“...ในช่วงรอยต่อของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เนื่องจาก ‘ชุดเก่า’ ครบวาระ ขณะที่ ‘ชุดใหม่’ อยู่ระหว่างวุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แทนตำแหน่งที่ว่าง 6 ตำแหน่ง ยัง ‘ลูกผีลูกคน’ ไม่รู้ว่าจะออกหัว-ออกก้อย...”
ในช่วงรอยต่อของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เนื่องจาก ‘ชุดเก่า’ ครบวาระ ขณะที่ ‘ชุดใหม่’ อยู่ระหว่างวุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แทนตำแหน่งที่ว่าง 6 ตำแหน่ง ยัง ‘ลูกผีลูกคน’ ไม่รู้ว่าจะออกหัว-ออกก้อย
อ่านประกอบ :
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำนโยบายของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2568 ที่เปรียบเสมือนโรดแมปของภารกิจพิทักษ์เงินแผ่นดิน ไม่ให้รั่วไหล ดั่งสำนวน ‘ตกน้ำไม่ไหล-ตกไฟไม่ไหม้’ เข็มทิศจะเป็นอย่างไร
@ พิมพ์เขียวการตรวจเงินแผ่นดินปี 68
นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 240 (1) และ (3) บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจในการวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและกำกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 28 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีและนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
(1) ทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน
(2) ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจเงินแผ่นดิน
(3) การพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. 2566 - 2570) และเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2567
ภายใต้บริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเกิดผลสัมฤทธิ์ การบริหารการเงินการคลังมีเสถียรภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการตรวจสอบและแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
@ สุจริต-เที่ยงธรรม-กล้าหาญ-ปราศจากอคติ
1. ทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน
1.1 การตรวจเงินแผ่นดินต้องกระทำด้วยความสุจริต รอบคอบ โปร่งใส เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ โดยต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม
1.2 การตรวจเงินแผ่นดินต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้
1.2.1 การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ
1.2.2 การใช้จ่ายเงินงบประมาณตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด
1.2.3 การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและนำส่งรายงานการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจด้วยระบบและวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การตรวจสอบรายงานการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
1.2.4 การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภายใต้โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
@ โครงการขนาดใหญ่-เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย
1.2.5 การตรวจสอบโครงการของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ เช่น
(ก) โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ภายใต้แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 โดยพิจารณาจากโครงการที่มีลำดับความสำคัญเร่งด่วน เช่น โครงการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
(ข) โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินการประเมินตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย หรือโครงการจัดหาที่มีมูลค่าเกินกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป
(ค) การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยและอันดามันให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ
(ง) การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานของรัฐ
1.2.6 การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน แผนย่อยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น
(ก) โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ หรือในพื้นที่อื่น ๆ
(ข) การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฝุ่น PM 2.5) ตามแนวทางการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
(ค) การบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เช่น ปรากฏการณ์ลานีญา เป็นต้น
@ ล็อกเป้า เงินนอกงบประมาณ 3 กระทรวงเกรดเอ
1.2.7 การตรวจสอบการรับและการจ่ายเงินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง (เงินนอกงบประมาณ) เช่น
(ก) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(ข) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(ค) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
1.3 การตรวจสอบการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณที่เหลือจากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่หรือตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 61 และมาตรา 62)
1.4 การสร้างผลผลิตของงานที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานตรวจสอบ (Non - Audit Product) เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับการตรวจเงินแผ่นดินในภาพรวมและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการเงินการคลังของรัฐ
1.5 การให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 27 (4) และการตอบข้อสอบถามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ
1.6 การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้หน่วยรับตรวจมีความรู้ ความเข้าใจในหน้าที่ที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง และปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ
1.7 การวางแผนบริหารความต่อเนื่องของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในการตรวจสอบภายใต้สถานการณ์ประเด็นอุบัติใหม่ (Emerging Issues) และภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน
2.ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจเงินแผ่นดิน
2.1 การบริหารการเงินการคลัง การจัดหารายได้ การใช้จ่าย และการก่อหนี้ของหน่วยรับตรวจเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ
2.2 การตรวจเงินแผ่นดินสามารถระงับยับยั้งความเสียหายอย่างร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังและทรัพย์สินของรัฐ (Foresight and Prevention) อันเกิดจากการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
2.3 การรายงานผลการตรวจเงินแผ่นดินมีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นกลาง ตอบสนองต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตลอดจนสามารถป้องกัน แก้ไข หรือลดผลกระทบอันเกิดจากสถานการณ์ประเด็นอุบัติใหม่ (Emerging Issues) และภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน และผลการตรวจสอบเป็นที่ยอมรับของหน่วยรับตรวจและสาธารณชน
2.4 หน่วยรับตรวจสามารถนำผลการตรวจสอบ คำแนะนำ และข้อเสนอแนะไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ
2.5 หน่วยรับตรวจมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในหน้าที่ที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลและความคุ้มค่าในการบริหารเงินแผ่นดิน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพอย่างยั่งยืนทางการคลัง
2.6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินดิจิทัล สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการตรวจเงินแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ใช้โดรน-ดาวเทียม เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบ
3.การดำเนินการเพื่อพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
3.1 ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
3.1.1 ส่งเสริมและผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการตรวจเงินแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง โปร่งใสตามหลักสากล และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ
3.1.2 พัฒนาศักยภาพการตรวจสอบ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือการตรวจสอบ โดยนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการตรวจสอบ ตั้งแต่การออกแบบวิธีการตรวจสอบที่เหมาะสมกับหน่วยรับตรวจ เรื่องที่เลือกตรวจสอบ การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบที่ใช้เทคโนโลยี การแสวงหาหลักฐานประกอบการตรวจสอบ รวมถึงการนำเสนอผลการตรวจสอบ อาทิ การนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ
3.1.3 พัฒนาการตรวจสอบเชิงบูรณาการ โดยจัดทำโครงการนำร่องและแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบเชิงบูรณาการ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการตรวจสอบ
3.1.4 พัฒนาระบบบริหารงานตรวจสอบให้ทันสมัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
3.1.5 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะ การรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชน
3.1.6 พัฒนาบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มีขีดความสามารถและทักษะเพียงพอกับรูปแบบการทำงานยุคใหม่
3.1.7 สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่จะทำให้การตรวจเงินแผ่นดินมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสียหายได้ทันกาล (Timeliness) และการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับการตรวจเงินแผ่นดิน
3.1.8 ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้มีผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเพื่อตรวจสอบรายงานการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงฐานข้อกฎหมายความเสี่ยงของการรักษาวินัยการเงินการคลัง และธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.1.9 ศึกษาวิจัย เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐให้มีขนาดบัญชีที่เหมาะสมกับขนาดของหน่วยงานของรัฐ
3.1.10 พัฒนาตัวแบบ Procurement Performance Model และ Value Based Procurement รวมทั้งริเริ่มนำกระบวนการตรวจสอบทางบัญชีนิติวิทยา (Forensic Auditing) มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบ
@ นำ AI-ฺBig Data พัฒนาระบบตรวจสอบเงินแผ่นดิน
3.2 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี
3.2.1 พัฒนาระบบการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์ โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ การพัฒนาระบบการตอบข้อสอบถามหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และการจัดทำระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
3.2.2 พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการจัดการทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ และระบบการจัดการฐานข้อมูล (Database Management System : DBMS) ที่ใช้ในการตรวจสอบให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางด้านการตรวจเงินแผ่นดินและรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคดิจิทัล
3.2.3 จัดทำหลักเกณฑ์และคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงการรับ - ส่งข้อมูล เอกสารและหลักฐานประกอบการตรวจสอบระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและหน่วยรับตรวจผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
3.2.4 ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ เครือข่ายการสื่อสาร ให้เป็นไปตามข้อกําหนดภาครัฐ และได้รับการรับรองตามมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Digital Technology and Sustainable Development) อาทิ พัฒนาระบบการประชุมและการชี้แจงทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (e - Meeting) มาสนับสนุนการตรวจสอบ เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปและจัดให้มีระบบฐานข้อมูลสำรอง (Disaster Recovery Site) ทำให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)
@ เพิ่มค่าครองชีพ-สร้างขวัญกำลังใจ-ป้องกันสมองไหล
3.3 ด้านการบริหารจัดการองค์กร
3.3.1 วางแผน บริหารอัตรากำลังและงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
3.3.2 ปรับปรุงและแก้ไขประกาศ ระเบียบ คำสั่ง เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร เช่น การบริหารราชการ การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการภายในของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมาตรฐานทางจริยธรรม
3.3.3 ทบทวนและปรับปรุงการบริหารจัดการด้านค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับภาระความรับผิดชอบและเพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
3.3.4 พัฒนากลไกระบบบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น การกำหนดกระบวนการบริหารจัดการบุคลากรภายใต้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนระดับให้มีความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารงานบุคคลและการพัฒนาบุคลากร
3.3.5 จัดให้มีหลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหลักสูตรที่เกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐแก่หน่วยรับตรวจ
3.3.6 พัฒนาสถาบันพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นศูนย์การเรียนการสอนสรรพวิทยาการด้านการตรวจเงินแผ่นดินและการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
@ จับมือองค์กรตรวจสอบการเงินระดับโลก
3.4 ด้านการต่างประเทศ
3.4.1 พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ ประสบการณ์การตรวจสอบ การวิจัยกับต่างประเทศ กับสมาชิกองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEANSAI) องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการตรวจเงินแผ่นดินจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
3.4.2 สนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในทุกด้าน ได้แก่
(1) นำเทคโนโลยีและกลยุทธ์การทำงานแบบดิจิทัล (Digital Transformation) มาปรับใช้ในการสนับสนุนและสร้างทางเลือกในการตรวจสอบ อาทิ การตรวจสอบแบบ Remote Audit การใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถแบ่งปันข้อมูลกับสิ่งต่าง ๆ (Internet of Things : IoT)
(2) จัดประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ด้านการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ (Joint Webinar) ในประเด็น Foresight Study Network in ASEANSAI
(3) จัดสัมมนาทางวิชาการด้านการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ (Joint Seminar) ในประเด็นการตอบสนองและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
(4) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ (Cooperative Workshop) ในประเด็นของการตรวจเงินแผ่นดินภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
3.4.3 สนับสนุนให้ผู้ตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสามารถไปปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรายงานการเงิน หรือเป็นผู้ประเมินผลขององค์กรระหว่างประเทศ
3.4.4 สนับสนุนการขับเคลื่อนปฏิญญากรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๖๔ (Bangkok Declaration 2021) ซึ่งว่าด้วยการปรับตัวขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) ในยุคปกติถัดไป (Next Normal) ให้เป็นรูปธรรม
3.4.5 นำผลการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Cooperative Research) การจัดสัมมนาทางวิชาการ (Joint Seminar) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Cooperative Workshop) และการตรวจสอบร่วมกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ (Cooperative Audit) เพื่อใช้ปรับปรุงและพัฒนาการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างเป็นรูปธรรม
@ ร่วมมือ องค์กรอิสระ-ภาคเอกชน
3.5 ด้านความร่วมมือ ความโปร่งใส และการประชาสัมพันธ์
3.5.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระอื่น และภาคเอกชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ
(1) ให้ความร่วมมือหรือข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี วุฒิสภา เพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
(2) เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการ คณะทำงาน และคณะกรรมการ ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรอิสระอื่น และหน่วยงานของรัฐ
(3) สนับสนุนข้อมูลจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจ เมื่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรอิสระอื่น และหน่วยงานของรัฐขอความอนุเคราะห์
3.5.2 ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้สามารถนำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในทุกด้าน
3.5.3 สนับสนุนให้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานระหว่างงวด (Interim Report) ต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา
3.5.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเปิดเผยรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสรุปรายงานผลการตรวจสอบ ในรูปแบบที่สามารถนําไปประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ (Machine Readable) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เว็บไซต์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ประเทศไทย www.data.go.th
@ พลิกโฉม ตรวจเงินแผ่นดินดิจิทัล รับโลกใหม่
การวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินตามแนวทางการปรับตัวและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกสมัยใหม่
โดยมุ่งหวังจะพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินดิจิทัล (Smart SAO) พร้อมรับมือกับประเด็นอุบัติใหม่ต่าง ๆ (Emerging Issues) และการพัฒนาแนวทางการตรวจสอบขยายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งการบูรณาการตรวจสอบให้เกิดความครอบคลุมในทุกมิติ