พลิกข้อมูลเหตุการณ์ลอบวางระเบิด กทม. ตั้งแต่ คสช.-รบ.บิ๊กตู่ 1 จนถึง รบ.บิ๊กตู่ 2 รวม 5 ปีเศษ อย่างน้อย 13 ครั้ง จับคนร้ายได้แค่ 3 กรณี คดีวางระเบิดหน้าศาลพระพรหม-คดีไปป์บอมม์หน้ากองสลากฯเก่า-โรงละครแห่งชาติ ที่เหลือยังไม่คืบหน้า
กรุงเทพมหานครกลับมาเป็นเป้าหมายการก่อเหตุวางระเบิดของ ‘ผู้ไม่หวังดี’ อีกครั้ง ?
สื่อทุกสำนักรายงานข่าวตรงกันว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 2 ส.ค. 2562 จนถึงขณะนี้ มีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 จุดสำคัญใจกลาง กทม. ได้แก่
1.เวลาประมาณ 08.50 น. เกิดเหตุระเบิดภายในซอยพระราม 9 57/1 มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่ กทม. เขตสวนหลวง ขณะกำลังทำความสะอาดกวาดเศษใบไม้ภายในซอย เบื้องต้นคาดกันว่าเป็นระเบิดลักษณะคล้ายระเบิดปิงปอง
2.เวลาประมาณ 08.36 น. เกิดเหตุระเบิดใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี 2 ครั้ง ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่มีรถยนต์เสียหาย โดยผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า จุดระเบิดอยู่ในพุ่มไม้ใต้สถานีรถไฟฟ้า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งปิดพื้นที่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ
3.เวลาประมาณ 09.00 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณหน้าคิงส์พาวเวอร์ ตึกมหานคร จุดเดียวกับช่องนนทรี มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของตึกมหานคร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
4.เวลาประมาณ 09.00 น. มีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง บริเวณพุ่มไม้หน้าอาคารศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารบี โดยครั้งแรกได้ยินเสียงเกิดขึ้น 2 ครั้ง และตามมาอีก 1 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นคาดกันว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง
(ภาพจากศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารบี ภายหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิด เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ส.ค. 2562)
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดทั้ง 4 จุดดังกล่าว เป็นปรากฎการณ์ต่อเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่พบภาพจากกล้องวงจรปิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า มีผู้ชาย สวมเสื้อเหลือง กางเกงขายาวสีดำ สะพายกระเป๋า และสวมรองเท้าผ้าใบสีดำ ใส่หมวกและหน้ากากอนามัยปิดหน้า โยนวัตถุต้องสงสัยเข้าไปบริเวณใต้ป้าย สตช. ริมถนนพระราม 1 โดยพบว่า เป็นระเบิดจริงที่ใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นดินระเบิด แต่ไม่มีการระเบิดเกิดขึ้น ความคืบหน้ากรณีนี้ ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดข้างต้น นับเป็นครั้งแรก ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 โดยตำแหน่งปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังนั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม และกำกับดูแลหน่วยงานความมั่นคงสำคัญ เช่น สตช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนว่า เหตุการณ์ในวันที่ 2 ส.ค. 2562 รวม 4 ครั้ง และเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหน้า สตช. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ โดยเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหาร กทม. รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ประชุมกันเพื่อหารือถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯ กทม.สั่งตั้งทีมผู้บัญชาการเหตุป่วนเมือง ตลอด 24 ชั่วโมง)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลย้อนหลังนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุม ต่อมามีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ในวันที่ 2 ส.ค. 2562 พบว่า เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเฉพาะใน กทม. อย่างน้อย 13 ครั้ง ดังนี้
ปี 2558
1.วันที่ 1 ก.พ. 2558 เหตุระเบิดด้านหน้าจุดบริการด่วน กทม. ทางเชื่อม BTS สยาม เข้าห้างสยามพารากอน
2.วันที่ 7 มี.ค. 2558 คนร้ายปาระเบิดเข้าไปในศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
3.วันที่ 11 เม.ย. 2558 เหตุระเบิดคาร์บอมม์ ลาดจอดรถห้างเซ็นทรัลเวิลด์
4.วันที่ 17 ส.ค. 2558 เหตุระเบิด TNT หนัก 3 กิโลกรัม ที่สี่แยกราชประสงค์ บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ มีผู้เสียชีวิต 20 คน ผู้บาดเจ็บ 163 คน
สำหรับเหตุการณ์ที่ 4. เว็บไซต์บีบีซีไทย รายงานว่า ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชายอุยกูร์วัย 32 ปี และถูกนำตัวส่งฟ้องศาล ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว โดยชาวอุยกูร์ที่ตกเป็นจำเลยดังกล่าว เคยร้องเรียนต่อทนายความว่า ถูกสอบสวนทรมานเพื่อให้รับสารภาพ อย่างไรก็ดีกองทัพออกมาปฏิเสธ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
(ภาพภายหลังเหตุการณ์วางระเบิดศาลพระพรหมฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558)
ปี 2559
5.วันที่ 18 ส.ค. 2559 เหตุระเบิดบริเวณท่าเรือสาทร ที่คนร้ายโยนจากบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่พลาดตกแม่น้ำ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาไท ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกจับกุมคนมุสลิมย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างน้อย 40 คน ต่อมาเหลือผู้ต้องสงสัย 14 คน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ โดยเป็นชายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ อายุระหว่าง 19-32 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำใน กทม. หลังจากนั้นมีหลายคนถูกปล่อยตัว บางคนถูกจับกุมซ้ำ สรุปมีผู้ต้องสงสัย 14 คน ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันเป็นอั้งยี่ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดถูกนำตัวฟ้องศาล และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ขณะที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่า ร้องเรียนว่าถูกทำร้ายร่างกาย และถูกซ้อมทรมาน
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก จำเลย 9 คน ผิดข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร 6 ปี แต่ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์เหลือ 4 ปี มีจำเลย 1 คน ผิดข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิด จำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลย 5 คน
ปี 2560
6.วันที่ 5 เม.ย. 2560 ระเบิดไปป์บอมม์ หน้าอาคารกองสลากฯ (เดิม) ถ.ราชดำเนิน
7.วันที่ 15 พ.ค. 2560 ระเบิดไปป์บอมม์ หน้าโรงละครแห่งชาติ
8.วันที่ 22 พ.ค. 2560 เหตุระเบิดซุกซ่อนในแจกันดอกไม้ ห้องวงษ์สุวรรณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.พระมงกุฎเกล้า
สำหรับเหตุการณ์ที่ 6.-7. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สอบสวน และจับกุมตัวนายวัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อายุ 62 ปี โดยโดนจับกุมที่บ้านพักย่านบางเขน พบวัตถุระเบิด ต่อมานำตัวส่งฟ้องศาล ศาลพิพากษาจำคุก 78 ปี 30 เดือน ไม่รอลงอาญา (อ้างอิงข่าวจาก โพสต์ทูเดย์ออนไลน์)
ปี 2561 ไม่พบเหตุระเบิดที่เชื่อมโยงกับการเมือง หรือความมั่นคง
ปี 2562 เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดอย่างน้อย 5 จุด ตามที่รายงานข้างต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
สรุปเหตุบึ้มกรุงหลายจุด ตามรวบผู้ต้องสงสัยป่วนหน้า สตช.
บึ้มกรุงลามกองทัพไทย-สำนักปลัดกห.ศรีสมาน
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก ข่าวหุ้นออนไลน์