นักข่าวพลัดถิ่นหลายคนยังต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างมากไม่ว่าจากทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา ด้านหนึ่ง ในฝั่งเมียนมา นักข่าวต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่กระทําโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งยึดอํานาจในการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อีกด้านหนึ่ง ที่ฝั่งไทย การอาศัยอยู่ที่นี่ ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามและจับกุมอย่างต่อเนื่องเนื่องจากหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง
หลายคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งให้มีการตัดงบประมาณสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAid) ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัด USAid ที่อยู่ในประเทศไทยนั้น นอกเหนือจากผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาแล้ว ผู้สื่อข่าวที่ต้องหนีภัยจากประเทศบ้านเกิดมายังประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงเช่นกัน
โดยสำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษได้ทำรายงานนำเสนอเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้สื่อข่าวที่ต้องลี้ภัยเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ในแต่ละเดือนซูเมียต ผู้สื่อข่าวเมียนมาแอบข้ามพรมแดนจากไทยไปยังเมียนมาเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในเมียนมา โดยเนื้อหาข่าวส่วนมากมีรายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้ง การโจมตีทางอากาศและแหล่งสแกมเมอร์ผิดกฎหมายซึ่งกลายเป็นสวรรค์ของอาชญากรรมข้ามชาติ
ซูเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักข่าว ThanLwinKhet News ซึ่งสำนักข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาที่ลี้ภัยออกมาจากประเทศบ้านเกิด แต่องค์กรผู้สื่อข่าวชาวเมียนมานั้นกำลังเผชิญกับวิกฤตการมีอยู่ขององค์กร อันเนื่องมาจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ในการระงับการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ
“USAid ที่สิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวที่พวกเขาใช้จ่ายเงิน" ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวถึงท่าทีของเขาในการระงับเงินทุนให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และย้ำอีกว่าเงินที่จ่ายให้กับ USAid นั้นถูกใช้เพื่อเป็นเงินใต้โต๊ะ
กลับมาที่ อ.แม่สอด ที่อำเภอแห่งนี้ในสายตาต่างชาตินั้นรับทราบกันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและตลาดลับๆสำหรับอัญมณี ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ แต่อำเภอแห่งนี้ก็ยังเป็นเหมือนบ้านสำหรับผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาจำนวน 300 คน ที่ลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
โดยเงินจาก USAid ที่ถูกนำไปใช้นั้นส่วนหนึ่งก็ใช้ไปกับการสนับสนุนสื่อมวลชนอิสระ การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้บรรณาธิการและนักข่าวที่อยู่ที่แม่สอดอยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนและความหวาดกลัว
นักข่าวพลัดถิ่นหลายคนยังต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างมากไม่ว่าจากทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา ด้านหนึ่ง ในฝั่งเมียนมา นักข่าวต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่กระทําโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งยึดอํานาจในการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อีกด้านหนึ่ง ที่ฝั่งไทย การอาศัยอยู่ที่นี่ ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามและจับกุมอย่างต่อเนื่องเนื่องจากหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง
ลูกจ้างสำนักงาน USAid 2,000 คนตกงานหลังทรัมป์สั่งตัดงบ (อ้างอิงวิดีโอจาก Times Now)
ตอนนี้ปัญหาทางการเงินและการตกงานได้ถูกเพิ่มเข้าไปในรายการอันตรายจากการทํางานของผู้สื่อข่าวเหล่านี้แล้ว
“ตอนนี้อาจจะกล่าวได้เลยว่าเราไม่มีอะไรเลย ทันทีที่ฉันตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ฉันต้องคิดถึงเลยก็คือเรื่องของเงิน” ซูกล่าว
อนึ่งซูทำงานด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งต้องพึ่งพาเงินทุนของ USAid ทั้งหมด โดยตัวเธอทำงานร่วมกับเครือข่ายนักข่าวในแม่สอดและนักข่าวพลเมืองเล็กๆในเมียนมา ซึ่งเธอเป็นผู้ฝึกนักข่าวพลเมืองเหล่านี้ให้ทำข่าวแบบลับๆด้วยตัวเอง
ซูเป็นนักข่าวที่มีอายุงาน 20 ปี และมีเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดในการอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยตอนนี้เธอต้องอาศัยเงินของเธอเองทั้งหมดเพื่อจ่ายให้กับทีมงานของเธอ โดยสัดส่วนนี้อยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมดของเธอ และซูยังต้องจัดหาบ้านหลังเล็กๆและอาหารราคาถูกให้กับทีมงานของเธอด้วย
"พวกเขาไม่มีเงิน แต่พวกเขาตัดสินใจที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น จัดหาข้าวหรือน้ำมันสําหรับความต้องการในชีวิตประจําวัน" ซูกล่าว
อนึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ได้ระงับโครงการหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAid รวมถึงการสนับสนุนสื่ออิสระมากกว่า 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,015,788,000 บาท)
เอกสารข้อมูลของ USAid ซึ่งถูกนำเสนอโดยกลุ่มรณรงค์เสรีภาพสื่อมวลชน Reporters Without Borders (RSF) ก่อนที่จะถูกนำออกจากสารบบ แสดงให้เห็นว่าในปี 2566 หน่วยงานของสหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนการฝึกอบรมและสนับสนุนนักข่าว 6,200 คน ช่วยเหลือสํานักข่าวที่ไม่ใช่ของรัฐ 707 แห่ง และสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม 279 แห่งที่อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างสื่ออิสระในกว่า 30 ประเทศ ตั้งแต่อิหร่านไปจนถึงรัสเซียและเมียนมา
@เหมือนค่ำคืนที่มืดมิด
สภาสื่อมวลชนอิสระของเมียนมาประมาณการว่านักข่าวประมาณ 200 คนที่ลี้ภัยต้องเผชิญกับ "ผลกระทบอย่างกะทันหัน" จากการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์
"เพื่อนร่วมงานของผมบางคนยังคงรายงานข่าว แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน" แฮร์รี่ ผู้สื่อข่าวอายุ 29 ปี ที่ขอปกปิดชื่อจริงของเขาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกล่าว
แฮร์รี่เป็นผู้สื่อข่าวอีกคนที่ลี้ภัยมายังแม่สอด เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆอีก 20 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการแจ้งเตือนจากองค์กรสื่อในท้องถิ่นว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการจ่ายเงินในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ผู้สื่อข่าวเหล่านี้ก็ยังคงไม่หยุดทำงาน
“เมียนมาเป็นเหมือนนรกแล้ว ณ เวลานี้ แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครจะสนใจ” แฮร์รี่กล่าวและกล่าวต่อไปว่าดังนั้นเราจึงต้องรายงานเกี่ยวกับมัน
โดยข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้สังหารผู้คนมากกว่า 6,000 คน กักขังโดยพลการมากกว่า 20,000 คน และนําไปสู่การพลัดถิ่นภายในประเทศ 3.5 ล้านคน
สำหรับผู้สื่อข่าวอย่างแฮร์รี่การกลับบ้านหมายถึงการเผชิญหน้ากับการเกณฑ์ทหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนี่คือการละเมิดที่เขาต้องการจะเปิดโปง
ยูน ในวัย 27 ปีเป็นอีกคนที่ได้รับแรงบันดาลใจให้เป็นผู้สื่อข่าวหลังเหตุการณ์กองทัพยึดอำนาจ แต่เธอก็ไม่รู้ว่าจะทำแบบนี้ได้นานแค่ไหน เนื่องจากสำนักข่าวของเธอได้แจ้งถึงเรื่องของการตัดเงินทุนเช่นเดียวกัน
“มันเหมือนคืนที่มืดมิด ไม่มีใครพูด ผู้ที่นำเรื่องการตัดเงินมาแจ้งก็นิ่งเช่นกัน" ยูนกล่าวและกล่าวต่อว่า "สําหรับเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำนักข่าวจะยังคงให้เงินเดือนฉัน แต่นั่นมันไม่แน่นอน”
องค์กรสื่อหลายแห่งเตือนว่าการระงับเงินทุนจะเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์สําหรับรัฐบาลเผด็จการต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศต่างๆ เช่น เมียนมาที่ขาดสื่ออิสระ
“ไม่ว่าการตัดสินใจในทําเนียบขาวจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเผด็จการและผู้ร่วมงานของระบอบเผด็จการมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้ยินข่าวนี้” อองซอว์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบรรณาธิการสำนักข่าวอิรวดีซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1990 กล่าว
อนึ่งเงินทุนสหรัฐฯผ่านองค์กร Internews ซึ่งเป็นองค์กรสื่อไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานใน 100 ประเทศทั่วโลกนั้น คิดเป็นสัดส่วน 35% ของรายได้ของสำนักข่าวอิรวดี
“ระบอบเผด็จการกลัวเรามากเพราะพวกเขารู้ว่าข้อมูลมีพลังมากและเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาไม่ทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ก่อตั้งสำนักกข่าวอิรวดีกล่าวและกล่าวต่อโดยยอมรับว่าการตัดงบนี้มีผลกระทบใหญ่หลวง
สำนักข่าวอิรวดีเองตอนนี้ก็เหมือนกับสำนักข่าวอื่นๆเช่นกันที่กำลังร่างแผนฉุกเฉิน โดยผู้ก่อตั้งสำนักข่าวแห่งนี้กล่าวว่ามีการตัดสินใจที่น่าเศร้ามากมายที่เขาต้องทำ
นักข่าวเมียนมาลี้ภัยมายังประเทศไทย หลังเหตุรัฐประหาร (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีรา)
@ผลกระทบลามไปทั่วภูมิภาค
สื่อของเมียนมาได้รับผลกระทบหนักที่สุดทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ใช่ว่าสื่อในประเทศอื่นในอาเซียนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัด USAid โดยที่กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ปิดสื่อมวลชนเสรีและเป็นอิสระในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายองค์กรก็พยายามหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนอนาคตของสื่อในกัมพูชา
ชานมูลนักข่าวชาวกัมพูชาและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Kiripost สตาร์ทอัพสื่อซึ่งพึ่งพาเงินช่วยเหลือของ USAid เพื่อเป็นเงินทุนครึ่งหนึ่งของการดําเนินงาน กล่าวว่าในตอนแรกพวกเขาคิดว่าทรัมป์อาจเปลี่ยนใจ
"แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เราก็ได้ยินข่าวครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้นเราจึงสิ้นหวังมากขึ้นทุกวัน" เขากล่าว และเสริมว่าพวกเขาจะหาทางเอาชีวิตรอด
ในอินโดนีเซีย Wahyu Dhyatmika นักข่าวสืบสวนและหัวหน้าฝ่ายดิจิทัลของสำนักข่าว Tempo กล่าวว่าการลดงบประมาณ USAid นี้จะส่ง "ผลกระทบที่หนาวเหน็บ" ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"นี่เป็นเรื่องน่าเสียดายเช่นกันเพราะในภูมิภาคนี้เราเห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของลัทธิเผด็จการ ดังนั้นเราจึงเห็นความจําเป็นสําหรับสื่อที่แข็งแกร่งขึ้น สื่อสารมวลชนที่แข็งแกร่งขึ้น และเราต้องการการสนับสนุนทั้งหมดที่เราจะได้รับ"
กลับมาที่แม่สอด ซูกล่าวว่าแม้จะมีความเสี่ยง แต่เธอก็รู้สึกว่าต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาต่อไป
"ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย เราไม่สามารถมองเห็นภาพอันน่าเห็นอกเห็นใจสำหรับชาวเมียนมาได้ ดังนั้นเราจึงต้องไปดูสถานการณ์ที่แท้จริงของพวกเขา นั่นเป็นเหตุผลที่เราเขียนข่าวนี้" ซูกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2025/feb/24/donald-trump-usaid-funding-cuts-myanmar-impact-journalists