"...มอบหมาย ‘สมคิด’ รั้งตำแหน่ง ‘แม่ทัพน้อย’ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนให้พ้นจากภาวะ ‘ชะงักงัน’ และ ‘ลื่นไหล’ มากขึ้น ส่วนการทำงานของคณะกรรมการฯชุดนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับครม.เศรษฐกิจแต่อย่างใด และสามารถ ‘ชง’ เรื่องไปถึง ‘นายกฯ’ และ ‘ครม.’ ได้เองโดยตรง..."
ผ่านมาเกือบ 6 เดือนแล้ว กับการบริหารประเทศและเศรษฐกิจของ ‘รัฐบาลผสม’ จาก 6 พรรคการเมือง ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ทว่าในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เร่งอัดฉีด ‘เม็ดเงิน’ ทั้งจากเงินงบประมาณ และสินเชื่อจากแบงก์รัฐ คิดเป็นวงเงินกว่า 8-9 แสนล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางพายุสงครามการค้า กำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ภัยแล้ง น้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ และอาจต้องรอนานอีกหลายเดือน หลังจากวิปรัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญ 'วินิจฉัย' กรณีพบว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน
แต่เศรษฐกิจในประเทศยังคง ‘ชะลอตัว’ ความเชื่อมั่นใจของเอกชนและผู้บริโภค ‘หดหาย’ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.2562 ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.2557
เช่นเดียวกับการส่งออกที่อยู่ในภาวะ ‘ติดหล่ม’ ล่าสุด (22 ม.ค.) กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกไทยเดือนธ.ค.2562 พบว่า การส่งออกไทยยังคงหดตัว 1.28% ส่งผลให้ทั้งปี 2562 การส่งออกไทยติดลบ 2.65% เทียบกับปี 2561 ที่การส่งออกไทยเติบโต 6.7%
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ 22 ม.ค.2562
ในขณะที่การลงทุนเอกชนในเดือนพ.ย.2562 ยังส่งสัญญาณชะลอตัว เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง และการลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัว เห็นได้จากยอดขายปูนซิเมนต์ที่ติดลบ 2.2%
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนนั้น แม้ว่าจะยังขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค ผ่านการแจกเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการ 'ชิมช้อปใช้' แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ในเดือนพ.ย.2562 ที่ขยายตัว 3.7% จากเดือนก่อนที่ขยายตัวได้สูงถึง 6%
ที่มา : รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนพ.ย.2562 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ จะพบว่าไตรมาส 4/2562 หรือไตรมาส 1 ของปีงบ 2563 มีเบิกจ่ายงบได้แค่ 23% และเป็นงบลงทุนเพียง 8% เท่านั้น แต่ก็ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังมี ‘โชค’ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว
“งบลงทุนภาครัฐมีการเบิกจ่าย เฉพาะโครงการที่ลงนามสัญญาไปแล้ว เป็นเงินเพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่สามารถหมุนตามในสิ่งที่ควรจะหมุนได้” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวที ‘2020 ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณ ‘กระเตื้อง’ มากนัก ประกอบกับ ‘กลไก’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ‘คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ’ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะนั้น กลับกลายเป็นเวทีที่สร้าง ‘รอยร้าว’ ในพรรคร่วมฯ จนเกิดภาพสะท้อน ‘ทีมเศรษฐกิจ 3 ก๊ก’ และ ‘รัฐอิสระ’
ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 19/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา
พร้อมมอบหมาย ‘สมคิด’ รั้งตำแหน่ง ‘แม่ทัพน้อย’ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนให้พ้นจากภาวะ ‘ชะงักงัน’ และ ‘ลื่นไหล’ มากขึ้น ในขณะที่การทำงานของคณะกรรมการฯชุดนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับครม.เศรษฐกิจแต่อย่างใด และสามารถ ‘ชง’ เรื่องไปถึง ‘นายกฯ’ และ ‘ครม.’ ได้เองโดยตรง ซึ่งรวมถึงการเร่งรัดขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจอีกด้วย
“ครม.เศรษฐกิจจะดูในภาพรวม ส่วนคณะกรรมการฯที่รองนายกฯสมคิด เป็นประธาน จะเน้นไปที่การลงทุนที่พ่วงด้วยการเจรจาการค้า เพราะการดึงดูดการลงทุน คงจะไม่ใช่แค่การยกเว้นภาษีบีโอไอเท่านั้น แต่จะมีการเจรจาการค้าอื่นๆ เช่น การลงทุนที่อาจพ่วงด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน หรือมีการให้ benefit เพิ่ม” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
รัชดา ระบุว่า “การเจรจาการค้าของคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นใหม่ จะไม่ใช้การเจรจาการค้าที่เป็น Free Trade หรือ FTA แต่หัวใจ คือ การเจรจาทางการค้าเพื่อให้มีการลงทุน โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ที่จะมีมิติทางการค้าเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด”
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองโฆษกรัฐบาล ย้ำว่า การทำงานของคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นใหม่ จะไม่ซ้ำซ้อนกับครม.เศรษฐกิจแน่นอน แต่จะเป็นการทำงานร่วมกัน ส่วนที่คนมองว่า ‘ซ้ำซ้อน’ คงเป็นเพราะว่า ไม่มีการพูดคุยกันมากกว่า และคณะกรรมการชุดนี้ ก็มีรมว.คมนาคม และรัฐมนตรีหลายคนเป็นกรรมการ ดังนั้น งานอะไรที่ทำไปแล้ว ก็ใช้เวทีนี้พูดคุยกัน
ส่วนมุมมองรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จะเน้นการขับเคลื่อนการลงทุนในภาพรวมทั้งประเทศ และมองว่าการทำงานของคณะกรรมการฯ จะไม่ไปซ้ำซ้อนกับการทำหน้าที่ของครม.เศรษฐกิจ
“ครม.เศรษฐกิจจะดูในภาพรวม ส่วนการทำงานของคณะกรรมการฯชุดใหม่ จะเข้าไปช่วยให้การทำงานกระชับมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการใหม่ 41 โครงการ วงเงิน 170,665 ล้านบาท” ศักดิ์สยามกล่าว
ด้าน ‘กลินท์ สารสิน’ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เป็นแนวคิดที่ดี เพราะปัจจุบันแม้ว่านักทุนทั้งไทยและต่างชาติจะมีการลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง แต่ในบางเรื่องประเทศไทยต้องให้มีการแรงจูงใจเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้รัฐบาลต้องวิ่งเข้าไปหาว่าใครอยากจะลงทุนอะไร และบริษัทที่จะมาลงทุน เขาต้องการอะไรบ้าง ติดปัญหาอะไร เราสามารถช่วยเขาได้หรือไม่ อย่างตอนนี้บาทแข็ง นักลงทุนจะได้วิ่งเข้าไปหาว่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง และผมก็คิดว่าถ้าได้ท่านสมคิดมาดูแล ก็จะช่วยเหลือได้มาก” กลินท์กล่าว
กลินท์ ยังมองว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดใหม่ และครม.เศรษฐกิจ จะ ‘ขีดเส้นแบ่ง’ การทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนในส่วนของกระทรวงคมนาคม แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาคุยกัน ก็จะลดปัญหาซ้ำซ้อน
“สิ่งที่สำคัญ คือ รัฐมนตรีจากทุกพรรคต้องคุยกัน ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ต้องคุยกันให้มากขึ้น ยิ่งถ้ามีองค์กรใหม่ มีคณะกรรมการชุดใหม่ ถ้าไม่คุยกันก็เหมือนเดิม และที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมทุกพรรค ไม่ใช่ว่าเห็นไม่ตรงกัน แต่จะพบว่าแทบจะไม่คุยกันเลยมากกว่า ถ้าคุยกันก็ไปกันได้ และควรจะคุยกันมากกว่านี้” กลินท์กล่าว
ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และ 'ฉุดรั้ง' ให้เครื่องยนต์การส่งออกของไทยอยู่ในภาวะ ‘ติดๆดับๆ’ การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ จึงกลายเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 63 เติบโตต่อเนื่อง และเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่อย่างนี้ ก็จะทำให้อายุการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแต่จะหดสั้นลง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/