"...ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง หากสามารถเลื่อนสอบทั้งประเทศได้ และไม่มีผลกระทบมากนัก ก็อยากจะให้มีการเลื่อนสอบออกไปเพื่ออนาคตและชีวิตของเด็กนักเรียนไทย การเลื่อนสอบจะทำให้เด็กมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น สภาพจิตใจดีขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นธรรมของข้อสอบอีกด้วย และผมเชื่อว่าหากมีการรับฟังให้มากขึ้น จะได้บทสรุปในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดออกมา..."
จากกรณีน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลายจังหวัดยังคงมีความรุนแรง ทำให้การสัญจร หรือการใช้ชีวิตปกตินั้นยากลำบาก บางพื้นที่ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ซึ่งส่งผลกระทบกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ TGAT/TPAT บางวิชาจะมีการสอบในวันที่ 7-9 ธ.ค. นี้ ทำเอาหลายคนเป็นกังวลว่าแล้วเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ จะทำอย่างไร นำมาซึ่งการเรียกร้องให้เลื่อนวันสอบ
ต่อมา ที่ประชุมอธิบการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมและแจ้งว่าจะเลื่อนเพียง 4 สนามสอบในภาคใต้ ได้แก่ สนามสอบโรงเรียนสตรียะลา (จ.ยะลา) สนามสอบโรงเรียนธรรมมูลนิธิ (จ.ยะลา) สนามสอบโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง (จ.ยะลา) และสนามสอบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (จ.นราธิวาส) โดยระบบจะเลื่อนวันสอบให้ผู้สมัครใน 4 สนามสอบนี้โดยอัตโนมัติ เป็นวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบหลายคนกังวลว่าการใช้ข้อสอบคนละชุดนั้น จะมีมาตรฐานเท่ากันหรือไม่ จนจุดชนวนให้ตั้งคำถามว่า ว่าหากต้องเลื่อนสอบ ทำไมถึงไม่เลื่อนสอบพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อความเท่าเทียมและยุติธรรม โดยมีการลงชื่อกว่า 12,784 คน เรียกร้องให้เลื่อนการสอบ TGAT/TPAT2-5 พร้อมกันทั่วประเทศ หลายคนมองว่าการสอบในช่วงเวลาที่ต่างกันอาจส่งผลต่อความยุติธรรมในระบบประเมินคะแนน แม้ห่างกันเพียงทศนิยมที่น้อยมาก ๆ มันก็สามารถตัดสินอนาคตเด็ก และทำให้คนมีโอกาสและเสียโอกาสได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ทางที่ประชุมอธิบการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมอีกครั้งพร้อมออกแถลงการณ์ ยึดประกาศเดิม ไม่เลื่อนสอบทั่วประเทศ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง
สอบวันแรกเรียบร้อย พร้อมประเมินสถานการณ์ 4 สนามสอบภาคใต้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) จัดสอบวิชาความถนัดทั่วไปหรือ TGAT และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ TPAT2-5 ปีการศึกษา 2568 ด้วยระบบกระดาษและคอมพิวเตอร์ ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2567 โดยวันนี้เป็นการสอบวันแรก สอบวิชา TPAT5 ความถนัดทางครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ และ TPAT2 ความถนัดทางทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์ วันที่ 8 ธันวาคม สอบวิชา TGAT ความถนัดทั่วไป และ TPAT3 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และวันที่ 9 ธันวาคม สอบ TGAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยจะประกาศผลการสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ในวันที่ 17 ธันวาคม และขอทบทวนคะแนนสอบได้ในวันที่ 18-25 ธันวาคม ประกาศผลสอบด้วยกระดาษ วันที่ 7 มกราคม 2568 ขอทบทวนคะแนนสอบ วันที่ 8-15 มกราคม 2568
นายพงษ์รักษ์ กล่าวถึงภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่ได้รับรายงานปัญหาการทุจริต ส่วนนักเรียนที่ขาดสอบปีนี้ มีไม่มากนัก ส่วนนักเรียนในจังหวัดภาคใต้ ที่เข้าสอบ ในศูนย์สอบ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลาที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม กระทบต่อการเดินทาง เข้าสอบในวันที่ 7 – 9 ธันวาคมนั้น ทปอ.ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนย้ายวันสอบมาเป็นวันที่ 21 – 23 ธันวาคม โดยการจัดสอบ วันนี้ทปอ.เปิดสนามสอบทั่วประเทศตามปกติ ยกเว้น 4 สนามสอบในจังหวัดยะลา และ นราธิวาส ได้แก่ สนามสอบโรงเรียนสตรียะลา สนามสอบโรงเรียนธรรมมูลนิธิ สนามสอบโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง และสนามสอบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งระบบได้ทำการเลื่อนสอบของผู้สมัครไปวันที่ 21 – 23 ธันวาคมโดยอัตโนมัติ
“ภาพรวมการจัดสอบวันแรกยังเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนในเรื่องของปัญหาทุจริตในตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกสนามสอบหากพบเห็นการกระทำที่มิชอบก็จะมีบทลงโทษตามระเบียบ ซึ่งผมคาดว่าอีก 4 สนามสอบที่มีการเลื่อนออกไป ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากจำนวนสนามสอบที่น้อยลงทำให้สามารถดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้นจะทำให้การจัดการดีเหมือนกับการเปิดสอบในวันนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทางทปอ.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที”นายพงษ์รักษ์ กล่าว
นายพงษ์รักษ์ กล่าวว่า ในเรื่องของความผิดพลาดของข้อสอบ ทาง ทปอ. พยายามที่จะปิดช่องโหว่ให้มากที่สุด และมีกระบวนการตรวจข้อสอบก่อนนำมาใช้จริงหลายขั้นตอน ทุกอย่างจะพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อให้มั่นใจว่าการสอบจะเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ทาง ทปอ. ยังมีการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาตั้งเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบเนื้อหาข้อสอบให้เหมาะสมกับมาตรฐานการวัดความรู้และความสามารถของนักเรียน
ไม่แปลกคนกังขามาตรฐานข้อสอบ
ทางด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงกรณี ทปอ. ออกแถลงการณ์ชี้แจงในเรื่องของการเลื่อนสอบ TGAT/TPAT ของ 4 สนามสอบในจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ว่า หากมองในแง่ของผู้บริหารก็จะต้องเป็นไปตามกำหนดการที่ออกมา แต่ถ้ามองในมุมของเด็กที่ได้รับผลกระทบ ก็จะรู้สึกได้ว่าแถลงการณ์ที่ออกมา เป็นการฟังเสียงของเด็กที่น้อยเกินไป ซึ่งสิ่งที่เด็กกังวลเป็นหลักคือเรื่องของความเป็นธรรมในการสอบไม่ใช่การที่จะได้สอบช้าหรือเร็ว และการสอบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่ออนาคตของเด็กเหล่านี้ ฉะนั้นควรจะมองปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด
“ผมมีความสงสัยว่า ถึงแม้จะมีการเลื่อนสอบในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่สุดท้ายการรวบรวมคะแนนก็จะต้องรอการสอบเสร็จให้ครบทั้งประเทศอยู่ดี แล้วทำไมถึงไม่เลื่อนการสอบทั้งประเทศและใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจต่อเด็กในเรื่องของข้อสอบ 2 ชุด ที่อาจจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ต้องคิดถึงเด็กที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนที่ทปอ.ออกมายืนยันว่าข้อสอบทั้ง 2 ชุด มีมาตรฐานเท่ากัน ก็อาจจะถูกต้องในมุมมองของผู้บริหาร แต่ในอดีตที่ผ่านมามีเรื่องของข้อสอบที่ผิดพลาดมาโดยตลอด จนถึงขั้นต้องยกคะแนนให้ผู้สอบ แสดงให้เห็นว่าข้อสอบชุดเดียวกันยังมีข้อผิดพลาดออกมาให้เห็น ส่งผลไปถึงความน่าเชื่อถือของทปอ.ที่ลดลงไป จึงทำให้มีเด็กนักเรียนที่กลัวจะเสียผลประโยชน์จากเรื่องนี้ออกมาเคลื่อนไหว ควรจะมีการออกมาอธิบายให้ชัดเจน และมีหลักการในเรื่องของการวัดผลมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่การรับรองว่าสามารถเชื่อถือได้ เพราะที่ผ่านมาข้อสอบมีความผิดพลาดมาโดยตลอด โดยส่วนตัวเชื่อว่าเด็กมีความเข้าใจอย่างแน่นอนหากได้รับคำอธิบายที่น่าเชื่อถือ
ศ.ดร. สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเลื่อนสอบเพียงแค่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ แล้วบอกว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด ผมว่าควรจะมีการรับฟังเสียงของเด็กทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น คิดถึงสภาพจิตใจของเด็กซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสอบ หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อม แต่ไปบังคับให้เด็กเข้าสอบก็จะทำให้เสียบรรยากาศในการสอบได้
ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง หากสามารถเลื่อนสอบทั้งประเทศได้ และไม่มีผลกระทบมากนัก ก็อยากจะให้มีการเลื่อนสอบออกไปเพื่ออนาคตและชีวิตของเด็กนักเรียนไทย การเลื่อนสอบจะทำให้เด็กมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น สภาพจิตใจดีขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นธรรมของข้อสอบอีกด้วย และผมเชื่อว่าหากมีการรับฟังให้มากขึ้น จะได้บทสรุปในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดออกมา
จี้ อว.จัดการอำนาจ ทปอ.
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ระบุว่า ทปอ. จะสร้างอนาคตหรือทำร้ายอนาคต เด็กไทย?
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกอบด้วยอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาที่ทั้งหมดล้วนเป็น ครูอาจารย์ กันทั้งนั้น
บ่อยครั้งแล้วที่ ทปอ. ออกมติในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาแบบตามใจฉัน (เปลี่ยน PAT เป็น TPAT ทันที) หรือ พูดอะไรแบบไม่แคร์สังคมเลย (ค่าสอบแค่นี้ จิ๊บๆเอง…ตลกฝืดๆ)
จากการที่เกิดอุทกภัยในจังหวัดทางภาคใต้นั้น ปรากฏว่า ทปอ. มีมติให้สอบ TGAT และ TPAT บางวิชา 2 ครั้ง คือ รอบปกติ และรอบสำหรับเด็กที่ประสบภาวะอุทกภัย โดยบอกว่า จะใช้มาตรฐานความยากเหมือนกัน
ไม่อยากคิดเลยครับว่า ความคิดแบบนี้ ออกมาจากคนที่เป็นครูบาอาจารย์
ผมสอนหนังสือมากว่า 30 ปี ขอบอกได้เลยครับว่า ไม่มีทางที่ความยากของข้อสอบจะเหมือนกันเป๊ะ เพราะปกติข้อสอบครั้งหลังมักจะยากกว่าครั้งแรกอยู่แล้ว
ในแนวทางนี้
-
1. หาก ทปอ.ยืนยันจะสอบวันเดิม ทปอ.หรือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ควรจะจัดหาสถานที่พักและสถานที่สอบ หรือ สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนจากจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถเข้าสอบพร้อมเพื่อน
-
2.หากจะเลื่อนสอบ ก็อาจจะเกรงว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องปรับแผนทั้งหลาย ซึ่งก็คงจะเหนื่อยและยุ่งยาก ดังนั้นปรับที่นักเรียนดีกว่า ผมเสนอว่า หากจะเลื่อน ก็เลื่อนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมครับ
อย่าลืมนะครับว่า นักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ขาดการเอาใจใส่จากทางการมานาน ทำให้เด็กนักเรียนส่วนมากจะมีพื้นฐานวิชาการที่อ่อนกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งจากประสบการณ์ที่สอนนักศึกษาเหล่านี้ พบว่าเขามีความตั้งใจในการเรียนรู้ที่ดีมาก ซึ่งหากเราให้โอกาสและเพิ่มเวลาใส่ใจเขาสักนิด เขาก็จะเรียนตามเพื่อนๆ ทันแน่นอน
ดังนั้น ผมคงต้องกราบเรียนท่านรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ และท่านผู้ช่วยรัฐมนตรี (ท่านศุภชัย ใจสมุทร) ที่เป็นคนมุสลิมเมืองตรัง ได้โปรดลงมาดูเรื่องนี้อย่างรวดเร็วด้วยครับ
และถ้าจะกรุณานะครับ ช่วยจัดการแก้ปัญหาอย่าง sustainable โดยการจัดการอำนาจ ของ ทปอ. เสียที เพื่อให้ ทปอ. มีหน้าที่สร้างและส่งเสริมอนาคตของชาติจริงๆจังๆ เสียทีครับ
ทั้งหมดนี้ คือความเห็นของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิยาลัยที่มีต่อการสอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของพวกเขา เพราะเป็นการชี้วัดอนาคตเส้นทางที่จะเลือกเดิน ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีปัญหาออกมาเรียกร้องเกี่ยยวกับการสอบทุกปีก็ตาม ต้องติดตามต่อไปว่า ทปอ.จะแก้ปัญหาและดึงความเชื่อมั่นกลับมาอยย่างไรต่อไป