกันอยู่อย่างนี้
“วิธีที่น่าจะทำได้ คือ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกลับลงมาเร็วๆ ซึ่งถ้าศาลฯบอกว่าให้โหวตใหม่เฉพาะวาระที่ 2 และ 3 ก็ไม่น่าช้า หรือถ้าศาลฯบอกว่าให้เริ่มใหม่ทั้งหมด และสภาฯเห็นตรงกันว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ วาระ 2 และ 3 ที่เห็นชอบไปนั้น ดีแล้ว ก็ขอโหวต 3 วาระรวด ซึ่งผมคิดว่าทำได้ แต่อยู่ที่ว่าจะใช้เวลาเท่าใด” พิพัฒน์ ให้ความเห็น
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ขอบคุณภาพ mgronline.com
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 นั้น พิพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลขส่งออกในเดือนธ.ค.2562 มีสัญญาณดีขึ้นบ้าง แม้ว่าจะยังติดลบอยู่ 1.28% แต่ติดลบน้อยลง และเมื่อพิจารณาตัวเลขส่งออกของจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน พบว่ากลับมาเป็นบวกแล้ว สะท้อนว่าเศรษฐกิจภายนอกเริ่มกลับมา (turn around) และเริ่มมีหวังว่าการส่งออกไทยจะกลับมาเป็นบวกได้น้อยๆ
“ปีนี้ส่งออกจะเริ่มติดลบน้อยลง หรือบวกได้น้อยๆ ขณะที่การลงทุนและการบริโภคเอกชนยังไม่สัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งจริงๆแล้วเศรษฐกิจไทยไม่ได้เจอปัญหาหดตัว แต่เจอปัญหาโตน้อย และเราก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรเป็นพระเอกที่ดึงให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ ส่วนการท่องเที่ยว ตอนนี้มีเรื่องไวรัสโคโรน่า เข้าใจว่านักท่องเที่ยวจีนคงชะลอลงอีก” พิพัฒน์กล่าว
ด้าน กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปีนี้หลายฝ่ายต่างก็คาดหวังว่า บทบาทของภาครัฐในการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศจะต้องมากขึ้น แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีแนวโน้มล่าช้าออกไปอีก ส่งผลให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้อุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ยังมีปัจจัยลบที่ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ เช่น จากรายได้ที่ยังไม่โต หนี้สินครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ และความระมัดระวังในการปล่อยกู้ของธนาคาร เนื่องจากในช่วงหลัง NPLs มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ปีนี้น่าจะได้เห็นการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้
“ภาคการผลิตของประเทศใหญ่ๆ ได้เริ่มผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แม้ว่าการฟื้นตัวจะไม่เร็วนัก เพราะสงครามการค้ายังมีผลกระทบอยู่ กำแพงภาษียังมีอยู่ ส่วนไทย จะพบว่าการส่งออกในเดือนธ.ค.2562 ติดลบน้อยลง และน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีโอกาสฟื้นตัว ซึ่งเราคาดว่าจะเติบโตได้ 2.7% จากปีที่แล้วที่คาดว่าจะเติบโต 2.5% แต่ถือเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับศักยภาพที่ควรโตได้ปีละ 3-3.5%” กำพลกล่าว
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะงัด 'กลยุทธ์' ใด มาแก้เกมส์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซา ในขณะที่ 'กระสุน' ที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แทบไม่มีเหลืออยู่ในกระเป๋าแล้ว
และหากสุดท้าย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีอันต้อง ‘แท้ง’ ไป แล้วอย่างนี้ใครจะต้องผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
อ่านประกอบ : ล้วงคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ผ่าน 7 ปีเกิดขึ้นซ้ำรอดูบรรทัดฐาน?
90 ส.ส.ชง ปธ.สภาฯส่งศาล รธน.วินิจฉัยปมเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/