"....อดิศัยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และบริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที ออกไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2539 ก่อนที่ราคาหุ้นของบริษัทจะรูดลงอย่างหนัก ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวทราบฐานะการเงินของบริษัทมากกว่าบุคคลภายนอกหรือนักลงทุนทั่วไป จึงถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลภายใน ในการซื้อขายหุ้น...แต่การเปรียบเทียบปรับสำนักงาน ก.ล.ต. ปิดเป็นความลับ..."
"คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับนายอดิศัย โพธารามิก ฐานเป็นตัวการร่วมกับผู้กระทำความผิดจำนวน 4 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2559 ที่ ค.ม.พ. ได้มีมติให้ ก.ล.ต. ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากปรากฏพฤติการณ์ที่นายอดิศัยร่วมรู้เห็นตกลงกันกับผู้กระทำความผิดรายอื่นในการใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 4 บัญชี ซื้อขายหุ้น JAS ในลักษณะพยุงราคาและทำราคาปิด โดย ค.ม.พ. กำหนดให้นายอดิศัยชำระค่าปรับทางแพ่ง 500,000 บาท"
คือ สาระสำคัญในข่าวประชาสัมพันธ์ของ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับ นายอดิศัย โพธารามิก กรณีเป็นตัวการร่วมในการสร้างราคาหุ้น JAS ให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง 500,000 บาท ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการ ในช่วงเย็นวันที่ 25 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งปรับ 5 แสน 'อดิศัย โพธารามิก' รู้เห็นสร้างราคาหุ้น จัสมิน)
แต่ถ้าหากสาธารณชนยังพอจำกันได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ ก.ล.ต.สั่งปรับเงิน นายอดิศัย จากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 2541 นายอดิศัย เคยถูก ก.ล.ต. สั่งปรับเงินมาแล้ว เป็นวงเงินสูงถึง 69.4 ล้านบาท
ข้อมูลเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยอยู่ในบทความเรื่อง 'รัฐมนตรีอินไซเดอร์' จากหนังสือ ทักษิณกับพวก ของ สำนักพิมพ์ openbooks วางจำหน่ายเมื่อปี 2549
ระบุเนื้อหาว่า "....ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังบูมเต็มที่ อดิศัย โพธารามิก ก็อาศัยสถานการณ์นี้ขยายธุรกิจโทรคมนาคมอย่างรวดเร็ว เช่น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นเนล บริษัท ทีทีแอนด์ที ผู้ได้รับสัมปทานโทรศัพท์ในภูมิภาค 1.5 ล้านเลขหมาย
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าการลงทุนในโครงการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมายต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากต้องจ่ายส่วนแบ่งให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในสัดส่วนที่สูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวตกลงอย่างหนัก
ปรากฏว่า อดิศัยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และบริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที ออกไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2539 ก่อนที่ราคาหุ้นของบริษัทจะรูดลงอย่างหนัก
ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวทราบฐานะการเงินของบริษัทมากกว่าบุคคลภายนอกหรือนักลงทุนทั่วไป
จึงถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลภายใน ในการซื้อขายหุ้น จึงดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2541 กว่า 200 ล้านบาท
แต่การเปรียบเทียบปรับสำนักงาน ก.ล.ต. ปิดเป็นความลับ
โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ถูกดำเนินคดีว่า ถ้ายอมเสียค่าปรับก็จะไม่ยอมเปิดเผยชื่อต่อสาธารณะ แต่ถ้าไม่ยอมก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
เมื่อมีโอกาสงามเช่นนี้ มีหรือที่ผู้ต้องหาจะไม่เอา เพราะเสียเงินดีกว่ายอมเสื่อมเสียชื่อเสียง ถือเป็นทางเลือก
สำหรับนักธุรกิจที่ร่ำรวย ผิดกับคนยากจนที่กฎหมายไม่เปิดช่องให้เลือก
แต่แล้วก็มีผู้สื่อข่าวได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นเรื่องขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเมื่อเดือนมกราคม 2541
แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธ
ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จึงมีมติให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544
เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ อดิศัย เข้ามาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวในนามพรรคไทยรักไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และมีโอกาสจ่อคิวได้เป็นรัฐมนตรี
ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะคือ อดิศัยขายหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที โดยใช้ข้อมูลภายในไปกว่า 3.8 ล้านหุ้น (มากกว่ามาร์ธา สจวร์ต 950 เท่า) โดนสำนักงาน ก.ล.ต. ปรับเป็นเงินกว่า 69.4 ล้านบาท บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นบริษัทเดียวกัน 15.8 ล้านหุ้น ถูกปรับกว่า 141 ล้านบาท
ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า การขายหุ้นในลักษณะการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก (ประชาชน)
การเอาเปรียบนั้นสะท้อนถึงคุณธรรมและจริยธรรมในระดับใด มีความเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเสนาบดีหรือไม่?
แต่แล้วในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณก็แต่งตั้งบุคคลผู้นี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงศึกษาธิการ 2 สมัย
ขณะที่สังคมไทยมีแต่ความเงียบ.... "
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ของ นายอดิศัย ในอดีตตั้งแต่ช่วงปี 2541 ที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ณ วันนี้ วันเวลาผ่านมาแล้ว 21 ปี นายอดิศัย ถูก ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งปรับเงินอีกครั้ง
ขณะที่สาเหตุยังคงมาจากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เหมือนเดิม
บริบทต่างกันก็เพียงแค่ วงเงินที่ถูกสั่งปรับครั้งนี้ อยู่แค่หลักแสน นายอดิศัย ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีบทบาททางการเมืองอะไรอีก ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลของ ก.ล.ต. ก็ไม่ได้มีข้อตกลง เป็นความลับสุดยอดอะไรเหมือนดั่งเช่นในอดีตที่ผ่านมา
----------------
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นายอดิศัย โพธารามิก เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และเป็นบิดาของนายพิชญ์ โพธารามิก ซึ่งถูก ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น บมจ. จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์รวม 59.10 ล้านบาท ไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ก.ล.ต.ปรับ"พิชญ์ โพธารามิก-พวก"59 ล.อินไซเดอร์ซื้อหุ้น JTS)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/