สะดุดหรือราบรื่น ปี 63 กับนโยบายแบน 3 สารเคมี ภายใต้การนำของ 'พล.อ.ประยุทธ์' หลังคกก.วัตถุอันตราย พลิกมติยืดยกเลิก 'พาราควอต -คลอร์ไพริฟอส' จำกัดใช้ 'ไกลโฟเซต'
นโยบายการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะไม่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วภายในปี 2563 จะสามารถทำได้จริงหรือไม่
แม้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะมีมติเอกฉันท์ 24 เสียง เมื่อ 27 พ.ย. 2562 พลิกมติเมื่อ 22 ต.ค. 2562 เปลี่ยนเป็นให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563
ส่วนสารไกลโฟเซต ให้ยังคงจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 จากเดิมที่เคยมีมติให้แบนทั้ง 3 สารเคมี
นายสุริยะ อ้างเหตุผลในขณะนั้นหากมีการยกเลิกในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 22 ต.ค. 2562 จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชอาหารที่ยังคงมีการนำเข้าอยู่ และเหตุผลที่มีมติให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่า ยังมีการใช้ใน 160 ประเทศ
ท่าทีของนายสุริยะในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เข้ามานั่งเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในเวลานั้นนายสุริยะพูดชัดเจนสอดรับกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เห็นด้วยให้มีการแบน
การพลิกมติดังกล่าว ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างมาก ทั้งจากฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ในด้านท่าทีของกรมวิชาการเกษตร ที่มี ‘เสริมสุข สลักเพ็ชร์’ นั่งในตำแหน่งอธิบดี ยังคงปิดปากเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายเพียงสั้น ๆ เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชน ว่าให้เข้าใจ เมื่อต้องทำงานในตำแหน่งภายใต้ความขัดแย้ง
ขณะที่ นายอนุทิน และน.ส.มนัญญา ถึงกับประกาศกร้าว จะขอคืนกรมวิชาการเกษตรไปให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ดูแล แลกเปลี่ยนกับกรมชลประทาน แต่จนถึงเวลานี้ยังไร้ความชัดเจน ถึงกระนั้น นายอนุทินยังยืนยันในฐานะทำหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน จำเป็นต้องแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด
9 ธ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งให้นายอนุทิน เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณามาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับการยกเลิกการใช้ ก่อนส่งข้อมูลให้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตราย
ถือเป็นการออกตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในนโยบายเรื่องนี้ แม้จะไม่เต็มที่เสียทีเดียว แต่มองในอีกแง่มุม ไม่ถึงกับละเลย และยังเป็นผลงานของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่น่าจับตา
สถานการณ์ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา พร้อมตัวแทนของสภาวิชาชีพและองค์กรผู้แทนประกอบอาชีพทางด้านการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เข้าพบนายอนุทิน เพื่อยื่นหนังสือเร่งรัดรัฐบาลยุติการใช้สารเคมี 3 ชนิด
ขณะเดียวกันได้นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกเภสัชกรและนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ต่อการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี อย่างเร่งด่วนผ่านสื่อออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 12-23 ธ.ค. 2562 โดยมีการแสดงเจตนารมณ์ของเภสัชกรและนิสิตนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 2,356 คน (ร้อยละ 93.2) ที่สนับสนุนการยกเลิกใช้อย่างเร่งด่วน
ด้านประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมองโอกาสความเป็นไปได้ในการแบนถาวร ต้องดูว่ากระบวนการนำไปสู่การแบนนั้นเป็นอย่างไร และดูด้วยว่า กรมวิชาการเกษตรมีการวิจัยหาสารชีวพันธุ์ในแต่ละปีไปถึงไหนแล้ว ผลเป็นอย่างไร ทั้งนี้ จะขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจตรอบการใช้งบประมาณดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ พร้อมจะขอรายงานที่ประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ต.ค. และ 27 พ.ย. 2562 เพื่อนำมาพิจารณาว่าดำเนินการรอบคอบหรือไม่
ปี 2563 จึงเป็นปีที่ต้องจับตากันต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำรัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จะ ‘สะดุด’ หรือ ‘ราบรื่น’ ในการเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นประเทศปลอด 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หรือเล่นเกมยื้อเวลาต่ออายุไขไปเรื่อย ๆ แม้จะครบกำหนด โดยอ้างว่า ไม่มีสารเคมีทดแทน ดังเช่นอดีตเสมอมา .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :ผู้ตรวจการแผ่นดินเดินหน้าเร่งรัดแบน 3 สารเคมี
'อนุทิน' ชี้มติยืดเเบนสารเคมี ไม่เป็นเอกฉันท์ กก.สัดส่วน สธ.ยันให้ยกเลิก
รับไม่ได้มติคกก.วัตถุอันตราย “ชาดา” ลั่นคืนกรมวิชาการเกษตร ให้รมว.ดูแล
คกก.วัตถุอันตราย มติเเบน 3 สารเคมีเกษตรเสี่ยงสูง
มติเอกฉันท์ 24 เสียง ยืดแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต”
ภาพประกอบ:https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000013924
รองศาสตราจารย์ ดร.ศริศักดิ์ สุนทรไชย