"...จากการตรวจสอบพบว่า มีรถยนต์ที่ได้รับมอบตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2557 ยังไม่ได้จดทะเบียน จำนวน 128 คัน และรถยนต์ที่ยังไม่ต่อทะเบียน จำนวน 24 คัน คิดเป็นร้อยละ 74.42 และร้อยละ 54.55 ของจำนวนที่ตรวจสอบ ซึ่งอาจส่งผลให้ทรัพย์สินของทางราชการเกิดการสูญหายได้ เช่นเดียวกับ วิทยุสื่อสารแบบมือถือจำนวนมากที่ไม่ได้มีการใช้งาน ถึง 629 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 57.08 ของ จำนวนที่ตรวจสอบ ส่งผลให้รัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงเกินความจำเป็น และครุภัณฑ์เกิดความชำรุดเสียหายด้วย..."
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีภารกิจหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน การป้องกัน บรรเทาและฟื้นฟูจากสาธารณภัย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ จึงทำให้หน่วยงานแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อไว้ใช้สำหรับจัดหาเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์สาธารณภัย ในการปฏิบัติงานตามภารกิจต่างๆ ประจำไว้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต (ศูนย์ปภ. เขต) ทั้ง 18 เขต ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานจัดหาเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์สาธารณภัย ของ ปภ. ดังกล่าว กลับมีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติหลายประการ ทั้งกระบวนการจัดหา และการควบคุมดูแลที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ส่งผลให้รัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงเกินความจำเป็น ครุภัณฑ์เกิดความชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบการจัดหาเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์สาธารณภัย เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานบรรเทาและฟื้นฟูสาธารณภัยให้กับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2557 รวมวงเงินทั้งสิ้น 8,130.93 ล้านบาท
พบว่า มีความไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดสรรเครื่องจักรกล ยานพาหนะบางประเภทก็ไม่เหมาะสมกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ ปภ. เขต ส่งผลให้เครื่องจักรกลยานพาหนะใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า รวมทั้งศูนย์ปภ. เขต มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องจักรกลที่จอดรองาน
ส่วนการดำเนินงานในส่วนของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต พบว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานของชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (Emergency Response Team : ERT) โดยจากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนชุด ERT ให้ไปสังกัดส่วนงานสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย จำนวน 6 เขต ไม่กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการฝึกสมรรถนะทางร่างกายจำนวน 7 เขตไม่กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการฝึกซ้อม ฝึกปฏิบัติฝึกใช้เครื่องมืออุปกรณ์จำนวน 6 เขต ตลอดจนไม่ตรวจสอบและจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ยานพาหนะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเสมอจำนวน 4 เขต ซึ่งส่งผลให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัยได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และประชาชนหรือผู้ประสบภัยอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ขณะที่การควบคุมการใช้เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่มาพร้อมกับเครื่องจักรกล ยานพาหนะ ก็พบว่าไม่เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่กำหนดเช่นกัน โดยจากการตรวจสอบพบว่า ศูนย์ ปภ. เขตทั้ง 10 เขต ไม่จัดทำทะเบียนประวัติเครื่องจักรกลจำนวน 70 คัน/ลำ และจัดทำรหัสควบคุมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มาพร้อมยานพาหนะไม่ครบถ้วน และไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จำนวน 508 รายการ คิดเป็นร้อยละ 18.47 และร้อยละ 56.82 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบตามลำดับ ตลอดจนการเก็บรักษาเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์ไม่เหมาะสม และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยจัดเก็บยานพาหนะประเภทรถไว้ลานกลางแจ้งและโรงจอดรถชั่วคราวซึ่งมีสภาพเก่าและชำรุดทรุดโทรม จำนวน 5 เขตและจัดเก็บเรือไว้ลานกลางแจ้ง รวมทั้งจัดเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ที่มาพร้อมกับเรือไม่เหมาะสมจัดวางไม่เป็นหมวดหมู่กระจัดกระจายจำนวน 8 เขต
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบปัญหาว่า ในรายงานการปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรกลนั้นยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือที่กำหนด ไม่จัดทำสมุดรายงานการปฏิบัติงานประจำวัน (แบบ วก.1-3)สำหรับยานพาหนะจำนวน 111 คัน รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปการใช้งานเครื่องจักรกลประจำเดือน (แบบ วก.1-7 ) ไม่ครบทุกเดือนและไม่บันทึกข้อมูลสถานะการทำงานจริงของเครื่องจักรกล จำนวน 71 คัน คิดเป็นร้อยละ 67.68 และร้อยละ 76.34 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบตามลำดับ ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนบริหารเครื่องจักรกลยานพาหนะ รวมทั้งเครื่องมือ และอุปกรณ์อาจสูญหาย และเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด
สตง.ยังระบุด้วยว่า ในการติดตามตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ พบข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการควบคุมดูแลเครื่องมือและอุปกรณ์ ของ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตอีกหลายชนิดที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ
กล่าวคือ ในส่วนของรถยนต์ จากการตรวจสอบพบว่า มีรถยนต์ที่ได้รับมอบตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2557 ยังไม่ได้จดทะเบียน จำนวน 128 คัน และรถยนต์ที่ยังไม่ต่อทะเบียน จำนวน 24 คัน คิดเป็นร้อยละ 74.42 และร้อยละ 54.55 ของจำนวนที่ตรวจสอบ ซึ่งอาจส่งผลให้ทรัพย์สินของทางราชการเกิดการสูญหายได้
เช่นเดียวกับ วิทยุสื่อสารแบบมือถือจำนวนมากที่ไม่ได้มีการใช้งาน ถึง 629 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 57.08 ของ จำนวนที่ตรวจสอบ ส่งผลให้รัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงเกินความจำเป็น และครุภัณฑ์เกิดความชำรุดเสียหายด้วย
ในรายงานการตรวจสอบ สตง. ได้ระบุสาเหตุของการเกิดปัญหาไว้หลายกรณี ดังนี้
1. ปภ.ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดหาเครื่องจักรกลยานพาหนะให้เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่สำรวจความพร้อมของสถานที่จัดเก็บยานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ของศูนย์ปภ. เขต ก่อนการจัดหา รวมทั้งกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของวิทยุสื่อสารแบบมือถือที่มาพร้อมกับยานพาหนะไม่สอดคล้องกับบุคลากรที่มีอยู่จริงอีกทั้งขาดการควบคุม ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานและการบริหารจัดการเครื่องจักรกล ยานพาหนะ ของศูนย์ปภ. เขต รวมถึงการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้กับศูนย์ปภ. เขต โดยเร็ว
2. ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ไม่กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนดอย่างครบถ้วน
3. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ให้ความสำคัญกับการจัดทำทะเบียนประวัติเครื่องจักรกล การจัดทำรหัสควบคุมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับยานพาหนะ การดูแล จัดเก็บ เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้เหมาะสมรวมทั้ง การจัดทำสมุดรายงานการปฏิบัติงานประจำวันของยานพาหนะแต่ละคัน
เบื้องต้น สตง.ได้มีข้อเสนอแนะให้อธิบดี ปภ. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ทบทวนมาตรฐานชุดเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้มีความเหมาะสมกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของศูนย์ปภ. เขต
2.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดหาและจัดสรรเครื่องจักรกลยานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานชุดเครื่องจักรกลสาธารณภัยที่ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์แล้ว และจัดหาให้เป็นไปตามแผนการจัดหา
3.กำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานของศูนย์ปภ. เขตอย่างต่อเนื่อง
4. กำหนดระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเครื่องมือ อุปกรณ์รวมทั้งบุคลากร
5. กำหนดแนวทางในการควบคุมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับยานพาหนะให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
6. กำหนดให้มีการติดตาม ตรวจสอบ การบริหารจัดการเครื่องจักรกลยานพาหนะที่จัดสรรให้กับศูนย์ปภ. เขตโดยเฉพาะเครื่องจักรกล ยานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะและราคาสูงเป็นระยะ
7. กำชับให้ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตกำกับ ดูแล เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง แนวทางการปฏิบัติงานของชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต และคู่มือการปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรกลที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
8. กำชับเจ้าหน้าที่พัสดุเร่งรัดให้ผู้รับจ้างจดทะเบียนรถยนต์ให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ
9. ในการจัดหาวิทยุสื่อสารแบบมือถือที่มาพร้อมกับยานพาหนะกรมควรพิจารณาจัดหาให้สอดคล้องกับบุคลากรที่มีอยู่จริงของศูนย์ ปภ. เขต สำหรับกรณีครุภัณฑ์วิทยุสื่อสารแบบมือถือที่ยังไม่ได้ใช้งานให้จัดการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
10. สั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดหาสถานที่จัดเก็บยานพาหนะให้เหมาะสมและกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดทำทะเบียนประวัติเครื่องจักรกลให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบันรวมทั้งดูแล เก็บรักษา เครื่องมือ และอุปกรณ์จัดเก็บเครื่องมือ อุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรกลให้ครบถ้วนตามคู่มือที่กำหนด ดำเนินการต่อทะเบียนรถยนต์ให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการที่กำหนด ตลอดจนจัดทำบัญชีคุมการจ่ายวิทยุสื่อสาร เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบ และบำรุงรักษาวิทยุสื่อสารแบบมือถือ อย่างเป็นระบบ
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากรับทราบผลการตรวจสอบดังกล่าวของ สตง.แล้ว ผู้บริหารปภ. ได้จัดประชุมเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการบริหารเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อให้การบริหารเครื่องจักรกลยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เลขที่ มท 0607/04337 ลงวันที่ 10 เมษายน 2560
ส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหานับจากวันนั้น เป็นอย่างไรบ้าง ยังไม่มีรายงานสรุปผลเป็นทางการ ณ ขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/