“...กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 15 เดือน โดยจะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม รายละเอียดดังนี้ 1. ศึกษาวิเคราะห์และทบทวนข้อมูลความต้องการ (Demand) ของการใช้ท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) การบินทั่วไป (General Aviation) และความเหมาะสมของการมีท่าอากาศยานเพื่อบรรเทาความคับคั่ง (Reliever airport) ของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ...”
“พื้นที่ที่ได้รับคะแนนรวมทั้ง 3 ด้าน มากที่สุด มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ได้แก่ พื้นที่ทางเลือกที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางเลน (ต.บางระกำ และ ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.แก้วฟ้า ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด) ซึ่งจะได้นำไปออกแบบต่อไป”
คือ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลการศึกษาพื้นที่ทางเลือกสำหรับจัดตั้งสนามบินนครปฐมวงเงินลงทุนกว่าพันล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : ทย.เผยผลศึกษาทางเลือกตั้งสนามบินนครปฐมพันล. ชี้พื้นที่ อ.บางเลน-นครชัยศรี เหมาะสุด , เปิด 7 พื้นที่ตั้งสนามบินนครปฐมพันล. ก่อนทย.ชี้ผลสำรวจ บางเลน-นครชัยศรี เหมาะสมสุด)
ขณะที่ พื้นที่ทางเลือกที่ 2 (จากทางเลือกทั้งหมด 7 ทางเลือก) ดังกล่าวนั้น เป็นเขตพื้นที่ที่มีชาวบ้านร้องเรียนเข้ามายังสำนักข่าวอิศรา ว่ามีความหวั่นเกรงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนโดยรอบ ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : สร้างเสร็จทางด่วนมาแน่! ทย.ประชาพิจารณ์สนามบินนครปฐมพันล.นัดสอง-ยังไม่พูดเรื่องผลกระทบ)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจและให้ทราบถึงที่มาเกี่ยวกับโครงการสนามบินนครปฐมมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการมานำเสนอให้รับทราบโดยทั่วกัน ณ ที่นี้
โดยจากการตรวจสอบเว็บไซต์ www.ศึกษาสนามบินนครปฐม.com ของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) พบว่า มีการระบุเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำโครงการสนามบินนครปฐม ว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจำนวนผู้ประกอบการสายการบินรวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำ และปริมาณอากาศยานของแต่ละสายการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งแบบประจำและไม่ประจำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยบางปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10 ทำให้เกิดความแออัดของการจราจรทางอากาศไม่เพียงพอ แม้ว่าทั้งท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะมีโครงการขยายขีดความสามารถแล้วก็ตาม ยังพบว่าไม่ทันความต้องการด้านการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้น อีกทั้งความแออัดดังกล่าวนั้น ทำให้สูญเสียโอกาสในการรองรับเที่ยวบินพานิชย์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการบินทั่วไปและการบินเชิงธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้าง บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม ประกอบด้วย คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินโดยพิจารณาผลการศึกษาด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐศาสตร์ งานการออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น และงานศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการ ตลอดจนดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษา
สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการ ระบุว่า พื้นที่ศึกษาของโครงการ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครอันเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากมีการพัฒนาโครงการคมนาคมที่สำคัญ ได้แก่
1. โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) (กำลังก่อสร้าง)
2. โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (M91)
3. โครงการมอเตอร์เวย์สายชลบุรี - สระบุรี – นครปฐม (M92)
วัตถุประสงค์ของการศึกษา ระบุว่า
1. เพื่อศึกษาข้อมูลความต้องการของการใช้ท่าอากาศยาน สำหรับรองรับการบินพานิชย์ การบินเชิงธุรกิจ และการบินทั่วไป
2. เพื่อศึกษาความเหมาะสมการมีท่าอากาศยาน เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
3. เพื่อสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้างท่าอากาศยาน สำหรับรองรับการบินพานิชย์ การบินเชิงธุรกิจ การบินทั่วไป และการบินท่าอากาศยานเพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
4. เพื่อศึกษาผลกระทนสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ
5. เพื่อศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการ
ขอบเขตของการดำเนินงาน ระบุว่า
กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 15 เดือน โดยจะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม รายละเอียดดังนี้
1. ศึกษาวิเคราะห์และทบทวนข้อมูลความต้องการ (Demand) ของการใช้ท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) การบินทั่วไป (General Aviation) และความเหมาะสมของการมีท่าอากาศยานเพื่อบรรเทาความคับคั่ง (Reliever airport) ของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
2. สำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรูปรายละเอียดเบื้องต้น
3. งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์
4. งานศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินการโครงการ
5. งานศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำรายงานการศึกษาตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 24
6. งานจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการและเงื่อนไขสำคัญและร่างสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ
7. งานศึกษาวิเคราะห์ และนำเสนอแนวทางกำกับดูแล การบริหารสัญญาจ้าง และการบริหารจัดการผลตอบแทนของภาครัฐ
8. การฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้
ส่วน ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ ปรากฏข้อมูลตามตารางต่อไปนี้
ในส่วนการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น มีกำหนดไว้ 2 ครั้งด้วยกัน (ไม่รวมการประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่) โดย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการ จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 5 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารหอประชุม วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม
และประชุมย่อยในระดับพื้นที่ 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 ณ ลานอเนกประสงค์ วัดละมุด ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเทศบาลตำบลบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม และเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2562 ณ ห้องประชุม อบต.กระตีบ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ปัจฉิมนิเทศโครงการ ยังไม่ได้ดำเนินการ และยังไม่ปรากฏกำหนดการการประชุมดังกล่าวบนเว็บไซต์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ปัจฉิมนิเทศโครงการเสร็จแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป
การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิด 7 พื้นที่ตั้งสนามบินนครปฐมพันล. ก่อนทย.ชี้ผลสำรวจ บางเลน-นครชัยศรี เหมาะสมสุด
พบ 'ทย.' ควักเงิน 23.4 ล.จ้างที่ปรึกษาโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ไม่โชว์ข้อมูลแข่งขันงาน
สร้างเสร็จทางด่วนมาแน่! ทย.ประชาพิจารณ์สนามบินนครปฐมพันล.นัดสอง-ยังไม่พูดเรื่องผลกระทบ
ชาวบ้านร้องสร้างสนามบินนครปฐมพันล.หวั่นได้รับผลกระทบ- ทย.จัดประชาพิจารณ์ 13 มิ.ย.นี้