“…การปรับเปลี่ยนงบประมาณบางส่วนของมาตรการแจกเงิน ไปสู่การลงทุนที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต หรือการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น และยังช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้…”
......................................
เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงมุมมองต่อการดำเนินนโยบาย ‘แจกเงิน’ ของรัฐบาลไทย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของรายงานดังกล่าว มีรายละเอียด ที่น่าสนใจ ดังนี้
@IMF มองศก.ปี 68 โต 2.9% จากนโยบายการคลังแบบขยายตัว
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่รายงานสรุปผลหารือตามมาตรา IV ปี 2024 กับประเทศไทยของคณะกรรมการบริหาร IMF (IMF Executive Board Concludes 2024 Article IV Consultation with Thailand) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
โดยในปี 2566 กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวระดับปานกลางที่ 1.9% และไตรมาส 3/2567 ขยายตัวที่ 2.3% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ในปี 2567 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ 1-3%
“ปัจจัยภายนอก เช่น การลดลงของราคาพลังงานและอาหารโลก รวมถึงราคาสินค้านำเข้าที่ลดลง มีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เช่น การอุดหนุนราคาพลังงาน มาตรการควบคุมราคา และการยุติมาตรการสนับสนุนทางการคลังที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน” รายงานสรุประบุ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.4% ของ GDP ในปี 2566 จากเดิมที่ -3.5% ของ GDP ในปี 2565 และยังคงเกินดุลในระดับปานกลาง ณ เดือน พ.ย.2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
รายงานสรุปฯ ระบุว่า คาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามรอบวัฏจักรจะดำเนินต่อไป โดยคาดว่า GDP ที่แท้จริงจะเติบโต 2.7% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังแบบขยายตัวในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งรวมถึงมาตรการเงินโอนเพิ่มเติม ซึ่งคิดเป็น 1% ของ GDP และการฟื้นตัวของการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ซึ่งจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากมาตรการแจกเงินของภาครัฐ และเนื่องจากเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในช่วงล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2568
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 และปี 2568 จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านขาลง จากปัจจัยภายนอก เช่น ความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น หรือการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจในระดับภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก และลดลงของการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
ในขณะที่ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และอาจส่งผลให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวเป็นระยะเวลานานขึ้น ส่วนความขัดแย้งในภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น จะส่งผลกระทบในทางลบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น หนี้ภาคเอกชนที่ล้นเกิน อาจส่งผลกระทบต่องบดุลของสถาบันการเงิน และการลดลงของอุปทานสินเชื่อ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบาย และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
@แนะลด‘แจกเงิน’ เปลี่ยนเป็นลงทุนเพื่อเพิ่ม‘ผลิตภาพ’
การประเมินของคณะกรรมการบริหาร ในการสรุปผลการหารือภายใต้มาตรา IV ปี 2567 กับประเทศไทย คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้ให้การรับรองการประเมินของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงดำเนินต่อไป แต่เป็นไปอย่างช้าๆและไม่ทั่วถึง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวในระดับปานกลาง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
“การฟื้นตัวที่ช้าเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน มีสาเหตุจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงด้านขาลงอย่างมีนัยสำคัญ” IMF ระบุ
IMF เห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง การบริหารนโยบายการคลังควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) และเมื่อการดำเนินนโยบายการคลังมีการขยายตัวน้อยลงภายใต้งบปี 2568 จึงควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูฐานะทางการคลัง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบาย
นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่น คือ การปรับเปลี่ยนงบประมาณบางส่วนของมาตรการแจกเงิน ไปสู่การลงทุนที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต หรือการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น และยังช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้
“ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป จำเป็นต้องมีมาตรการปรับสมดุลทางการคลังในระยะปานกลางตามฐานรายได้ เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะและสร้างกันชนทางการคลัง” IMF ระบุ
IMF ชี้ว่า กรอบนโยบายการคลังของไทยสามารถปรับปรุงให้แข็งแกร่งขึ้นได้ โดยการเสริมสร้างกฎระเบียบทางการคลัง (Fiscal Rules) เพื่อรองรับหนี้สาธารณะให้ดีขึ้น โดยการใช้แนวทางที่เน้นการบริหารความเสี่ยง และควรคำนึงถึงต้นทุนของมาตรการกึ่งการคลัง เช่น การควบคุมราคาพลังงาน การติดตามความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิด รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลด้านการคลังของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ
@IMF แนะหั่นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ลดภาระหนี้เอกชน
เจ้าหน้าที่ IMF สนับสนุนการตัดสินใจของ ธปท. ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ต.ค.2567 และมีข้อแนะนำว่าให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยลดภาระหนี้ของภาคเอกชน โดยไม่มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว
“จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐควรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามข้อมูลและแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และการสื่อสารนโยบายอย่างชัดเจน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการยึดโยงกับการคาดการณ์เงินเฟ้อ” รายงานสรุปฯ ระบุ
ทั้งนี้ การประสานระหว่างเครื่องมือนโยบายต่างๆ ภายใต้การบริหารกันชนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม จะมีความสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในขณะที่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกดูดซับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ
ส่วนการใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินควบคู่กันไปนั้น อาจช่วยลดความผันผวนที่ไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเกิดความผิดปกติรุนแรงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ การเปิดเสรีระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม และการทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนที่เหลืออยู่ จะช่วยให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความเข้มแข็ง และลดความจำเป็นในการใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินในระยะยาว
IMF เสนอว่า มีจำเป็นต้องมีชุดมาตรการเชิงป้องกันและทางกฎหมายที่ครอบคลุม เพื่อช่วยให้การลดภาระหนี้ของภาคเอกชนเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ โดย IMF เห็นด้วยกับมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ รวมถึงการป้องกันการก่อหนี้ใหม่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ได้
@เสนอไทยเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
IMF ระบุด้วยว่า แม้ว่าในปี 2567 สถานการณ์ภายนอกของเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ตามปัจจัยพื้นฐานและการนโยบายที่เหมาะสม แต่ควรนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุน การเสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคม การเปิดเสรีภาคบริการ และการลดมาตรการจูงใจทางภาษีและเงินอุดหนุนที่บิดเบือนการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลภายนอกได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ส่งเสริมการแข่งขันและการเปิดกว้างของตลาด ,การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT , การเพิ่มทักษะและการพัฒนากำลังแรงงาน
การเพิ่มความซับซ้อนของการส่งออกโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเสริมสร้างธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งควรให้การคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอแก่ครัวเรือนที่เปราะบาง เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และแก้ไขปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดการสะสมหนี้ครัวเรือนในระยะยาว
อนึ่ง มาตรา IV ตามข้อตกลงของ IMF นั้น IMF จะหารือทวิภาคีกับสมาชิกทุกปี โดยจะมีคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมประเทศสมาชิก เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการเงิน และหารือกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายของประเทศ จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่ฯจะจัดทำรายงานฯสำหรับการหารือของคณะกรรมการบริหาร
@ธนาคารโลกชี้แจก‘เงินหมื่น’1.4 แสนล.กระตุ้นจีดีพี 0.3%
ขณะที่ ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือน ก.พ.2568 (Thailand Economic Monitor-Unleashing Growth: Innovation, SMEs and Startups) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.6% (ตัวเลขจริง สศช. คือ 2.5%) จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเกินความคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงช้ากว่าประเทศใน ‘อาเซียน-5’ แม้ว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (มาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท) ในไตรมาส 4/2567 รวมถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว
“แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ” รายงานของธนาคารโลกระบุ
ธนาคารโลก ระบุว่า แม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลง แต่มาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่่อยู่ในระดับสูง ทำให้การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์หดตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตอ่อนแอลง ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบการเงินของไทย เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกันในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับภาวะการคลังของไทยยังคงขยายตัวในอัตราชะลอลง แม้จะมีการจ่ายเงินอุดหนุน 1 หมื่นบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายจ่ายลงทุนที่ลดลง เนื่องจากความล่าช้าในการจัดสรรงบประมาณปี 2567 (ต.ค.2566-ก.ย.2567) และการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 2.5% ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
“การขาดดุลที่อยู่ในระดับต่ำนี้ เป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้ที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายจ่ายลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2567 เป็นระยะเวลา 7 เดือน และแม้จะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง แต่สัดส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงอยู่เพียง 70% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 74% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ” รายงานของธนาคารโลกระบุ
ส่วนระดับหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คิดเป็นสัดส่วน 63.3% ของ GDP และคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะยังคงเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2568 ตามการขยายตัวของการขาดดุลงบประมาณที่ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ่ายเงินอุดหนุนที่เพิ่มสูงขึ้น
“ในเดือน ก.ย.2567 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 การขาดดุลงบประมาณได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีการเร่งรัดการใช้จ่ายทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรก สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 42 ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด” รายงานฯระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินเบื้องต้นว่า มาตรการเงินอุดหนุนนี้ (มาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท) อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4% อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP
@คาดเศรษฐกิจปี 68 โต 2.9%-รัฐบาลตุนงบกระตุ้น 3 แสนล้าน
รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโนมเติบโตมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และมาตรการกระตนเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.9%
“การฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง
โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปี 2568 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรค จากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น
ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม” ธนาคารโลกระบุ
ธนาคารโลกระบุว่า ในปีงบฯ 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยงบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 450,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาท สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ 2567
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในปีปีงบฯ 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน
รายงานธนาคารโลก ยังประเมินว่า ในปี 2569 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปี 2571
@แนะไทยปรับปรุงอัตราภาษี-เร่งลงทุน-ลดอุดหนุนพลังงาน
รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ ยังชี้ว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ 1.การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 2.การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 3.การรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
“คาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ
แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ (รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐ พ.ศ.2566) และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง” ธนาคารโลกระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารโลก มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อประเทศไทย ในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่
1.ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.เพิ่มรายได้จากภาษีส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง เพราะแม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน
เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น รวมถึงมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้
3.เร่งการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้
@ไทยต้องปรับโครงสร้างศก. เพื่อกระตุ้นการเติบโตระยะยาว
ธนาคารโลก ระบุว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวัง จะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดาเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ก็ยังคงมีความจำเป็น
ธนาคารโลก มองว่า การปฏิรูปโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคาดการณ์ชี้ว่าหากรัฐไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน อัตราการเติบโตของประเทศจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
โดยคาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพจะลดลงประมาณ 0.5% จากค่าเฉลี่ยที่ 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือเพียง 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 และด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้ ประเทศไทยอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 ได้
ทั้งนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนและยกระดับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่เน้นนวัตกรรมและผลิตผลมากขึ้น ซึ่งรายงานฯมีข้อเสนอแนะที่่สำคัญดังนี้
1.เพิ่มการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ ผ่านการดำเนินนโยบายที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในภาคบริการ ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแล และเพิ่มความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถเติบโตและขยายกิจการได้ ในขณะที่บริษัทที่ด้อยประสิทธิภาพจะถูกผลักดันให้ออกจากตลาด
2.สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต
“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายด้านรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในการเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs
การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้มากขึ้น จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความพยายามนี้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีการแข่งขันสูง หากไม่มีการส่งเสริมต่างๆอย่างเพียงพอ ประเทศไทยก็อาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ท่ามกลางประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่พยายามเร่งพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม” รายงานของธนาคารโลกระบุ
เหล่านี้เป็นรายงานฉบับล่าสุดของ ‘กองทุนเงินระหว่างประเทศ-ธนาคารโลก’ ที่ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยอย่างน่าสนใจ รวมทั้งได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับโครงการ ‘แจกเงิน’ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ตามนโยบายของของรัฐบาลผสมที่มี ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำ ว่า อาจไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับ ‘เม็ดเงิน’ ที่ต้องใช้จ่ายออกไป!
ที่มา : IMF Executive Board Concludes 2024 Article IV Consultation with Thailand และ February 2025: Thailand Economic Monitor - Unleashing Growth: Innovation, SMEs and Startups