“…ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะในการคำนวณคะแนนใหม่คราวนี้ ไม่ใช่แค่ลุ้นว่า น.ส.พิมพ์รพี จะได้เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือไม่ แม้แต่นายอิสระ ยังต้องร้อน ๆ หนาว ๆ ลุ้นด้วยว่า ตัวเองจะถูกคัดออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากผลการคำนวณคะแนนใหม่หรือไม่ด้วย…”
นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่พรรคสีฟ้า ‘ประชาธิปัตย์’ กำลังระส่ำระส่ายอย่างหนัก!
ภายหลังตัดสินใจล่มหัวจมท้ายกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2) แต่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งที่ผ่านมา มักเล่นเกมการเมืองแสดงความไม่พอใจมติของวิปฝ่ายรัฐบาลหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีล่าสุด การโหวตตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่ง คสช. หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กมธ.ศึกษา ม.44 มี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อย 6 ราย โหวตสวนมติวิปรัฐบาล นำไปสู่ความไม่พอใจจาก ‘บิ๊กรัฐบาล’ เป็นอย่างมาก
ทำให้เอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลกำลังสั่นคลอนอีกครั้ง โดยมีรายงานข่าวว่า อาจมีการปรับคณะรัฐมนตรีในซีกของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ?
นอกเหนือจากรอยร้าวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับซีกพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ความแตกแยกภายในพรรคก็กำลังคุกรุ่นไม่แพ้กัน
ที่ผ่านมาภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ ‘เบอร์ 1’ พร้อมกับลาออจากการเป็น ส.ส. หลังจากนั้นมีสมาชิกพรรค และอดีตผู้สมัคร ส.ส. หลายรายทยอยลาออก
รายล่าสุดได้แก่บุคคลเก่าแก่ของพรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.หลายสมัย อดีต รมว.ยุติธรรม ยุคนายอภสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และอดีตแคนดิเดตร่วมชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังนายอภิสิทธิ์ลาออก
โดยในช่วงเฟ้นหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ นายพีระพันธุ์ ถือเป็นหนึ่งใน ‘ตัวเต็ง’ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสีฟ้า พร้อมข้อครหาว่าได้รับการสนับสนุนจาก ‘คลื่นใต้น้ำ’ กลุ่มอดีต กปปส. ภายในพรรค อย่างไรก็ดีนายพีระพันธุ์ปฏิเสธ กระทั่งผลการเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเป็นลำดับ 2 (37.21% หรือ 82 คะแนน) จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงโหวต 309 ราย แพ้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ได้ 50.59% หรือ 135 คะแนน
แม้ว่าจะพ่ายในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่นายพีระพันธุ์ ยังคงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 แต่หลังจากนั้นไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองมากนัก กระทั่งยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 วรรคแปด ระบุชัดเจนว่า ส.ส. จะพ้นสภาพเมื่อลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ (อ่านประกอบ : กางรธน.'พีระพันธ์ุ' ลาออก ปชป.พ้น ส.ส.ด้วย 'พิมพ์รพี' ขยับขึ้นตำแหน่งแทน)
“เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้คิดจะย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดหรือพรรครัฐบาล ตอนนี้ขอพักผ่อนก่อน ส่วนอนาคตทางการเมืองค่อยว่ากันอีกครั้ง” เป็นคำยืนยันจากนายพีระพันธุ์ เปิดใจให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักหลังลาออกจากสมาชิกพรรคสีฟ้า
ทั้งนี้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 150 ราย มีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จำนวน 23 ราย โดยลำดับสุดท้ายที่ได้รับการเลือกตั้งคือ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 23
ดังนั้นหากยึดตามรัฐธรรมนูญ เมื่อนายพีระพันธุ์ ลาออกจากสมาชิกพรรค และพ้นสภาพ ส.ส. ทำให้ต้องมีการขยับ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป คือลำดับที่ 24 น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน
(นายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.จันทบุรี, ภาพประกอบจาก Youtube)
แต่เงื่อนปมที่น่าสนใจคือ ขณะที่มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.จันทบุรี ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิสมัคร สิทธิเลือกตั้ง และดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 159 หลังตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่าในช่วงปราศรัยหาเสียง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ และจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม จึงเข้าข่ายเป็นความผิด
สำหรับผลการเลือกตั้งเขต 2 จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ชนะเป็นลำดับ 1 ด้วยคะแนน 28,750 คะแนน นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลำดับ 2 ด้วยคะแนน 27,766 คะแนน ส่วนนายชาติชาย วรพิพัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับ 3 ด้วยคะแนน 19,711 คะแนน
เงื่อนปมถัดไปคือ หากท้ายที่สุดศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง กกต. กรณีนี้ การเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินไปตามปกติคือ น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล จะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่หากศาลฎีกาฯ มีความเห็นตามคำร้องของ กกต. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายชาติชาย จะมีผลให้ต้องคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของ ‘ทุกพรรคการเมือง’ ใหม่อีกครั้ง โดยตัดคะแนนของนายชาติชาย จำนวน 19,711 คะแนนออกไป
ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะในการคำนวณคะแนนใหม่คราวนี้ ไม่ใช่แค่ลุ้นว่า น.ส.พิมพ์รพี จะได้เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือไม่ แม้แต่นายอิสระ ยังต้องร้อน ๆ หนาว ๆ ลุ้นด้วยว่า ตัวเองจะถูกคัดออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากผลการคำนวณคะแนนใหม่หรือไม่ด้วย
และไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ต้องกังวลกับประเด็นนี้ เพราะการคำนวณคะแนนใหม่เกิดกับทุกพรรคการเมือง ดังนั้นอาจมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอื่นอาจต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. ด้วยก็เป็นไปได้เช่นกัน ?
นี่เป็นอีกเงื่อนปมความระส่ำระส่ายภายในพรรคประชาธิปัตย์ นอกเหนือจากรอยร้าวกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเองก็หนักหนาไม่แพ้กัน !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/