“...ปี 2554 จ.ภูเก็ต เริ่มประมวลข้อมูลจาก 3 ฐาน คือ สาธารณสุข ตำรวจ และบริษัทกลางฯ เมื่อตัดการนับซ้ำออกแล้วพบว่า ข้อมูลการเสียชีวิตสูงกว่ารายงานด้วยข้อมูลฐานเดียวทุกฐาน อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ถึงร้อยละ 32 เมื่อเทียบระหว่างปี 2554-2555 และ 2558-2559 ปัจจุบัน จ.ภูเก็ต ได้รับการสนับสนุน เครื่องตรวจจับความเร็ว (Speed Gun) และกล้องตรวจจับอัตโนมัติ (Red Light Camera) จาก มูลนิธิ Safer Roads Foundation เพื่อตรวจจับการสวมหมวกนิรภัย ความเร็ว ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวมทั้งเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของผู้ใช้ถนนอย่างชัดเจน...”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน Bloomberg Initiative for Global Road Safety (BIGRS) และองค์การอนามัยโลก ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “การส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย” เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมขนส่งทางบก หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และสื่อมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายสุพจน์ ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จ.ภูเก็ต มีปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แม้จะมีกฎหมายมากมายแต่ปัญหาคือการบังคับใช้จริง ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ปัญหาการเช่ารถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายมาควบคุมดูแล ผู้ประกอบการเองไม่ได้มีระเบียบที่เข้มงวดในการขอเช่า และปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่ไม่คุ้นชินของนักท่องเที่ยวเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทางจ.ภูเก็ต จึงต้องการที่จะผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายได้จริง และแต่ละภาคส่วนต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
ขณะที่นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และ รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) ให้ข้อมูลว่า ก่อนปี 2550 จ.ภูเก็ต มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1-5 ของประเทศ ติดต่อกันกว่า 20 ปี จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข จ.ภูเก็ต มีการเสียชีวิตประมาณ 200 ราย/ปี
จากนั้น ในปี 2550 ภาคีจังหวัดภูเก็ตเริ่มแก้ไขปัญหาอบุติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง โดยการวิเคราะห์จุดเสี่ยงที่จะมีการเสียชีวิตและลงมือแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมจราจร ด้วยความร่วมมือจาก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และทางจังหวัด โดยปีแรกแก้ไขจุดเสี่ยงที่สำคัญ 14 จุด ทำให้การเสียชีวิตลดลงในปี 2551 และดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่องเรื่อยมากว่า 200 จุด ระหว่างปี 2550-2561
ต่อมา เมื่อปี 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดภูเก็ตเริ่มกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจัง รณรงค์บังคับใช้กฎหมาย มีอัตราการจับปรับอยู่ในระดับต้นของประเทศ ทำให้อัตราการตายจากการไม่สวมหมวกนิรภัย การดื่มแล้วขับ ความเร็ว ลดลง ส่งผลให้การเสียชีวิตของประชาชนภาพรวมลดลงประมาณร้อยละ 30 ในปี 2554
ปี 2554 จ.ภูเก็ต เริ่มประมวลข้อมูลจาก 3 ฐาน คือ สาธารณสุข ตำรวจ และภาคเอกชน เมื่อตัดการนับซ้ำออกแล้วพบว่า ข้อมูลการเสียชีวิตสูงกว่ารายงานด้วยข้อมูลฐานเดียวทุกฐาน อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ถึงร้อยละ 32 เมื่อเทียบระหว่างปี 2554-2555 และ 2558-2559
ปัจจุบัน จ.ภูเก็ต ได้รับการสนับสนุน เครื่องตรวจจับความเร็ว (Speed Gun) และกล้องตรวจจับอัตโนมัติ (Red Light Camera) จาก มูลนิธิ Safer Roads Foundation เพื่อตรวจจับการสวมหมวกนิรภัย ความเร็ว ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวมทั้งเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของผู้ใช้ถนนอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี พล.ต.ต.ธีระพล ลิ้มเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายจราจรมีอุปสรรคมาก เนื่องจากประชาชนไม่มีความเข้าใจ ต่อมาจึงได้หาภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ทำให้มีแนวทางที่ทำงานชัดเจนมากขึ้น เพราะงานจราจรทำคนเดียวไม่ได้ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เชื่อว่าจะทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
ขณะที่ นายชัยนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ถนนเส้นป่าตอง พบว่า มีเศษปูนซีเมนต์บนถนน จากรถบรรทุกปูนที่วิ่งขึ้นป่าตอง เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงได้เชิญผู้ประกอบการมาหารือ ซึ่งตามกฎหมายสามารถปรับได้สูงสุดถึง 10,000 บาท เมื่อเกิดความเข้าใจ ส่งผลให้รถบรรทุกปรับปริมาณการขนส่ง ทำให้ปูนหกน้อยลงจนลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนปัญหาที่พบมากในปัจจุบันคือ กรณีนักท่องเที่ยวไม่ชินเส้นทาง เช่ารถขับขี่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
"การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำให้ตรงจุด โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วม เพราะเป็นผู้รู้จริงถึงปัญหาในพื้นที่ ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุแล้ว ต้องรีบเข้าไปหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุแล้วรีบแก้ไขปัญหาทันที นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การใช้งบประมาณเรื่องถนนต้องทำให้ดี เพราะการซ่อมแซมถนนต้องทำต่อเนื่อง และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก" นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ระบุ
ทั้งนี้ ในการจัดงานเสวนาครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาสำคัญในการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนมานำเสนอด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ได้นำคณะผู้ร่วมเสวนาลงพื้นที่จุดเสี่ยงซึ่งได้รับการแก้ไข บริเวณถนนหน้าทางเข้าวิทยาลัยเทคโนโลยีภูเก็ต ซึ่งมีการติดตั้งป้ายสัญญาณจาราจรแบบสะท้อนแสงมาตร 3M ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่าที่ใช้อยู่ปกติ ติดตั้งกระจกสะท้อน ติดตั้งกล้องตรวจจับอัตโนมัติ และติดตั้งป้ายเตือนเขตกวดขันวินัยทางจราจร เป็นต้น ส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ดังกล่าวลดลง (ดูภาพประกอบด้านบน)
นายเกริกฤทธิ์ ศรีรุ่งวิกรัย นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิศวกรขนส่งและการจราจร ศูนย์ ThaiRAP (Thai Road Assessment Program) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุนสนับสนุนจาก Bloomberg ทำการประเมินถนนแบบดาว (Star Ratings) และส่งข้อมูลไปยัง ศูนย์ iRAP (International Road Assessment Programme) ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในการตั้งศูนย์ ThaiRAP ที่ประเทศไทย
การประเมินถนนแบบดาวนั้น จะประเมินถนนทุกระยะ 100 ม. โดยใช้ตัวชี้วัดองค์ประกอบต่างๆ ของถนนประมาณ 50 ตัวแปร เช่น ความกว้างของถนน จำนวนรถ ไฟส่องสว่าง เป็นต้น โดยคะแนนมี 1-5 ดาว (1 ดาวปลอดภัยน้อยที่สุด – 5 ดาว ปลอดภัยมากที่สุด) ซึ่งแบ่งคะแนนเป็น 4 ประเภท คือ คะแนนสำหรับ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน และคนเดิน
คะแนนดาวดังกล่าวจะนำมาใช้ในการพิจารณาแก้ไขความเสี่ยงที่มีอยู่ของถนนนั้นๆ เพื่อให้มีดาวที่สูงขึ้น หรือมีความปลอดภัยขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการจริงบ้าง เช่น ผลประเมินแนะนำการแก้ไขว่าควรจะขยายความกว้างของถนน แต่สภาพจริงของถนนนั้นอาจไม่สามารถที่จะขยายได้มากกว่านี้ เป็นต้น
“มีการศึกษามาแล้วว่า หากถนนมีคะแนน 3 ดาว อุบัติเหตุจะลดลงประมาณ 50% หรือดาวเยอะความสูญเสียก็จะน้อยลง ทั้งนี้คะแนนมี 4 ประเภท แต่ละถนนต้องเลือกใช้ลำดับความสำคัญต่างกันไป เช่น ถนนในตัวเมืองจจะให้ความสำคัญกับคะแนนของ คนและจักรยาน เป็นลำดับแรก เป็นต้น ซึ่งในแบบประเมินจะมีคำแนะนำสำหรับหน่วยงานไปปรับใช้ ปัจจุบัน ได้ทำการประเมินถนนไปแล้วรวมประมาณ 1,000 กม. เป็นเขตกรุงเทพและปริมลฑล 800 กม. และ จ.ภูเก็ต 200 ม.”นายเกริกฤทธิ์ ระบุ
นายสันติภาพ ศิริยงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาวิศวกรรมจราจร สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว มีการทำสตาร์เรตติ้ง (Star Ratings) หรือการประเมินให้คะแนนความปลอดภัยทางถนนแบบดาว โดยมุ่งหวังว่า ถนนใหม่ทั้งหมด 100% จะต้องได้ 3 ดาวขึ้นไป และถนนเดิมที่มีอยู่ 75% ต้องปรับปรุงให้ได้ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งปัจจุบัน ทช. ประเมินสตาร์เรตติ้งถนนแล้วทั้งหมด 38,000 กม. ทั่วประเทศ สำหรับเป็นข้อมูลใช้ภายใน ทช. โดยส่วนถนนใหญ่ขณะนี้อยู่ที่ 2 ดาว
นายสันติภาพ กล่าวด้วยว่า นโยบายความปลอดภัยของ ทช. เน้นการลดจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แก้ไขที่จุดเสี่ยงที่สุดก่อน ตามลำดับความสำคัญ และเน้นลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ ตัวอย่างเช่น สถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจจะเท่าเดิม แต่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต้องน้อยลงโดยการปรับปรุงแก้ไขที่ถนน เช่น ซ่อมบำรุง ติดตั้งเพิ่มเติม ป้ายเครื่องหมายต่างๆ ติดตั้งเครื่องกั้นไหล่ทาง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการทั่วไปไม่ได้ต่างจาก กรมทางหลวง มากนัก อีกทั้ง ทช. ได้ตั้งหน่วยงาน สำนักตรวจสอบความปลอดภัยงานทาง
“ในพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต มีทั้งถนนที่เป็นของ ทล. ทช. และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ที่คอยดูแลตามอำนาจและหน้าที่ แต่ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ทช. ยินดีสนับสนุน”
ขณะที่ นายปณิธิศร์ เอื้อสุดกิจ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับความปลอดภัย กรมทางหลวงมีการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เช่น จุดไหนเกิดอุบัติเหตุบ่อยก็ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด เช่น ปรับปรุงป้าย ถนน ที่กั้นทาง เป็นต้น
"การประเมินคะแนนถนนแบบดาว นั้น ทล. ปัจจุบันทดลองใช้อยู่ระยะทางรวม 3,000 กม. เพื่อพิจารณาว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานอย่างไร และหากมีการนำมาใช้จะดำเนินการเองหรือจ้างที่ปรึกษาภายนอก ยังอยู่ในขั้นทดลอง"
เช่นเดียวกับ นายสุขอานันท์ พานิชกุล วิศวกรเครื่องกล สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมขนส่งทางบก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมาจาก คน รถ และถนน ซึ่งจะเกิดจากรถเป็นหลักน้อยมาก ทั้งนี้ในส่วนของรถ กรมการขนส่งทางบก ได้นำมาตรฐาน UNECE (United Nations Economic Commission) ของ UN (United Nations : องค์การสหประชาชาติ) มาใช้เพื่อกำหนดมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์ในบางข้อ เมื่อรถมีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะสอดคล้องกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนด้วย
"ปัจจุบันกรมขนส่งทางบกได้ออกประกาศบังคับมาตรฐานการผลิตกับผู้ผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีทั้งได้ออกประกาศแล้ว เตรียมจะประกาศ และกำลังร่างอยู่ เช่น ประกาศลงวันที่ 22 มี.ค. 2560 กำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงหรือแผ่นสะท้อนแสง มีผลบังคับใช้ทันทีกับรถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุก ทุกคัน ที่จดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ซึ่งต้องติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงที่สามารถสังเกตเห็นในเวลากลางคืน ได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น"
“ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวของกับความปลอดภัยทางถนนนั้น มีความเห็นว่า ต้องทำความเข้าใจกันในทุกภาคส่วนทุกคน ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ถูกบังคับใช้ว่ากฎหมายดังกล่าวนั้น มีประโยชน์ร่วมกันอย่างไร เมื่อผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายเห็นถึงประโยชน์ร่วมกันในกฎหมายนั้นๆ การบังคับใช้จะทำได้ง่ายขึ้น”นายสุขอานันท์ระบุ
อย่างไรก็ดี บทสรุปสำหรับการจัดเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทุกฝ่ายต่าง มีความคิดเห็นตรงกันว่า ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพนั้น เป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องการมาตรการแก้ไขทั้งระดับในระดับนโยบายไปจนถึงระดับเจ้าหน้าผู้บังคับใช้ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายที่มีใช้อยู่ด้วย จึงจะเกิดการใช้ได้จริง ขณะที่สื่อสารมวลชนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ฝ่ายสื่อและประชาชนต้องจับตาดูการทำงานบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลความสำเร็จเบื้องต้น จากการสำรวจผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีไปจนถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกันในชุมชน หรือที่อาจเรียกได้ว่า "ภูเก็ตโมเดล" จนสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุลงได้ต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา มีส่วนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
ภูเก็ต ในวันนี้ จึงนับเป็นพื้นที่ต้นแบบสำคัญ ที่จังหวัดอื่นๆ สามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษากระบวนการทำงาน นำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้ดีเป็นอย่างยิ่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพแรกจาก : วอยซ์ทีวี