"...ก่อนที่นายอุทิศ ชูช่วย จะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายก อบจ. สงขลาในเดือนตุลาคม 2556 ได้สั่งการให้นางสาวเฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสํานักปลัดอบจ.สงขลา เร่งจัดจ้างทำคู่มือการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา สำหรับประชาชน โดยเดือนพฤษภาคม 2556 มีการตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ เป็นผู้รับจ้างไว้แล้ว..."
คดีจัดจ้างทําคู่มือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลาสําหรับประชาชน ในราคาสูงเกินจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง เมื่อปี พ.ศ. 2556
ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 มีมติชี้มูลความผิด นายอุทิศ ชูช่วย เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายก อบจ.สงขลา พร้อมพวก และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเป็นทางการในช่วงเดือนก.ย.2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ นายอุทิศ ชูช่วย และพวก เป็นทางการแล้ว โดยนายอุทิศ ชูช่วย ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ส่วนจำเลยรายอื่นอีก 5 คน ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน และ 5 ปี ตามลำดับ หลังให้การรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ในช่วงเดือน ก.ย.2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ข่าวมติชี้มูล นายอุทิศ ชูช่วย เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งนายกอบจ.สงขลา พร้อมพวก กรณีจัดจ้างทําคู่มือการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาสําหรับประชาชน ในราคาสูงเกินจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง เมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นทางการ
ป.ป.ช.ระบุผลการไต่สวนว่า ก่อนที่นายอุทิศ ชูช่วย จะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายก อบจ. สงขลาในเดือนตุลาคม 2556 ได้สั่งการให้นางสาวเฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสํานักปลัดอบจ.สงขลา เร่งจัดจ้างทำคู่มือการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา สำหรับประชาชน โดยเดือนพฤษภาคม 2556 มีการตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ เป็นผู้รับจ้างไว้แล้ว
ต่อมาเดือนมิถุนายน 2556 นายอุทิศ ชูช่วย ได้ลาออกจากตําแหน่งนายก อบจ. สงขลา
นายสำรวม รักษาพราหมณ์ ปลัด อบจ.สงขลา ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ. สงขลา ได้ลงนามอนุมัติจัดจ้างทำคู่มือการเลือกตั้งนายก อบจ. สงขลาโดยวิธีพิเศษ จำนวน 450,000 เล่ม ในราคาเล่มละ 87 บาท ค่าซอง 5 บาท รวม 92 บาท วงเงินในการจัดจ้าง จำนวน 41,400,000 บาท ทั้งที่คณะกรรมการกำหนดรูปแบบรายละเอียดและราคากลางไม่ได้สืบราคาจากท้องตลาดหรือผู้มีอาชีพโดยตรง ซึ่งพยานหลักฐานในการสืบราคาของสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การจัดทำคู่มือการเลือกตั้งตามคุณลักษณะเดียวกันกับเรื่องนี้จะมีราคาตามท้องตลาดเฉลี่ย เล่มละ 45.93 บาท
เมื่อเปรียบเทียบราคาแล้ว ราคากลางที่ อบจ.สงขลากำหนดเพื่อจัดจ้างในโครงการที่กล่าวหาจึงสูงกว่าราคาโดยทั่วไปที่สมควร เล่มละ 46.07 บาท อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ อบจ.สงขลา เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท และหนังสือคู่มือการเลือกตั้งดังกล่าวยังมีเนื้อหาที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งภายหลังได้รับคัดเลือกเข้าเป็นคู่สัญญากับ อบจ.สงขลา มิได้เป็นผู้ประกอบการที่มีอาชีพโดยตรง สถานที่ตั้งไม่มีป้ายชื่อร้าน และไม่มีลักษณะของห้างร้านที่เปิดกิจการร้านค้าหรือประกอบกิจการโรงพิมพ์แต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลดังนี้
1. นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79
2. นายสํารวม รักษาพราหมณ์ ปลัด อบจ. สงขลา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3. นางสาวเฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสำนักปลัด อบจ. สงขลา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
4. นายวีระชัย พรรณราย นักบริหารงานทั่วไป 7 และนายนรนาถ นิลวงศ์นักบริหารงานทั่วไป 7 ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่การกระทําดังกล่าวมีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง
5. นายสรรเพชญ กุลวิจิตร และนางรัตนา นวลละออง ไม่มีมูลความผิดทางอาญาให้ข้อกล่าวหาตกไป
6. ห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ นางสาวบุศย์แก้ว ศิริมุสิกะ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ และนางสมจิตร์ หรือสรวรรณ ศิริมุสิกะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
ต่อมา เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา จำเลยที่ 1, นายสํารวม รักษาพราหมณ์ ปลัด อบจ. สงขลา จำเลยที่ 2 ,นางสาวเฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสำนักปลัด อบจ.สงขลา จำเลยที่ 3 , นางสาวบุศย์แก้ว ศิริมุสิกะ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ จำเลยที่ 4 และ นางสมจิตร์ หรือสรวรรณ ศิริมุสิกะ จำเลยที่ 5 มีความผิดตามกฎหมาย
2. การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา จำเลยที่ 1 ให้ ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 10 ปี
นายสํารวม รักษาพราหมณ์ ปลัด อบจ. สงขลา จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 15 ปี
นางสาวเฉลียว จันทรัตน์ หัวหน้าสำนักปลัด อบจ.สงขลา จำเลยที่ 3 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 10 ปี
นางสาวบุศย์แก้ว ศิริมุสิกะ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจํากัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ จำเลยที่ 4 และ นางสมจิตร์ หรือสรวรรณ ศิริมุสิกะ จำเลยที่ 5 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 10 ปี
3. จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณากรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตาม ป.อ.มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง
คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีกำหนดคนละ 5 ปี
4. ให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ นับต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดง ที่ อ 2585, 2586/2557 ของศาลจังหวัดสงขลา และจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 25/2567 ของศาลนี้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปการต่อสู้คดีในชั้นศาล จะออกมาเป็นอย่างไร กรณี นายอุทิศ ชูช่วย และพวก นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของผู้บริหาร อปท.และเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ ไม่ให้กระทำผิดซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่างทั้งในปัจจุบัน และอนาคต สืบไป
อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิบากกรรมการทุจริตที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด