“...การต่ออายุสัมปทานทางด่วนในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น 30 ปี หรือ 15 ปี กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ ถ้ากฎหมายไม่เอื้อแล้วไปต่ออายุ ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี...”
หลังจากเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งระเทศไทย (กทพ.) วาระพิเศษ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จำนวน 17 คดี วงเงินพิพาทรวม 58,873 ล้านบาท และคาดว่าจะเสนอมติที่ประชุมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนม.ค.นี้
สำหรับเงื่อนไขสำคัญของแนวทางการยุติข้อพิพาท ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ
1.กทพ.จะขยายอายุสัมปทานทางด่วนให้กับ BEM จำนวน 3 โครงการ เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือนได้แก่ การขยายอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C ที่จะสิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ.2563 ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน, การขยายอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย.2570 ออกไปอีก 8 ปี 6 เดือน และการขยายอายุสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่จะสิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย.2569 ออกไปอีก 9 ปี 1 เดือน
2.ไม่นำการก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงประประชาชื่น-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทาง 17 กม. วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท เข้ามาอยู่ในเงื่อนไขการยุติข้อพิพาท
3.กรณีที่อายุสัมปทานสิ้นสุดลง กทพ.จะให้ BEM ได้รับสิทธิ์ต่ออายุสัมปทานได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยจะเริ่มเจรจาในช่วง 1 ปี 4 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน และไม่ใช่การต่อสัมปทานแบบอัตโนมัติ
4.ทาง BEM ยอมรับเงื่อนไขการยกเว้นค่าผ่านทางช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดอายุสัมปทาน
“ในสัปดาห์นี้ผมจะนัดสหภาพแรงงาน กทพ. มาทำความเข้าใจ และขอยืนยันว่าในฐานะกรรมการได้ทำหน้าที่ครบถ้วนทั้ง 2 หน้าที่ คือ สนองนโยบายของกระทรวง และดูแลผลประโยชน์ขององค์กรให้ดีที่สุด ซึ่งผมและกรรมการท่านอื่นได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว” นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ดกทพ.ระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเจรจายุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ.และ BEM จะยุติลงแล้ว หลังการเจรจายืดเยื้อมากว่า 1 ปี แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายก็ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางและเงื่อนไขในการยุติข้อพิพาทดังกล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา โดยย้ำว่า ทางออกที่ดีที่สุดของการยุติข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน คือ ไม่ควรขยายอายุสัญญาสัมปทาน และให้กทพ.สู้ทุกคดี หากแพ้ก็นำรายได้จากค่าทางด่วนไปจ่าย
“หากคดีใดแพ้ก็จ่ายไป เพราะจากการประมาณการรายได้ของ กพท. พบว่าหากสัมปทานทางด่วนกลับมาเป็นของ กทพ. ในช่วง 15 ปี กทพ.จะมีรายได้กว่า 3-3.5 แสนล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก็ไม่ได้แพงเกินไป และยังทำให้ลดลงได้อีก ซึ่งกทพ.สามารถนำเงินตรงนี้มาทยอยจ่ายให้ BEM ได้ ส่วนคดีไหนชนะก็ไม่ต้องจ่าย” นพ.ระวีกล่าว
นอกจากนี้ จากการสอบถามอัยการที่เข้ามาให้ความเห็นในคดีข้อพิพาททางด่วนกับคณะกรรมธิการฯ ทางอัยการ 2-3 รายที่มาให้ความเห็นบอกว่า "สู้ได้ และทางอัยการก็อยากสู้คดีด้วย ไม่อยากให้ยอมแพ้"
แต่หากสุดท้ายแล้ว หากกระทรวงคมนาคม และกทพ.ยืนยันว่า จะใช้วิธีต่ออายุสัมปทานเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี นพ.ระวี เห็นว่า กทพ.ควรลดอายุการต่อขยายสัมปทานลงมาเหลือ 12 ปี ไม่ใช่ 15 ปี 8 เดือน เพราะด้วยระยะเวลา 12 ปี ทาง BEM จะมีรายได้และกำไรในระดับที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าวงเงินข้อพิพาทด้วยซ้ำ
นพ.ระวี ยังตั้งข้อสังเกตว่า การแถลงผลประชุมบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ประธาน บอร์ดกทพ. ไม่ได้มีการพูดถึงการปรับขึ้นค่าทางด่วนเลยถือว่าเป็นการ 'หมกเม็ด' หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ กทพ.ได้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯว่า หากต่ออายุสัมปทานให้ BEM ในสัญญาที่ทำขึ้นใหม่จะยังคงอนุญาตให้ BEM ปรับขึ้นค่าทางด่วนในกรอบ 10 บาท ทุกๆ 10 ปีตามเดิม
“ผมทราบข้อมูลมาว่าคณะทำงานพิจารณายุติข้อพิพาททางด่วน เตรียมเสนอครม.เห็นชอบในเงื่อนไขสัญญาที่กำหนดให้ BEM สามารถปรับขึ้นค่าทางด่วน 10 บาททุกๆ 10 ปีตามเดิม ซึ่งผมเห็นว่าการปรับขึ้นค่าทางด่วนในกรอบ 5 บาท ทุกๆ 10 ปี ก็ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว” นพ.ระวีระบุ
นพ.ระวี มาศฉมาดล
ส่วนเงื่อนไขที่กทพ.จะต้องให้สิทธิ์กับ BEM ในการต่ออายุสัมปทานได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี หลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทาน 15 ปี นั้น นพ.ระวี ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขนี้ แต่ควรนำสัมปทานดังกล่าวมาเปิดประมูลเป็นการทั่วไปมากกว่า เพราะเมื่อมีการแข่งขัน ก็จะทำให้กทพ.ได้เงื่อนไขและค่าตอบแทนที่ดีที่สุด แทนที่จะให้สิทธิ์ BEM ต่ออายุสัมปทานก่อน
“ในการประชุมสภาฯสัปดาห์หน้า ผมจะยื่นกระทู้ถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อขอให้เบรกเรื่องนี้เอาไว้ก่อนที่จะเสนอมติบอร์ดกทพ.เข้าครม. รวมทั้งจะขอให้กทพ.ไปพิจารณาหาวิธีมาว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้” นพ.ระวีกล่าว
นพ.ระวี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “การต่ออายุสัมปทานทางด่วนในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น 30 ปี หรือ 15 ปี กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ ถ้ากฎหมายไม่เอื้อแล้วไปต่ออายุ ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี”
น.ส.ยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) กล่าวว่า สหภาพฯไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี เพราะตอนนี้กทพ.ยังไม่ได้แพ้คดีทั้งหมด ส่วนตัวเลขความเสียหายที่หยิบยกมาพูดกันก็เป็นสิ่งที่บอร์ดคิดกันเองทั้งนั้น
“เราคัดค้านเต็มที่ เพราะคดีที่ยกขึ้นมาพูดกันศาลฯยังไม่ตัดสิน และไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่ามูลหนี้ที่บอกกันว่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า อย่างในช่วงเดือนก.ย.2562 มีคดีหนึ่งที่อยู่ใน 17 คดี ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กทพ.ชนะ เพราะคดีหมดอายุความ และมีหลายคดีที่มีลักษณะแบบนี้ แต่ทำไมบอร์ดจึงคิดเอาเองว่าเราจะแพ้รวดทุกคดี” น.ส.ยุวธิษากล่าว
ส่วนกรณีที่กทพ.จะให้สิทธิ์ BEM ต่ออายุสัมปทานอีก 2 ครั้งหลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานนั้น น.ส.ยุวธิษา ระบุว่า การให้สิทธิ์กับ BEM ในลักษณะนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจะเป็นสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้ กทพ. เสียเปรียบในอนาคต และหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นมาอีกแล้ง กทพ. แพ้ ก็ต้องขยายอายุสัมปทานให้เอกชนตลอดไปเลยหรือ
“บอร์ดบอกว่า เอกชนได้ฟ้องร้องกทพ.และเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาล แล้วก็มาบอกให้เรายอมแพ้ พอยอมแพ้แล้ว ก็จะให้ต่อสัมปทานให้เอกชน ทั้งๆที่สัญญาที่กำลังร่างกันอยู่นั้น เราไม่รู้เลยว่าไปเอาตัวเลขความเสียหายมาจากไหน อีกทั้งในปัจจุบันกทพ.มีประเด็นพิพาทเอกชนอีกมาก หากต่อไปเราแพ้อีก ก็ต้องต่ออายุสัมปทานให้เอกชนตลอดไปอย่างนี้เลยหรือ” น.ส.ยุวธิษาระบุ
น.ส.ยุวธิษา ระบุว่า ที่ผ่านมาสหภาพฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หลายครั้งแล้ว และอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ ฟังเหตุผลของสหภาพฯ ส่วนทางออกในการยุติข้อพิพาทนั้น สหภาพฯมองว่า แนวทางที่เหมาะสม คือ หากคดีใดแพ้ก็พิจารณาขยายอายุสัมปทานตามความเสียหายจริงแลกกับการถอนฟ้องเป็นคดีๆไป
“เราพยายามสู้กับแทบตาย แล้ววันหนึ่งมีคนไปนอนฝัน แล้วบอกว่าเราจะแพ้ เพราะเงินมันเยอะ ทำไมไม่บอกว่าถ้าจะแพ้ถึงขนาดนั้น ก็ควรวางแผนไว้ก่อน เงินของกทพ.มี ก็วางแผนเก็บเงินไว้ ถ้าแพ้คดีก็จ่ายเงินให้เอกชนไป และที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นบอร์ดไปขุดคุ้ยหรือไปดูเลยว่า ใครบ้างที่ทำให้กทพ.ต้องเสียหายอย่างนี้” น.ส.ยุวธิษากล่าว
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่า บทสรุปของการยุติข้อพิพาททางด่วนมูลค่านับแสนล้าน แลกกับการต่ออายุสัมปทานให้เอกชน 15 ปี จะยุติลงอย่างใด และนี่เป็นหนึ่งในเผือกร้อนที่ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ต้องตัดสินใจชี้ขาดเป็นคนสุดท้าย
ขอบคุณภาพ www.naewna.com
อ่านเพิ่มเติม ผู้ว่า กทพ.ถอดใจจ่อลาออก ปมต่อสัญญาทางด่วน “บีอีเอ็ม” 15 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/