"…การนับคะแนนใหม่ดังกล่าวมีผลให้คะแนนรวมของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครหมายเลข 2 ได้มากกว่าผู้สมัครหมายเลข 1 ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ดีที่ 2 ก็ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งใหม่ อันจะมีผลให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเดิมพ้นจากตำแหน่ง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2…"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาน คำพิพากษาน่าสนใจ เกี่ยวกับผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ อำเภอท่าลี จังหวัดเลย ฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ประธาน กกต. (ผู้ถูกฟ้องที่ 3) กรณีนับคะแนนผิดพลาด เมื่อมีการนับคะแนนใหม่แล้วไม่ประกาศผลคะแนนใหม่ ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ได้คะแนนมากกว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่คนปัจจุบัน ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ โดยศาลปกครองสูงสุดสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นบางส่วน ให้รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้พิจารณา
มีรายละเอียด ดังนี้
คำร้องที่ 1672/2566
คำสั่งที่ 902/2567
ศาลปกครองสูงสุด วันที่ 21 สิงหาคม 2567
ระหว่าง ว่าที่ร้อยตรีหญิง ชญาณดา หรือสายพิณ พิลาธรรม ผู้ฟ้องคดี
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
นายอิทธิพร บุญประคอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 178/2566 หมายเลขแดงที่ 189/2566 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองอุดรธานี)
@ ฟ้องกกต. นับคะแนนผิด ทำให้พลาดตำแหน่งนายกอบต.
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ อำเภอท่าลี จังหวัดเลย หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 2 ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 และหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 มีการนับคะแนผิดพลาด ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง และขอให้มีการนับคะแนนใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลย แต่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็ไม่ดำเนินการนับคะแนนใหม่และยืนยันว่าผลคะแนนถูกต้องแล้ว
เมื่อรวมคะแนนในการเลือกตั้งทั้งหมดแล้ว ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 803 คะแนน ผู้ฟ้องคดีผู้สมัครหมายเลข 2 ได้ 802 คะแนน และผู้สมัครหมายเลข 3 ได้ 344 คะแนน ในระหว่างที่ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลยและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้สอบสวนและไต่สวนจึงพบความผิดพลาดในการนับและรวมคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 ตามข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงได้มีคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 445/2565 ลงวันที่ 19 เมษายน 2565 ให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ หน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ใหม่ ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้คะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนนทำให้คะแนนรวมของผู้ฟ้องคดีเท่ากับคะแนของผู้สมัครหมายเลข 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงให้ผู้ฟ้องคดีและผู้สมัครหมายเลข 1 จับสลาก แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากระบวนการพิจารณาตามคำร้องเรียนของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี จึงไม่เข้าร่วมจับสลากและได้ร้องความเป็นธรรมกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพื่อขอให้พิจารณาและทบทวนคำร้องคัดค้านและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็ไม่พิจารณาทบทวน
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่สามกับพวกอีก 9 คน ต่อศาลอาญาคดีทจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท. 13/2566 ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบในระหว่างการพิจารณาก่อนการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ได้มีคำสั่งให้เปิดหีบบัตรนับคะแนนใหม่เฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 และหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้คะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนน ในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 ส่วนหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 นั้น มีบัตรเลือกตั้งเข้าข่ายเป็นบัตรเสียจำนวน 1 ใบ เมื่อรวมผลคะแนนการเลือกตั้งทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีมี 804 คะแนน ซึ่งมากกว่าผู้สมัครหมายเลข 1 ที่เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่คนปัจจุบัน
ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 จึงได้เสนอแนะและไกล่เกลี่ยให้หาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 105 วรรคสี่ ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้ชัดเจนในการสั่งให้ผู้สมัครหมายเลข 1 พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่และให้ผู้ฟ้องคดีเข้ารับตำแหน่งแทนได้ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
1. เพิกถอนประกาศและหรือคำสั่งที่รับรอง แต่งตั้งให้นายณรภัทร กันหาวรรณะ ผู้สมัครหมายเลข 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ รวมถึงรายงานผลการจับสลากของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่มีผลให้นายณรภัทร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่
2. มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่
3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามนำมนำหีบเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 มานับคะแนนใหม่
ผู้ฟ้องคดีอื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีโดยเร่งด่วน ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 มีสาระสำคัญว่า เมื่อผลคะแนนการเลือกตั้งเป็นที่ยุติแล้วว่าผู้ฟ้องคดีมีคะแนนมากกว่าผู้สมัครหมายเลข 1 ซึ่งถือเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยอมรับในผลคะแนนที่ถูกต้องดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกลับอ้างปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับอำนาจในการแก้ไขคำสั่งเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ ซึ่งหากรอผลการพิจารณาคดีตามกระบวนการขั้นตอนปกติอาจทำให้หมดวาระเวลาการดำรงตำแหน่ง จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีโดยเร่งด่วน ตามข้อ 42 ข้อ 49/2 และข้อ 61 แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาหรือมีคำสั่งรับคดีนี้ไว้พิจารณาและพิจารณาคดีโดยเร่งด่วน
@ กกต.ละเลยต่อหน้าที่
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีแล้วเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 2 นั้น มีการนับคะแนนผิดพลาดใน 3 หน่วยเลือกตั้ง คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 และหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ร้องเรียนต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลยขอให้มีการนับคะแนนใหม่ และมีการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงได้มีคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 445/2565 ลงวันที่ 19 เมษายน 2565 ให้มีการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 5 ใหม่ เพียงหน่วยเลือกตั้งเดียวอันเป็นการดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งตามมาตรา 105 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ปรากฏว่า ผู้ฟ้องดีได้คะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนน ทำให้ผู้ฟ้องคดีและผู้สมัครหมายเลข 1 มีคะแนนเท่ากัน จึงมีการจับสลาก ผลปรากฏว่าผู้สมัครหมายเลข 1 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามพิจารณาและทบทวนคำร้องคัดค้านการนับคะแนนของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่พิจารณา
ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีอาญากับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกับพวกอีก 9 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 และได้มีการเปิดหีบนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 และหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้คะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนน ทำให้คะแนนรวมของผู้ฟ้องคดีมากกว่าผู้สมัครหมายเลข 1 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิได้ดำเนินการให้ผู้สมัครหมายเลข 1 พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสังเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งที่รับรองแต่งตั้งให้นายณรภัทร กันหาวรรณะ ผู้สมัครหมายเลข 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่และให้ผู้ถูกพ้องคดีทั้งสามนำหีบเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 มานับคะแนนใหม่
คดีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธธธรรมนูญของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 197 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมิใช่คดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามมาตรา 108 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ผู้ฟ้องคดีร้องเรียนว่ามีการนับคะแบนผิดพลาด รวมทั้งละเลยไม่ประกาศผลการเลือกตั้งใหม่เมื่อผลการนับคะแนเลือกตั้งใหม่เปลี่ยนแปลงผู้ได้รับการเลือกตั้งตามมาตรา 105 วรรคสามและวรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
@ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เดือดร้อนจากการที่ กกต.ละเลยหน้าที่
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งดังกล่าวให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 27 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้เปิดหีบบัตรเลือกตั้งและนับคะแนนใหม่ และประกาศผลการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 105 วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยไม่ดำเนินการเปิดหีบนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ตามคำร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีที่อ้างว่าการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ผิดพลาด ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 2 ไม่ได้รับเลือกตั้ง และการขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นำหีบเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 2 เขตเลือกตั้งที่ 1 มานับคะแนนใหม่ก็เป็นคำขอที่ศาลปกครองชั้นต้นบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
@ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคณะกรรมการ กกต. แต่ไม่มีสิทธิฟ้องสำนักงาน กกต.และประธาน กกต.
นอกจากนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 และข้อ 2 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งที่รับรองแต่งตั้งให้นายณรภัทร กันหาวรรณะ ผู้สมัครหมายเลข 1 เป็นนายกองค์การบริหารตำบลโคกใหญ่ รวมถึงรายงานผลการจับสลากของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่มีผลให้นายณรภัทรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ และมีคำสั่งแต่งแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่นั้น พอแปลความได้ว่า หากผลการนับคะแนนใหม่เปลี่ยนแปลงผู้ได้รับเลือกตั้ง ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ประกาศผลการเลือกตั้งใหม่อันมีผลให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเดิมพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ประกาศผลเลือกตั้งจากการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ และให้ผู้ได้รับเลือกตั้งใหม่ดำรงตำแหน่งเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ได้รับเลือกตั้งเดิมตามมาตรา 105 วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นคำขอที่ศาลปกครองอาจออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มิได้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แม้การดำเนินการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่จะดำเนินการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 แต่ปรากฏตามบันทึกแสดงผลการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่ามีการจับสลากดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 โดยผลการจับสลากปรากฏว่า นายณรภัทร กันหาวรรณะ ผู้สมัครหมายเลข 1 เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่
@ อุทธรณ์ฟังขึ้นบางส่วน รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้อง กกต. ไว้พิจารณา
หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอความเป็นธรรมและร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาทบทวนเพื่อให้มีการนับคะแนนใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ตามเอกสารท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า ศาลได้ตรวจนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 1 ปรากฏว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 156 คะแนน ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้ 90 คะแนน ซึ่งไม่ตรงกับรายงานผลคะแนนเดิมที่ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้ 157 คะแนน ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้ 89 คะแนน การนับคะแนนใหม่ดังกล่าวมีผลให้คะแนนรวมของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครหมายเลข 2 ได้มากกว่าผู้สมัครหมายเลข 1 ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกใหญ่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ดีที่ 2 ก็ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งใหม่ อันจะมีผลให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเดิมพ้นจากตำแหน่ง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในเก้าสิบนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงชอบที่จะรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไว้พิจารณาได้ อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังขึ้นบางส่วน
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วนจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้พิจารณา