"...เราไม่รู้ว่าราคาที่เขาเสนอมามีการซัพซิไดซ์ (subsidized) แต่มันสะเทือนกันไปหมด ซึ่งร.ฟ.ท.ต้องสร้างความมั่นใจว่าราคาระดับนี้ต้องทำได้ และถามว่าถ้าโครงการนี้เราต้องซื้อวัสดุจีน และของจีน ค่าบริหารโครงการกลับไปที่จีนหมด ไทยจะได้อะไร..."
นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ภายใต้กรอบวงเงิน 179,412 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 จะพบว่าตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา การดำเนินโครงการฯมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงความคืบหน้าการโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ว่า ปัจจุบันมีงานโยธาที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมี 2 สัญญา และงานโยธาที่บอร์ดร.ฟ.ท.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างลงนามสัญญา 2 สัญญา
ขณะที่ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ทาง ร.ฟ.ท.จะเสนอผลประมูลงานโยธาให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3 สัญญา ส่วนงานโยธาที่เปิดประมูลไปแล้วอีก 5 สัญญา ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯอยู่ระหว่างการพิจารณา และหากคณะกรรมการคัดเลือกฯเห็นชอบ ก็จะทยอยเสนอบอร์ดร.ฟ.ท.ต่อไป
ส่วนงานโยธาที่อยู่ระหว่างจัดทำ TOR อีก 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-1 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ (กม.11)-ท่าอากาศยานดอนเมือง (11.83 กม.) รวมงานปรับปรุงและเชื่อมต่อสถานีท่าอากาศยานดอนเมือง และสัญญา 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย นั้น ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าลงนามสัญญาได้ได้ในกลางปีนี้
“ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าจะเซ็นสัญญางานโยธาทุกสัญญาให้ได้ภายในกลางปีนี้ ซึ่งรวมถึงสัญญา 4-1 และสัญญา 4-4 ที่อยู่ระหว่างจัดทำ TOR ด้วย และคาดว่ารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา จะเปิดให้บริการในปี 2566” นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวถึงความหน้าการลงนามสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร กับฝ่ายจีนว่า ในช่วงที่ผ่านมา บอร์ด ร.ฟ.ท.มีมติอนุมัติสกุลเงินที่ใช้ในโครงการฯแล้ว ซึ่งจะใช้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และสำนักงานอัยการสูงสุดก็เห็นชอบร่างสัญญาไปแล้ว
“สัญญา 2.3 ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดรถไฟฯไปแล้ว และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พิจารณาต่อไป” นายวรวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงทั้ง 11 สัญญารอบนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์การ ‘รุกคืบ’ ของ ‘บริษัทจีน’ ซึ่งเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้รับเหมาไทย และได้มีการ ‘ดัมพ์’ ราคาประมูลลงมาสู้กับผู้รับเหมาของไทย จนสามารถคว้าสัญญางานโยธามาได้ 2 สัญญา
ได้แก่ สัญญา 4-2 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงดอนเมือง-นวนคร โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า SST ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด จากจีน, บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ,และบริษัท ทิพากร จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลไปด้วยราคา 8,626 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 26.55%
และสัญญา 4-3 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงนวนคร-บ้านโพ กลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด จากจีน, บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลที่ราคา 11,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 15.34%
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การเข้ามาของบริษัทจีน โดยเฉพาะบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลระดับมณฑลของจีนอย่างน้อย 30% ถือว่าสร้างผลกระทบให้ผู้รับเหมาไทยอย่างมาก และจะพบได้ว่าบริษัทจีนที่ร่วมกับพันธมิตรไทยเข้าประมูลงานฯ สามารถเสนอราคาได้ต่ำมาก
และแม้ว่าการประมูลงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ร.ฟ.ท.จะเป็นประมูล แต่ปรากฏว่าสเปกของวัสดุต่างๆ เช่น เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ กำหนดโดยฝ่ายจีน ซึ่งตรงนี้ทำให้ผู้รับเหมาไทยเสียเปรียบ กระทั่งล่าสุดผู้รับเหมาไทยต้องต่อรองเพื่อขอใช้เหล็กไทยที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน แต่ก็ยุ่งยากกันพอสมควร
“เราไม่รู้ว่าราคาที่เขาเสนอมามีการซัพซิไดซ์ (subsidized) แต่มันสะเทือนกันไปหมด ซึ่งร.ฟ.ท.ต้องสร้างความมั่นใจว่าราคาระดับนี้ต้องทำได้ และถามว่าถ้าโครงการนี้เราต้องซื้อวัสดุจีน และของจีน ค่าบริหารโครงการก็กลับไปที่จีนหมดแล้วไทยจะได้อะไร แต่ถ้าใช้ของไทย ซัพพลายเออร์ไทย เงินก็หมุนเวียนอยู่ในไทย” นายอังสุรัสมิ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยมีนายหวัง เสี่ยวเทา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชน ร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่มาภาพ : thaigov.go.th
นายอังสุรัสมิ์ ยังระบุว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การประมูลงานมีการแข่งขันสูง คือ ในช่วงที่เปิดประมูลงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ เป็นช่วงที่รัฐบาลแทบไม่มีการเปิดประมูลงานใหม่ๆเลย ทำให้ผู้รับเหมาไทยหลายรายต้องเข้ามาตะลุมบอนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายประมูลโครงการดังกล่าว
นายอังสุรัสมิ์ ทิ้งท้ายว่า “ในเมื่อการลงทุนโครงการนี้เป็นเงินกู้ของไทย น่าจะให้ผู้รับเหมาไทยได้แข่งขันกัน และเศรษฐกิจไทยจะได้หมุนเวียน และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่การประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รัฐบาลจะสนับสนุนให้บริษัทรับเหมาไทยเข้ามาดำเนินการ”
การรุกคืบเข้ามาของ ‘บริษัทจีน’ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะทำให้การประมูลโครงการมีการแข่งขันราคากัน ‘ดุเดือด’ ขึ้น แต่ก็สะท้อนให้เห็น ‘นัยยะ’ ของการพึ่งพิงด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนได้เป็นอย่างดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/