"...การยุบพรรคก้าวไกลเท่ากับเป็นการขัดขวางมิให้ประชาชนได้รับสิทธิในการรวมตัว ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการสมาคม ขัดกับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองตามที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR และแนวทางการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย คำวินิจฉัยยุบพรรคเป็นการบังคับใช้กฎหมายเข้าจัดการกำจัดกรรมการบริหารพรรคการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวทางที่แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจ..."
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 เพื่อรวบรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิดในการรวบรวมและจัดทำรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีความก้าวหน้าที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อประเทศโดยรวม และประเด็นที่ยังไม่มีความก้าวหน้าหรือถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง ดังนี้
-
กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาอนุสัญญาทั้ง 9 ฉบับ (ไทยรับรอง 7 ฉบับ) ดังต่อไปนี้
-
-
เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ และการสมาคม
-
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
-
ความเสมอภาค การเลือกไม่ปฏิบัติ
-
สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
-
สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล หรือกลุ่มคนผู้ด้อยสิทธิหรือโอกาสที่จะเข้าถึงการบริการของรัฐ และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
-
สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา
-
สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน
-
สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ
-
ประชาธิปไตย
-
-
ด้วยเหตุที่การใช้อำนาจของเจ้าหน้ารัฐ มีหน้าที่ในการเคารพ การปกป้องคุ้มครองและทำให้บรรลุผลสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการกำหนด กฎหมาย นโยบาย แผนงาน หรือโครงการ รวมทั้งการประกันสิทธิ โดยสถาบันตุลาการ ดังนั้นการพิจารณาความก้าวหน้า หรือถดถอยต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย นโยบาย การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ หรือคำพิพากษาของศาล
สำหรับ 10 ประเด็นถดถอนด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2567 เป็นประเด็นที่มีการออกกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีนโยบายหรือแผนงานที่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีคำพิพากษาของศาลที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม) หรือมีกรณีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มีรายละเอียด ดังนี้
สิทธิได้รับมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัว
กรณีคุณยายวัย 68 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่จังหวัดนครพนม ต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เสียชีวิต เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการให้พนักงานบริษัทเอกชนยกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าไปจากเสาหน้าบ้าน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 09.20 น. เนื่องจากมีการค้างชำระค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ก่อนการตัดไฟหลานสาวผู้ตายได้ให้เหตุผลกับพนักงาน ขอเวลาเดินทางไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้า ระยะทางห่างจากบ้านประมาณ 10 กม. แต่พนักงานอ้างว่าทำตามหน้าที่ จนกระทั่งไฟฟ้าดับทั้งบ้าน และเจ้าหน้าที่มาติดตั้งให้ภายหลังจากไปชำระค่าไฟ รวมค้างชำระ 2 เดือน เป็นเงิน 1,155 บาท ทำให้ยายป่วยติดเตียงอาการทรุด เสียชีวิตในคืนวันเดียวกัน
ทั้งนี้ การเข้าถึงไฟฟ้าได้รับการกำหนดไว้ว่าเป็น “สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัว”ภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลายฉบับ ได้แก่
-
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อ 11 สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัว
-
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ข้อ 14(2) (h) ที่บัญญัติว่ารัฐภาคีจะ “ใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในชนบท ... และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องให้สิทธิแก่สตรีดังกล่าว ... มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐต่างๆ ยังยอมรับอย่างกว้างขวางและสม่ำเสมอถึงความปรารถนาในการปรับปรุงทางเลือกของผู้บริโภคในการเข้าถึงไฟฟ้าที่เพียงพอ เชื่อถือได้ ราคาไม่แพง คุณภาพสูง และราคาประหยัด
-
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 7 ว่าด้วย “พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่สะอาด ราคาไม่แพง ยั่งยืน และทันสมัยได้ และได้ระบุแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นในระดับนานาชาติและระดับประเทศ เพื่อให้เป้าหมายที่ 7 บรรลุผลภายในปี 2030
สรุป การตัดไฟฟ้าถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนได้รับ ได้มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยต้องจัดให้มีน้ำ ไฟฟ้า ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน การค้างชำระค่าไฟฟ้าเป็นหนี้ทางแพ่ง หากมีการค้างชำระ รัฐต้องฟ้องคดีให้ศาลสั่งให้ชำระ ตัดกระแสไฟโดยงดจ่ายไฟให้แก่ประชาชนที่ค้างชำระ กระทำไม่ได้เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้สัดส่วนกับการค้างจ่ายค่าไฟ
สิทธิทางการเมืองในการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองและละเมิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
กรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจ ฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2561 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1)และ (2) รวมถึงข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการใช้มาตรการยุบพรรคการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าว มีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ ปี 2549 รวม 34 พรรค ขณะที่ไทยพับลิก้าได้รายงานว่า ในช่วงเวลา 22 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองไปแล้ว กว่า 110 พรรค สถานการณ์ดังกล่าวย่อมขัดแย้งต่อกระบวนการสร้างความมั่นคงให้กับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ยุบพรรคการเมืองได้
การใช้อำนาจรัฐโดยใช้กลไก กกต.และศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยประเด็นหนึ่งของคำวินิจฉัย คือการอ้างจริยธรรมของบุคคล คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพรรคนั้น
มีความคลุมเครือไม่มีความชัดเจนว่าจริยธรรมอะไร ของใคร นอกจากนี้การที่หัวหน้าพรรคการเมืองไม่มีคุณสมบัติด้านจริยธรรม ย่อมไม่ควรเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ และพรรคต้องถูกยุบตามไปด้วย เหตุนี้ย่อมชี้ให้เห็นได้ว่ารัฐได้ใช้อำนาจนิยม โดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือวินิจฉัยตีความถ้อยคำในรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ผู้มีอำนาจต้องการนับเป็นการใช้กฎหมาย เพื่อทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน
การยุบพรรคก้าวไกลเท่ากับเป็นการขัดขวางมิให้ประชาชนได้รับสิทธิในการรวมตัว ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการสมาคม ขัดกับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองตามที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR และแนวทางการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย คำวินิจฉัยยุบพรรคเป็นการบังคับใช้กฎหมายเข้าจัดการกำจัดกรรมการบริหารพรรคการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวทางที่แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจ ย่อมมิใช่หนทางของระบอบประชาธิปไตยที่พึงยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย รับฟังเสียงข้างมากขณะที่ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย การใช้และตีความรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมเป็นการบ่อนทำลายรากฐานประชาธิปไตย นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยในสายตาประชาคมโลก และอีกทั้งยังเป็นการทำลายรากฐานที่สำคัญ ในการที่จะทำให้ประเทศได้รับการยอมรับเชื่อมั่นจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่ได้สถาปนาระบอบการเมืองที่มั่นคงเป็นที่ยอมรับ
สสส.จึงมีความเห็นว่ากรณีการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชนชาวไทยและเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ถือเป็นความถดถอยของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประการหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในปี 2567
สิทธิในชีวิตและร่างกาย
กรมสารวัตรทหารเรือ กองทัพเรือ พลทหารศิริวัฒน์ ใจดี สังกัดค่ายทหารกองประจำการกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 3 เสียชีวิตระหว่างเข้ารับการฝึก เหตุเกิดเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567 กองทัพเรือชี้แจงว่าพลทหาร ศิริวัฒน์ฯ เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว แต่มีพลทหารที่เห็นเหตุการณ์ได้เล่าให้ญาติผู้ตายฟังว่า พลทหารศิริวัฒน์ฯ (ผู้ตาย) ถูกครูฝึกกระทำด้วยความรุนแรง
โดยวันเกิดเหตุครูฝึกได้สั่งให้วิ่งฝึกในช่วงบ่าย 5 รอบ พลทหารศิริวัฒน์ฯ หมดกำลัง เป็นลม แต่ครูฝึกพูดว่าสำออย ครูฝึกกระตุ้นให้ตื่นโดยเตะที่ขา ที่ลำตัว และตบหน้า แต่ยังไม่ฟื้น ครูฝึกจึงให้หามไปนอนตากแดดที่ลานปูนหน้าเสาธง โดยไม่มีการปฐมพยาบาล เป็นเวลาหลายชั่วโมง จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ต่อมาเสียชีวิตในเวลาประมาณ 19.00 น.
กรณีดังกล่าวนี้ ในรอบปี 2567 พลทหารใหม่ที่เข้ารับการฝึก เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย วันที่ 19 มีนาคม 2567 พลทหารคมทัช พันฤทธิ์ กองบริการ กรมการทหารช่าง ช่วยราชการ (พันบร.กบร.กซ.ชรก.) เสียชีวิตในห้องน้ำ วันที่ 2 สิงหาคม 2567 พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี ถูกรุมทำโทษโดยกลุ่มครูฝึก วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 พลทหารศิริวัฒน์ ใจดี กรมสารวัตรทหารเรือ ถูกทำร้ายร่างกาย
กรณีที่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทรมานของนักเรียนทหารและทหารเกณฑ์การเสียชีวิตของนักเรียนทหาร/ทหารเกณฑ์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 กรณีนี้ เกิดขึ้นระหว่างที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 นี้ มีผลบังคับใช้ แม้จะมีการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องจากหลายปีย้อนกลับไป มีข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของนักเรียนทหารและทหารเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ครอบครัวของพลทหารยังไม่ได้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อเอาผิดกับนายทหาร หรือผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าว
พฤติกรรมครูฝึกในค่ายทหารเหล่านี้มีลักษณะเป็นการทรมาน การกระทำของครูฝึกเป็นการประทุษร้ายต่อร่างกายของพลทหารในค่ายทหารอันอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีมูลเหตุจูงใจเป็นการลงโทษ ถือเป็นการกระทำอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย เรื่อยมาตลอด และที่ผ่านมาการกระทำเช่นนี้ในค่ายทหารก็ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำทางวินัย หรือทางอาญา เนื่องจากขาดการให้ความร่วมมือจากเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพื่อเสนอสำนวนฟ้องไปยังอัยการ
สิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
กรณีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อปิดปากและการลอบสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน : บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ดำเนินคดีเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เหตุจากการเผยแพร่ข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ดำเนินการเคลื่อนไหวและการเผยแพร่ข้อมูลร่วมกับเครือข่ายภาคเกษตรกร เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ กรณีการแพร่ ระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศน์แหล่งน้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงและอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก
มูลนิธิชีววิถี มีบทบาทตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบทบาทการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ การถูกแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเวทีวิชาการสาธารณะ เรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” จัดโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
สสส. เห็นว่า การปฏิบัติงานของ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากกรณีนี้ ถือว่ากระทำในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นวัตถุประสงค์หลักในการทำงานของมูลนิธิ ในการศึกษาเผยแพร่เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิของเกษตรกร สิทธิชุมชน รวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งก็เป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อร่วมกันปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิทธิของตนเองของผู้ได้รับผลกระทบจากผลที่เกิดจากกระทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว ที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ รวมถึงร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายของเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพประมง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์
สิทธิในชีวิตและร่างกายและสิทธิไม่ถูกส่งกลับเพราะอาจถูกทรมาน
กรณีศาลสั่งควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนาม เพื่อรอผลักดันกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
อี ควิน เบดั๊บ (Y Quynh Bdap) เป็นชาวเอดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวมองตานญาด (Montagnard) คำว่า "มองตานญาด" ประเทศเวียดนามใช้เรียกรวมๆ กลุ่มชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบภูเขา หรือกลุ่มชนบนพื้นที่สูงตอนกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศ เบดั๊บเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม "มองตานญาดสู้เพื่อความยุติธรรม" (Montagnards Stand for Justice) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ด้านกฎหมายและปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวมองตานญาด และทำกิจกรรมตามแนวทางสันติวิธี อีกทั้งเขายังเป็นกระบอกเสียงต่อต้านการประหัตประหารด้านศาสนาที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขาที่นับถือศาสนาคริสต์ เบดั๊บ ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อปี 2563 จนกระทั่งเมื่อ 11 มิถุนายน 2567 เบดั๊บ ถูกทางการไทยจับกุมที่กรุงเทพฯ ข้อหา “อยู่เกินกำหนด” ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หนึ่งวันหลังจากเบดั๊บ ให้สัมภาษณ์กับสถานทูตแคนาดาเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่
หลังจากนั้นทางการเวียดนามได้มีคำขอถึงทางการไทยให้ส่งตัวเบดั๊บกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยรัฐบาลเวียดนามกล่าวหาว่านายเบดั๊บ ‘อยู่เบื้องหลังและคอยควบคุมสั่งการ’ การก่อการร้าย ตามมาตรา 299 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเวียดนาม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเพื่อทำลายอาคารของราชการหลายแห่งในจังหวัดดั๊กลัก ประเทศเวียดนามในวันที่ 11 มิถุนายน 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ต่อมา เดือนมกราคม 2567 ศาลเวียดนามพิพากษาจำคุกเบดั๊บ เป็นเวลา 10 ปี แม้ว่าช่วงเกิดเหตุโจมตีเมื่อปี 2566 เบดั๊บ ไม่ได้อาศัยในประเทศเวียดนาม และไม่มีโอกาสได้สู้คดีความหรือแต่งตั้งทนายความ
ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2567 ศาลอาญากรุงเทพฯ ได้อ่านคำสั่งกรณีสำนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำร้องขอให้ส่ง อี ควิน เบดั๊บ (Y Quynh Bdap) ให้กลับไปรับโทษในเวียดนาม โดยศาลสั่งควบคุมตัวเบดั๊บ เพื่อรอผลักดันกลับประเทศเวียดนามในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และไม่รับพิจารณามาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
สสส. เห็นว่ากรณีนี้เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ถดถอย หากรัฐบาลไทยส่งตัวนายเบดั๊บเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปเวียดนามตามคำสั่งศาล ย่อมเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) ข้อ 3 ข้อย่อย 1 ที่บัญญัติว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ซึ่งห้ามการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะต้องเผชิญกับการทรมาน
นอกจากนั้น การส่งตัวนายเบดั๊บเป็นผู้ร้ายข้ามแดนยังเป็นบททดสอบสำคัญครั้งแรกต่อมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของประเทศไทย ซึ่งห้ามการส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย ผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมีการส่งตัวนายเบดั๊บเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปเวียดนาม
ในอดีตในเดือนกรกฎาคม 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บังคับส่งกลับชายชาวอุยกูร์ 109 คน จากสถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศไทย ตามคำขอของรัฐบาลจีน โดยพล.ต. วีระชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาลไทยในขณะนั้น กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับคำรับรองจากทางการจีนเกี่ยวกับความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า ในฐานะประเทศที่สาม เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของไทย และสถานที่ที่พวกเขาถูกส่งไป จะจัดการตามระบบยุติธรรมของไทย
“ผมขอถามว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร” “หรือคุณต้องการให้เรากักขังพวกเขาไว้เป็นเวลานานจนกว่าพวกเขาจะมีลูกถึงสามชั่วอายุคน?” พลเอกประยุทธ์กล่าว
จากกรณีดังกล่าวในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีโอกาสเป็นอย่างมากที่รัฐบาลไทยจะมีแนวทางดำเนินการกับอี ควิน เบดั๊บ (Y Quynh Bdap) ดังเช่นกรณี ชายชาวอุยกูร์ และมีโอกาสอย่างมาก ที่อี ควิน เบดั๊บ (Y Quynh Bdap) จะได้ตกอยู่ในอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย
สิทธิในการศึกษาของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย
กรณี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ศึกษาธิการ (ศธ.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำป้ายประกาศไปติดที่หน้าศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า “ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จัดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ตาม พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 จึงให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน”
ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เป็นศูนย์ประสานงานจัดการศึกษาให้เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศเมียนมาร์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเด็กอยู่ร่วมพันคน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 แห่ง
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขณะที่ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานการศึกษาในลักษณะนี้อยู่ในประเทศไทยถึง 63 แห่ง มีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่า กำลังศึกษาอยู่ไม่น้อยกว่า 20,000 คน
นโยบายของไทยประเทศที่เป็น‘บ้าน’ของเด็กข้ามชาติกว่า 300,000 คน และยังจะต้องพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านไปอีกหลายปีข้างหน้าเมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย การละเลยเด็กข้ามชาติให้ตกอยู่ในสภาพขาด
การเรียนรู้ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่ออนาคตของเด็กที่จะเติบโตกลายเป็นเยาวชนในโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ จะกลายเป็นเยาวชนที่เป็นพลกำลังของการพัฒนา หรือเป็นเยาวชนที่หลงทางสับสนต่อต้านสังคม คงขึ้นอยู่กับทัศนคติ และวิสัยทัศน์ของผู้มีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของเด็กเหล่านี้
สำหรับคนไทยเด็กข้ามชาติมักถูกตีตราว่าเป็นเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นเด็กที่มีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตน และไม่ถูกยอมรับว่าเป็นพลเมือง และหากไม่มีเอกสารแสดงตนของรัฐไทย หรือรัฐใดอีกจะกลายเป็นเด็กไร้รัฐ
ไร้สัญชาติที่ไร้เอกสาร และมักถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้เด็ก ๆ เหล่านี้จะมีชีวิตเฉกเช่นเด็กทั่วไป การเป็นชีวิตที่ไร้ตัวตนจึงมักเป็นผู้ที่ถูกลืม ไม่มีใครมองเห็น และได้ยินพวกเขา ความไร้สัญชาติจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อชีวิตของเด็ก และเด็กเหล่านั้นมักต้องเผชิญกับผลกระทบของภาวะไร้สัญชาติ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ นำไปสู่การขาดโอกาส และมักถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ขาดโอกาส เข้าไม่ถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลและความคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นในประเด็นคุ้มครองเด็ก เช่น ความรุนแรง การละเมิด การแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์ หรือการถูกใช้แรงงานเด็ก และการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่สามารถทำงานบางอาชีพได้ หรือการได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าปกติในหลายกรณีมักถูกจ้างให้ทำงานที่เสี่ยงอันตราย
นอกจากนี้ เด็กไร้สัญชาติมักถูกกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ภาวะไร้สัญชาติมักมีสภาพปัญหาเป็นวงจรสืบต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือ บุตรหลานของผู้ไร้สัญชาติจะสืบต่อสถานะไร้สัญชาติตั้งแต่แรกเกิดและสถานะนี้จะยังสืบต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าการพัฒนาสถานะจะแล้วเสร็จ ซึ่งมักกินเวลานานหลายปี เป็นผลให้วงจรปัญหาดังกล่าวดำรงต่อเนื่อง และทำให้มีเด็กที่ตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ (อ้างอิง ยูนิเซฟ)
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม มีหลักการสำคัญ คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก หนึ่งในหลักการสำคัญว่าด้วยสิทธิที่เด็กจะได้รับการพัฒนาทางร่างกาย สมอง และจิตใจ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อใด ต่อมา มีมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สสส.มีความเห็นว่าการที่ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ย่อมเป็นการดำเนินการที่ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ดังกล่าว ละเมิดมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548
ที่เห็นชอบให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ประเทศไทยยังอาจละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ที่ว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา เป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคน” ย่อมแสดงให้เห็นว่าหมายถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในเขตแดนประเทศไทยต้องได้รับการศึกษาที่รัฐจัดการให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในข้อเท็จจริง ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เปิดการเรียนการสอนทั้งภาษาไทย และภาษาพม่า โดยไม่ใช้ค่าใช้จ่ายใดๆจากรัฐไทย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในศูนย์ฯได้รับการบริจาคจากชาวพม่าที่ส่งลูกหลานเข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้
อนึ่ง ภายหลังจากมีข่าวทางสื่อมวลชนกรณีปิดศูนย์การเรียนฯแห่งนี้ ในโลกออนไลน์และสื่อมวลชนทั้งกระแสหลัก เช่นไทยโพสต์และไทยรัฐ ตลอดจนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาฯต่างออกมาให้ความเห็นในเชิงต่อต้านแรงงานข้ามชาติจากพม่าว่าจะเข้ามาแย่งอาชีพและดำเนินธุรกิจแทนคนไทย อันเข้าข่ายเป็นการแสดงความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งในอนุสัญญาฉบับนี้ คำว่า “การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” หมายถึง การจำแนกการกีดกัน การจำกัด หรือการเลือกโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสายหรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกั้นการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในด้านอื่น ๆ ของการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งการระงับหรือกีดกั้นการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอภาคของบุคคล
สิทธิทางการเมือง
กติกาการได้มาซึ่ง สว. ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีจำนวน 200 คน มาจากบุคคลผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือทำงาน ด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 กำหนดให้แบ่ง สว. เป็น 20 กลุ่มอาชีพ โดยเปิดช่องให้ กกต. เป็นผู้กำหนดลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกันของแต่ละกลุ่มอาชีพ และกำหนดให้การเลือก สว. เป็นการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองจากพรรคการเมือง ด้วยประสงค์จะให้ สว. มีความเป็นอิสระในการทำงานตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
กกต. ได้ออกระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เช่น ระเบียบว่าด้วยเรื่องการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ที่สร้างเงื่อนไขข้อจำกัดที่ทำให้ผู้สมัครไม่สามารถแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักได้เท่าที่ควร ประกาศข้อกำหนด ในเรื่องการพิจารณาลักษณะของผู้สมัคร สว. ว่ามาจากสาขาอาชีพใดๆ อย่างหละหลวม เป็นช่องว่างให้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกลุ่มอาชีพที่กำหนดไว้ในกฎหมาย สามารถที่จะเข้ามาสมัคร โดย กกต. ไม่มีกระบวนการการกลั่นกรองผู้สมัครว่ามีคุณลักษณะวิชาชีพตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่แต่อย่างใด โดยมอบอำนาจให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการรับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้สมัคร อีกทั้งในการกำหนดระเบียบการรับสมัครผู้สมัคร สว. ยังเปิดช่องว่างให้พรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงและจัดตั้งผู้สมัคร สว. ตลอดจนเข้ามาจัดกระบวน การสรรหาสว.จนพรรคการเมืองบางพรรคสามารถส่งผู้สมัคร สว. เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมาก
ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯมอบอำนาจให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าราชการการเมือง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการเลือก สว. ในระดับอำเภอและจังหวัด ยกเว้นในการเลือกระดับประเทศที่ประธาน กกต. เป็นประธานกรรมการ การกำหนดให้อิทธิพลทางการเมือง สามารถเข้ามาแทรกแซงในการได้มาซึ่งผู้สมัครในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือก ทั้ง 2 ระดับจะกลายเป็นผู้เลือก สว. ในระดับประเทศ เท่ากับเปิดช่องให้การเมืองเข้ามากำหนดผู้เลือก สว.
ท้ายที่สุดผลจากการเลือก สว. ในครั้งนี้ เราจึงมีสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว. มากกว่า 3 ใน 4 เป็น สว. จัดตั้งและอยู่ในกำกับพรรคการเมืองที่คอยกำกับชี้นำให้สนับสนุนประเด็นที่ต้องการ และ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 20 % มาจากกลุ่มที่เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
สิทธิพลเมืองในการเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองและรับรองสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี สิทธิในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งตามวาระ ต้องได้รับการคุ้มครองให้มีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาคและโดยการลง คะแนนลับ อันเป็นการประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก
แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ล้วนไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิทางการเมือง ทำให้การเลือกกันเองของ สว. ไม่เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระ เป็นการลับ และเลือกตั้งทางตรงส่งผลให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของตนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้สิทธิผ่านกระบวนการเลือกตั้ง มิใช่มีสิทธิผ่าน”กระบวนการเลือก” จากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ไม่เป็นอิสระ ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิทางการเมือง ประกอบกับการออกแบบการกำหนดคุณลักษณะผู้สมัคร กระบวน การรับสมัคร ส่งผลให้การได้มา ซึ่ง สว.เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 ไม่ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพอย่างแท้จริงตามเจตจำนงของการได้มา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาทุกระดับที่ต้องดำเนินการโดยอิสระ
นอกจากนี้ การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จะสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสว. ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 2,500 บาท เป็นอุปสรรคอันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งฐานะทางเศรษฐกิจ สำหรับหลายกลุ่มสาขาอาชีพที่ทำให้พลเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำด้วยเจตจำนงเสรี
อีกทั้งการที่กฎหมายกำหนด ให้อำนาจนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทสำคัญในการจัดการเลือก สว.นั้น เป็นการขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 215 ที่ระบุว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ต้องเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ และ การใช้อำนาจตกไปอยู่ในมือของฝ่ายบริหาร คือนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง ย่อมทำให้การจัดการเลือก สว.ขัดต่อความเป็นอิสระ กลายเป็นไม่มีอิสระ และอาจเป็นเหตุให้การจัดการเลือก สว. ไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ ตลอดจนขัดต่อหลักการของ ICCPR ข้อ 25 ข้อย่อย (ก) พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชน
สิทธิในทรัพย์สิน
กรณีขบวนการ Call Center และแชร์ลูกโซ่
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 ตุลาคม 2567 ประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ถูกชักชวน โดยวิธีการต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบมากขึ้นและมีความซับซ้อน ผลการแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www .thaipoliceonline.com รวม 708,141 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 74,893,134,395 บาท เฉลี่ย 77 ล้านบาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี จำนวน 544,183 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 43,040,600,310 บาท ยอดอายัดได้จำนวน 8,243,782,268 บาท (นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
-
(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 4,720,471,220 บาท
-
(2) หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 11,349,462,554 บาท
-
(3) หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 3,424,266,215 บาท
-
(4) หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 26,899,292,582 บาท
-
5) ข่มขู่ทางโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 10,059,145,081 บาท
นอกจากนี้ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2567 รับแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com รวม 36,138 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,777,100,017 บาท เฉลี่ย 89 ล้านบาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี จำนวน 20,182 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 913,946,357 บาท ยอดอายัดได้จำนวน 242,386,464 บาท
จากรายงานข้อมูลดังข้างต้น สาเหตุเกิดจากการรั่วไหลจากผู้ให้บริการประชาชนหลายหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไปรษณีย์ และระบบออนไลน์ต่าง ๆ หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบทำได้เพียงการตักเตือน ออกประกาศข้อมูลการป้องกันตัวเท่านั้น การทำงานเชิงรุกยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จนกว่าจะมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ แม้มีผู้เสียหายมาร้องความล่าช้าที่เหยื่อจะมาแสดงตัวได้ก็มีข้อจำกัด ทำให้เส้นสายการโอนเงินถูกปิดไปแล้ว จึงสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล
ดังนั้น กรณีกระบวนการ Call Center และ แชร์ลูกโซ่ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน สิทธิในความเป็นส่วนตัว และห้ามการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ตลอดจนรัฐต้อง จัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ โดยที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐล้มเหลวในการจัดการสำหรับเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง
สิทธิผู้ต้องกัก
กรณีสภาพความเป็นอยู่ในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง
จากการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกรายงานจากต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค. สหพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) จากฝรั่งเศส และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้มีการออกรายงาน “นอกสายตา-การละเมิดสิทธิมนุษยชนในศูนย์กักตัวคนเข้าเมืองของไทย” “Out of sight - Human rights violations in Thailand’s immigration detention centers” มีความหนา 43 หน้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของภาพรวมของสภาพในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง (IDC) ของประเทศไทย สังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รายงานนี้มีการรวบรวมข้อมูลอ้างอิงมาจากการสัมภาษณ์ผู้ถูกคุมขังที่ถูกปล่อยตัวซึ่งรายงานสภาพสถานที่คุมขังที่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ศูนย์กักกันฯ ของประเทศไทย มีลักษณะแออัดอย่างรุนแรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นในอัตราผู้ถูกคุมขัง 155% ของระบบกักกันคนเข้าเมือง โดยอดีตผู้ถูกควบคุมตัวที่ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเขาถูกขังอยู่ในห้องขังที่สกปรก และมีพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเจ้าหน้าผู้ควบคุมที่เป็นการล่วงละเมิด และการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกคุมขัง ขาดการเข้าถึงสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง อาหารคุณภาพต่ำ ความพร้อมของการดูแลสุขภาพที่เพียงพอนั้นถูกจํากัดอย่างมาก ซึ่งในบางกรณีพิสูจน์แล้วว่าเป็นอันตรายถึงชีวิต ขาดกิจกรรมสันทนาการ และจํากัดการติดต่อกับโลกภายนอก และยังถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับประกันภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศ คือ การปฏิบัติเช่นนี้ของประเทศไทย ต่อชาวต่างชาติที่ถูกกักตัว และคุมขังในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองของประเทศไทยประสบกับสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าในเรือนจำของประเทศ ผู้ถูกขังในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองจำนวนมาก ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และมีเด็ก ซึ่งไม่ควรถูกกักขัง และต้องใช้เวลาหลายปีในสถานกักกันเหล่านั้นโดยไม่มีการเยียวยาทางกฎหมาย ซึ่งจะนําไปสู่สถานการณ์ที่ล่อแหลมสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ซึ่งถูกจับกุม ดำเนินคดี กักขังในศูนย์กักกันฯ และต้องถูกเนรเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ทางการไทยยังละเมิดหลักการระหว่างประเทศเรื่องการห้ามส่งกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) เป็นจำนวนหลายครั้ง โดยมีการส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะผู้ลี้ภัย - รวมถึงชาวม้ง อุยกูร์ โรฮิงญา และกัมพูชา – กลับไปยังประเทศต้นทางที่พวกเขาเผชิญการประหัตประหาร
-
อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510
-
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง -ICCPR
-
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
สิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว
กรณีคดีการเมืองและคดีที่ส่งผลกระทบต่อสังคม
สิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือได้รับการประกันตัว คือ ‘สิทธิมนุษยชน’ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 29 วรรค 2 ระบุว่า“ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา
หรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
สอดคล้องกับข้อบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 11 ที่ระบุว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าการเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาในคดีการเมืองยังไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ข้อย่อย 3 บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในปี 2567 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมจำนวนอย่างน้อย 35 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 25 คน) แยกเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 22 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 16 คน) เยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทน
การมีคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ จำนวนอย่างน้อย 12 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 9 คน) * ข้อมูลจนถึงวันที่ 4 พ.ย. 2567 (https://tlhr2014.com/archives/63015)
สสส. มีความเห็นว่าผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองทุกคนต้องได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว เช่น กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดง
ความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักร จากกรณีให้สัมภาษณ์กับสื่อประเทศเกาหลีใต้ The Chosun Media เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงโซล เกี่ยวกับการรัฐประหาร 2557
“โดยศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดอายุมากแล้ว และได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัวประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจำเลยจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือขัดขวางการพิจารณาของศาล อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาโดยให้ตีราคาหลักประกัน 500,000 บาท กับให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทาง และหลักประกันทำสัญญา ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล”
การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในความผิดที่มีข้อกล่าวหาทางการเมือง ซึ่งเป็นคดีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมประชาธิปไตย และมิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ย่อมเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายประธานศาลฎีกา 2567 – 2568 (นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล) ว่าด้วยการอํานวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและความมั่นคงของสังคม โดยเน้นนโยบายเรื่องคุณภาพของคำสั่งและคําพิพากษา และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2567 ที่ว่าหากมีการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ ให้ศาลพึงรับฟังเหตุผลที่อ้างใหม่และรับฟังพยานหลักฐานที่สนับสนุนเหตุผลตามที่อ้างนั้น ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต
การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เมื่อมีคำร้องขอใหม่ โดยไม่ฟังเหตุผลและพยานหลักฐานที่อ้างใหม่ของผู้ต้องหา ย่อมเป็นเหตุให้เกิดคำถามต่อสังคมและคำถามต่อการปฏิบัติตามนโยบายของประธานศาลฎีกา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่า “ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด และจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดแล้วไม่ได้” หมายถึง จะนำตัวผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิดไปคุมขังในเรือนจำเช่นเดียวกับเป็นผู้กระทำผิดแล้วไม่ได้ และมีคำถามต่อไปถึงคุณภาพของคำสั่งในคดีที่มีข้อกล่าวหาทางการเมืองเช่นเดียวกัน ศาลควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ด้วยเหตุผลและหลักการเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหาคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” 17 คน ที่ถูกแจ้งข้อหาฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 17 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เหตุผลที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว คือ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะแบ่งหน้าที่การทำเป็นระบบส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนเป็นอันมาก มูลค่าความเสียหายสูง กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนและผู้เสียหายคัดค้านการปล่อยชั่วคราว หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรืออาจจะกระทำการใดกระทบกระเทือนต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี ในชั้นนี้จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวกรณีนี้ก็เช่นกัน ศาลควรคำนึงถึงหลัก “ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด และจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดแล้วไม่ได้” ด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ 10 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีความถดถอนที่ยังไม่มีความก้าวหน้าหรือถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งควรนำไปสู่การถอดบทเรียนและการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานรัฐและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครอง และเสริมสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืนในสังคมไทยสืบไป