"...ปัญหาทุจริตถือเป็นสิ่งที่มีปัญหาต่อประชาชนเช่นกัน ดังนั้นควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชนเพื่อให้ตรวจสอบนักการเมืองได้ และนักการเมืองก็ต้องมีความโปร่งใสเช่นกัน ที่เขาบอกว่าโตไปไม่โกงนั้น แต่ปัจจุบันนี้ผู้ใหญ่ก็โกงให้เห็น ดังนั้นต้องปลูกฝังว่าการโกงนั้นไม่ดีไม่ว่าจะใครเป็นคนทำก็ตาม เพื่อให้ประชาชนนั้นจะเป็นกลไกในการตรวจสอบการทุจริต..."
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 ที่อาคารไบเทค บางนา องค์กรต่อต้านคอรัปชัน ประเทศไทย (ACT) ได้จัดงาน “6 กันยายน วันต่อต้านคอร์รัปชันของไทย” โดยมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง“พลังพรรคการเมือง อาสาสู้โกง” พรรคการเมืองต่างๆ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 1. นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 2.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3.น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย 4.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 5. น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย และ 6.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โดยมีผู้ดำเนินการเสวนา คือ นายโมไนย เย็นบุตร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีต่อปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยมานำเสนอ ณ ที่นี้
1.นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
"พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการปราบโกง โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลจากเว็บไซต์กรมบัญชีกลางที่ควรจะให้เข้าไปตรวจสอบได้สำหรับทั้งประชาชนและสื่อมวลชน
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางนั้น เนื่องจากมีเก็บเป็นรูปแบบกระดาษ ยังเป็นรูปแบบที่เข้าไปตรวจสอบได้ยาก ดังนั้นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ส่วนอีกประเด็นนั้นคือการปรับปรุงองค์กรอิสระต่างๆ ต้องมองว่าทำอย่างไรที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นนั้นต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเป็นรูปธรรมให้มากกว่านี้ และสุดท้ายก็คือเรื่องระยะยาว การปราบทุจริตที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย และต้องดำเนินการในทุกระดับชั้น โดยให้เป็นวิชาภาคบังคับ ที่ผู้เข้าศึกษาจะต้องสอบให้ผ่าน เพื่อจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับต่อไป ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้เขามีความกล้าหาญในการที่จะชี้แจงประเด็นทุจริตที่เกิดขึ้น แต่ผมเชื่อว่าการปราบทุจริตนั้นต้องมีการคุ้มครอง ผู้ที่จะแจ้งเบาะแส เพื่อต้องการให้เขามีความกล้าในการจะมาทำสิ่งที่ถูกต้อง"
2.นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
"ผมว่าเป็นความโชคดีที่พรรคพลังประชารัฐเข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในปัจจุบันนั้นยังคงมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างที่จะเอื้อทุจริตกันอยู่ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้นมีความพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆให้สาธารณชนได้ทราบ และพร้อมจะร่วมมือกับภาคประชาชนต่างๆในการปราบทุจริต ในส่วนของกระทรวงการคลัง พรรคพลังประชารัฐ ก็พร้อมจะพูดคุยกับทางกระทรวงการคลังเพื่อวางแผน และปลูกจิตสำนึกในกระทรวงให้มีความตั้งใจในการใช้ความสามารถเพื่อปราบทุจริตได้
ผมเชื่อว่าถ้าหากนักการเมืองนั้นถอดหมวกของความเป็นนักการเมืองออกเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปบริหารในตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับองค์กรราชการและหน่วยงานต่างๆ โดยหน่วยงานเหล่านั้นก็จะต้องยึดถือหลักและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งตามมาด้วย"
3.น.ส.สรัสนันท์ อรรถนพพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย
" พรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ถือเป็นหน้าที่หลักที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะการใช้งบประมาณต่างๆในแต่ละปีเพื่อจะตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนให้มากที่สุด และจะคอยตรวจสอบในรัฐสภา ส่วนนอกสภานั้นต้องยอมรับว่าควรจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน"
"ปัญหาทุจริตถือเป็นสิ่งที่มีปัญหาต่อประชาชนเช่นกัน ดังนั้นควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชนเพื่อให้ตรวจสอบนักการเมืองได้ และนักการเมืองก็ต้องมีความโปร่งใสเช่นกัน ที่เขาบอกว่าโตไปไม่โกงนั้น แต่ปัจจุบันนี้ผู้ใหญ่ก็โกงให้เห็น ดังนั้นต้องปลูกฝังว่าการโกงนั้นไม่ดีไม่ว่าจะใครเป็นคนทำก็ตาม เพื่อให้ประชาชนนั้นจะเป็นกลไกในการตรวจสอบการทุจริต"
"ส่วนตัวแล้วก็อยากจะให้ประชาชนนั้นเป็นผู้ที่ไว้ใจรัฐบาลมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งการเมืองนั้นก็จะต้องใช้อำนาจในทางที่ถูกต้องด้วย แต่ก็เข้าใจว่าปัญหาที่ว่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตก เพราะปัญหาการทุจริตนั้นไม่ได้อยู่ที่การใช้จ่ายอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการได้มาซึ่งอำนาจ การเข้ามาบริหารจัดการนโยบายสาธารณะต่างๆด้วย ดังนั้นการปราบทุจริตถ้าไม่ตั้งต้นจากตัวเราเองแล้ว มันจะตั้งต้นจากอะไรไม่ได้เลย"
4.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย
"ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการทุจริตนั้นถือเป็นสโลแกนของพรรคตั้งแต่ตอนหาเสียงเลย พรรคภูมิใจไทยพูดเสมอว่าเราต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เราเห็นตรงกันว่าโครงสร้างอำนาจนั้นให้อำนาจรัฐมากเกินกว่าที่จำเป็น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องลดอำนาจรัฐที่มีมากเกินไปลงมา ส่วนจะลดอย่างไร ก็ควรจะลดในส่วนของดุลยพินิจของข้าราชการ คณะกรรมการต่างๆ ลดขั้นตอนที่จะเกิดความล่าช้าของทางราชการ สิ่งไหนที่ไม่ชัดเจน ก็ต้องเปลี่ยนให้ชัดเจน"
"ส่วนเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนั้นก็ต้องทำให้มันปฏิบัติได้จริง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน"
"ในตอนนี้ผมเห็น ส.ส.หน้าใหม่เกินครึ่งสภาในสภาชุดนี้ ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำให้การเมืองนั้นลดการทุจริตลง และทำให้อาชีพนักการเมืองนั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น"
"ส่วนตัวผมมี 3 เรื่องที่อยากจะฝากไว้เกี่ยวกับการปราบทุจริตคือ 1. การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะเข้ามาตรวจสอบนักการเมือง 2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเสมอภาค และ 3. องค์กรอิสระ ที่ต้องอิสระจากทุกคนที่จะไปให้คุณและโทษจากองค์กรอิสระได้ อิสระจากความกลัว เพื่อที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน"
5.น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย
"พรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้นมีอุดมการณ์เหมือนกับ ACT คือต้องการปฏิรูปประเทศ และต้องการต่อต้านการทุจริต พรรคเรามีความเห็นว่าการทำการเมืองนั้นควรจะทำเพราะมีความรู้ความสามารถไม่ใช่มีเรื่องเม็ดเงินหรือคอนเนคชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคการเมืองของเราจึงมีการเอาสมาชิกพรรคเข้ามาจากทั่วประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการวินัยของพรรคที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตต่างๆของ ส.ส. ที่ได้รับการร้องเรียน เพื่อระงับการยับยั้งการทุจริตที่จะเกิดขึ้นต่อไป พรรคเราเชื่อมั่นในเรื่องของการปฏิรูป ซึ่งปฏิรูปนั้นต้องเริ่มต้นขึ้นที่ตัวเรา ปฏิรูปที่พรรคกันก่อน ส่วนเรื่องหน่วยงานนั้นต้องเปลี่ยนวิธี การทำงานของหน่วยงานราชการนั้นต้องมีความเชื่อมโยงกันมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดว่าจะปราบทุจริตโดยมองแค่จากตัวพรรคเดียว"
"สำหรับการปราบการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ทางพรรคก็อยากจะเห็นการแก้กฎหมายที่ระบบ ให้ความยุติธรรรม และคุ้มครองให้กับผู้ที่กล้าเปิดโปงการทุจริต ต้องสร้างระบบที่ตอบแทนคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตอบแทนกับคนที่มีคอนเนคชั่น และจะต้องเปลี่ยนความคิดการยกย่องคนจากยกย่องคนที่รวย ต้องเปลี่ยนเป็นการยกย่องคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ในสังคม"
"แต่อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ได้นั้นต้องมีการเริ่มมาจากประชาชนเป็นสำคัญ"
6.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่
"พรรคอนาคตใหม่นั้นมองในเรื่องประเด็นของหนี้บุญคุณว่าเราไม่ควรเป็นหนี้บุญคุณใคร เราไม่ควรจะไปจัดโต๊ะจีน 3 ล้าน เพราะไม่อยากเป็นเป็นหนี้ใคร เราจะไม่ใช้เงินไปซื้อ ส.ส."
"ส่วนในประเด็นเรื่องปราบทุจริตนั้น ผมเห็นว่าสิ่งสำคัญก็คือเรื่องของการลงมติต่างๆ อาทิเรื่องสัมปทางทางด่วน ผมเรียกร้องว่าจะทำให้ทำรัฐควรจะโปร่งใส สัมปทานทางด่วนที่จะมีการขยายสัมปทานนั้น เราต้องเปิดเผยว่าใครลงมติเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผลอะไร เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องใครได้ทำอะไรทำอะไรไว้แล้วมีผลกระทบอย่างไร"
"สำหรับพรรคอนาคตใหม่นั้นมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ให้ขยายสัมปทานทางด่วน ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการต่อต้านทุจริตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ผมเห็นว่าในปัจจุบัน ประชาชนหลายคนเริ่มรู้สึกเบื่อการเมืองแล้ว ดังนั้นผมก็อยากยกคำปราชญ์ของพลาโต นักปราชญ์ชาวกรีกที่ระบุคำว่า “คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดเกินกว่าที่จะยุ่งกับการเมือง มักจะถูกลงโทษโดยถูกปกครองจากคนที่โง่กว่า”
"สิ่งที่ทางพรรคจะพยายามผลักดันอยู่เสมอก็คือการอยากให้ทุกคนคนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการเมืองให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ที่นักการเมืองกำลังจะตัดสินใจ อาทิเช่น การอนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนมากๆ ประชาชนก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วม ประชาชนควรจะเข้าไปมีส่วนติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อจะตรวจสอบว่านักการเมืองที่ได้เคยเลือกมานั้นเป็นคนที่ดีหรือไม่"
"ถ้าหากเขาเป็นคนไม่ดี การเลือกตั้งครั้งหน้านั้นเขาก็จะตัดสินใจไปเลือกตั้งพรรคใหม่ คนใหม่ได้ แต่ถ้าหากประชาชนกลัวแล้ว อำนาจเผด็จการทหารเขาจะยิ้มเลย"
///////////
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง ที่แสดงออกต่อปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย บนเวทีเสวนา ACT ครั้งนี้ ที่ควรค่าต่อการบันทึกไว้จดจำ เพื่อเป็นพันธสัญญาของ นักการเมือง ในการบริหารงานประเทศในอนาคตต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/