“...อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 209 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542...”
สืบเนื่องจากกรณีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นำสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประมาณ 20 คน ออกมาแถลงข่าวตอบโต้อย่างดุเดือดกรณีกระแสข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมรับคำร้องกรณีการเลือกตั้ง สว.ปี 2567 ไว้เป็นคดีพิเศษ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรมที่ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เข้าข่าวกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และกฎหมายฟอกเงิน โดยระบุว่า ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการรับคำร้องเลือกตั้ง สว.ไว้เป็นคดีพิเศษ
อ่านข่าวประกอบ : ภูมิธรรม ประชุม กก.คดีพิเศษ รับ เลือกตั้งสว.25 ก.พ.-ปธ.วุฒิฯ ชี้ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม มีรายละเอียดระเบียบวาระ ดังนี้
ระเบียบวาระที่ 4.3 การพิจารณาเพื่อมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสวบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.จำนวน 2 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ เรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี ร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567
แบบเสนอเรื่องเพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
1) ชื่อเรื่อง
กรณี ร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 (เลขสืบสวนที่ 151/2567)
2) หน่วยงานเจ้าของเรื่อง
กองกิจการอำนวยความยุติธรรม
@ ที่มาคำร้องเลือกตั้ง สว.ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม
3) ที่มาของเรื่อง
ด้วย พลตำรวจตรี อนุชา จารยะพันธุ์, นายภัทรพงศ์ ศุภักอักษร และนายทินกร จิตต์ไพบูลย์ ได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษ กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและประมวลกฎหมายอาญา มีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดย พลตำรวจตรี อนุชา จารยะพันธุ์ ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ร้องขอความเป็นธรรมจากการจัดการคัดเลือกวุฒิสมาชิกจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 โดยแจ้งว่าระบบการแนะนำตัวของอำเภอและจังหวัดแตกต่างกันหลายมาตรฐาน บางพื้นที่ปล่อยให้มีการสมยอมกัน (การฮั้ว) การวิ่งเต้น (ล็อบบี้) กันได้ ก่อนรอบการจับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม โดยผู้ร้องได้ส่งมอบพยานหลักฐานเป็นสำเนาภาพการติดต่อกันผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line Application) และต่อมาได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2567 กรณีพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงโดยสรุปว่าการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่นหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุอันควรสงสัยว่ารู้เห็นเป็นกลุ่มองค์กรและแบ่งหน้าที่กันทำ
@ โยง สส.พรรคการเมืองหนึ่ง
นายภัทรพงศ์ ศุภักษร ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศและพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีเหตุสงสัยเกี่ยวกับการจัดตั้งเพื่อลงสมัครโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครที่ไม่ตรงตามกลุ่ม การจ้างคนมาสมัคร จำนวนผู้สมัครซึ่งไม่ลงคะแนนให้ตนเองที่มีเป็นจำนวนมาก และยังมีผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่ได้คะแนนสูงผิดปกติ หรือมีผู้สมัครที่ใส่เสื้อเหมือนกัน มีผลคะแนนออกมาเกาะกลุ่มกัน ซึ่งสอดคล้องกับโพยที่ตกหล่นอยู่ในห้องน้ำแล้วมีผู้สมัครเก็บได้ อีกทั้งมีคลิปภาพและเสียงที่หลุดออกมาจากห้องอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองหนึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสำคัญ
นายทินกร จิตต์ไพบูลย์ ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร สาย ข กลุ่มที่ 1 (กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง) และกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่อาจมีการกระทำความผิดตามกฎหมาย และต่อมาได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มที่ 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน) และการคัดค้านการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ร้องจึงร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
@ ส่อเป็นความผิดทางอาญา กระทบความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรมอันดี
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และอาจมีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) และ (ง) จึงมอบหมายให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเบื้องต้นเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาตามระเบียบ กคพ. ว่าด้วยการสืบสวนคดีความผิดทางอาญาเพื่อเสนอ กคพ. มีมติให้เป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2551 และประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอ และเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
@ พยานบุคคล-เอกสาร ชี้ กระทำความผิดต่อความมั่นคง
4) ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเบื้องต้น
จากการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริง โดยสรุป ดังนี้
4.1 ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดี
ผู้เสียหายหลายราย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ตรวจสอบ กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 947/2567 ลงวันที่ 4 กันยายน 2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน เลขสืบสวนที่ 151/2567 และ พลตำรวจโท คำรบ ปัญญาแก้ว ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3),209 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
จากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์ โดยมีพยานบุคคลและเอกสารรับฟังโดยสรุปได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 มีกลุ่มบุคคลวางแผนร่วมกันเพื่อกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยการกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) , 209 เพื่อให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยมีกลุ่มบุคคลวางแผนร่วมกันก่อนการตรากฎหมายให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และดำเนินการโดยปิดลับที่รับรู้กันเฉพาะกลุ่มโดยมิได้คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคม ซึ่งมีเจตนารมณ์และมุ่งหมายให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาอยู่บนพื้นฐานความสุจริตและเที่ยงธรรม (รายละเอียด จะขอนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ กคพ.)
@ ผิดต่างกรรมต่างวาระ-กฎหมายหลายฉบับ
4.2 ลักษณะของการกระทำความผิด
การกระทำตามข้อ 5.1 เข้าลักษณะการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
การกระทำความผิดของกลุ่มบุคคคลในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ โดยเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระซึ่งได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ และมีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว อันมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ มีการเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน และจัดทำโพยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามที่ต้องการ ให้กับบุคคลที่เตรียมไว้เพื่อให้ลงคะแนนเลือกสมาชิกวุฒิสา
5) วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ
5.1 เหตุเกิดประมาณเดือนเมษายน 2567 ถึง 26 มิถุนายน 2567 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
5.2 สถานที่เกิดเหตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก จังหวัดนนทบุรี ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี และทั่วราชอาณาจักร
6) ความเสียหาย
ความเสียหายไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้
7) ผู้เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล
@ เบื้องต้นมีมูลความผิดอาญา
8) ฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง
พฤติการณ์และการกระทำของเรื่องนี้ ในเบื้องต้นมีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 77 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
9) เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานใดหรือไม่
ไม่อยู่ในระหว่างดำเนินการของหน่วยงานใด
10) เหตุที่เสนอขอเป็นคดีพิเศษ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 209 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
@ เกณฑ์ ‘กลุ่มพลีชีพ-โหวตเตอร์’ มาลงคะแนน
เนื่องจากการกระทำผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติมีความสลับชับซ้อน กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยมีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ต่อเนื่องมาจนถึงหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในการเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” หรือ “โหวตเตอร์”
พฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) และ (ง) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 8 แห่งประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เสนอความเห็นว่าควรพิจารณาเพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาตามข้อเท็จจริงที่เสนอมานี้ เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และมีมติให้มีพนักงานอัยการ หรืออัยการทหารแล้วแต่กรณี มาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วย
@ ชง คกก.คดีพิเศษ ผิดกฎหมาย 4 ฉบับ
11) ข้อเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ
เห็นควรมีมติให้ กรณี ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยการกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือ วิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ในการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 116 (3) ประกอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ตามข้อเท็จจริงที่เสนอมาเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และมีมติให้มีพนักงานอัยการหรืออัยการทหารแล้วแต่กรณีมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบทบัญญัติของมาตราและกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำไปสู่การเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาในการประชุมวันที่ 25 ก.พ.68 มีรายละเอียด ดังนี้
- ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
- รัฐธรรมนูญมาตรา 107 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
การแบ่งกลุ่ม จำนวนกลุ่ม และคุณสมบัติของบุคคลในแต่ละกลุ่ม การสมัครและรับสมัคร หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีจากแต่ละกลุ่ม การขึ้นบัญชีสำรอง การเลื่อนบุคคลจากบัญชีสำรองขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยในระดับประเทศ
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่ครบตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเพราะเหตุตำแหน่งว่างลง หรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เพราะเหตุถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา และไม่มีรายชื่อบุคคลที่สำรองไว้เหลืออยู่ ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและอายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภามีสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การกำหนดดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำความในมาตรา 104 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
@ เอกสารลับดีเอสไอ หลุดแจงความคืบหน้า
อีกสาเหตุที่ทำให้นายมงคล ประธานวุฒิสภา ต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้อย่างดุเดือด-เผ็ดร้อน คือ เอกสารลับ ‘ด่วนที่สุด’ ที่ ยธ XXX กรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี ไปถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ลงนามโดย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งข้อมูล เพื่อให้กกต. ยืนยันมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ว่ามีความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะรับไว้ดำเนินการสอบสวนเอง และความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน หรือ กกต.จะรับดำเนินการสอบสวนเองในการกระทำ ความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาทุกฉบับกฎหมาย หรือประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาและทุกฉบับกฎหมาย เพื่อที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจักได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้
1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรม จำนวน 3 คำร้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 กรณี พลตำรวจตรี อนุชา XXX ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ขอความเป็นธรรม จากการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ณ วิทยาลัย การอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี จากการที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ชอบธรรม และฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2567 กรณีพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1099/2567)
1.2 กรณี นายภัทรพงษ์ XXX ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และได้สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน พบข้อพิรุธในกระบวนการในการเลือก (คำร้องที่ 1193/2567)
1.3 กรณีนายทินกร XXXX ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา สาย ข กลุ่มที่ 1 และกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่อาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย (คำร้องที่ 1268/2567) และฉบับลงวันที่ 127 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มที่ 18 และคัดค้านการ ประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ 1269/2567)
@ ตั้งคณะพนักงานสืบสวน
2.เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อสั่งการท้ายหนังสือกองกิจการอำนวยความยุติธรรมที่ ยธ. XXX ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 อนุมัติให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรมดำเนินการสืบสวน ตามมาตรา 23/3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2567 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญาและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ XXX ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคสอง เป็นเรื่องสืบสวนที่ XXX
3.เลขสืบสวนที่ XXX ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน กล่าวคือ การบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล การตรวจพิสูจน์ พยานหลักฐานทางดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถานที่จัดฮั้วสมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบ พยานหลักฐานที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับโพยสมาชิกวุฒิสภา และการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ฮั้วสมาชิกวุฒิสภา และผลการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
@ เชื่อได้ว่ามีขบวนการ-โพยฮั้ว
การสืบสวนเลขสืบสวนที่พิจารณาจากพยานหลักฐานในชั้นนี้ ปรากฏข้อเท็จจริง เชื่อได้ว่ามีขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล มีการจัดตั้งเครือข่ายขบวนการซึ่งปกปิดวิธีการ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เพื่อได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยมีการวางแผนสลับซับซ้อน ทราบเฉพาะในกลุ่มขบวนการ
หลังจากวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครนายก ในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 16.00 น. ซึ่งมีการจ่ายเงินสด เป็นมัดจำ ส่วนที่เหลือได้รับภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลเลือกแล้ว
จากการสืบสวนพบว่า โพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภามีหมายเลข จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน และในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ พบว่าขบวนการจัดตั้งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิก วุฒิสภาซึ่งอยู่ในขบวนการ จำนวนประมาณ 1,200 คน
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 05.00 น. ขบวนการได้แจกเสื้อสีเหลือง ให้กับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และขบวนการได้อำนวยความสะดวกโดยจัดหารถตู้โดยสาร ส่งผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ เดินทางไปเมืองทองธานี เพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในรอบเช้า และรอบไขว้ เป็นไปตามโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภาทุกประการ
สำหรับโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คนนั้น พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน
@ วางแผนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง สว.-ต่อเนื่องจนเสร็จ
กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) ความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
เนื่องจากการกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยทราบว่ามีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมค้านวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” ดังนั้น ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขตามกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน กระทำการอุกอาจมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวม หลักฐานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่องรอยการติดต่อสื่อสาร เส้นทางการเงิน สถานที่จัดประชุม วางแผน สถานที่พบปะติดต่อ พิสูจน์ทราบกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการ กระทำความผิดของกลุ่มขบวนการ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่จะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบเครือข่าย และองคาพยพของกลุ่มขบวนการทั้งหมด
@ จำเป็นต้องคุ้มครองพยาน
นอกจากนี้ พยานสำคัญอาจจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความคุ้มครองพยาน เพราะเหตุที่พยานอาจเกรงกลัวต่ออันตรายแก่ชีวิตร่างกาย ประกอบกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าว กระทำต่อบทกฎหมายอื่น นอกจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่โดยตรงของ กกต. จึงควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีอาญา ตามความผิดที่พบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องประกอบ :