“…เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลได้มีคําวินิจฉัยว่า ที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องพิจารณาเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้คำสั่งกรมที่ดินกลับมามีผล…”
.......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ได้ทำหนังสือบันทึกที่ มท 0100.3/324 ลงวันที่ 3 ก.ย.2567 หรือเพียง 3 วัน ก่อนที่นายชาดา จะพ้นจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิกถอน 'คำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม' ของนาย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดิน ‘อัลไพน์’
พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย ‘วินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่’ เพื่อให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดิน 2 แปลง (ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ต.คลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 730-1- 51 ไร่ และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1446 ต.บึงอ้ายเสียบ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 194-1-24 ไร่) ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อๆ มาจากรายการข้างต้น ‘กลับมามีผล’ เนื่องจากเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมที่ดิน ได้จัดทำรายงานสรุปชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อพิจารณาเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (กรณีทีธรณีสงฆ์ของวดธรรมการามวรวิหาร) มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@หารือ‘กฤษฎีกา’เพิกถอนคำสั่ง‘มท.’กรณี‘ที่ธรณีสงฆ์’
1.กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0208.1/3611 ลงวันที่ 27 ก.ย.2555 ถึง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือแนวทางการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กรณีสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือ ลับ ที่ ปช 0034/0281 ลงวันที่ 4 ส.ค.2555 แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว (คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544) ตามอำนาจหน้าที่
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2557 แจ้งผลการพิจารณาตอบข้อหารือว่า กระทรวงมหาดไทยต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งนั้น โดยดำเนินการตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 ซึ่งมีข้อสังเกตสรุปว่า
การเป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น เป็นไปโดยสภาพของที่ดิน การโอนจะต้องตราเป็น พ.ร.บ. ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ยุติ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย
กล่าวคือ หากวัดซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ต้องการโอนที่ดินให้แก่เอกชนผู้ประสงค์จะซื้อที่ธรณีสงฆ์ กรมการศาสนา (ปัจจุบันเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยควรต้องเสนอร่างกฎหมายโอนที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว หากวัดแจ้งความประสงค์จะขายที่ดินนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสภาพทางกฎหมายของที่ดินผืนนี้ต่อไป
2.กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0208.1/6020 ลงวันที่ 21 ก.ค.2557 ถึงหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รายงานความเป็นมา ความเห็นทางกฎหมาย ความเดือดร้อนของประชาชนผู้สุจริต เหตุผลความจําเป็นและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการออกกฎหมายโอนที่ธรณีสงฆ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
และกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ลับ ที่ มท 0208.1/4239 ลงวันที่ 28 ก.ค.2558 ถึง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) เพื่อขอทราบแนวทางในการดำเนินการเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนและภาครัฐ หากเพิกถอนคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ และขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา
3.คณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมายและติดตามการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2558 มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเพิกถอนคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเกี่ยวกับการตรากฎหมายเพื่อโอนที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว เพื่อเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ แจ้งตามหนังสือฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ คสช (กย)/682 ลงวันที่ 18 ส.ค.2558
4.นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 362/2558 ลงวันที่ 27 พ.ย.2558 แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายฯ ได้มีคำสั่งที่ 1/2559 ลงวันที่ 4 มี.ค.2559 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายฯ
โดยมีการประชุมจัดทำร่างกฎหมายและมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
คือ การโอนมรดกระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดก กับ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในฐานะส่วนตน ให้มีผลตั้งแต่ 21 ส.ค.2533 อันจะส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด จัดส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0505.4/32274 ลงวันที่ 19 ธ.ค.2559
@‘ป.ป.ช.’ส่งคำพิพากษา‘ศาลฯ’ประกอบการเพิกถอนคำสั่ง
5.คณะทำงานกำหนดแนวทางในการดำเนินการเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 684/2563 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 ได้พิจารณากรณีสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือจัดส่งคําพิพากษาและใบสําคัญคดีถึงที่สุด มาเพื่อประกอบการพิจารณาเพิกถอนคำสั่ง
โดยมีมติให้ดำเนินการพิจารณาเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เนื่องจากการยกร่างกฎหมายเป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้กรมที่ดินประมวลเรื่องเสนอมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อทบทวนคําวินิจฉัยอุทธรณ์
6.กรมที่ดินมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/4360 ลงวันที่ 3 พ.ย.2563 รายงานข้อเท็จจริงทั้งความเห็นพร้อมเหตุผลและส่งหนังสืออุทธรณ์ อันเป็นต้นฉบับและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนคําวินิจฉัยอุทธรณ์
7.คณะทำงานกำหนดแนวทางฯ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 684/2563 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ได้พิจารณาร่างหนังสือการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ แล้วมีมติว่า ก่อนที่จะพิจารณาเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้ทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์และความประสงค์ของทางวัด ให้มีหนังสือถึงผู้อํานวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าอาวาสวัด เพื่อขอทราบแนวทางเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
และในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2564 พิจารณาเรื่องเสนอหนังสือเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมการามวรวิหาร) และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ ที่ประชุมมีมติ ให้กรมที่ดินรับเรื่องกลับไปพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนที่ต้องรอความชัดเจน ในเรื่องการตรากฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์จากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
รวมถึงปรับปรุงจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นปัจจุบัน ก่อนที่จะเสนอให้มีการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมและวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
@‘วัดธรรมิการามวรวิหาร’แจ้งความประสงค์ขายที่ดิน‘หลายครั้ง’
8.กรมที่ดินมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/12496 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2565 เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อโปรดพิจารณา เรื่อง การเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมติที่ประชุมของคณะทำงานกำหนดแนวทางฯ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 684/2563 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 และครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564
9.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พศ 0001/7738 ลงวันที่ 20 ก.ค.2565 แจ้งว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือขอทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีที่ดินธรณีสงฆ์ดังกล่าวนั้น นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 ให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 262/2558 ลงวันที่ 27 พ.ย.2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร แล้ว ตามหนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ 0001/410 ลงวันที่ 18 พ.ค.2565
10.คณะทำงานกำหนดแนวทางฯ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 1619/2565 ลงวันที่ 4 ก.ค.2565 (ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 684/2563 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 ซึ่งเป็นคำสั่งเดิม) ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 เพื่อรับทราบการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางฯ ตามข้อ 8
และพิจารณาแนวทางในการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ กรณีกรมที่ดินได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/12496 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2565 เรื่อง การเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร)
โดยที่ประชุมเห็นว่า การเพิกถอนคำสั่งและมีคําวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ในกรณีที่ดินของวัดธรรมิการามวรวิหาร จะมีผู้มีส่วนได้เสียได้รับผลกระทบจำนวนมาก และมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ที่ประชุมจึงมีมติ ดังนี้
1) กรณีวัดธรรมิการามวรวิหารได้มีการแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์จะถือครองที่ดินและมีความประสงค์จะขายที่ดิน ทั้ง 2 แปลง ดังกลาว มาตั้งแต่ต้น ซึ่งการขายที่ดินที่เป็นที่ธรณีสงฆ์จะต้องออกเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
หากกระทรวงมหาดไทยดำเนินการเพิกถอนคำสั่ง (คําวินิจฉัยอุทธรณ์) ท้ายที่สุดแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อโอนขายที่ดินให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารตามเจตนารมณ์เดิม คณะทำงานกำหนดแนวทางฯ จึงเห็นควรให้กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติไปยังคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามความในมาตรา 41 (4) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
2) มีหนังสือแจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการจัดทำข้อมูลผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นรายแปลง พร้อมประเมินค่าเสียหาย ทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์และราคาตลาดและข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งบันทึกถ้อยคําที่เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร แสดงความจํานงในการจําหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าว
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการหารือไปยังคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และประกอบการพิจารณาทบทวนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมและวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ และจัดส่ง เรื่อง การเพิกถอน คําวินิจฉัยอุทธรณ์ (กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) ตามหนังสือกรมที่ดิน ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/12496 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2565 กลับไปให้กรมที่ดินเพื่อนําข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นอีกครั้ง
11.กรมที่ดินมีหนังสือ ลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/3402 ลงวันที่ 15 ส.ค.2566 เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาทบทวนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมและวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ โดยกรมที่ดินได้รายงานข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
1) จังหวัดปทุมธานีมีหนังสือ ที่ ปท 0020(4)/11841 ลงวันที่ 6 ก.ค.2566 และ ลับ ที่ ปท 0020 (4)/12804 ลงวันที่ 18 ก.ค.2566 รายงานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับโฉนดที่ดินของผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ พร้อมส่งแบบสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และแบบสรุปรายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้มีส่วนได้เสียในที่ดิน โดยสรุป ดังนี้
จำนวนโฉนดทั้งหมด 650 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ 530 ราย ที่ดินติดจํานองทั้งหมด 168 แปลง ผู้รับจํานอง 30 ราย ผู้จํานอง 209 ราย ทุนทรัพย์จํานอง 439,056,549.50 บาท ราคาประเมินที่ดินปัจจุบัน 3,071,318,491 บาท ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างปัจจุบัน 160,787,807 บาท
รวมราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3,232,106,294 บาท (มูลค่าความเสียหายของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยประมาณ (ราคาตลาด) 5,433,505,840 บาท) (มูลค่าความเสียหายโดยประมาณและทุนทรัพย์จํานองโดยประมาณ (ราคาตลาด) 5,872,562,390 บาท)
2) จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานพบว่า วัดธรรมิการามวรวิหารได้เคยให้ถ้อยคําเกี่ยวกับการแสดงความจํานงในการจําหน่ายที่ดินไว้หลายคราว ปรากฏตามหนังสือเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร (พระสุรนาถชยานันท์) ฉบับลงวันที่ 19 ก.ย.2531 หนังสือวัดธรรมิการามวรวิหาร ฉบับลงวันที่ 10 ม.ค.2532
หนังสือวัดธรรมมิการามวรวิหาร ฉบับลงวันที่ 10 ม.ค.2555 บันทึกถ้อยคําของเจ้าอาวาสวัด (พระราชสุทธิโมลี) ฉบับลงวันที่ 21 มิ.ย.2558 และบันทึกถ้อยคําของเจ้าอาวาสวัด (พระราชสุทธิโมลี) ฉบับลงวันที่ 16 ก.ย.2564
@‘ชาดา’ส่งหนังสือถึง‘ปลัดมท.’เพิกถอน‘คําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม’
12.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ลับ ที่ มท 0208.1/66 ลงวันที่ 9 ก.พ.2567 ถึงกรมที่ดิน แจ้งผลคืบหน้าการดำเนินการ ดังนี้
1) สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ลับ ที่ มท 0208.1/363 ลงวันที่ 19 ต.ค.2566 เสนอความเห็นพร้อมเหตุผล เพื่อดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะทำงานฯ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ 1619/2565 ลงวันที่ 4 ก.ค.2565 ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566
โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน มีบัญชาให้รายงานแนวทางแก้ไขปัญหาการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (กรณีที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) ให้สำนักนายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อนํากราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาเรื่องการตรากฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดอีกครั้ง
2) สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ลับ ที่ มท 0208.1/408 ลงวันที่ 30 พ.ย.2566 เสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาลงนามในหนังสือนําเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อโปรดพิจารณาลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนํากราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณา เรื่องการตรากฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร
เนื่องจากเห็นว่า วัดประสงค์จะขายที่ดินที่ธรณีสงฆ์นั้น ตั้งแต่ต้น หากจะให้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวในทันที แล้วไปดำเนินการออกกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ย่อมอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือบุคคลภายนอก ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน หรือรับจํานองที่ดินนั้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้สุจริต และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางราชการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
13.กรมที่ดินมีหนังสือรายงานข้อมูลผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้รับโอนในลำดับต่อมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมประเมินค่าเสียหาย ทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์และราคาตลาด และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงมหาดไทยทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
และมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/17495 ลงวันที่ 22 ส.ค.2567 แจ้งให้จังหวัดปทุมธานี จัดทำบัญชีรายชื่อ และที่อยู่ของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งให้บุคคลดังกล่าวไปใช้สิทธิทางศาล หากมีการเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
14.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชาดา ไทยเศรษฐ์) มีบันทึก ที่ มท 0100.3/324 ลงวันที่ 3 ก.ย.2567 เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการต่อไป เนื่องจากพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า
1) เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลได้มีคําวินิจฉัยว่า ที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องพิจารณาเพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้คำสั่งกรมที่ดินกลับมามีผล
2) ส่วนประเด็นการเสนอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหา ให้แยกดำเนินการควบคู่ต่างหากจากเรื่องการเพิกถอนคำสั่งตามข้อ 1)
15.วันที่ 2 ต.ค.2567 กลุ่มมวลชนตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านราชธานี คลองหลวง ประมาณ 20 คน นําโดยร้อยโท โรมรัน ศรีวงษ์ชัย ได้เดินทางไปที่กระทรวงมหาดไทย พร้อมยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์)
และขอให้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย) ที่ให้ยกเลิกคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ยกเลิกโฉนดที่ดิน และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนคำสั่งควบคู่กันไป
ในการนี้ ผู้แทนกรมที่ดิน นําโดยนายทศพร มิตรนิโยดม เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมที่ดิน นายจักรพันธ์ จันทรภูมิ ผู้อํานวยการสำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน นางแม้นเขียน เชาว์ศิลป์ ผู้อํานวยการสำนักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มมวลชน ซึ่งต้องการทราบผลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา และได้ชี้แจงถึงแนวทางขั้นตอนการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดินให้แก่กลุ่มมวลชนดังกล่าวทราบ
@‘กรมที่ดิน’พร้อมเพิกถอนนิติกรรม‘ที่ดินอัลไพน์’หากมีคำสั่ง
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา โดยระบุว่า หลังจากนายชาดา ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนและการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ต่างๆในที่ดินอัลไพน์ ไปแล้วนั้น ต่อมามีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล
โดยรัฐบาลชุดใหม่ได้มีการเปลี่ยน รมช.มหาดไทย (มท.3) คนใหม่ เป็นนายทรงศักดิ์ ทองศรี กระทรวงฯจึงทำหนังสือไปถึงนายทรงศักดิ์ว่าจะยืนตามคำสั่งของนายชาดาหรือไม่ และได้ยืนยันจากนายทรงศักดิ์ว่า ให้ยืนตาม จึงทำให้เสียเวลาไปในช่วงเวลานั้น ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว
นายชำนาญวิทย์ ระบุด้วยว่า วันนี้ (15 ม.ค.) ได้นัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ส่วนจะได้ผลสรุปหรือไม่ ยังตอบไม่ได้
“ต้องดูก่อน ยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะเกิดขึ้นมา 20 ปีแล้ว จะให้ทำในวันเดียวได้อย่างไร ใครทำอะไรไว้บ้างยังไม่รู้ ต้องดูทั้งหมดว่ามีที่มาอย่างไร ไปซี้ซั้วจิ้มๆ ก็จะมีปัญหา” นายชำนาญวิทย์ กล่าวและว่า “ต้องดูให้รอบคอบ เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อะไรถูกก็ว่าไปตามถูก อะไรผิดก็ต้องว่าไปตามผิด
ขณะที่ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้กรมที่ดินยังไม่ได้หนังสือจากกระทรวงฯ กรณีการเพิกถอนการจดทะเบียนฯและนิติกรรมต่างๆในที่ดินอัลไพล์ และหากมีหนังสือจากมหาดไทยสั่งการให้เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้คำสั่งกรมที่ดินกลับมามีผลแล้ว กรมที่ดินก็ต้องเพิกถอนการทำนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด
“ได้โทรศัพท์สอบถามไปทางกระทรวงฯทุกเดือน รวมทั้งได้รายการสถานะของที่ดินอัลไพล์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินอะไรหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยให้เพิกถอนฯ เราก็ต้องเพิกถอนการทำนิติกรรมทั้งหมด เพราะถือว่าการทำนิติกรรมนั้น เป็นไปโดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องเพิกถอน และที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ก็จะกลับไปเป็นที่ดินของวัด” นายพรพจน์ กล่าว
นายพรพจน์ ระบุด้วยว่า “ถ้าคำสั่งจากกระทรวงกลับมา ทางกรมที่ดินก็ตั้งรับอยู่ มีการเตรียมการว่าจะต้องทำอะไร ได้เตรียมไว้หมดแล้ว และเตรียมมาตลอด”
เมื่อถามว่า กรณีที่ทางวัดธรรมิการามวรวิหาร มีความประสงค์จะขายที่ดินที่ธรณีสงฆ์ฯดังกล่าวนั้น นายพรพจน์ กล่าวว่า จริงๆแล้ว วัดจะขายเลยไม่ได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับธรณีสงฆ์นั้น จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และต้องขึ้นอยู่กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) ว่า จะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร แต่ในระหว่างที่มีการเพิกถอนการทำนิติกรรมต่างๆแล้ว ผู้ที่อยู่ในที่ดินอัลไพล์จะต้องเช่ากับทางวัดก่อน
ส่วนแนวทางการเยียวยาประชาชนที่ซื้อที่ดินอัลไพล์มาโดยสุจริตนั้น นายพรพจน์ กล่าวว่า “คงไม่มีการเยียวยา แต่กรมที่ดินอาจโดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากการที่เขาได้ไปซื้อที่ดินโดยสุจริต ซึ่งมันก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนอย่างนี้ เพราะการดำเนินการ เราทำตามอำนาจกฎหมาย ณ เวลานั้น แต่พอมันไม่ใช่ ต้องเพิกถอน ก็ต้องโดนบ้าง”
อนึ่ง สำหรับกรณีพิพาทที่ดินสนามกอล์ฟ ‘อัลไพน์’ นั้น เดิมนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 20 พ.ย.2512 ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ต.คลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 730-1- 51 ไร่ และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1446 ต.บึงอ้ายเสียบ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 194-1-24 ไร่ ให้เป็นกรรมสทธิ์แก่วัดธรรมการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ต่อมาเมื่อนางเนื่อม ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2514 ได้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และมีการโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และต่อมาได้มีการจดทะเบียนขายให้แก่นิติบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กระทั่งในเวลาต่อมามูลนิธิมหามงกุฎฯ ได้ขายที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาท
สำหรับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2532 โดยครอบครัวชินวัตรถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2544 (อ่านประกอบ : นายกฯ แพทองธาร โอนหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ 224.1 ล้าน ให้ ‘คุณหญิงอ้อ’ แล้ว)
อ่านประกอบ :
ทรงศักดิ์ ยืนคำสั่งตาม‘ชาดา’! รองปลัดมท.นัดฝ่ายกม.ชี้ขาดถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
ลงนามก่อนพ้นรมช.3 วัน! 'ชาดา' เซ็นทิ้งทวนเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์แล้ว