“การที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบ ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเคลือบแคลงสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯไม่ครบ แบบนี้แสดงให้เห็นว่า จะเข้ารับทำหน้าที่ และใช้อำนาจโดยไม่รักษาไว้ และไม่รักษารัฐธรรมนูญใช่หรือไม่” vs “ผมอดคิดไม่ได้ ไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะเป็นคนไปอนุญาตท่าน ดังนั้นเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จ มีพระราชดำรัสตอบทุกครั้ง ไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณจะทำกับบุคคล 4 ประเภทเท่านั้น คือ องคมนตรี ครม.ผู้พิพากษา และตุลาการ"
เรียกได้ว่าเป็น ‘มวยคู่เอก’ ที่ดุดันถึงพริกถึงขิงทั้งคู่ สำหรับ 2 กูรูฝ่ายกฎหมาย 2 ขั้ว ระหว่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ต่างหยิบยกข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายมาอธิบาย กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สกัดใจความสำคัญในการอภิปรายจากแกนนำฝ่ายค้านอย่างนายปิยบุตร และหัวหอกนำแจงฝ่ายรัฐบาลอย่างนายวิษณุ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
@‘กระดาษแข็ง’ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อ่านถ้อยความถวายสัตย์ฯมาจากไหน ?
ปิยบุตร แสงกนกกุล : สื่อมวลชนถามผมหลายครั้งว่า รู้ได้อย่างไรว่าถวายสัตย์ฯไม่ครบ มีหนอนบ่อนไส้ในรัฐบาลหรือไม่ มีคนส่งข้อมูลมาให้หรือไม่ ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีหนอนบ่อนไส้ แต่รู้ด้วยตนเอง เพราะปกติแล้ว จะติดตามข่าวในพระราชสำนักอยู่เสมอ โดยเฉพาะกรณีมีบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ ไปเข้าเฝ้าฯ เพราะต้องการรับทราบพระราชดำรัส และพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมตั้งใจดูคลิปข่าวนายกฯนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ในฐานะที่ผมเรียนด้านนิติศาสตร์มา ประกอบอาชีพนี้มาตลอดชีวิต รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ทุกองค์กรต้องถวายสัตย์ มีประโยคนี้เหมือนกันหมดคือ ทั้งรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เมื่อทราบเรื่องนี้เข้า ก็พยายามตรวจสอบข้อมูลอีกหลายทาง สงสัยจริง ๆ ว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงกล่าวไม่ครบ คิดอะไรอยู่ในใจ ทำไมถึงพูดแบบนั้น เช็คแล้วเช็คอีก โดนวางยาหรือไม่ แต่เก็บความสงสัย ตั้งใจถามในวันแถลงนโยบาย ผิดพลาดบกพร่องเพราะอะไร ได้แก้ไขปัญหาด้วยกัน มีเจตนาเท่านี้ ไม่ได้คิดจะล้มรัฐบาล แต่น่าเสียดาย นายกฯไม่ได้ชี้แจงให้กระจ่างชัด
เขายังยกหนังสือหลังม่านการเมือง และตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่เขียนโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาอ้างอิงถึงพิธีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯด้วยว่า ต้องกล่าวถ้อยคำให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันพอย้อนไปดูสมัยคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (1) ก่อนกลับมาใหม่ มีโอกาสนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกได้แก่ ครั้งที่หนึ่งวันที่ 4 ก.ย. 2557 ครั้งที่สองวันที่ 23 พ.ย. 2557 ครั้งที่สามวันที่ 23 ส.ค. 2558 ครั้งที่สี่วันที่ 19 ธ.ค. 2559 กล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ส่วนครั้งที่ห้าวันที่ 30 พ.ย. 2560 กล่าวถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 161 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
“โดยในการถวายสัตย์ฯ 5 ครั้งดังกล่าว น่าสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีอ่านถ้อยคำในรัฐธรรมนูญจากบัตรแข็ง ซึ่งเสียบในแฟ้มสีน้ำเงินที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมไว้ให้ ถามว่าผมรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร ก็อ่านจากหนังสือหลังม่านการเมืองอีกนั่นแหละ”
วิษณุ เครืองาม : ครม. 36 คนได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร มีข้าราชการในพระองค์ ข้าราชการราชสำนักหลายท่าน ฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการหลายคน รวมถึงผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ที่ไปถ่ายทำ โดยเมื่อเริ่มเวลาเสด็จออก นายกรัฐมนตรีเปิดกรวยดอกไม้ถวายบังคม เริ่มการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งจากกระเป๋าเสื้อออกมา เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกคนที่เคยผ่านมาในอดีต บัตรแข็งนี้สำนักนายกฯ ได้จัดเตรียมเช่นเดียวกับเตรียมให้กับนายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต
“ผมได้เขียนหนังสือหลังม่านการเมือง มีนายกรัฐมนตรี อยู่คนเดียวที่ไม่ล้วงกระเป๋าหยิบอะไรออกมา คือ นายชวน หลีกภัย นายกฯอื่นต่อให้แม่น จำได้ ก็หยิบล้วงจากกระเป๋าเสื้อทั้งนั้น เช่นเดียวกับนายกฯ ประยุทธ์ หยิบหน้าแรกอ่านคำเบิกตัว และพลิกหน้าที่ 2 คำถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อนายกฯ กล่าวแต่ละท่อน ครม.ทุกคนกล่าวตาม ทุกคนกล่าวตามไปที่ละท่อน จนจบตามนายกฯ กล่าว”
@ศาล รธน.ให้เหตุผลไว้แล้วว่าเป็นความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ?
ปิยบุตร แสงกนกกุล : ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า เป็นการกระทำของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญเลยไม่รับ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีทางออกอื่น เช่น กรณีถวายสัตย์ฯไม่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ทำให้ผู้ร้องเสียหาย ไม่รับคำร้องก็ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่า การถวายสัตย์ฯเป็นการกระทำของรัฐบาล เป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง จึงไม่รับคำร้อง
“สาเหตุที่ผมต้องพูดเรื่องนี้ เพราะการถวายสัตย์ฯเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะได้มีเส้นแบ่งชัดว่า คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วรักษาการจะสิ้นสุดรักษาการลงเมื่อไหร่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ในวันไหน เดี๋ยวนี้พัวพันไปถึงการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)”
วิษณุ เครืองาม : กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลและมีคำอธิบายประกอบ จึงอธิบายประกอบที่ไม่รับเพราะอะไร เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่ศาลฯ ยังบอกอีกว่า การถวายสัตย์ฯ ของครม.ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจตรวจสอบได้ สภาฯ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะชี้หรือไม่ชี้ก็ไปว่าในอนาคต
"หากมีเรื่องของมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม สามารถส่งเรื่องไป ป.ป.ช.ได้ แต่กรณีของครม.ร้องป.ป.ช. จากนั้นป.ป.ช.จะไปร้องต่อศาลฎีกา ไปตามขั้นตอนนั้น จึงไม่มีอะไรต้องวิตก ทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติ วันนี้รัฐบาลมีหน้าที่เดียวเท่านั้น คือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานด้วยกำลังใจ เพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ"
@สรุปต่อจากนี้ไปต้องถวายสัตย์ฯแบบใด ?
ปิยบุตร แสงกนกกุล : ทำไมรัฐธรรมนูญต้องเขียนคำกล่าวว่าต้องพูดคำว่าอะไรบ้าง ในเอกสารการร่างรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่บรรจุถ้อยคำกล่าวถวายสัตย์ฯ มีการซักถามคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2492 โดยหลวงประกอบนิติสาร หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ความเห็นอธิบายว่าสาเหตุที่ต้องเขียนถ้อยคำให้ชัด เหตุผลสำคัญ 3 ข้อ 1.ถ้าหากเขียนไม่ชัด คำถวายสัตย์ฯจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของคณะรัฐมนตรี 2.รัฐธรรมนูญหลายประเทศมีการบัญญัติถ้อยคำถวายสัตย์ฯ 3.เพื่อให้คณะรัฐมนตรีทราบล่วงหน้าว่า ถ้าทำไม่ได้ตามคำกล่าวไม่ต้องมาเป็น
ส่วนพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกคนหนึ่ง และเป็นอาจารย์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า การกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ฯต้องสม่ำเสมอสอดคล้องต้องกัน ไม่ใช่คนนี้พูดอย่าง อีกคนพูดอย่าง ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา นี่คือที่มาของถ้อยคำ
“ถ้อยคำเหล่านี้มีหัวใจสำคัญในรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ 1.จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 2.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน 3.รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญทุกประการ 3 ข้อนี้ทุกฉบับยืนยันถึงความสำคัญเขียนล้อกันมาหมด”
สาเหตุที่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ การถวายสัตย์ฯคือแบบพิธี และไม่ใช่แบบพิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นแบบพิธีที่สำคัญที่สุด แบบพิธีนี้สำคัญอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่มาอย่างไร ให้มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน สัมพันธ์กับองค์กรอื่นอย่างไร ประมุขของรัฐมีอำนาจเพียงใด สภามีอำนาจเพียงใด และใช้อำนาจได้ตามขอบเขตข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหน
“การที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบ ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเคลือบแคลงสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯไม่ครบ แบบนี้แสดงให้เห็นว่า จะเข้ารับทำหน้าที่ และใช้อำนาจโดยไม่รักษาไว้ และไม่รักษารัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นี่คือประชาชนผู้ทรงอำนาจมีสิทธิเคลือบแคลงสงสัย ทั้งหมดส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมนายกรัฐมนตรี ไม่ยึดมั่นรัฐธรรมนูญ”
วิษณุ เครืองาม : ผมไม่กราบเรียนว่า ถ้อยคำที่นายกฯ อ่าน และทุกคนกล่าวตามนั้นมีว่าอย่างไร ผมไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังการอ่านไปตามนั้น และแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด แต่อธิบายได้คำกลางๆ คือการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ คำนี้ผมไม่ได้พูดขึ้นเอง ในหนังสือซึ่งบอกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จำได้แม่นหน้า 279 อธิบายไว้ว่า การถวายสัตย์เป็นเรื่องที่ต้องการยืนยันต่อองค์ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือพระมหากษัตริย์และในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ได้เขียนไว้ฉบับย่อ หน้า 2 บรรทัดที่ 3 ศาลใช้คำว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครม.กับพระมหากษัตริย์ ผมถึงได้สรุปแบบนั้น
แล้วทำไมจึงบังอาจทำให้ไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะต้องกระทำกับพระมหากษัตริย์ จึงใช้คำว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ เวลาเอ่ยต้องเริ่มข้าพระพุทธเจ้า แปลว่า มีผู้ถวาย มีผู้รับการถวาย ไม่เหมือนกรณี ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่มีผู้รับ
"ผมอดคิดไม่ได้ ไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะเป็นคนไปอนุญาตท่าน ดังนั้นเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จ มีพระราชดำรัสตอบทุกครั้ง ไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณจะทำกับบุคคล 4 ประเภทเท่านั้น คือ องคมนตรี ครม.ผู้พิพากษา และตุลาการ"
ในเวลาต่อมามีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสทุกคำ พร้อมลายพระราชหัตถ์มายังรัฐบาลอีกด้วยซ้ำไป กรณีอย่างนี้ พระราชดำรัสเป็นคำที่ครม. 36 คน จำได้ขึ้นใจ พระราชกระแสเริ่มว่า "ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้ปฏิบัติไปตามคำการถวายสัตย์ปฏิญาณ และขอให้ท่านเข้าทำหน้าที่ รับหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งไม่ต้องตีความใด ๆ
นี่สาระสำคัญในคำอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นถวายสัตย์ฯของทั้งคู่ ที่ต่างเห็นแย้งกันในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ไม่ว่าท้ายที่สุดบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ได้ถกเถียงกันไม่รู้จบ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
คำต่อคำ:วิษณุ ระบุ การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์
ฝ่ายค้านขย่มจี้ไขก๊อกนายกฯ! 'ปิยบุตร' ถาม'บิ๊กตู่'เขียนคำถวายสัตย์ฯใหม่เองหรือไม่