“…พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลเป็นเพียงการล้างโทษเพื่อไม่ให้มีมลทินติดตัวต่อไป แต่การกระทำหรือความประพฤติที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถูกลงโทษมิได้ถูกลบล้างไปด้วย ตามคำพิพากษา 694/2539 ทั้งการพระราชทานอภัยโทษก็เป็นเพียงการอภัยโทษปรับเท่านั้น โดยยังมีโทษจำคุกอยู่ เพียงแต่ให้รอการลงโทษ และยังต้องทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ประกอบกับมิใช่กรณีที่ต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539…”
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีนักการเมืองรายใดร้อนแรงเท่ากับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำกลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือ แห่งพรรคพลังประชารัฐอีกแล้ว !
นอกเหนือจากประเด็น ‘เซอร์ไพรส์’ ติดหนึ่งในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 ยังมีกรณีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส ถูกกล่าวหาพัวพันกับคดีลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลีย จนถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุก 8 เดือน ก่อนส่งตัวกลับไทย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส แถลงข่าวเคลียร์ปมปัญหาทั้งหมดโดยอ้างว่าเป็นเรื่อง ‘โอละพ่อ’ ไม่มีมูลความจริง ต้นธารข้อมูลเท็จมาจาก ‘สื่ออวตาร’ เชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของ ‘บางกลุ่ม’ ที่หวังผลทางการเมือง ?
ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า กรณีถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดีลักลอบขนยาเสพติดนั้น ข้อเท็จจริงเกิดขึ้นช่วงปี 2535-2536 ได้รับคำเชิญจากพี่คนหนึ่งที่ทำงานใน ป.ป.ส.ของสหรัฐอเมริกา ชวนไปเที่ยวนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย จึงเดินทางไป โดยผ่านการตรวจค้นอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน แต่โชคร้าย เพราะคนที่ถูกจับกุมนั้น กลับอยู่ที่เดียวกับที่ตนอยู่ด้วย จึงโดนข้อหาว่า รู้ว่ามียาเสพติดแต่ไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ไม่ได้โดนข้อหาผลิตหรือนำเข้ายาเสพติด ตนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และถูกคุมขังมาประมาณ 8 เดือน จนถูกปล่อยออกมาใช้ชีวิตตามปกติในนครซิดนีย์ 4 ปีเต็ม ก่อนจะถูกส่งกลับไทย เพราะนายกเทศมนตรีนครซิดนีย์ ไม่ต้องการให้คนเอเชียตั้งตัวเป็นกลุ่มก้อน ข้อมูลเหล่านี้สื่อมวลชนสามารถตรวจสอบได้จากศาลออสเตรเลียทั้งหมด
สาระสำคัญในการแถลงข่าวเมื่อวานของ ร.อ.ธรรมนัส คือการอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 โดยระบุว่า อยากให้สื่อมวลชนไปศึกษา พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 จะตอบโจทย์เรื่องทั้งหมด โดยเฉพาะมาตรา 4 ให้ล้างมลทินแก่ผู้บรรดาต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือวันที่ 5 ธ.ค. 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ถือว่าผู้นั้นมิถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ
“ถือว่าชัดเจน และผมไม่มีความผิด โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่าถูกปลดออกจากราชการข้อหาผิดวินัยร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับคดีที่ออสเตรเลย” ร.อ.ธรรมนัส ระบุ (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
อย่างไรก็ดีประเด็นข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ เคยถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย รวมถึงถูกนำไปอ้างอิงในคำพิพากษาของศาลปกครอง สรุปสาระสำคัญว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลเป็นเพียงการล้างโทษทางวินัยที่ผู้กระทำผิดได้รับเท่านั้น หาได้มีการลบล้างพฤติกรรมการกระทำความผิดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษไปด้วยไม่
(อ่าน พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ : https://library2.parliament.go.th/giventake/content_law/law181050-1.pdf)
เพื่อขยายความให้กระจ่างชัด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นให้ทราบ ดังนี้
@ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เรื่องเสร็จที่ 634/2555
สรุปได้ว่า การไฟฟ้านครหลวงมีข้อหารือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้วินิจฉัยว่าอดีตพนักงานการไฟฟ้านครหลวงรายหนึ่ง ต้องการดำเนินการยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัย และให้คืนสิทธิประโยชน์และสวัสดิการให้แก่ผู้ได้รับการล้างมลทิน ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550
คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า การไฟฟ้านครหลวงไม่จำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่อดีตพนักงานรายนี้ เนื่องจากคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว และ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลเป็นเพียงการล้างโทษเพื่อไม่ให้มีมลทินติดตัวต่อไป แต่การกระทำหรือความประพฤติที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถูกลงโทษมิได้ถูกลบล้างไปด้วย ตามคำพิพากษา 694/2539 ทั้งการพระราชทานอภัยโทษก็เป็นเพียงการอภัยโทษปรับเท่านั้น โดยยังมีโทษจำคุกอยู่ เพียงแต่ให้รอการลงโทษ และยังต้องทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ประกอบกับมิใช่กรณีที่ต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ในทางปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวง เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทิน ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน โดยเพียงบันทึกหมายเหตุไว้ในประวัติการทำงานโดยมิได้ยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยและมิได้ลบล้างข้อความที่บันทึกไว้แต่เดิมว่าเคยมีคำสั่งลงโทษทางวินัย
@คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.116/2554
นอกจากนี้ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ.116/2554 คดีหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย ระบุว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลเป็นเพียงการล้างโทษทางวินัยที่ผู้กระทำผิดได้รับเท่านั้น หาได้มีการลบล้างพฤติกรรมการกระทำความผิดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษไปด้วยไม่
พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ มีผลเป็นเพียงการล้างโทษเพื่อไม่ให้มีมลทินติดตัวต่อไป แต่การกระทำหรือความประพฤติที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถูกลงโทษดังกล่าว มิได้ถูกล้างไปด้วย ทั้งการพระราชทานอภัยโทษก็เป็นเพียงการอภัยโทษปรับซึ่งเป็นโทษอาญาอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยยังมีโทษอาญาจำคุกอยู่ เพียงแต่ให้รอการลงโทษ และยังต้องทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ ประกอบกับมิใช่กรณีที่ต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ประเด็นที่น่าสนใจคือ โทษจำคุกที่ออสเตรเลีย แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส จะออกมายืนยันว่า ไม่มีข้อหาที่โดนจำคุกที่ออสเตรเลียในตัวบทกฎหมายไทย และตอนถูกส่งตัวกลับไทยไม่ได้กลับมารับโทษจำคุกนั้น
พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ สามารถลบล้างการกระทำของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกได้หรือไม่ ?
นี่คือข้อกฎหมายที่ข้องกับ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัส นำมาอ้างอิงในการแถลงข่าวเคลียร์ทุกกระแสข่าวร้อนแรงเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา
ท้ายที่สุดฝีไม้ลายมือในการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/