"...บริษัทพนัสฯ มีกลุ่มกิจการที่เข้าไปซื้อสายงานการผลิตรถลากจูงยี่ห้อ Bliss-Fox ที่เป็นของทางออสเตรเลียเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการประกอบรถนั้น บริษัทพนัสฯ จะสั่งประกอบรถขึ้นในโรงงานที่ประเทศจีน โดยใส่เครื่องยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเอาไว้เป็นเครื่องยนต์หลัก พอรถมาถึงประเทศไทย บริษัทพนัสฯ ก็จะมีการประกอบรถลากจูงสัมภาระให้เหมาะสมและถูกต้องตามเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างอีกที..."
สืบเนื่องสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวปัญหาร้องเรียนมาตรฐานรถลากจูงสัมภาระของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งคนในการบินไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารถลากจูงที่เช่ามาใช้งานใหม่ น่าจะเป็นรถจากประเทศจีน ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ารถลากจูงรุ่นดั้งเดิมที่การบินไทยซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา (อ่านประกอบ:บินไทยยันรถลากจูงกระเป๋า มีประสิทธิภาพปลอดภัยระดับสากล-รับเช่าจริง 54 คัน,คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR,สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา ผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นของบริษัท การบินไทยฯ ได้นัดหมายผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
โดยผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นที่ร่วมกันชี้แจงข้อมูลกับทางสำนักข่าวอิศราประกอบไปด้วย 1.นายภีมะ เนยปฎิมานนท์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริการภาคพื้น 2.นายชูสิตติ์ ไกวัลศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลานจอดอากาศยาน 3.นายยุทธนา ศุภวัชระ ผู้จัดการกองบริการอุปกรณ์ระวางบรรทุก 4.นายทนงชาย เจษฎารักษ์ ผูดจัดการกองวิศวกรรม และ 5.นายวรพงศ์ พิมลสมพงศ์ ผู้จัดการแผนกวางแผนและปรับปรุงงานวิศวกรรม
เบื้องต้น ทางผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น ยืนยันว่า การบินไทยไม่ได้เช่ารถลากจูงสัมภาระมาจากประเทศจีนตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นรถลากจูงจากออสเตรเลีย ยี่ห้อ Bliss-Fox F1-40 ส่วนเอกชนที่การบินไทย ได้ทำสัญญาเช่ารถลากจูงด้วยนั้น คือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ (Panus Assembly)
ส่วนรายละเอียดการเช่ารถลากจูงจากบริษัทพนัสฯ ยี่ห้อ Bliss-Fox นั้น ผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นชี้แจงว่า การเช่ารถลากจูงของการบินไทย ที่ดำเนินการไปแล้วมี 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการเช่าจำนวน 24 คัน เริ่มเช่าในช่วงปี 2560 ประมาณเดือน ก.ย. สัญญามีระยะเวลา 5 ปี ส่วนการเช่าในระยะที่ 2 อยู่ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 จำนวน 30 คัน สัญญาประมาณ 5 ปี เช่นกัน
"สรุปแล้วขณะนี้การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระที่เช่าจาก Bliss Fox ทั้งสิ้นประมาณ 54 คัน และเป็นรถยี่ห้อ Harlan ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกประมาณ 27 คัน เท่ากับว่า การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระประมาณ 81คัน อย่างไรก็ดี รถลากจูงสัมภาระยี่ห้อ Harlan นั้นขณะนี้มีอายุการใช้งานมากแล้วและการซ่อมบำรุงก็ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นด้วย คงจะทยอยปลดการใช้งานไป"
เมื่อถามถึงประสิทธิภาพโดยเฉพาะค่าแรงดึง (Drawbar Pull) ของรถทั้งสองรุ่น ทางผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น ชี้แจงว่า "ขอเรียนว่าทั้งรถรุ่น Harlan และรถรุ่น Bliss-Fox นั้นต่างก็มีค่าแรงดึงที่เหมือนกันก็คือประมาณ 6,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2,721 กิโลกรัม"
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการชี้แจงข้อมูลนั้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เปิดข้อมูลเว็บไซต์ผลิตภัณฑ์รถลากจาก Bliss-Fox พบข้อมูลในเว็บไซต์ https://www.bliss-fox.com/Baggage-Cargo-Towing-Tractor-F1-40 ระบุชื่อต่อท้ายว่า Bliss-Fox by Panus GSE จึงได้สอบถามความเกี่ยวข้องระหว่าง Bliss-Fox และบริษัทพนัสฯเพิ่มเติม
ผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น ชี้แจงว่า บริษัทพนัสฯ มีกลุ่มกิจการที่เข้าไปซื้อสายงานการผลิตรถลากจูงยี่ห้อ Bliss-Fox ที่เป็นของทางออสเตรเลียเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการประกอบรถนั้น บริษัทพนัสฯ จะสั่งประกอบรถขึ้นในโรงงานที่ประเทศจีน โดยใส่เครื่องยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเอาไว้เป็นเครื่องยนต์หลัก พอรถมาถึงประเทศไทย บริษัทพนัสฯ ก็จะมีการประกอบรถลากจูงสัมภาระให้เหมาะสมและถูกต้องตามเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างอีกที
เมื่อสำนักข่าวอิศรา สอบถามข้อมูลราคาค่าเช่ารถลากจูง ผู้บริหารฯชี้แจงว่า ไม่สามารถบอกได้ เนื่องจะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจขึ้นมา
"ลักษณะการยื่นประกวดราคานั้นจะเปิดให้บริษัทที่สนใจเข้าประกวดราคาเสนอราคาที่ต่ำและดีที่สุดมาแล้วทางการบินไทยฯ จะเลือกบริษัทนั้นเข้าร่วมงาน ดังนั้น ถ้าหากมีการเปิดเผยข้อมูลราคาที่การบินไทยเช่ารถจากบริษัทพนัสฯ ก็อาจจะส่งผลไปถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันประกวดราคาในอนาคตของบริษัทต่างๆด้วย แต่ขอยืนยันว่า การบินไทยฯ เช่ารถลากจูงสัมภาระในราคาที่เหมาะสมตามราคากลางที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อมูลประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนต่างๆเข้ามาประกวดราคานั้นก็มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนบนหน้าเว็บไซต์การบินไทยอยู่แล้ว"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานต่อว่า ภายหลังจากการชี้แจงข้อมูลในห้องประชุม ผู้บริหารฯการบินไทย ได้พาผู้สื่อข่าวไปทดสอบคุณภาพรถให้ดู ทั้งการลากจูงสัมภาระและลากจูงแผ่นสร้างสมดุลที่ใช้บนเครื่องบินจำนวน 6 คันรถ (ดอลลี่) น้ำหนักโดยรวมทั้งสิ้น 17,700 กิโลกรัม หรือ17.7 ตัน มีการขับบนทางราบ ขับรถลงอุโมงค์ และขับรถขึ้นอุโมงค์ ซึ่งการทดสอบรถลากนั้น สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ ในระหว่างการทดสอบนั้น ผู้บริหารฯ ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่ใช้รถลากในสนามบินสุวรรณภูมินั้นจะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน โดยการลากรถในพื้นที่ลานจอดนั้นจะใช้รถลากที่ใช้น้ำมันดีเซล ส่วนใช้รถลากขนสัมภาระผู้โดยสารจากอาคารผู้โดยสารมายังตัวเครื่องบินจะใช้รถลากจูงพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นอีกรุ่นหนึ่ง และการใช้รถลากจูงในโกดังเก็บสินค้าส่งออกของประเทศนั้นก็จะใช้รถลากจูงพลังงานไฟฟ้าอีกเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่าการใช้รถลากจูงในโกดังนั้นจะต้องใช้รถลากจูงพลังงานไฟฟ้า โดยรถลากจูงพลังงานไฟฟ้านั้นก็จะขนสินค้าส่งออกจากภายในโกดังมา ก่อนจะโอนถ่ายสินค้าย้ายไปยังรถลากจูงที่ใช้น้ำมันในลานจอด เพื่อจะขนย้ายไปที่ตัวเครื่องบินต่อไป
“ขอเรียนว่า การใช้งานรถลากจูงสินค้าของเรานั้นต้องทำให้ได้มีประสิทธิภาพและตรงต่อเวลาที่สุด ถ้าหากการใช้รถลากจูงของเรานั้นประสบปัญหาขึ้นมา มันจะไม่ใช่กระทบต่อแค่การบินไทยอย่างเดียว แต่จะกระทบต่อหลายภาคส่วนมาก และจะไปกระทบต่อจนถึงศักยภาพในการส่งออกสินค้าของประเทศด้วย” ผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นของการบินไทยระบุ
อ่านประกอบ:
สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?
บินไทยยันรถลากจูงกระเป๋า มีประสิทธิภาพปลอดภัยระดับสากล-รับเช่าจริง 54 คัน
คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR
เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/