“...ทว่าในยุคที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน-รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หากจะมองใครเป็น ‘โมเดล’ ของการ ‘กลับบ้านมาอย่างเท่ๆ’ คงหนีไม่พ้น อดีตนักโทษเด็ดขาด ที่ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี...”
หากกล่าวถึง ‘บิ๊กการเมือง’ ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก ‘คดีทุจริต’ และได้รับการ ‘พักโทษ’ กลายเป็น ‘ต้นแบบ’ ของนักการเมืองต่อมาอีกหลายคน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่-เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
@ ‘ทักษิณโมเดล’ นำร่อง ‘พักโทษ’
ทว่าในยุคที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน-รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หากจะมองใครเป็น ‘โมเดล’ ของการ ‘กลับบ้านมาอย่างเท่ๆ’ คงหนีไม่พ้น อดีตนักโทษเด็ดขาด ที่ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี จนสังคมตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมไทย
กระทั่งโดนเหน็บแนมว่า ‘นักโทษเทวดา’ ที่ได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ‘ชั้น 14’ โดยที่ไม่ได้นอนอยู่ในเรือนจำ แม้แต่ ‘วันเดียว’ ท่ามกลางข้อกังขาว่า ‘ป่วยทิพย์’ จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ทักษิณโมเดล’
ย้อนไทม์ไลน์นับตั้งแต่นายทักษิณเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนกระทั่งวันที่ได้รับการ ‘พักโทษ’ นายทักษิณอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ บนชั้น 14 ตัวเลขเป๊ะๆ คือ 179 วัน
- กลางดึกของคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณถูกนำตัวออกจาก ‘เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร’ ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 โดยกรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า เนื่องจากนายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ
- วันที่ 1 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้แก่นายทักษิณ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่ศาลพิพากษา 3 คดี รวมจำคุก 8 ปี
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนายทักษิณ 3 คดี รวม 8 ปี ได้แก่ คดีที่ 1 คดีหมายเลขแดง ที่ อม.4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ โทษจำคุก 3 ปี
คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดง ที่ อม.10/2552 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โทษจำคุก 2 ปี (คดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกัน รวมโทษจำคุก 3 ปี)
คดีที่ 3 คดีหมายเลขแดง ที่ อม.5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โทษจำคุก 5 ปี
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นายทักษิณได้รับการพักการลงโทษกรณีพิเศษ หลังจากอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 กว่า 180 วัน หรือ 6 เดือน และเดินทางกลับบ้านพัก (บ้านจันทร์ส่องหล้า) ซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 ในช่วงเช้าตรู่
ในช่วงที่นายทักษิณ ‘พักโทษ-พ้นโทษ’ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 จังหวะก้าวย่างทางการเมือง ทั้งการขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์-เวทีการเมือง ทั้งในฐานะ ‘ผู้ให้คำปรึกษา’ และ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ตอกย้ำ คำถามที่ว่า ‘ป่วยทิพย์’ ย้อนแย้งกับการให้สัมภาษณ์ของ ‘คนในรัฐบาล-หน่วยงานราชการ’ ถึง ‘อาการป่วย’ ของนายทักษิณ
@ ‘นักโทษคดีจำนำข้าว’ พาเหรด ‘พักโทษ’
ขณะที่นักการเมือง-นักโทษในคดีทุจริตจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทยอยได้รับการ ‘พักโทษ’ ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ราย
รายที่ 1 นายบุญทรง เตรียาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการพักโทษ ‘กรณีปกติ’ หรือ ได้รับโทษมาแล้ว ‘สองในสาม’ โดย ‘บุญทรง’ ศาลพิพากษาจำคุก 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 4 ครั้ง เหลือระยะเวลาต้องจำคุก 10 ปี 8 เดือน แต่จำคุกมาแล้ว 7 ปี 3 เดือน 10 วัน
รายที่ 2 นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ พ่อค้าข้าวรายใหญ่ เป็นนักโทษชั้นกลางขึ้นไป ได้รับการพักโทษ ‘กรณีพิเศษ’ หรือได้รับโทษมาแล้ว ‘หนึ่งในสาม’ โดย ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ถูกศาลพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้นรวม 4 คดี ได้รับอภัยโทษ 5 ครั้ง จำคุกมาแล้ว (พ้นโทษมาแล้ว) 3 คดี เหลือจำคุก 21 ปี 21 เดือนเศษใน ‘คดีบ้านเอื้ออาทร’
กรณีการพักโทษของ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาแถลงชี้แจงถึงการได้รับการพักโทษเป็น ‘กรณีพิเศษ’ ว่า รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 อายุ 70 ปี และเจ็บป่วยร้ายแรง มีภาวะไตเสื่อมภาวะสุดท้าย จนต้องฟอกไต และหนักถึงขั้นเปลี่ยนไต
รายที่ 3 นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี จำคุกมาแล้ว 6 ปี 12 เดือนเศษ ได้รับการพักโทษกรณีปกติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ปล่อยตัวต้นเดือนกันยายน 2567
อย่างไรก็ตาม ยังมี ‘นักโทษคดีจำนำข้าว’ ที่เป็น ‘อดีตข้าราชการ’ อีก 2 ราย อยู่ระหว่างรับโทษในเรือนจำกลางคลองเปรม ยังไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ
@ 3 อดีต สส.ภูมิใจไทย เสียบบัตรแทน เฮ
นอกจากนักโทษคดีจำนำข้าวที่ได้รับการพักโทษแล้ว ยังมี ‘อดีต สส.พรรคภูมิใจไทย’ ที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 9 เดือน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2567 กรณี ‘เสียบบัตรแทนกัน’ ที่เข้าข่ายได้รับการพักโทษกรณีปกติ รับโทษแล้ว 2 ใน 3 หรือ 6 เดือน ประกอบด้วย นางนาที รัชกิจประการ อดีต สส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์และนายภูมิศิษฎ์ คงมี อดีต สส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย
ก่อนหน้านี้มีนักการเมือง-บิ๊กธุรกิจที่ศาลพิพากษาจำคุกและได้รับการพักโทษ อย่างน้อย ราย นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ ‘กำนันเป๊าะ’ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี โดนศาลพิพากษาจำคุก 25 ปี คดีจ้างวานฆ่านายประยูร สิทธิโชติ และถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน และคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินสาธารณะ ตำบลเขาไม้แก้ว จังหวัดชลบุรี โดยย้ายออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปเรือนจำจังหวัดชลบุรี ก่อนออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี
ทว่าภายหลังจากกรณีการจัดงานเลี้ยงวันเกิด กรมราชทัณฑ์สั่งย้ายมาที่โรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์ และไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาต่อมาเนื่องจาก ‘กำนันเป๊าะ’ มีหลายโรค เช่น เบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง
สุดท้าย ‘กำนันเป๊าะ’ ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากอายุ 70 ปี และป่วยมะเร็งระยะที่สี่
ราย ‘อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย’ ประกอบด้วย 1.ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ 2.นายวิโรจน์ นวลแข และ 3.นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก คนละ 18 ปี คดีปล่อยกู้กฤษดามหานคร
ทั้ง 3 ราย ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ ภายหลังรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 มี 70 ปี และเจ็บป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย
@ แจงขั้นตอนการพักโทษ
ขณะที่ ‘ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์’ โดยนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาชี้แจงขั้นตอนการได้รับการ ‘พักโทษ’ ทันที ว่า เป็นการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์หลังศาลพิพากษาแล้ว กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ไม่มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจ หรือ กำหนดแนวปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบที่กฎหมายกำหนดไว้ การพักการลงโทษ กำหนดไว้ชัดเจน โดยย่อ มีสองกรณี คือ การพักโทษกรณีปกติ คือ การรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 และกรณีพิเศษ คือ การรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3
“กรณีของการพักโทษของนายบุญทรง คือ เป็นนักโทษชั้นกลางถึงชั้นเยี่ยมและได้รับโทษจำคุกแล้ว 2 ใน 3 กรณีของนายอภิชาติ ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขพักโทษ หนึ่ง อายุ 70 ปี หรือ สอง เจ็บป่วยจากโครร้ายแรง โรคไต จนต้องเปลี่ยนไต”
พ.ต.ท. เชน กาญจนาปัจจ์ โฆษกราชทัณฑ์ บอกว่า การเสนอชื่อนักโทษที่เข้ารับการพิจารณาให้พักการลงโทษ ต้องเสนอขึ้นมาจากเรือนจำ โดยคณะกรรมการเรือนจำ 8 คน หรือ ‘8 อรหันต์’ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรม เป็นประธาน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมฯ ผู้อำนวยการส่วนทัณฑปฏิบัติ หัวหน้าฝ่ายทัณฑปฏิบัติ และกรรมการภายนอก 4 คน คือ ผู้แทนจากกรมตำรวจ ผู้แทนจากกรมคุมประพฤติ ผู้แทนจากปกครอง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก่อนที่จะมีมติให้ส่งไปที่คณะอนุกรรมการของกรมราชทัณฑ์ 19 คน ที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน
@ ระเบียบราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ฯ ปูทาง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้าน ?
ท่ามกลางกระแสข่าวดักคอ-ปูทาง ‘ยิ่งลักษณ์กลับบ้าน’ หลังจากกรมราชทัณฑ์ได้เผยแพร่ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง คุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามในสถานที่คุมขัง ที่อยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายระหว่างวันที่ 2 - 17 ธ.ค.2567
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดง ที่ อม.211/2560 ให้จำคุก 5 ปี นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งขณะนี้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ
นางกนกวรรณ จิ้วเชื้อพันธ์ รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ ออกโรงชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งในปี 67 คณะอนุกรรมการต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ประกอบประกาศดังกล่าวตามข้อ 8 ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางการกฎหมายดังกล่าว หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงแก้ไขคณะอนุกรรมการและส่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามประกาศดังกล่าวต่อไป ซึ่งไม่ใช่สิทธิ์ หรือประโยชน์ของผู้ต้องขัง แต่เป็นการบริหารสถานที่คุมขังเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทะลุ 3 แสนคน
“หลังจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการชั้นกรมราชทัณฑ์ หรือ 8 อรหันต์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง หลังจากนั้นจะมีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศต่อระเบียบใหม่ จึงจะเริ่มดำเนินการได้”
ทั้งหมดทั้งมวลคือ ‘บิ๊กการเมือง-บิ๊กธุรกิจ’ ระดับ ‘บิ๊กเนม’ ตั้งแต่ระดับ ‘เจ้าพ่อ’ ไปจนถึงนักการเมืองระดับชาติ มีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี ที่โดนศาลพิพากษาตัดสินจากการกระทำผิดหน้าที่-ตำแหน่งหน้าที่ ที่ต้องเข้าไปรับผลกรรม แต่ได้รับการ ‘พักโทษ’ บางคน ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว !