"...เงินที่เติมให้กับส่วนต่างที่หายไปนั้น มาจากภาษีของคนไทยทุกคน อาจนำไปสู่ช่องว่างทางความรู้สึกได้ หากการดำเนินการเกิดข้อผิดพลาดในอนาคต และอาจต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล กระทบระบบการเงินการคลัง หรือส่งผลต่อการผูกพันงบประมาณข้ามปีอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ เข้าสมการเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” หรือไม่ และหากเกิดช่องโหว่หรือปัญหาขึ้น จะอุดหรือแก้ไขกันอย่างไร..."
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวดีในรอบหลายปีสำหรับเกษตรกรชาวสวยยางพาราทั่วประเทศ เพราะมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกร (ยางพารา) เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นปฐมฤกษ์นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” รวมวงเงินทั้งสิ้นสำหรับเฟสแรกราว 2.4 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็นการประกันตามโครงการแก่เกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนตามเอกสารสิทธิ์ ชนิดบัตรเขียว ได้แก่ ยางแผ่นคุณภาพดี 60 บาท ต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมอนุมัติ 4 โครงการช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ครอบคลุมเกษตรกร 1.4 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่ 17 ล้านไร่
หลังการประชุมครม. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 ด้วยงบประมาณรวม 24,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ และมีความมั่นคงในอาชีพ
หากพิจารณารายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกร(ยางพารา) ระยะที่ 1 จะพบว่า กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 ประกันรายได้ ยาง 3 ชนิด ประกอบด้วย
1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม
2.น้ำยางสด DRC 100% ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม
3.ยางก้อนถ้วย DRC 100% 23 บาทต่อกิโลกรัม
โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ไว้ที่ 240 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อปี หรือ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน
สำหรับเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางกำหนดโดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไปเปิดกรีดแล้วสูงสุดท้ายละไม่เกิน 25 ไร่
ส่วนการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกร กำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย 2 เดือน 1 ครั้ง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง ประกอบด้วย ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 , ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 ถึงมกราคม 2563 จ่ายงวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563 , และ ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563 จ่ายงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2563
มีการแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนจะได้ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง(ลูกจ้าง) ได้ร้อยละ 40
เบื้องต้น ครม.เห็นชอบให้ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และให้ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดไปตามความเหมาะสม เพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติอีก 4 โครงการ ที่นำไปสู่การที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ และยกระดับราคายางพาราในประเทศ ได้แก่
1.ขยายวงเงินสินเชื่อ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท , อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมวงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตที่ตั้งอยู่เดิม หรือที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้แก่ ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม เป็นต้น
มีเป้าหมายให้มีการแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ตัน เพิ่มเป็น 100,000 ตันต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มปี 2563-2569
2.อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง วงเงิน 20,000 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่มกราคม 2563 - ธันวาคม 2564 จากเดิมจะสิ้นสุดเดือนธันวาคมปีนี้(2562) ซึ่งจะช่วยผลักดันราคายางหรือทำให้สูงกว่าต้นทุน ช่วยลดภาระงบประมาณจัดซื้อยางและจัดการสต๊อกยางของรัฐบาล และช่วยดูดซับผลผลิตยางแห้งได้ถึงร้อยละ 11 จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีที่ 3.2 ล้านตัน
3.เห็นชอบการขยายโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาทออกไปอีก 4 ปี (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567) โดยมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธ.ค.2566 เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์ทุกประเภท อันได้แก่ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลา และปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน โครงการ
4.ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่ ตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2565 โดยตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการกำกับดูแล และให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราหรือผลิตภัณฑ์ยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และยางพาราของรัฐที่กยท.เก็บไว้ ทำให้ภาครัฐใช้ยางพาราได้มากขึ้นดูดซับได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
นับเป็นเรื่องน่ายินดี กับมาตรการต่างๆที่ออกมา เพราะในสภาพปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรไทยทุกตัว ทรุดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะยางพารา ที่ราคารับซื้อรายย่อยหน้าสวนในปัจจุบัน ต่ำเตี้ยเรี่ยกินชนิด “สามโลไม่ถึงร้อย” แล้ว โดยราคารับซื้อรายย่อยหน้าสวนที่แท้จริงของวัน พุทธที่ 16 ตุลาคม นั้น ยังต่ำกว่าตัวเลขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรายงาน
โดยราคารับซื้อน้ำยางสดที่ DRC 100 % อยู่ที่ 32 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ก็ยังสามโลไม่ถึงร้อยบาทอยู่ดี แต่แน่นอนว่าสัญญานบวกจากนโยบายประกันรายได้ที่ออกมา ย่อมส่งผลดี แต่จะจริงหรือไม่? ลองวิเคราะห์จากความจริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ในสิ่งดี ย่อมอาจมีสิ่งไม่ดี หรือช่องโหว่ให้ต้องปรับปรุงอยู่เสมอ หากยอมเปิดใจกว้างยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ผลพวงของนโยบายประกันรายได้แก่ชาวสวนยางล็อตแรกที่มีเอกสารสิทธิ์นี้ เมื่อในช่วงตั้งแต่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จาก “พรรคประชาธิปัตย์” หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ก่อนเข้าสู่ครม. ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี นั่งคุมบังเหียน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของ “ราคายางพาราตกต่ำ” ได้หนักหน่วงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อันที่จริงแล้ว สถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในระยะเกือบ 10 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล “ประยุทธ์1” ราคายางพาราโดยเฉลี่ย ไม่เกินกิโลกรัมละ 50 บาท(คิดที่DRC100% คือ ยางบริสุทธิ์หรือยางแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์)
ซึ่งในความเข้าใจผิดมาอย่างยาวนานของคนทั่วไปที่อยู่นอกวงการยางพารา ว่า ชาวสวนยางเก็บเกี่ยวน้ำยางสดจากต้นได้เท่าไหร่ ก็คูณด้วยราคารับซื้อในช่วงขณะนั้น แล้วคือรายได้ที่ชาวสวนยางจะได้รับ แต่นั่นคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ตัวอย่างเช่น ชาวสวนยางกรีดยางได้น้ำยางสด 10 กิโลกรัม ขณะที่ราคารับซื้อกิโลกรัมละ 40 บาท ก็ไม่ได้หมายความว่าเอา 10 ไปคูณด้วย 40 ได้ทันที แต่ต้องมีการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ยางแห้ง หรือ เนื้อยางบริสุทธิ์แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในน้ำหนักน้ำยางสดทั้งหมด ออกจากน้ำยางสดที่มีสัดส่วนของน้ำเจือปนอยู่
โดยปกติแล้ว ในทางวิชาการ น้ำยางสดปริมาตรา 3 ส่วน จะเหลือยางแห้งอยู่เพียง 1 ส่วนเท่านั้น หลังจากนั้นจึงนำน้ำหนักของยางแห้งที่ตรวจวัดได้ มาคูณราคารับซื้อ ก็จะเป็นตัวเลขรายได้ที่ชาวสวนยางได้รับจริงจากการขายน้ำยางสด
ตัวอย่าง เช่น น้ำยางสดหนัก 10 กิโลกรัม อาจเหลือยางแห้งเพียงแค่ 3 กิโลกรัม หรือคิดเป็นรายได้ ดังนี้
น้ำหนักน้ำยางสด(3กิโลกรัม) x ราคารับซื้อ(40บาท) เท่ากับรายได้จากการขายน้ำยางสดดังกล่าวอยู่ที่ 120 บาทเท่านั้น
และหากจินตนาการภาพว่า เป็นรายได้ต่อวันของครอบครัวชาวสวนยาง 1 ครอบครัว แล้วยิ่งถ้าไม่ใช่สวนยางของตัวเอง โดยไปรับจ้างกรีดของเจ้าของสวนยางรายอื่น ก็ต้องแบ่งรายรับในส่วนนี้ ในอัตราส่วนที่ปฏิบัติสืบกันมานับร้อยๆปี คือ 60 : 40 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น คนรับจ้าง ซึ่งตามภาษาถิ่นใต้เรียกว่า “คนตัดยางหวะ” คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ จะได้ส่วนแบ่งรายรับจากการขายน้ำยางสดดังกล่าวเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เจ้าของสวนก็ไม่ได้ว่าจะได้มากมาย เพราะ 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายในช่วงที่ราคาตกต่ำนั้น ช่างน้อยนิด ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพจิปาถะในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง รายจ่ายบวม รายรับหดหายในยามนี้สำหรับทุกสาขาอาชีพในประเทศไทย
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในช่วงไม่นานมานี้ มีข่าวออกมาจากวงการการค้ายางพาราระดับประเทศว่า มีกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจบางส่วน ได้ร่วมมือกับเอกชนผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ เพื่อปฏิบัติการ “ทุบ!!!” ราคายางอย่างหนัก จนดิ่งลงลึกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอ้างเหตุปัจจัยที่น่าเชื่อถือ ฟังขึ้น สมเหตุสมผล
จริงหรือไม่? ลองพิจารณากันเอาเอง
สำหรับข่าวลือในวงการการค้ายางระดับประเทศ ย้อนกลับไปราวไม่เกิน 1 เดือนก่อนครม.จะมีมติเรื่องประกันรายได้ ราคาน้ำยางสดหน้าสวน เฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทปลายๆ ขณะที่นโยบายประกันรายได้ก็กำลังเร่งดำเนินการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างขมักเขม้น เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร
นโยบายดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ด้วยเจตนาที่ดี ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับกระทรวง และระดับนโยบาย แต่พอเรื่องถูกส่งขึ้นไปข้างบนตามลำดับชั้น กลับดำเนินการได้อย่างไม่เร็วนักอย่างที่ตั้งใจไว้
ขณะที่นโยบายประกันรายได้อันมาจากเจตนาที่ดีเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางที่เพิ่งประกาศออกมา
ผลในทางดีนั้น ไม่ต้องพูดถึง แต่ที่ต้องมองโลกในแง่ลบ ก็เพราะใช้หลัก “กัลยาณมิตร” ที่สะท้อนแง่มุมที่หลากหลาย รอบด้าน อันอาจจะเป็นผลพวงในหลากหลายแง่มุมจากนโยบายประกันรายได้ยางพาราที่รับนับหนึ่งแล้ว ดังนี้
1.ต่อไปนี้สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ และยังไม่มีมาตรการใดๆมาการับตีความปลอดภัยคือ เมื่อรัฐตัดสินใจเติมเม็ดเงินส่วนต่างที่ขาดไปจากการขายยางให้กับเกษตรกรจนเต็มเพดานราคาประกัน โดยไม่มีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใดๆ มากำกับดูแลราคารับซื้อของภาคเอกชน อาจส่งผลให้เอกชน(รายใหญ่) รับซื้อยางในราคาต่ำ หรือ กดราคา เพื่อหวังทำกำไรสูงสุด เพราะจากนโยบายนี้ รัฐเป็นผู้เติมเงินให้สำหรับส่วนต่างที่เกิดขึ้น
เข้าใจว่าตามกฎการค้าเสรี รัฐบาล ย่อมไม่สามารถออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือสั่งการให้เอกชนรับซื้อในราคาขั้นต่ำได้ เพราะขัดต่อหลักการค้าเสรี และกลไกตลาด นั่นอาจนำไปสู่การตีความสองแง่ต่อนโยบายนี้ว่า อาจมีผลช่วยให้เอกชนกดราคารับซื้อได้ถูกลงอย่างรุนแรง หรือเป็นการช่วยเอกชนกดราคายางทำกำไรได้ แม้เจตนาภาครัฐจะทำด้วยความหวังดีต่อเกษตรกรก็ตาม
2.เงินที่เติมให้กับส่วนต่างที่หายไปนั้น มาจากภาษีของคนไทยทุกคน อาจนำไปสู่ช่องว่างทางความรู้สึกได้ หากการดำเนินการเกิดข้อผิดพลาดในอนาคต และอาจต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล กระทบระบบการเงินการคลัง หรือส่งผลต่อการผูกพันงบประมาณข้ามปีอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ เข้าสมการเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” หรือไม่ และหากเกิดช่องโหว่หรือปัญหาขึ้น จะอุดหรือแก้ไขกันอย่างไร
ไม่ได้ตื่นตูมไปเกินกว่าเหตุ แต่ข้อกังวลนี้ ได้สะท้อนว่าเกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ราคาน้ำยางสดหน้าสวนดิ่งลงทุกวันอย่างมีนัยยะสำคัญ วันละ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม เป็นขั้นบันได หากทำเป็นกราฟ ก็จะเป็นกราฟแบบหัวทิ่มดินอย่างแปลกประหลาด
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา วงการค้ายางระดับประเทศซุบซิบกัน ว่า มีขบวนการปล่อยข่าวมาจากผู้จัดการโรงงานยางยักษ์ใหญ่ส่งออกที่ถูกเอกชนจีนซื้อหุ้นครอบกิจการไปแล้วแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ ว่า โรงงานยางที่เมืองฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน เจ๊งแล้ว และจะทำให้ราคายางตกลงอย่างมาก โดยมีการนำลิงค์ข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ส่งไลน์ต่อๆกันในแวดวงพ่อค้ายาง จนเกิดภาวะแตกตื่น หลายรายที่ถือสต๊อกยางไว้ในมือจำนวนมาก รีบเทขายยางสู่ท้องตลาดในภาวะที่ราคาดิ่งลงจากขบวนการที่คนในวงการเชื่อว่าอาจจะมีการ “ทุบราคายาง”
แต่เมื่อเช็คต้นตอที่มาของข่าวดังกล่าว กลับไม่มีที่มาที่ไป โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กของอังกฤษ ได้แปลข่าวดังกล่าวมาจากสำนักข่าวท้องถิ่นเล็กๆของจีนสำนักหนึ่ง และในต้นตอเนื้อข่าว กลับไม่ได้มีการบอกถึงสาเหตุที่โรงงานดังกล่าวเจ๊ง ที่สำคัญไม่บอกด้วยซ้ำว่า เป็นโรงงานผลิตสินค้ายางประเภทไหน เป็นยางล้อ หรือยางประเภทใด แต่ทั้งหมดนี้เป็นความสอดคล้องต้องกันกับช่วงของวันหยุดประจำ “วันชาติจีน” ของทุกปี
โดยในทางความเชื่อของจีน ทุกกิจการร้านรวงจะหยุดทำงาน หยุดการซื้อขาย ตลาดล่วงหน้า “ไซคอม” ที่ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกเรื่องการซื้อขายยาง ก็ปิดการซื้อขาย
อนึ่ง วันชาติจีน (国庆节) ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ประเทศจีนจะหยุดในช่วงวันชาติ 7 วัน คือ วันที่ 1-7 ตุลาคมของทุกปี
และก็บังเอิญอีกว่า ข่าวลือ ข่าวบอกต่อเป็นทอดๆที่เกิดขั้น ก็สอดคล้องต้องกันกับจังหวะเวลาในช่วงปลายปีที่ ผลผลิตยางพาราทั้งประเทศ มีปริมาณผลผลิตออกมากที่สุดตามฤดูกาล
ในวงการรับซื้อน้ำยางสดระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ก็ได้รับข่าวลือมาในทิศทางเดียวกัน ถึงขั้นว่า ราคาน้ำยางสดจะดิ่งลงถึง 25 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหนักสุดในประวัติการณ์ด้วยซ้ำ
ว่ากันว่าต้นต่อที่มาของข่าวลือดังกล่าว มาจากความร่วมมือกันของกลุ่มนักการเมือง เอกชนพ่อค้าบางกลุ่ม ที่สมคบคิดกดราคายางให้ตกต่ำ เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเตรียมต้อนรับโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล ที่กำลังจะประกาศออกมา
ถ้าหากพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าข่าวลือ จะเป็นปัจจัยที่ผลต่อเรื่องราคายาง แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องราคายาง อันเกิดจากฝีมือของนักการเมือง เอกชน ที่อยู่เบื้องหลังของวงจรยางในประเทศไทยทั้งหมด ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ใหญ่และสำคัญยิ่งกว่า
นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ 'ยาง' ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าการเมืองประเภทหนึ่ง เป็นสินค้าวังวนแห่งผลประโยชน์ทางธุรกิจมาทุกยุคสมัย ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ ก็มักจะเกิดปัญหาแบบนี้ เวียนวนฉายซ้ำไปมาไม่รู้จบ
แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/