“ยกตัวอย่าง ตัวเลือกส่วนตัวของนายอันวาร์ที่เลือกนายทักษิณ ชันวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยมาเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน ดูเหมือนว่าจะไปได้ไม่ค่อยดีโดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีความแตกแยกทางการเมือง และกรณีภาพจำที่ว่านายทักษิณจะสามารถแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมาได้นั้น สิ่งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไมได้ช่วยอะไรมากนัก” นางเวลส์ระบุ
เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียน
เมื่อไม่นานมานี้สำนักข่าวแชนนอลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์จึงได้มีการวิเคราะห์บทบาทของนายทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนว่าการแต่งตั้งนายทักษิณนั้นอาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาเซียนได้จริง แต่ว่าอาจจะเป็นผลร้ายกับนายอันวาร์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงนำเอาบทวิเคราะห์ดังกล่าวมานำเสนอ มีเนื้อหาดังนี้
@ทักษิณเป็นบุคคลที่เหมาะสมหรือไม่
ความเห็นเรื่อง "การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียเริ่มต้นอย่างน่าผิดหวัง" ซึ่งถูกเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์สำนัก Benar News เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นางบริดเจ็ต เวลส์ นักวิจัยกิตติมศักดิ์จากสถาบันวิจัยเอเชียของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมมาเลเซียกล่าวว่าการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียนั้นมีความเสี่ยงว่าจะดูมีลักษณะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายอันวาร์มากเกินไป และไม่เพียงพอที่จะเกี่ยวกับอาเซียนทั้งหมด
“ยกตัวอย่าง ตัวเลือกส่วนตัวของนายอันวาร์ที่เลือกนายทักษิณ ชันวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยมาเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน ดูเหมือนว่าจะไปได้ไม่ค่อยดีโดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีความแตกแยกทางการเมือง และกรณีภาพจำที่ว่านายทักษิณจะสามารถแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมาได้นั้น สิ่งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไมได้ช่วยอะไรมากนัก” นางเวลส์ระบุ
อนึ่งการแต่งตั้งนายทักษิณเคยมีการอภิปรายในรัฐสภามาเลเซีย โดยนายลี ชวน ชุง สส.เมืองเปตาลิงจายากล่าวว่าการแต่งตั้งของทักษิณเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เนื่องจากประสบการณ์มากมายของเขาในการเมืองระดับภูมิภาคและการทูตเศรษฐกิจ ซึ่งนายอันวาร์กําลังตัดสินใจอย่าง "เฉลียวฉลาด" ในการจ้างบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือในการจัดการกับปัญหาในอินโดจีนและเมียนมา
สวนนายอาร์เอสเอ็น เรเยอร์ สส.กลุ่มปากาตัน ฮาราปัน จากปีนังออกมาวิจารณ์ว่า “ตัวผมอยากรู้ว่า นักวิชาการต่างชาติ นางบริดเจ็ต เวลส์ คนนี้คือใครที่จะตําหนิรัฐบาลและตำหนินายกฯอันวาร์” และกล่าวต่อไปว่านายทักษิณที่เป็นกําลังสําคัญในภูมิภาคนี้มาสามทศวรรษ และปัจจุบันลูกสาวของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีไทย แน่นอนว่าเขาจะมีอิทธิพล อิทธิพลทางเศรษฐกิจ และแนวคิดที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค
อนึ่งก่อนหน้านี้นางเวลส์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNA เกี่ยวกับการตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการสำหรับประธานอาเซียนว่าดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนที่เป็นแง่บวกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเมียนมาก็คือการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม
“ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการนั้นอาจทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรู้สึกว่าถูกแปลกแยก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือนายทักษิณกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม” นางเวลส์กล่าว
ข่าวนายอันวาร์แต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการ (อ้างอิงวิดีโอจาก Astro Awani)
“ดูเหมือนว่านายอันวาร์กำลังพยายามสร้างคลับรวมกลุ่มสำหรับที่ปรึกษา นี่เป็นความเสี่ยงว่าจะแปลกแยกรัฐบาลท้องถิ่นในอาเซียน เพราะนายอันวาร์พยายามนำเอากิจการอาเซียนไปเข้าสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีมากกว่าจะเป็นกิจการของกระทรวงต่างประเทศหรือกิจการของสำนักเลขาธิการ อย่างไรก็ตามการมีคณะกรรมการที่มีความครอบคลุมเกี่ยวกับเมียนมา สิ่งที่อาจจะมีประสิทธิผลมากกว่าที่จะมีแค่นักการเมืองเข้ามาแก้ปัญหา”
ขณะที่อดีตนักการทูตมาเลเซียที่ทําหน้าที่ในทวีปต่างๆ อย่างน้อยสามทวีปกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของนายอันวาร์ในการพึ่งพาที่ปรึกษาต่างประเทศนั้นไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากเขาพยายามที่จะ "สร้างชื่อเสียง" ในฐานะประธานอาเซียน
“แนวการทำงานที่นายอันวาร์ชอบใช้ก็คือการพึ่งพาที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดสองสามคนที่เขาเลือกเองแทนที่จะถอยกลับไปที่คณะรัฐมนตรีและสถาบัน” นักการทูตไม่ระบุนามกล่าวและกล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตาม มันไม่เป็นประโยชน์สําหรับการที่นายอันวาร์ที่จะ "กีดกันทีมของตัวเอง" เนื่องจากเขาจะต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลที่สําคัญจึงจะประสบความสําเร็จในการเป็นประธานอาเซียน
@ความยืดหยุ่นทางการทูต
ทางด้านนายเจมส์ ชิน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยแทสเมเนียกล่าวว่านายทักษิณมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา และไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรรุ่นเยาว์ที่ไม่มีในส่วนนี้
“ตอนนี้นายทักษิณไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงมีแนวโน้มว่าจะพูดคุยกับเขามากกว่า และอาจจะมีการหารือแนวทางแก้ปัญหากันมากขึ้นอีก” นายชินกล่าว
นายชินกล่าวว่ามาเลเซียอาจจะค่อนข้างเงียบเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของทีมที่ปรึกษาเพื่อให้แน่ใจว่าคนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่างๆในเมียนมาได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
“เหตุผลที่รัฐบาลมาเลเซียไม่สามารถทําให้เรื่องนี้มีความเป็นทางการได้ก็เพราะหาก ที่ปรึกษาพบกับผู้นําเมียนมา ผู้นําจะถือว่าสัญญาใดๆ ที่ให้ไว้เป็นคํามั่นสัญญาอย่างเป็นทางการ” นายชินกล่าวและกล่าวอีกว่า "ด้วยการใช้ลักษณะที่ไม่เป็นทางการนี้ ที่ปรึกษาสามารถหารือเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆได้"
ในช่วงปี 2566 นายอันวาร์แนะนำให้แบนเมียนมาออกจากอาเซียนเป็นการชั่วคราว (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
เหตุผลอีกประการสำหรับการใช้ที่ปรึกษาไม่เป็นทางการก็คือต้องการสร้างความคลุมเครือเกี่ยวกับการอนุญาตให้นายอันวาร์สามารถไปพบปะกับบุคคลจากประเทศต่างๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ทางรัฐบาลต่างประเทศอนุญาตก่อน
มีกรณีหนึ่งคือว่านายอันวาร์นั้นได้รับคำชมจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษา แต่ว่ารัฐบาลสิงคโปร์กลับไม่ได้ชื่นชมนายอันวาร์ในลักษณะเดียวกัน เมื่อเขาแต่งตั้งนายจอร์จ โย (George Yeo) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ เป็นที่ปรึกษา
นายชินกล่าวว่ากรณีนี้ถ้าหากมีการตั้งที่ปรึกษาเป็นทางการ การติดต่อจะต้องได้รับข้อตกลงจากทุกประเทศในอาเซียน ดังนั้นถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการทำให้เรื่องยุ่งยาก ก็เลยมีการระบุว่านี้คือที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถอยู่ต่างประเทศ สามารถเข้าไปพูดคุยกับเมียนมาและจีนได้อย่างอิสระ
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/east-asia/south-korea-president-yoon-suk-yeol-impeach-vote-protests-live-4791756