“...โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของตราชั่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรอิสระและมีความเป็นกลาง ดังรูปผังอาคาร (ภาพทางอากาศ) และ รูปตั้งอาคาร (ด้านหน้า) ที่มีลักษณะเป็นรูปตราชั่ง มีความสมมาตรคล้ายตราสัญลักษณ์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน...”
ปมปริศนาตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจัตุจักร วงเงินค่าก่อสร้าง จำนวน 2,136 ล้านบาท พังถล่มลงมา จากตึกสูง 30 ชั้น กลายเป็นซากปรักหักพัง ภายในชั่วพริบตา หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
ท่ามกลางข้อกังขาว่า สาเหตุที่ทำให้ ‘ตึกสตง.แห่งใหม่’ ถล่ม เป็นเพราะผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจริงหรือไม่ เนื่องจากในกรุงเทพมหานครไม่มี ‘ตึกสูง’ แห่งใดถล่มลงมา มีเพียงรอยร้าวเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ขอปิดชื่อ เพื่อให้เปิดเผยความจริงที่เป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากตึกสตง.ถล่มในครั้งนี้
ก่อนตึกสตง.แห่งใหม่ บนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย แขวงจตุจักร กรุงเทพฯ จะถล่ม สตง.เคยมีการว่าจ้างออกแบบก่อสร้าง ‘โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่’ บนที่ดินของกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 15 ไร่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ ต่อมาได้พื้นที่ข้างเคียงเพิ่มขึ้นจนเป็น 16 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา วงเงินค่าออกแบบ จำนวน 25.8 ล้านบาท ออกแบบโดยกิจการร่วมค้า คาบิเน็ท อินจิเนียร์ และนายอาวุธ เงินชูกลิ่น ภายใต้งบประมาณค่าก่อสร้าง 1,500 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. อาคารหลักอำนวยการ สตง. จำนวน 14 ชั้น 2. อาคารอำนวยการ 2 จำนวน 7 ชั้น 3. อาคารคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 5 ชั้น 4. อาคารสันทนาการ จำนวน 4 ชั้น พร้อมห้องอาหาร สนามเทนนิส 5. อาคารจอดรถและโรงพิมพ์ จำนวน 10 ชั้น และ 6. สนามกีฬาบาสเก็ตบอล กลางแจ้ง
ทั้งนี้ ‘โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่’ ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของตราชั่ง “ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” เพื่อสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรอิสระและมีความเป็นกลาง ดังรูปผังอาคาร (ภาพทางอากาศ) และ รูปตั้งอาคาร (ด้านหน้า) ที่มีลักษณะเป็นรูปตราชั่ง มีความสมมาตรคล้ายตราสัญลักษณ์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ส่วนสาเหตุที่สตง.ต้อง ‘พับแผน’ การก่อสร้างตึกสตง.แห่งใหม่ ย่านปทุมธานี เพราะสาเหตุใด สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอในตอนต่อไป