“…แม้ว่าหมึกสัก มิใช่สิ่งของต้องห้ามเด็ดขาดตามข้อ 127 วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวงมหาดไทย...แต่หมึกสัก ถือว่าเป็นน้ำหมึกที่บรรจุขวดหรือหลอด หรือหมึกอื่นๆ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ตามข้อ 7 ของคำสั่งเรือนจำกลางคลองไผ่ ที่ 318/2559 ลงวันที่ 7 มี.ค.2559 ฯ ที่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำเข้ามาในเรือนจำ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ…”
...........................
เป็นอีกคดีที่น่าสนใจ
เมื่อ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟบ. 45/2563 คดีหมายเลขแดงที่ ฟบ.2/2567 ‘ยกฟ้อง’ ในคดีที่ นายพรพิทักษ์ คำสีทา อดีตเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง
กรณีมีคำสั่งลงโทษไล่ นายพรพิทักษ์ ออกจากราชการ เนื่องจากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ ได้ลักลอบนำ ‘หมึกสัก’ เข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำกลางคลองไผ่ โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมมีคำวินิจฉัย ‘ยกอุทธรณ์’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@กลับคำสั่งจาก‘ผิดวินัยไม่ร้ายแรง’เป็น‘ผิดวินัยร้ายแรง’
ข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2559 เวลาประมาณ 08.30 น. ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่และคณะ นำกำลังเข้าตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังภายในแดน 4 พบว่าผู้ต้องขังมีรอยสักใหม่ตามร่างกาย จำนวน 18 คน จากการสอบถามเบื้องต้น ผู้ต้องขังให้การรับสารภาพว่า ผู้ต้องขังได้ลักลอบสักลายและนำหมึกสักลาย มาจากผู้ต้องขังรายอื่นจริง
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ จึงได้ดำเนินการสอบสวนขยายผลถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยผู้ต้องขังให้การซัดทอดว่าผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) และนาย อ. เป็นผู้นำหมึกสักลายมาให้ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ จึงมี คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว (คำสั่งเรือนจำกลางคลองไผ่ ที่ 976/2559 ลงวันที่ 1 ก.ย.2559)
ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พิจารณาพยานบุคคลและพยานเอกสารแล้วเห็นว่า มีมูลเชื่อว่าผู้ฟ้องคดี นำหมึกสักลายมาให้ผู้ต้องขังตามที่ถูกซัดทอด
จากนั้นได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับการเรือนจำกลางคลองไผ่ทราบ และผู้บัญชาการเรือนจำคลองไผ่ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์)
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานและพยานบุคคลแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดี กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เคร่งครัด และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีฯ และรักษาประโยชน์ทางราชการ โดยมีมติเห็นควรลงโทษ ‘ลดเงินเดือน’ ผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์)
อย่างไรก็ดี เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง รายงานผลการสอบสวนฯ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ทราบ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ (คำสั่งกรมราชทัณฑ์ที่ 176/2562 และคำสั่งกรมราชทัณฑ์ที่ 1526/2562)
ต่อมาผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองสูงสุด
@คำสั่ง‘ไล่ออก’ถูกต้องตาม‘รูปแบบ-ขั้นตอน-วิธีการ’กฎหมาย
...กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) มีคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 176/2562 ลงวันที่ 6 ก.พ.2562 แก้ไขโดยคำสั่งกรมราชทัณฑ์ 1526/2562 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) ออกจากราชการ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2559 เวลาประมาณ 08.30 นาฬิกา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่และคณะ ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขัง ภายในแดน 4 ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ พบว่าผู้ต้องขังมีรอยสักใหม่ตามร่างกาย จำนวน 18 คน
จากการสอบสวน ผู้ต้องขังให้การซัดทอดว่า ผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) เป็นผู้นำหมึกสักมาให้ และได้ประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จริงกรณีดังกล่าว ผลปรากฏว่า มีมูลตามข้อกล่าวหา
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงมีหนังสือรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ทราบ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ จึงรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี
และคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดไว้ไว้ในมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2561 และเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2561
อีกทั้งได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เคร่งครัด ตามมาตรา 7 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.วินัยข้าราชการกรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2482 และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ
และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2555 จึงมีมติเห็นควรลงโทษลดเงินเดือนผู้ฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 4
และได้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 57 (10) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีความเห็นว่า
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
ฐานต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์ อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน และฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 83 (5) มาตรา 84 และมาตรา 85 (3) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
และได้เสนอต่อ อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ เพื่อพิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2562 พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีมติลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 176/2562 ลงวันที่ 6 ก.พ.2562 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดี ได้มีคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 1526/2562 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 แก้ไขคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จากฐานความผิดตามคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 176/2562 ลงวันที่ 6 ก.พ.2562 เป็นความผิด ฐานต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของหน้าที่ราชการของตน
และฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 83 (5) มาตรา 84 และมาตรา 85 (7) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งเดิมทุกประการ
กรณีจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ในฐานะผู้บังคับปัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 57 (10) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการดำเนินการทางวินัยข้าราชการพลเรือนสามัญแล้ว
@คำสั่ง‘ผู้บัญชาการฯ’ไม่อนุญาตให้นำ‘น้ำหมึก’เข้าในเรือนจำ
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ลักลอบนำหมึกสักเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำโดยได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และระดับโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า... แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนของการจ่ายเงินค่าตอบแทน เพื่อนำหมึกสักเข้ามาในเรือนจำที่จะสามารถตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) หรือญาติของผู้ฟ้องคดีได้ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำพยานแต่ละคนที่ให้การสอดคล้องและเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นลำดับ ตลอดจนจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องและวิธีการติดต่อให้ชำระเงิน โดยมีการติดต่อทางโทรศัพท์และการโอนเงินเข้าบัญชี
อีกทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำที่ซัดทอดไปยังผู้ฟ้องคดี ต่างก็ยอมรับสารภาพว่าลักลอบขายและสักลายจริง และผู้ต้องขังแต่ละราย ต่างก็รับโทษทางวินัยตามคำสั่งเรือนจำกลางคลองไผ่ ที่ 1346/2559 ลงวันที่ 15 ธ.ค.2559 เรื่อง ลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย
จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงน่าเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ลักลอบนำหมึกสักเข้ามาในเรือนจำให้กับผู้ต้องขัง และได้รับค่าตอบแทนจากการนำหมึกสักเข้ามาในเรือนจำจริงตามที่ถูกกล่าวหา
แม้ว่าหมึกสัก มิใช่สิ่งของต้องห้ามเด็ดขาดตามข้อ 127 วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2547) ออกตามความใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479
แต่หมึกสัก ถือว่าเป็นน้ำหมึกที่บรรจุขวดหรือหลอด หรือหมึกอื่นๆ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ตามข้อ 7 ของคำสั่งเรือนจำกลางคลองไผ่ ที่ 318/2559 ลงวันที่ 7 มี.ค.2559 เรื่อง กำหนดมาตรการการตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกที่ผ่านเข้า-ออก ประตูเรือนจำ ที่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำเข้ามาในเรือนจำ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ
ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่หัวหน้ากองงานพันคอร์ 4/3 ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดสกลนคร จึงต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลักลอบนำหมึกสักเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำโดยได้รับค่าตอบแทน การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) จึงถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
และการกระทำการให้ผู้อื่นหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมหรือเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ตามมาตรา 83 (5) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (7) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมราชทัณฑ์) ได้มีคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 176/2562 แก้ไขโดยคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 1526/2562 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) ออกจากราชการ อันเป็นโทษสำหรับการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำของผู้ฟ้องคดีตามมาตรฐานการลงโทษแล้ว
@ข้ออ้างว่าไม่ลักลอบนำ‘หมึกสักลาย’เข้าเรือนจำฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไม่ได้มีคำสั่งเรือนจำกลางคลองไผ่ ที่ 318/2559 ลงวันที่ 7 มี.ค.2559 เรื่อง กำหนดมาตรการการตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกที่ผ่านเข้า-ออก ประตูเรือนจำ โดยผู้ฟ้องคดีได้ผ่านการตรวจค้นอย่างเคร่งครัดทุกครั้งที่ผ่านเข้าออกประตูเรือนจำ นั้น
เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามคำให้การของนาย อ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน และนาย ส. นักทัณฑวิทยาชำนาญการ ที่ได้ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการตรวจค้นตัวบุคคลต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ ในทำนองเดียวกันว่า จะทำการตรวจโดยลูบคลำตามร่างกาย ตั้งแต่หัว เสื้อ หัวไหล่ ชายเสื้อ แขนเสื้อ เอว กระเป๋าเสื้อ กางเกง โดยละเอียด แต่ไม่ได้ใช้มือตรวจโดยสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ อวัยวะเพศ ทวารหนัก เพราะอาจเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้
ประกอบกับตามสำนวนการสอบสวนขวดหมึกสักลายมีขนาดเพียงเทียบเท่ายาหยอดตา ซึ่งอาจจะมีการปะปนกับสิ่งของอื่นได้ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างว่า ไม่ได้เป็นผู้ลักลอบนำหมึกสักเข้ามาในเรือนจำให้กับผู้ต้องขัง
ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า จากหลักฐานไม่ปรากฏว่ามีหมึกสักตามที่กล่าวและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ต้องขังได้กระทำการสักร่างกายเมื่อใด แต่เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง นั้น
เห็นว่า เมื่อพิจารณาถ้อยคำของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดโดยตรง ที่ให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนฯ แล้วจะเห็นว่า ทุกคนต่างก็ยอมรับสารภาพว่า มีการลักลอบชายและสักลายกันจริง โดยนักโทษเด็ดขาดชาย ส. ได้นำหมึกสักแดง จำนวน 1/4 ขวด ที่ได้รับจากนักโทษเด็ดขาดชายธงรบ ไปสักลายที่หลังของตน
และนักโทษเด็ดขาดชาย บ. ได้นำหมึกสักในส่วนที่แบ่งออกจากหมึกสักของนักโทษเด็ดขาดชาย ม. และนักโทษเด็ดขาดชาย ณ ไปสักร่างกายเป็นรูปผู้หญิงที่บริเวณหน้าท้องด้านขวาของตน จึงได้ว่า มีการลักลอบนำหมึกสักเข้ามาในเรือนจำและมีรอยสักใหม่เกิดขึ้นจริงตามที่ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า นักโทษเด็ดขาดชาย ม. ถูกผู้ฟ้องคดีลงโทษ กรณีประพฤติตนผิดระเบียบ ประพฤติตนไม่เหมาะสม ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่นักโทษเด็ดขาดชาย ม. ที่เป็นพ่อบ้านใหญ่กลุ่มโคราช ที่มีผู้ต้องขังที่เป็นลูกน้องประมาณ 200-300 คน อาจเป็นสาเหตุโกรธเคืองและไม่พอใจ รวมถึงให้การปรักปรำผู้ฟ้องคดีและนักโทษเด็ดขาดชาย บ.เป็นลูกน้องในกลุ่มดังกล่าวด้วย นั้น
เห็นว่า จากพฤติการณ์ที่ปรากฏตามคำให้การของพยานบุคคลต่อคณะกรรมการสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นลำดับ ตั้งแต่มูลเหตุแห่งการนำหมึกสักสักเข้ามาในเรือนจำ จนกระทั่งวิธีการจ่ายค่าตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว
ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพยานบุคคลรายอื่น เคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือชัดแย้งกับผู้ฟ้องคดีมาก่อน กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า นักโทษเด็ดขาดชาย ม. จะร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่นปรักปราผู้ฟ้องคดี ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) มีคำวินิจฉัยเรื่องดำที่ 6210055 เรื่องแดงที่ 0054163 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2563 ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งกรมราชทัณฑ์ ที่ 176/256 ลงวันที่ 6 ก.พ.2562 แก้โขโดยคำสั่งกรมราชทัณฑ์ที่ 1526/2566 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2562 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำวินิจฉัยเรื่องดำที่ 6210055 เรื่องแดงที่ 0054163 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2563
ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้วินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ในการใช้ดุลพินิจในทำนองเดียวกันกับการพิจารณาออกสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นายพรพิทักษ์) ออกจากกราชการ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันกัน พิพากษายกฟ้อง
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ก่อนมีคำพิพากษาให้ ‘ยกฟ้อง’ ในคดีที่ ‘อธิบดีกรมราชทัณฑ์’ มีคำสั่งไล่ ‘เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์’ ออกจากราชการ เนื่องจากลักลอกนำ ‘หมึกสักลาย’ เข้าไปให้กับ ‘ผู้ต้องขัง’ ภายในเรือนจำ โดยได้รับผลตอบแทน!