“…ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2555 และยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2562 และมารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ หากได้รับการยกเว้นตามมาตรา 105 วรรคสี่อีก ทำให้อย่างน้อยที่สุด น.ส.มนัญญา ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมากว่า 7 ปีแล้ว และต้องยื่นอีกครั้งเมื่อถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (2) ส่วนทรัพย์สินและหนี้สินในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นอกจาก ป.ป.ช. แต่เพียงองค์กรเดียว ?...”
ชื่อของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง เนื่องจากตกเป็นหนึ่งในผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ถกปม‘มนัญญา’ยังไม่ยื่นทรัพย์สินเป็น รมช.เกษตรฯ-ชงที่ประชุม กก.ชี้ขาด 24 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เตรียมรวบรวมเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ เพื่อรวบรวมพิจารณา ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไปในวันที่ 24 ก.ย. 2562
ประเด็นข้อกฎหมายที่นายวรวิทย์ เคยให้ความเห็นไว้เกี่ยวกับกรณีนี้มี 2 ส่วน
1.น.ส.มนัญญา อาจเข้าข่ายได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งเดิม (นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี) และเข้ารับตำแหน่งใหม่ (รมช.เกษตรและสหกรณ์) ภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมหรือไม่
2.น.ส.มนัญญา เคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับเดิม (ปี 2542) ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่น ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ขณะที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ (ปี 2561) กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่น ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
“ถ้าเป็นไปตามกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ตำแหน่งจะไม่มีปัญหาเลย แต่เมื่อเกิดประเด็นเช่นนี้ ต้องพิจารณาในข้อกฎหมาย ดูว่าจะสามารถเทียบกันได้หรือไม่ จึงอาจจะมีปัญหาในเรื่องบทเฉพาะกาล ที่ระบุว่า การตีความนั้นอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นจึงต้องรวบรวมข้อเท็จจริงก่อน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 24 ก.ย. 2562” นายวรวิทย์ กล่าว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
น.ส.มนัญญา พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีวันใด และเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ วันใด ?
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์ รายงานข่าวอ้างหนังสือของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี โดยแจ้งถึงนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ระบุว่า ขอลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี โดยรับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 2555 มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2562 (อ้างอิงข้อมูลจาก แนวหน้าออนไลน์)
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี จำนวน 36 ราย ปรากฏชื่อของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อยู่ในลำดับที่ 20 ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิงข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/176/T_0001.PDF) ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 คณะรัฐมนตรี นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณในการปฏิบัติหน้าที่ต่อพระมหากษัตริย์
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น น.ส.มนัญญา มีหนังสือขอแจ้งการลาออกนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ถัดมาวันที่ 10 ก.ค. 2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้ถวายสัตย์ปฏิญาณฯเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 รวมระยะเวลาประมาณ 21 วัน
ดังนั้นในช่วงเงื่อนเวลา 21 วันดังกล่าวจึงเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 มาตรา 105 วรรคสี่ที่ระบุว่า ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 30 วัน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน (อ่านประกอบ : กาง กม.ป.ป.ช.-ตามไปดูสมบัติ ‘บิ๊กตู่-3 รองนายกฯ-3 รมต.’ ไม่ต้องยื่นทรัพย์สินรอบใหม่?)
เหตุผลดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของทนายความผู้รับมอบอำนาจของ น.ส.มนัญญา ที่ชี้แจงว่า สาเหตุที่ยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. นั้นเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ไม่พ้น 1 เดือน ก่อนเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนรับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ จึงเข้าข่ายได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 105 วรรคสี่ (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
โดยมาตรา 105 วรรคสี่ดังกล่าว ครอบคลุมไปถึงกรณี น.ส.มนัญญา พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีด้วย กล่าวคือ น.ส.มนัญญา ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งกรณีพ้นจากตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี และไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในช่วงเงื่อนไขเวลา พ้นตำแหน่ง-เข้ารับตำแหน่ง ไม่ถึง 30 วัน
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นคนชี้ กฎหมายได้บอกไว้จริงว่าคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือนก็ไม่ต้องยื่น แต่ต้องยื่นตอนออกจากตำแหน่งอยู่ดี จึงตอบไม่ถูกว่าตำแหน่งนายกเทศมนตรีเป็นตำแหน่งที่มาต่อกับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะลำบากอะไร สามารถไปดูมาตรฐานว่าคนที่เคยดำรงตำแหน่งในท้องถิ่นแล้วมาเป็นส.ส. เขาต้องยื่นหรือไม่ หากพบว่าตำแหน่งไม่ต่อกันก็ต้องยื่น (อ่านประกอบ : 'วิษณุ'การันตี'มนัญญา'ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน)
คำถามประการต่อไปคือ การที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 105 วรรคสี่ กำหนด 'ช่องโหว่' ดังกล่าวไว้ อาจทำให้ความมีส่วนร่วมของสื่อมวลชน หรือประชาชนที่ต้องการตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกกำหนดให้ยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ทำได้ยากมากขึ้นหรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า เจตนารมณ์หลักของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ที่มักเอามากล่าวอ้างกันทั้งในส่วนของ ป.ป.ช. เองรวมถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ เป็นประธาน กรธ. มักระบุว่า มีเจตนารมณ์ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น แต่ข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามถ่ายเอกสารประกอบในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การปกปิดภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น หรือแม้แต่ช่องโหว่ใหญ่อย่างมาตรา 105 วรรคสี่ ถูกตั้งคำถามถึงว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้มีส่วนช่วย หรือปกปิดประชาชนมากกว่าเดิมกันแน่ ?
ตัวอย่างง่ายที่สุดในกรณีใช้ช่องโหว่ตาม มาตรา 105 วรรคสี่ คือคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2) อย่างน้อย 7 คน เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายวิษณุ เครืองาม เป็นต้น ที่เคยร่วมงานในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (1) ตั้งแต่ช่วงยึดอำนาจเมื่อปี 2557 และดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปี กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้สื่อมวลชนหรือสาธารณชนช่วยกันตรวจสอบอีก หากรัฐบาลชุดนี้มีอายุไขยาวนานสุดตามรัฐธรรมนูญคือ 4 ปี เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีอีกรวมอย่างน้อย 7 คน จะไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเวลาประมาณ 9 ปีเศษ หรือจนกว่าจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (2)
ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2555 และยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2562 และมารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ หากได้รับการยกเว้นตามมาตรา 105 วรรคสี่อีก ทำให้อย่างน้อยที่สุด น.ส.มนัญญา ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมากว่า 7 ปีแล้ว และต้องยื่นอีกครั้งเมื่อถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (2)
ส่วนทรัพย์สินและหนี้สินในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นอกจาก ป.ป.ช. แต่เพียงองค์กรเดียว ?
ในขณะที่ผ่านมาองค์กรตรวจสอบด้านการทุจริตอย่าง ป.ป.ช. มีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบที่ปีหนึ่งรับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาตรวจสอบหลายหมื่นบัญชี สวนทางกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแค่ประมาณหลักร้อยคนเท่านั้น
นี่คือเงื่อนปมสำคัญในมาตรา 105 วรรคสี่ ที่กำลังถูกตั้งคำถามถึง 'ช่องโหว่' ในการช่วยเหลือนักการเมือง 'ปกปิด' บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์-3 ส.ส.’ยังไม่ยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช.สั่งแจงใน 15 วัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก คมชัดลึกออนไลน์