เจาะทรัพย์สิน 77 ล้าน ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ จาก ‘หัวหมู่ทะลวงฟัน’ ถึง ‘ซามูไรกฎหมาย’ นั่ง กก.ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ปล่อยกู้บริษัทร่วมภริยา 71 ล้าน แจ้งรายจ่ายบริจาคเงินให้พรรคประชาชนปฏิรูปด้วย 6.8 แสน
เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. จำนวน 415 ราย แบ่งเป็นกรณีเข้ารับตำแหน่ง 414 ราย และกรณีพ้นจากตำแหน่ง 1 ราย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดย ส.ส. อีก 87 ราย (รวม 501 ราย เพราะนับนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่เป็น ส.ส. แค่ 3 วันแล้วพ้นตำแหน่ง) แบ่งเป็น 10 รายยังไม่ติดต่อ และอีก 77 ราย ที่ขอขยายระยะเวลานั้น ปัจจุบันส่วนใหญ่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาแล้ว เหลือบางรายที่ยังไม่ได้ติดต่อขอยื่น (อ่านประกอบ : ฉิวเฉียด! ‘ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์’ยื่นทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.แล้ว-เปิดเผยสิ้น ก.ย.62)
รายชื่อที่น่าสนใจ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสปอร์ตไลต์ทางการเมืองฉายไปที่ ‘อดีต’ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เนื่องจากกรณียื่นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคต้นสังกัดตัวเอง ก่อนมีกระแสข่าวว่า อาจย้ายไปซบกับพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างไรก็ดีประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร ล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้แล้ว
แง่มุมทางการเมือง นายไพบูลย์ คือ ‘หัวหมู่ทะลวงฟัน’ โดยเฉพาะช่วงเป็น ส.ว. เมื่อปี 2557 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อาจขัดรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่ง จนกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุให้เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นนายไพบูลย์ถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหนึ่งในกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ก่อนจะตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ชูนโยบาย ‘น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า’ และหนุน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้สำเร็จ กระทั่งล่าสุดเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ซามูไรกฎหมาย’ ใครวิพากษ์วิจารณ์ล้ำเส้นเจอ ‘ฟัน’
ในมุมธุรกิจ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนางวินา นิติตะวัน (ภริยา) เป็นกรรมการบริษัทร่วมกันอย่างน้อย 4 แห่ง ยังเหลือเปิดกิจการอยู่ 1 แห่ง คือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่วน น.ส.วศินา นิติตะวัน เป็นกรรมการบริษัท 5 แห่ง
มุมทรัพย์สิน นายไพบูลย์ แจ้งต่อ ป.ป.ช. ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 77,770,402 บาท ไม่มีหนี้สิน
แบ่งเป็นของนายไพบูลย์ 47,573,003 บาท ได้แก่ เงินฝาก 1,465,999 บาท เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยเงินกู้ค้างรับ 45,857,004 บาท ทรัพย์สินอื่น 2.5 แสนบาท
มีรายได้ต่อปี 2,744,720 บาท เป็นเงินเดือนค่าตอบแทน ส.ส. 1,362,720 บาท ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม 1,320,000 บาท เงินเบี้ยประชุม 72,000 บาท มีรายจ่าย 1,191,360 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค 4.8 แสนบาท เงินบริจาคให้พรรคประชาชนปฏิรูป 681,360 บาท เงินบริจาคอื่น ๆ 30,000 บาท
ส่วนนางวินา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 30,197,398 บาท ได้แก่ เงินฝาก 886,412 บาท เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยเงินกู้ค้างรับ 28,110,986 บาท ทรัพย์สินอื่น 1.2 ล้านบาท
มีรายได้ต่อปี 8.1 แสนบาท เป็นดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม มีรายจ่ายรวม 2.4 แสนบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค
ทรัพย์สินที่น่าสนใจของนายไพบูลย์ และนางวินา อยู่ทีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท สกายแลนด์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยนายไพบูลย์ให้กู้ยืม 44 ล้านบาท และนางวินา ให้กู้ยืม 27 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2561-25 พ.ค. 2562
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2562 พบว่า บริษัท สกายแลนด์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2539 ทุนปัจจุบัน 40 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ปรากฏชื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน นางวินา นิติตะวัน นางพิชญา ทวียนต์ชัย น.ส.วศินา นิติตะวัน (บุตร) และนายเสกสรร พลการ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 22,995,382 บาท รายจ่ายรวม 19,248,314 บาท มีดอกเบี้ยจ่าย 7,034,855 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,287,787 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า นายไพบูลย์ และนางวินา เคยเป็นกรรมการในบริษัทอีก 3 แห่ง แต่เลิกกิจการไปแล้ว ได้แก่ บริษัท ตะวัน อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท ทุ่งสงคราม อินดัสทรี จำกัด และบริษัท ทุ่งสงคราม โฮลดิ้ง จำกัด
สำหรับบริษัท ทุ่งสงคราม อินดัสทรี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2533 ทุน 210 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจกิจการค้าพืชผลการเกษตรทุกชนิด มีนายณรงค์ชัย อัครเสรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประโชค ชุมพล นายถนอม ชาญนุวงศ์ นายไมตรี วสันติวงศ์ นายนุกูล นุกิจรังสรรค์ นางวินา นิติตะวัน และนายชาญชัย มณีดุลย์ เป็นกรรมการ
หลังจากนั้นบริษัทแห่งนี้แปรสภาพไปเป็นบริษัทมหาชน ในชื่อบริษัท เอเชียเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทุน 1 พันล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจกิจการโรงงานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์พืช สถานะปัจจุบันล้มละลาย และไม่ปรากฎชื่อนายไพบูลย์ และนางวินา เป็นกรรมการแต่อย่างใด
ทั้งนี้นายไพบูลย์ แจ้งตำแหน่งปัจจุบันนอกเหนือจากเป็น ส.ส. ว่าเป็นนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า ส่วนนางวินา เป็นประธานมูลนิธิ และประธานโครงการคัดเลือกเยาวชน มูลนิธิเยาวชนคนเก่งในโครงการด้วยรักและห่วงใย ในพระราชูปถัมภ์กรมพระกนิฐ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา เป็นรองประธานฝ่ายหาทุนแม่ดีเด่น และรองประธานฝ่ายดอกแก้วกัลยา (คนพิการ) สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมบุคลิกสตรี ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาชิกสมทบ สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประธานสาย 18 ฝ่ายจัดจำหน่ายดอกป้อปปี้ และกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายไพบูลย์ จาก แนวหน้าออนไลน์