กางกม.ไขข้อสงสัย ผู้บังคับเครน' ก่อสร้าง หลังเกิดเหตุถล่ม รร.อัสสัมชัน คอนเเวนต์ ต้องผ่านอบรม ทฤษฎี-ปฏิบัติ ตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพเเวดล้อมการทำงาน
“ผู้บังคับเครน” หรือ “ผู้ขับปั้นจั่น” ต้องผ่านการอบรมหรือไม่?
เป็นประเด็นข้อสงสัยตามมา หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครนถล่มใส่หลังคาโรงเรียนอัสสัมชัน คอนแวนต์ กรุงเทพฯ จนทำให้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกรณีนี้ผู้บังคับเครนเป็นแรงงานข้ามชาติ (อ่านประกอบ: ไม่ใช่ครั้งแรก- กทม.ย้ายหน.ฝ่ายโยธาเขตบางรัก หลังเครนหล่นใส่หลังคา ร.ร.อัสสัมชัญฯ)
เพื่อสร้างความกระจ่าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลจากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอบรมหลักสูตรการปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น และกรอบรมทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น พ.ศ. 2554 พบว่า ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีการใช้งานปั้นจั่นทุกชนิดที่มีพิกัดการยกอย่างปลอดภัย ( Safe working load ) ตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ 1 ตั้นขึ้นไป นายจ้างต้องจัดฝึกอบรมแก่ลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำา พ.ศ.2552
มีหลักสูตรฝึกอบรม แบ่งเป็น
หลักสูตรการฝึกอบรมในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับปั้นจั่น ได้แก่ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับปั้นจั่น, หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ, หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น และหลักสูตรการอบรมหรือทบทวนการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่น
โดยในการฝึกอบรมความรู้พื้นฐาน ภาคทฤษฎี มีกําหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาวิชาที่อบรม ดังนี้
1.กฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552
2.มาตรฐานสัญลักษณ์ความปลอดภัย
3.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปั้นจั่น และชนิดของปั้นจั่น
4.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเชือก ลวดสลิง โซ่ และอุปกรณ์ยก
5.บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น
6.ความปลอดภัยในการทํางาน สาเหตุและกรณีศึกษาการเกิดอุบัติเหตุของปั้นจั่น
อย่างไรก็ตาม หากลงลึกเฉพาะผู้บังคับปั้นจั่น หรือผู้บังคับเครน มีดังนี้
หลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับปั้นจั่น ชนิดปั้นจั่นเหนือศีรษะ ปั้นจั่นขาสูง และปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ชนิดอื่น ประกอบด้วย
ภาคทฤษฎี มีระยะเวลาการอบรมไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาวิชา ที่อบรม ได้แก่ ความรู้พื้นฐาน และระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง, ระบบไฟฟ้าเบื้องต้น, ระบบสัญญาณเตือน และ Limit switch, การใช้สัญญาณมือ, วิธีผูกมัดและการยกเคลื่อนย้าย, การประเมินน้ำหนักสิ่งของ, การใช้คู่มือการใช้งาน การตรวจสอบ และการบํารุงรักษาตามระยะเวลา
รวมถึงต้องมีการทดสอบภาคปฏิบัติเสมือนจริง มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งต้องมีการ ทดสอบการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของตามเส้นทางที่กําหนดอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ส่วนหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับปั้นจั่นชนิดปั้นจั่นหอสูง รถ เรือปั้นจั่น ประกอบด้วย
ภาคทฤษฎี มีระยะเวลาการอบรมไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง ซึ่งอย่างน้อยต้องมี เนื้อหาวิชาที่อบรม ดังนี้
ความรู้พื้นฐาน และระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง, ระบบเครื่องยนต์ดีเซลเบื้องต้น , ระบบการไฮดรอลิกเบื้องต้น, ระบบไฟฟ้าเบื้องต้น, ระบบสัญญาณเตือนและ Limit switch, การใช้สัญญาณมือและเครื่องหมายจราจร, การอ่านค่าตารางพิกัดยก, การเลือกใช้ และการตรวจสอบอุปกรณ์ยก, วิธีผูกมัดและการยกเคลื่อนย้าย, การประเมินน้ำหนักสิ่งของ, การใช้คู่มือการใช้งาน การตรวจสอบ และการบํารุงรักษาตามระยะเวลา
การทดสอบภาคปฏิบัติเสมือนจริง มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งต้องมีการทดสอบการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของตามเส้นทางที่กําหนดอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ทั้งนี้ คุณสมบัติของวิทยากรทำการฝึกอบรม ต้องมีประสบการณ์และความรู้ความสามารถ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของประกาศ ระบุว่า ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
1.สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล หรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ในหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่า ๑ ปี
2. สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์หรือเทียบเท่า หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม ช่างไฟฟ้า หรือเทียบเท่า หรือเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานระดับวิชาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์ในการ ทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีประสบการณ์ในหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่า 3 ปี
3.ช่างชํานาญการ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นและหัวข้อที่บรรยาย ไม่น้อยกว่า 5 ปี
4.เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีประสบการณ์ในหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่า 1 ปี
สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายหฤษฏ์ ศรีนุกูล อนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุถึงแนวทางการใช้เครนอย่างปลอดภัยนั้นจะต้องมีบุคลากร 4 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้บังคับเครน ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ, หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น
“มีการอบรมผู้ขับเครน 2 รูปแบบ คือ ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อนำไปสอบรับใบอนุญาตขับขี่ โดยผู้ฝึกอบรมจะเป็นวิทยากรจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีใบอนุญาต หากไม่ใส่ใจก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้” อนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นหลักสูตรการอบรมตามกฎหมายที่สถานประกอบการต้องปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชน
ส่วนผู้บังคับปั้นจั่นหรือเครน กรณีเหตุการณ์ล่าสุด ถล่มโรงเรียนอัสสัมชัน คอนแวนต์ ผ่านการอบรมหรือไม่นั้น คงต้องสืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป .
อ่านประกอบ:ย้อนบทเรียนเครนถล่ม ‘นายกสภาวิศวกร’ แนะสนง.เขต เข้มงวด พบประมาท ‘ขึ้นบัญชีดำ’
วสท.คาดปฏิบัติงานผิดพลาด ต้นเหตุ 'เครน' ถล่มใส่หลังคา ‘อัสสัมชัญ คอนเเวนต์’
ภาพประกอบ:https://www.springnews.co.th/thailand/bangkok/515110
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/