"... เอกสารแผนธุรกิจของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ระบุว่า คิงสเกต ฯ มีแผนจัดตั้งบริษัทที่เกาะมอริเชียส เป้าหมายทำธุรกิจในประเทศไทย โดยจะยื่นขอใบรับรองการเสียภาษีมอริเชียส (tax residency cirtificate) “เพื่อให้ได้ประโยชน์จากอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างมอริเชียสกับประเทศไทย” โดยไทยและสาธารณรัฐมอริเชียส ทำข้อตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ในปี 2541..."
เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists) หรือ ICIJ ร่วมกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลสำนักกฎหมายในเกาะมอริเชียส พบรายชื่อบริษัทใหญ่หลายประเทศใช้ประโยชน์เลี่ยงภาระด้านภาษีรายได้จากการลงทุน รวมทั้ง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ในกรณีลงทุนเหมืองอัคราในประเทศไทย
เอกสารแผนธุรกิจของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ระบุว่า คิงส์เกต ฯ มีแผนจัดตั้งบริษัทที่เกาะมอริเชียส เป้าหมายทำธุรกิจในประเทศไทย โดยจะยื่นขอใบรับรองการเสียภาษีมอริเชียส (tax residency cirtificate) “เพื่อให้ได้ประโยชน์จากอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างมอริเชียสกับประเทศไทย”
โดยไทยและสาธารณรัฐมอริเชียส ทำข้อตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ในปี 2541
รายงานของ ICIJ ชี้ว่า ข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทและบุคคลต่าง ๆ ในการ “ ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ด้านภาษีที่เปิดช่องให้หลีกเลี่ยงภาระภาษีของประเทศต่าง ๆ เช่น อียิปต์ โมแซมบิก และประเทศไทย”
ฐานข้อมูลดังกล่าวมาจากสำนักกฎหมาย Conyers Dill & Pearman ในมอริเชียส ซึ่งต่อมาได้ขายกิจการไปใน พ .ศ. 2560
ฐานข้อมูลนี้มีเอกสารราว 200,000 ชิ้น ประกอบด้วยอีเมล์สื่อสาร รายชื่อผู้ติดต่อ และแผนธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ โดยนักข่าวสมาชิก ICIJ รวบรวมรายงานข่าวจากฐานข้อมูลนี้ มาจาก 17 ประเทศทั่วโลก
เอกสารของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ชี้ว่า มอรีเชียส มีศักยภาพหลายประการ รวมทั้งระบบกฎหมายการทำธุรกิจที่มั่นคงและสร้างความได้เปรียบ ทำให้เป็นพื้นที่ที่ดี สำหรับการระดมทุนและบริหารจัดการทางธุรกิจ “นอกจากนั้น มอรีเชียสยังเป็นพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งมีเครือข่ายของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่กว้างขวางในตลาดที่น่าสนใจต่าง ๆ”
ในเดือนสิงหาคม 2556 บริษัทอัคราไมน์นิ่ง จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อัครา รีซอร์สเซส (มหาชน) จำกัด ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน บริษัทเอเซียโกลด์ (Asia Gold Ltd) จดทะเบียนก่อตั้งที่เกาะมอรีเชียส
โดยเอกสารแผนธุรกิจของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ระบุว่า เป้าหมายในการตั้งบริษัทที่มอริเชียส เพื่อใช้เป็นบริษัทสำหรับถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ในการลงทุนในไทย คิงส์เกต เป็นแหล่งทุน โดยบริษัทมอริเชียสมี นาย กาวิน โธมัส นายปีเตอร์ วาเรน และกรรมการ ที่มาจากมอริเชียสอีกสองคน สเตฟาน สกาลี และ โซเนีย ซาเวียร์
ในเอกสารมติผู้ถือหุ้นที่ลงนามโดย นายกาวิน โธมัส ในนามของบริษัทคิงส์เกต แคปปิตัล พีทีวาย วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ระบุว่า บริษัท คิงส์เกต แคปปิตัล พีทีวาย และบริษัทเอเซียโกลด์เป็นบริษัทลูกของกลุ่มคิงสเกต คอนโซลิเดท ลิมิดเต็ด
ในขณะนั้น คิงส์เกต แคปปิตัล พีทีวาย เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอัคราไมนิ่ง ในเดือน กันยายน บริษัท เอเซียโกลด์ ซื้อหุ้นบริษัทอัคราไมนิ่งจากบริษัทคิงส์เกต ฯ
แม บวนนาเวนทูรา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและผู้ช่วยผู้ประสานงานขององค์กร The Asian People’s Movement on Debt and Development (APMDD) ให้ความเห็นต่อกรณีการตั้งบริษัทเอเซียโกลด์เพื่อถือหุ้นในการลงทุนในไทยว่า หากว่าอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทย-มอริเชียส เป็นเช่นเดียวกับอินเดีย -มอริเชียส ซึ่งมอรีเชียส มีอัตราการเก็บภาษีเงินได้เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับว่าบริษัท holding company ของ คิงส์เกตที่ตั้งในมอริเชียส ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ในการลงทุนในประเทศไทยเลย
รายงานของ ICIJ ชี้ว่า การเปิดบริษัทนอกอาณาเขตในมอริเชียส เปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ใช้เป็นทางผ่านของเงินลงทุน โดยมอริเชียส มีอัตราการเก็บภาษีเงินได้ของบริษัท 3 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้น ทำให้บริษัทข้ามชาติสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงภาระในการจ่ายภาษี (tax avoidance) ในประเทศที่ลงทุนได้
(https://www.icij.org/?fbclid=IwAR0jdgtNXDzUfx6kUODHysoT05lneVAWPka7bgwWJJF4U4lLfJBB-R2E7VA)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เครดิตภาพ : Marwen Ben Mustapha - inkyfada / ICIJ