พลิก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 60 กำหนดไว้อย่างไร? ก่อน ทบ.จัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจาก บ.ดาต้าเกท 850 ล. จ้างฝึกนักบินช่าง 85 ล.
ประเด็นตรวจสอบ กรณี กองทัพบกโดยกรมการขนส่งทหารบก ได้ออกประกาศให้ บริษัท ดาต้าเกท จำกัด เป็นผู้ได้รับคัดเลือกในการเสนอราคา จัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงิน 850 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 และ จ้างฝึกนักบินและช่างอากาศยาน ตามโครงการ จัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จากบริษัท ดาต้าเกท จำกัด ในราคา 84,999,997.50 บาท (อ่านประกอบ: ทบ.ฉลุย! จัดซื้อ ฮ.กู้ภัย 1 ลำ 850 ล.วิธี ‘เจาะจง’บ.ดาต้าเกท - จ้างฝึกนักบินอีก 84.9 ล.)
ขณะที่ มีรายงานข่าวจากกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ชี้แจงว่า สาเหตุที่การจัดซื้อจัดจ้างในระยะที่ 3 ใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงแทนจีทูจี เพราะทางรัสเซีย ได้ทำหนังสือแต่งตั้ง บริษัทดาต้าเกทฯ เป็นตัวแทนในประเทศไทยเป็นทางการ แตกต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างครั้งที่ผ่านมา รัสเซีย ไม่ได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ขส.ทบ. เลยต้องบินไปซื้อจากประเทศรัสเซียโดยตรงครั้งนั้นจึงต้องใช้วิธีจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ
“การที่จะซื้อเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อนี้ แล้วเป็นผลิตภัณฑ์นี้ แล้วมีตัวแทนคนเดียวในประเทศไทย ก็ต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งตามระเบียบเป็นแบบนี้เลย ถ้าหากมีตัวแทนกัน 2 ราย เราก็จะใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งการแต่งตั้งตัวแทนนั้นเป็นเรื่องปกติมาก ถ้าหากประเทศนั้นจะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเป็นบริษัทในประเทศอื่นๆ แต่ถ้าหากเขาไม่แต่งตั้งเราก็ซื้อตรงจากต่างประเทศ” นายทหารกรมการขนส่งทหารบกระบุ (อ่านข่าวประกอบ: 'รัสเซีย' ให้ซื้อของผ่านตัวแทน! ขส.ทบ.แจงเหตุ ฮ.Mi 17V-5 ระยะ3 ใช้วิธีเจาะจงแทนจีทูจี)
พลิก พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาดูกันหน่อยว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หน่วยงานของรัฐทำได้ในกรณีใดได้บ้าง?
หมวด 6 การจัดซื้อจัดจ้าง ระบุว่า
มาตรา 54 บทบัญญัติในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ยกเว้นงานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
มาตรา 55 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทำได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้
(3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคารวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง
มาตรา 56 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน
เว้นแต่
(2) กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
(ก) ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มี ผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบ ด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
(ง) มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(จ) พัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้นโดยมูลค่าของพัสดุที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของต่างประเทศ
(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
(ซ) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงตาม (1) (ซ) หรือ (2) (ซ) ให้เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม
หรือสนับสนุนตามมาตรา 65 (4) ก็ได้ หากรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงตาม (๒) (ซ) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรา 65 (4) แล้ว เมื่อหน่วยงานของรัฐจะทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้นให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตาม (2) (ซ) ก่อน
ในกรณีหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศหรือมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจง โดยไม่ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อนก็ได้
รัฐมนตรีอาจออกระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดอื่นของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามวรรคหนึ่ง
เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ (ดูเอกสาร)
จากข้อมูลเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 8 ข้อ กรณีจัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงิน 850 ล้านบาทนั้น ที่ ขส.ทบ. อ้างนั้นน่าจะอยู่ในเงื่อนไข มาตรา 56 (ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
หรือไม่?
กระนั้นไมว่าจะใช้ ‘ช่อง’ อย่างไร? แต่สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ เท่ากับโครงการนี้ไม่ได้จัดซื้อแบบจีทูจีโดยตรง แต่เป็นการจัดซื้อผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้า? ไม่มีข้อมูลว่ามีการแต่งตั้งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการหรือไม่?
อ่านเรื่องประกอบ:
'รัสเซีย' ให้ซื้อของผ่านตัวแทน! ขส.ทบ.แจงเหตุ ฮ.Mi 17V-5 ระยะ3 ใช้วิธีเจาะจงแทนจีทูจี
พลิกข้อมูล ทบ. จัดซื้อ ฮ.Mi 17V-5 จีทูจี จากรัสเซีย ไฉน!ระยะที่ 3 ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
เบื้องหลังสืบราคากลาง บ.ดาต้าเกท! ก่อน ทบ.จ้าง ฝึกนักบิน-ช่าง ฮ.กู้ภัย 84.9 ล.
ทบ.ฉลุย! จัดซื้อ ฮ.กู้ภัย 1 ลำ 850 ล.วิธี ‘เจาะจง’บ.ดาต้าเกท - จ้างฝึกนักบินอีก 84.9 ล.
ฮ.Mi 17V-5 รัสเซีย 1.5 พันล.! สืบราคากลางจากสถานทูต-ประกาศไม่ได้ระบุจีทูจี
ฉลุย!ทบ.จัดซื้อ ฮ.Mi 17V-5 รัสเซีย 2 ลำ 1.5 พันล. ก่อนปิดงบฯ 1 วัน-บินเซ็นสัญญาแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/