นอกเหนือจากนี้ ยังมีคําถามอีกหลายข้อที่ยังไม่มีคําตอบเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างไทยและจีนว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นคืออะไร ซึ่งความร่วมมือที่ว่านี้ขยายออกไปไกลกว่าแค่การกำจัดศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงเท่านั้น และอาจจะรวมไปถึงกรณีที่จีนได้มีอํานาจเหนือผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ก็เป็นไปได้
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมามีรายงานว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวน 48 คน กลับไปยังประเทศจีน ท่ามกลางความกังวลว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้อาจเสี่ยงต้องเผชิญกับการถูกควบคุมตัวในค่ายกักกัน และการกดขี่ลงโทษ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเมื่อกลับไปถึงจีน
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้มีการรวบรวมความเห็นที่มาจากต่างประเทศเกี่ยวกับกรณีการส่งตัวกลับ โดยรวบรวมข้อมูลมาจากหลายสื่อมีรายละเอียดดังนี้
@ท่าทีคัดค้าน
เริ่มต้นกันที่องค์การสหประชาชาติหรือ UN ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าการเนรเทศชาวอุยกูร์ 40 คนที่ถูกคุมขังในกรุงเทพ มานานกว่านับสิบปีกลับไปยังประเทศจีน การกระทำเช่นนี้อาจทำให้เหล่าบรรดาชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับต้องเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงและเสี่ยงต่อการถูกทรมานหากส่งมอบให้กับทางการจีน
โดยนายโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าการส่งตัวกลับนั้นถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
“การเนรเทศชาวอุยกูร์ถือว่าละเมิดหลักการไม่ส่งกลับซึ่งมีข้อห้ามโดยสิ้นเชิงในกรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะมีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย หรืออันตรายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้เมื่อพวกเขาถูกส่งตัวกลับ” นายเติร์กกล่าวในแถลงการณ์
ทางด้านของนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ออกมาประณามการส่งตัวครั้งนี้เช่นกัน โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า
นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ (อ้างอิงวิดีโอจาก C-Span3)
“ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานของชาวไทยในการปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เราเรียกร้องรัฐบาลของทุกประเทศที่ชาวอุยกูร์เข้าไปอาศัยความคุ้มครอง ให้ไม่ผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์กลับประเทศจีน”
ส่วนนายอาร์สลัน ฮิดายาท นักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับโครงการช่วยเหลือชาวอุยกูร์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Justice for All กล่าวว่าตัวเขาได้มีการติดต่อกับชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังรายหนึ่งเช่นกัน แต่ว่าไม่สามารถติดต่อได้นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
“ผมคาดหวังว่าจะมีข้อความอะไรกลับมาบ้าง แต่ก็ไม่มีเลย ดังนั้นเมื่อไม่มีอะไรเข้ามาผมจึงลองโทรและส่งข้อความถึงเขา แต่ไม่ตอบกลับ” นายฮิดายาทกล่าว
ทางด้านของกลุ่มรณรงค์เพื่อช่วยเหลือชาวอุยกูร์หรือ CFU ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซีได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยเช่นกัน โดยนายรุชาน อับบาส (Rushan Abbas) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร CFU กล่าวว่า “วันนี้ (27 ก.พ.) ถือเป็นความล้มเหลวของมนุษยชาติเมื่อชาวอุยกูร์ 40 คนถูกส่งตัวให้ไปอยู่ในมือของผู้ที่ข่มเหงซึ่งกําลังก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ประเทศไทย UNHCR และทุกคนที่ล้มเหลว ได้เลือกข้างแล้วว่าจะเข้าข้างเผด็จการและทรยศต่อกลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุด ทุกครั้งที่โลกปล่อยให้ระบอบการปกครองของจีนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยไม่ได้รับโทษ สิ่งนี้ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการทําลายต่อตัวเราเอง”
@ท่าทีจากทางฝั่งจีน
ขณะที่ประเทศจีนก็ได้มีความเห็นในอีกแง่มุม โดยโต้แย้งต่อท่าทีของนานาชาติและยืนยันว่าการดำเนินการของจีนนั้นเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนว่ามีกองกําลังทางการเมืองบางกลุ่มกําลัง "เผยแพร่คําโกหก" เกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเพื่อขัดขวางความสงบเรียบร้อย
ขณะที่นายหลิน เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวถึงการส่งตัวนักกิจกรรมชาวอุยกูร์จำนวน 48 คน ว่า “ผู้คนจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงชาวอุยกูร์มีสิทธิและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมและการเมืองในฐานะพลเมือง”
ทางด้านของสำนักข่าวซินหัวของประเทศจีนเองก็ได้รายงานข่าวในช่วงวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับนั้นแท้จริงแล้วถูกองค์กรอาชญากรรมหลอกลวง" และติดอยู่ในประเทศไทย โดยครอบครัวของชาวจีนเหล่านี้ได้ขอให้รัฐบาลจีนช่วยเหลือในการกลับมาของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ชาวอุยกูร์ 48 คนที่ถูกคุมขังในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม 300 คนที่หลบหนีออกจากจีนและถูกจับกุมในปี 2557 บางคนถูกส่งกลับไปยังจีนและคนอื่น ๆ ไปยังตุรเคีย ส่วนที่เหลือถูกควบคุมตัวให้อยู่ในความดูแลของไทย” รายงานสำนักข่าวซินหัวระบุ
นายหลิน เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก CCTV)
@บทวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศต่อกรณีส่งตัวกลับ
นอกจากนี้ยังมีสื่อต่างประเทศบางฉบับที่วิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าประเทศจีนอาจมีข้อตกลงอะไรบางอย่างกับทางไทย จนนำไปสู่การตัดสินใจส่งตัวชาวอุยกูร์ให้กับทางประเทศจีน
เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.สำนักข่าว The Diplomat ของสหรัฐอเมริกาได้ลงบทวิเคราะห์ในบทความข่าวหัวข้อ “ความร่วมมือของไทยกับจีนในเรื่องอาชญากรรมข้ามพรมแดน กับราคาที่ต้องจ่าย” ซึ่งเนื้อหาตอนหนึ่งของข่าวระบุว่า
ขณะที่จีนและไทยต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในการกำจัดกลุ่มอาชญากรสแกมเมอร์ที่ดําเนินงานในพื้นที่ชายแดน แต่ภัยคุกคามจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในเรื่องความมั่นคงนั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ไทยต้องจ่าย และเนื่องจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของไทยกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของภาคการท่องเที่ยวที่สําคัญ จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้นําไทยจะปฏิเสธความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดกับจีนยิ่งขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลงความคิดริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (GSI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
นอกเหนือจากนี้ ยังมีคําถามอีกหลายข้อที่ยังไม่มีคําตอบเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างไทยและจีนว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นคืออะไร ซึ่งความร่วมมือที่ว่านี้ขยายออกไปไกลกว่าแค่การกำจัดศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงเท่านั้น และอาจจะรวมไปถึงกรณีที่จีนได้มีอํานาจเหนือผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ก็เป็นไปได้
ส่วนสำนักข่าว DW ของเยอรมนีเองก็ได้ลงวิดีโอสัมภาษณ์วิเคราะห์ของนายแมทไธอัส โบลินเจอร์ หัวหน้าทีมข่าววิจัยและสืบสวนของ DW เกี่ยวกับเหตุผลที่ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนในช่วงเวลานี้ โดยระบุว่าจีนนั้นได้กดดันประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปเยือนจีนเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ด้วย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบปะกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมขอให้มีความร่วมมือที่มากขึ้น (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
“ประเทศจีนได้ดำเนินการกับรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกมานานแล้ว เพื่อที่จะขยายขอบเขตการดำเนินการกลุ่มผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอื่น เพื่อให้มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับมายังประเทศจีน และสำหรับประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่ต้องมีการพึ่งพาจีนเป็นอย่างมาก ในด้านเศรษฐกิจ” นายโบลินเจอร์กล่าวทิ้งท้าย