พลิกโพรไฟล์การเมือง-ทรัพย์สิน-ธุรกิจ 3 ผู้สมัครท้าชิงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนที่ 18 ‘พล.ต.อ.สมยศ’ สมบัติ 358 ล้าน ‘บังยี’ คัมแบ็ค รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่ง กก.บริษัท 3 แห่ง ‘ภิญโญ’ ส.ส.ลายคราม นครสวรรค์ พปชร. รวย 50 ล้าน
เวียนมาอีกคำรบ!
สำหรับการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคราวที่แล้วเมื่อปี 2559 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เอาชนะนายชาญวิทย์ ผลชีวิต หรือ ‘โค้ชหรั่ง’ อดีตผู้จัดการทีมชาติไทยชื่อดัง (ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. เมื่อปี 2562) ไปอย่างขาดลอยด้วยคะแนน 72 ต่อ 4 เสียง ขณะที่ ‘บังยี’ นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ 3 สมัย ถูกสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) แบนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558
มาคราวนี้ ‘บังยี’ หวนคืนกลับมาทวงบัลลังก์อีกครั้ง ในการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ วันที่ 12 ก.พ. 2563 มีผู้สมัครท้าชิงรวม 3 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายวรวีร์ มะกูดี และนายภิญโญ นิโรจน์ อดีตอุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมัย ‘บังยี’ เป็นนายกสมาคมฯ (อ้างอิงข่าวจากเว็บไซต์ โกลประเทศไทย)
ใครเป็นใคร? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปโพรไฟล์ทางการเมือง-ทรัพย์สิน-ธุรกิจ ของผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้ง 3 ราย ดังนี้
(พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง นายกสมาคมฯคนปัจจุบัน)
@พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่าเคยเป็นอดีต ผบ.ตร. มาก่อน หลังจากเกษียณราชการ ได้ผันตัวเองเข้าสู่แวดวงฟุตบอลไทย โดยสื่อหลายสำนักรายงานอ้างว่า ได้รับการสนับสนุนจากสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผลักดันจนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนที่ 17
ในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อปี 2557 พล.ต.อ.สมยศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อมาช่วงปี 2561 ได้แจ้งลาออก แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นจากตำแหน่ง สนช. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 358,683,700 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 3,313,473 บาท
แบ่งเป็น พล.ต.อ.สมยศ มีทรัพย์สิน 262,802,209 บาท แบ่งเป็น เงินฝาก 6,223,731 บาท เงินลงทุน 74,285,877 บาท เงินให้กู้ยืม 109,000,000 บาท ที่ดิน 40,792,600 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 ล้านบาท ยานพาหนะ 5 แสนบาท ทรัพย์สินอื่น (ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกา และพระเครื่อง) 30 ล้านบาท มีหนี้สิน 3,313,473 บาท
มีรายได้รวม 11,370,659 บาท แบ่งเป็น รายได้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 805,269 บาท สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1,320,390 บาท สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย 3,645,000 บาท บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด 3 ล้านบาท และบริษัท ไทยลีก จำกัด 2.6 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 12 ล้านบาท และเงินบริจาคทำบุญหรือเกี่ยวกับการกุศล 8 ล้านบาท
ส่วนนางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง คู่สมรส มีทรัพย์สิน 95,881,491 บาท แบ่งเป็น เงินฝาก 8,415,241 บาท เงินลงทุน 8,822,300 บาท ที่ดิน 45.3 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 23,343,950 บาท ทรัพย์สินอื่น (ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับ) 10 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน
มีรายได้รวม 38,237,369 บาท แบ่งเป็น รายได้จากบริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์ จำกัด (ระบุว่าเป็นรายได้จากการชำระหนี้) 15,117,369 บาท และขายที่ดิน 3 โฉนด เลขที่ 274632, 71524 และ 71525 (ที่ดินอยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทั้งหมด) เป็นเงิน 23,120,000 บาท มีรายจ่ายรวม 1.5 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 1.2 ล้านบาท และเงินบริจาคทำบุญหรือเกี่ยวกับการกุศล 3 แสนบาท
(นายวรวีร์ มะกูดี หรือบังยี อดีตนายกสมาคมฯ 3 สมัย)
@นายวรวีร์ มะกูดี
นายวรวีร์ มะกูดี หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘บังยี’ เคยเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯถึง 3 สมัย ดำรงตำแหน่งมา 8 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงการบริหารงานของเขา ต่อมาเมื่อปี 2558 สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) สั่งแบนนายวรวีร์ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางฟุตบอลเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง
อย่างไรก็ดีในปี 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษายกฟ้องกรณี ‘บังยี’ ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสารในการแก้ไขข้อยังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หลังจากนั้นเมื่อปี 2561 ศาลอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา (ซีเอเอส) ยกเลิกโทษแบนจากฟีฟ่าแล้ว แต่ได้ทำการตักเตือน และปรับเงินจำนวน 5,000 ฟรังก์สวิสแทน (อ้างอิงข่าวจาก สปริงนิวส์ออนไลน์)
สำหรับ ‘บังยี’ หลายคนทราบดีว่ามีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย โดยเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเมื่อปี 2547 ต่อมาได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และในปี 2553 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หลังจากนั้นในปี 2554-2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย
กระทั่งหลังรัฐประหารบทบาททางการเมืองของ ‘บังยี’ เงียบหายไป จนก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 นายวรวีร์ ปรากฏชื่อเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ‘บังยี’ เป็นกรรมการบริษัท/หจก. อย่างน้อย 4 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ยังดำเนินกิจการอยู่ 3 แห่ง เสร็จชำระบัญชีแล้ว 1 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท สก๊อต อาร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 29/2 ม.10 แขวงหนองจอก เขตหนอกจอก กทม. แจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจดอกเบี้ยรับ ปรากฏชื่อ นายวรวีร์ มะกูดี และนายคริสโตเฟอร์ โทมัส ฮิวม์ เป็นกรรมการ โดยมีบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้น 51% สัญชาติอังกฤษ 28% และสัญชาติมาเลเซีย 21%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 1,019 บาท รายจ่ายรวม 22,642 บาท ขาดทุนสุทธิ 21,623 บาท
2.บริษัท วี.เอวิเอชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2560 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 121/2 ซ.รามอินทรา 60 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. แจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจดอกเบี้ยรับ ปรากฏชื่อนายวรวีร์ มะกูดี เป็นกรรมการรายเดียว ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยทั้งหมด
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 2,945 รายจ่ายรวม 84,562 บาท ขาดทุนสุทธิ 81,616 บาท
3.บริษัท อันมาฮี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 11/11 ม.1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. แจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไปโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง ปรากฏชื่อนายวรวีร์ มะกูดี เป็นกรรมการรายเดียว โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้น 51% และสัญชาติซาอุดิอาระเบีย ถือหุ้น 49%
ยังไม่แจ้งงบการเงินปี 2561 เมื่อปี 2560 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 11,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 11,000 บาท
ส่วนบริษัทที่เสร็จชำระบัญชีไปแล้ว ได้แก่ หจก.อาร์มสตรองโอเวอร์ซีส์เซอร์วิส จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2526 ตั้งอยู่ที่ 61 ถ.สี่พระยา แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กทม. แจ้งวัตถุประสงค์การทำธุรกิจกิจการค้าเครื่องนุ่งห่ม ปรากฏชื่อ นายวรวีร์ มะกูดี นายชาญ เกียรติศิลปิน และ น.ส.สุมิตรา แม้นมินทร์ เป็นหุ้นส่วน มีนายวรวีร์ มะกูดี เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
(นายภิญโญ นิโรจน์ อดีตอุปนายกสมาคมฯสมัยบังยี-ส.ส.นครสวรรค์ พปชร.)
@นายภิญโญ นิโรจน์
นายภิญโญ นิโรจน์ ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ เคยเป็น ส.ส. ถึง 6 สมัย โดยเป็น ส.ส.นครสวรรค์ 5 สมัย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 สมัย เคยเป็นอดีตเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ปี 2538 อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ระหว่างปี 2542-2543 อดีตประธานกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2555-2558 เคยเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดนครสวรรค์ และประธานที่ปรึกษามูลนิธิการศึกษาเทศบาลนครสวรรค์
แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ระบุสถานะว่าหม้าย มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 50,507,315 บาท ได้แก่ เงินสด 2 แสนบาท เงินฝาก 27,315 บาท ที่ดิน 29,160,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 6.7 ล้านบาท รถยนต์ 1.4 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 13,020,000 บาท ไม่มีหนี้สิน
มีรายได้ต่อปี 1,599,220 บาท ได้แก่ เงินประจำตำแหน่ง 1,362,720 บาท เงินบำเหน็จบำนาญ ส.ส. 92,500 บาท เบี้ยประชุม 144,000 บาท มีรายจ่ายรวม 7.2 แสนบาท ได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 แสนบาท เงินบริจาค 1.2 แสนบาท
ทั้งหมดคือโพรไฟล์ของผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนที่ 18 ที่ล้วนเป็น ‘หน้าเดิม’ ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยทั้งสิ้น
ส่วนใครจะได้เป็นนายกสมาคมฯ วันที่ 12 ก.พ. 2563 รู้ผลแน่นอน !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/