“…ใช้ช่องว่างโอกาสจากการเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ กรณีคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สร้างความเสียหายและความสูญเสียให้กับประเทศไทยอย่างมาก เป็นช่องทางในการยักยอกทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตนโดยมิชอบ…”
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้จัดทำรายงาน เพื่อเปิดพฤติการณ์ฉ้อฉล รู้เท่าทันป้องกันกลโกง ภายใต้หัวข้อ ‘10 แผนประทุษกรรม คดีการทุจริตในภาครัฐและมาตรการป้องกันการทุจริต’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอ ‘10 แผนประทุษกรรม คดีการทุจริตในภาครัฐและมาตรการป้องกันการทุจริต’ ตอนแรก ไปแล้ว จำนวน 5 แผนประทุษกรรมการทุจริต
อ่านประกอบ : ป.ป.ท.เปิด 10 แผนประทุษกรรมคดีทุจริต (1) จากอบรมทิพย์-สวมชื่อทำบัตรประชาชนปลอม
ต่อไปนี้เป็น 5 แผนประทุษกรรมฯ ที่เหลือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติที่หนักข้อมากขึ้น ตั้งแต่การยักยอก ‘เรือยนต์ตรวจการณ์’ ไปจนถึงการ ‘ปลอมแปลงเช็ค’ เพื่อเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นกลโกงที่มีความแยบยลมากขึ้น
@ ยักยอก เรือยนต์ตรวจการณ์
ยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ (เรือยนต์ตรวจการณ์) โดยอาศัยเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด สืบเนื่องจากกรณีเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ.2547 เป็นเหตุให้เรือยนต์ตรวจการณ์ (สปีดโบ๊ท) ชนิดไฟเบอร์กลาส ขนาดความยาว 25 ฟุต พร้อมเครื่องยนต์ มูลค่า 1,696,000 บาท (หนึ่งล้านหกแสนเก้าหมื่นหกพันบาทถ้วน) ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาออกจากที่จอดมาติดค้างเกยอยู่บนเกาะในเขตอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารป่าไม้ 7 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการเบิกจ่ายพัสดุครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และอำนาจหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์ของทางราชการ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาชักลากเรือจากเกาะดังกล่าวมาขึ้นฝั่ง หลังจากนั้นได้นำเรือขึ้นเทรลเลอร์แล้วใช้รถยนต์ชักลากเทรลเลอร์ไปไว้ในพื้นที่จังหวัดอื่น และสั่งการให้นาย น. ผู้ใต้บังคับบัญชาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานว่าเรือยนต์ตรวจการณ์ดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อเป็นหลักฐานในการจำหน่ายพัสดุของสำนักงานอุทยานแห่งชาติ แล้วได้นำเรือไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน
รูปแบบการทุจริต
- เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเป็นของตน หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารหารป่าไม้ 7 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการเบิกจ่ายพัสดุครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ. 2535 และอำนาจหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์สินของทางราชการ แต่กลับยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ คือ ‘เรือยนต์ตรวจการณ์’ มูลค่า 1,696,000 บาท ไปเป็นของส่วนตน”
- ใช้ช่องว่างโอกาสจากการเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ กรณีคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สร้างความเสียหายและความสูญเสียให้กับประเทศไทยอย่างมาก เป็นช่องทางในการยักยอกทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตนโดยมิชอบ
- เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากู้เรือตรวจการณ์ลำดังกล่าวก่อนนำเรือขึ้นเทรลเลอร์สำหรับบรรทุกเรือไปเก็บไว้ที่บ้าน และได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นหลักฐานว่าเรือยนต์ตรวจการณ์ดังกล่าวสูญหายไป เนื่องจากเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อเป็นหลักฐานการจำหน่ายพัสดุของสำนักงานอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการแจ้งข้อความเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงถึงการมีอยู่ของเรือ
บทลงโทษ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) และ 157 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเป็นของตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี และให้คืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 1,696,000 บาท (หนึ่งล้านหกแสนเก้าหมื่นหกพันบาทถ้วน) แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่มีความเสียหายมากในการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินของทางราชการ ควรมีการแต่งตั้งกรรมการจากหน่วยงานอื่นร่วมตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดโอกาสและซ่องทางการเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการ โดยอ้างความเสียหายเกิดจากภัยธรรมชาติ
- ควรมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตาม ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของยานพาหนะ หรือทรัพย์สินของทางราชการที่มีมูลค่าสูง เพื่อป้องกันการสูญหาย หรือการนำไปใช้ประใยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ และใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Barcode) เพื่อช่วยให้ง่ายในการตรวจสอบวัสดุครุภัณฑ์ประจำปี
@ ลักแผ่นทองแดง-สายทองแดงสถานีไฟฟ้า
พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลักเอาแผ่นทองแดงและสายทองแดงที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้าไปเป็นของตนเองโดยทุจริต
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด คดีนี้เหตุเกิดในพื้นที่ปริมณฑล โดยผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งพนักงานช่างระดับ 3 แผนกจัดการงานสถานีไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ควบคุม ดูแลรักษาอุปกรณ์และทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ติดตั้งไว้ในสถานีไฟฟ้าสองแห่ง โดยผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ลักลอบถอดสายทองแดง แผ่นทองแดง และอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าทั้งสองแห่ง จำนวนหลายรายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 800,723.40 บาท (แปดแสนเจ็ดร้อยยี่สิบสามบาทสี่สิบสตางค์) จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นของผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต โดยการนำออกไปขายที่ร้านขายของเก่า 3 ครั้ง เนื่องจากติดพนันฟุตบอลและเป็นหนี้รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัว
รูปแบบการทุจริต
- บุคคลที่กระทำการทุจริตมีตำแหน่งเป็นพนักงานช่างประจำสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินประจำสถานีไฟฟ้า และให้บริการประชาชนเกี่ยวกับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตสถานที่ที่รับผิดชอบ ได้ลักลอบถอดสายทองแดง แผ่นทองแดง และอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าจำนวนหลายรายการ จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้เบียดบังเอาสายทองแดงแดง แผ่นทองแดง และอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าที่ถอดออกดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต โดยการนำออกไปขายที่ร้านขายของเก่า จำนวน 3 ครั้ง
- ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา คือ การเข้าเวรที่สถานีไฟฟ้าทั้ง 2 สถานี ได้เข้าเวรเพียงคนเดียวทุกครั้ง และได้ลักลอบตัดเอาสายทองแดงและแกะแผ่นทองแดงที่ติดตั้งอยู่กับอุปกรณ์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ภายในสถานีไฟฟ้าออกไป มีการใช้ทักษะความรู้ของการเป็นพนักงานช่างตัดเอาสายทองแดงที่ติดอยู่ตามตัวสถานีไฟฟ้า โดยตัดเป็นเพียงบางส่วน เพื่อไม่ให้พบถึงความมีพิรุธ และไม่ให้การทำงานของอุปกรณ์มีความขัดข้อง และได้ทำการปกปิดและอำพรางการลักสายทองแดงบริเวณผนัง โดยการโบกปูนและทาสีขาวอำพรางไว้ให้เหมือนสีของผนัง นำโลหะที่เป็นเหล็กมาทดแทนทองแดง และค่อย ๆ ทยอยขนสายทองแดงออกไปจำหน่าย อันเป็นพฤติกรรมในการเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตนเองโดยทุจริต
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ลงโทษจำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือนศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ทุจริตดังกล่าวถือเป็นความผิดทางผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ.2517 ข้อ 41 (9) ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงโทษไล่ออกจากงานกับผู้ถูกกล่าวหารายดังกล่าวแล้ว
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- ควรมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดเป็นประจำ ทุก ๆ 1-2 วัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อเป็นการสอดส่อง ดูแล และนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องปรามและตรวจสอบในระหว่างการปฏิบัติงานหรือเวลาเกิดเหตุการณ์ความผิดปกติขึ้น เช่น การใช้กล้องวงจรปิด หรือการมีระบบเตือนภัยไปยังหน่วยงานควบคุมกรณีมีความผิดปกติเกิดขึ้น เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวัสดุอุปกรณ์ของทางราชการไปกระทำการทุจริต
- จัดโครงสร้างของพนักงานช่างไฟฟ้าที่อยู่ประจำสถานีไฟฟ้าและอยู่เวรในช่วงเย็นให้มีการใช้แบบรายการตรวจสอบ (check list) เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ ภายในสำนักงานอย่างเป็นระบบ และมีการจัดเก็บฐานข้อมูลจากแบบรายงานการตรวจสอบ (check Iist) เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับและตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยให้เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานร่วมกันสอดส่องดูแลในพื้นที่การทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ และควรมีระบบการตรวจสอบการเช็คอุปกรณ์ภายในสถานีไฟฟ้าให้มีความเข้มงวดและละเอียดมากขึ้น
- ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจสอบการเข้า - ออกของพนักงาน และบุคลภายนอกอย่างเข้มงวด โดยต้องมีการตรวจค้นรถทุกประเภท และมีการจัดทำรายงานประจำวัน บันทึกทะเบียนรถ เวลาการเข้า - ออก รวมทั้งสิ่งที่พบเห็นจากการใช้รถทุกครั้ง และเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติให้รีบแจ้งผู้บริหารทราบโดยเร็ว
- เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบหรือสอบทานการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยอาจใช้วิธีการสุ่มตรวจเป็นระยะ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรืออาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจากบุคคลที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมตรวจสอบการปติงานของเจ้าหน้าที่
@ เจ้าหน้าที่เทศกิจ เรียกรับเงิน
เจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักเขต ก. เรียกรับเงิน
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด คดีนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2554 ที่สำนักงานเขต ก. โดยขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง 4 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสายตรวจบังคับชุด XXXX ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ก. ได้นำเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ายึดทรัพย์สิน เครื่องปั่น และรถตักหน้าขุดหลัง (JBC) ที่ใช้ในการวางท่อประปาของบริษัท A จำกัด ซึ่งได้เข้าทำงานในพื้นที่สำนักงานเขต ก. ไปไว้ที่สำนักงานเขต ก. เพื่อขอให้บริษัท A จำกัด จ่ายเงินให้กับผู้ถูกกล่าวหาเป็นรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร B สาขา C บัญชีประเภทออมทรัพย์ จำนวน 2 ครั้ง และหลังจากนั้นจ่ายเป็นเงินสดอีก จำนวน 7 ครั้ง คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม 2554 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 72,000 บาท (เจ็ดหมื่นสองพันบาทถ้วน)
รูปแบบการทุจริต
- ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง 4 ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ก. ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสายตรวจบังคับชุด XXXX มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่- แผงลอย การตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิดฐานทิ้งมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะ สถานสาธารณะ หรือทางน้ำสาธารณะ ฯลฯ รวมทั้งการตรวจและบังคับการเกี่ยวกับการรุกล้ำที่สาธารณะ การตรวจพบการกระทำผิดเฉพาะหน้า ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรุงเทพมหานคร โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้อำนาจโดยมิชอบ นำเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ายึดทรัพย์สิน เครื่องปั่น และรถตักหน้าขุดหลัง (JBC) ซึ่งใช้ในการวางท่อประปาของบริษัท A โดยที่บริษัท A มิได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด
- ผู้ถูกกล่าวหาได้ขอให้บริษัท A ไปติดต่อตกลงในการจ่ายเงินให้กับผู้ถูกกล่าวหาเป็นรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท โดยวิธีการโอนเข้าบัญชีธนาคาร B สาขา C บัญชีประเภทออมทรัพย์ชื่อบัญชีนางสาว D ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 2 ครั้ง และหลังจากนั้นจ่ายเป็นเงินสดอีก จำนวน 7 ครั้ง ครั้งละ 8,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกรับจากบริษัท A จำกัด จำนวน 72,000 บาท (เจ็ดหมื่นสองพันบาทาทถ้วน)
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน
ความผิดทางวินัย พฤติการณ์ทุจริตดังกล่าวถือเป็นความผิดทางผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1) (6)
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- หน่วยงานควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และคู่มือการให้บริการประชาชนให้ละเอียดทุกขั้นตอน โดยระบุถึงขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสิ่งที่ประชาชนต้องดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ โดยอาจมี QR Code ให้ประชาชนสามารถสแกนเพื่อศึกษาคู่มือดังกล่าวและมีช่องทางการร้องเรียน หรือการให้ข้อเสนอแนะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสาธารณชน ณ จุดบริการต่าง ฯ เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ในทุกขั้นตอนและเป็นการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอีกด้วย
- หน่วยงานควรเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบหรือสอบทานการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยอาจใช้วิธีการสุ่มตรวจเป็นระยะโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรืออาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจากบุคคลที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
- หน่วยงานอาจจัดให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้งานในหน้าที่อื่นได้อย่างหลากหลาย และเป็นการป้องกันการทุจริตจากการใช้ช่องว่างในการปฏิบัติงานหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลานาน
- ควรมีการจัดทำสื่อและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคลากรในเรื่องกฎระเบียบและโทษจากการทุจริตทั้งทางปกครอง วินัยและอาญา รวมทั้งมีกรณีศึกษาหรือตัวอย่างพฤติกรรมที่เคยถูกลงโทษทางวินัยและอาญาให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน
- ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เสียหายหรือเครือข่ายภาคประะชาชนเพื่อคอยสอดส่องและแจ้งเบาะแสการกระทำการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้
@ เรียกรับเงินแลกไม่ดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกรับเงินจากสามีของบุคคลต่างด้าวเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ได้แก่ ผู้ถูกกล่าวหาคนที่ 1 คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีชั้นยศดาบตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหาคนที่ 2 และคนที่3 มีชั้นยศจ่าสิบตำรวจ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานปราบปรามได้ร่วมกันจับกุมนางเอ สัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นภริยา นาย บ. ขณะทำไร่มันสำปะหลัง ณ ไร่มันของ นาย พ. บิดาของนาย บ. และได้นำตัวนางเอ และ นาย บ. ไปที่ป้อมตำรวจ สี่แยก ว. หลังจากนั้นได้กระทำการข่มขู่นาย บ. และ พ. ว่าจะจับกุมฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว เพื่อเรียกรับเงินจาก นาย บ. จำนวน 15,000 บาท แลกกับการไม่จับกุม นาย บ. และนาย พ. บิดาของผู้กล่าวหา ในข้อหาพาหรือให้ที่พักพิงคนต่างด้าว นาย พ. เกรงกลัว จึงให้ นาง ฐ.พี่สาวของ นาย บ. นำเงินจำนวน 14,000 บาท มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 ราย ณ ป้อมตำรวจแห่งนั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นาย จึงได้นำตัวนางเอ ส่งพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธร ป. เพื่อดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยมิได้รับอนุญาต โดยได้จัดทำบันทึกเปลี่ยนแปลงสถานที่จับกุมเป็นจับกุมนางเอ ขณะเดินอยู่บนถนน ซึ่งไม่ตรงต่อความจริง และละเว้นไม่จับกุมผู้กล่าวหาและ นาย พ. เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ต้องรับโทษฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
รูปแบบการทุจริต จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบพิรุธในการทุจริตโดยการใช้ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
- ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา เมื่อพบเห็นการกระทำความผิดจะต้องจับกุม นาย บ.และนาย พ.เจ้าบ้าน ดำเนินคดีฐานให้ที่พักพิงแก่นางเอ (สัญชาติเมียนมา) คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกการจับกุมต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ คือ สภ.ป.ทันที แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว
- ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำเรียกรับทรัพย์สิน จำนวน 15,000 บาท จาก นาย บ. และ นาย พ. และรับทรัพย์สินจาก นาย บ. และ นาย พ.จำนวน 14,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี นายบ. และ นาย พ. ฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
- ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันจัดทำบันทึกการจับกุมนางเอ ฐานเป็นคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยจดเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงสถานที่จับกุมเป็นจับกุมตัวได้ที่ถนนสายหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง และละเว้นไม่จับกุมผู้กล่าวหา และ นาย พ. เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ต้องรับโทษฐานให้ที่พักพิงคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- กำหนดระบบการควบคุมภายใน ผู้บังคับบัญชาควรต้องมีการกำชับกวดขันวินัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในสถานีให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายโดยเคร่งครัด
- กำหนดรูปแบบการตรวจสอบ ดังต่อไปนี้
1.พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ต้องหาจะต้องสอบถามผู้ต้องหาเกี่ยวกับรายละเอียดการจับกุม การพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวของผู้ต้องหา
2.ในการบันทึกการจับกุม ผู้บังคับบัญชาควรตรวจสอบรายละเอียดของบันทึกการจับกุมและผู้ต้องหาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำการจับกุมด้วย
3.เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตต้องทำหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่อื่นเห็นว่ามีการดำเนินคดีทุจริตที่รวดเร็ว เด็ดขาด จนไม่กล้ากระทำความผิด
- การเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการรณรงค์ผลกระทบของการทุจริต ดังต่อไปนี้
1.จัดให้มีรางวัลการเชิดชูเกียรติเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิด เพื่อเป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจ
2.ยกย่องให้ความเป็นธรรม และปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในหน่วยงาน
3.จัดสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้เจ้าหน้าที่และครอบครัวเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4.การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลผู้บังคับบัญชาประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ควบคุมกำกับ ติดตาม สนับสนุนการทำงานของผู้ได้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันการกระทำทุจริต
- นำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการจับกุม ควบคุมตัวผู้กระทำความผิด เช่น การบันทึกภาพถ่ายวิดีโอขณะจับกุมและควบคุมตัวผู้กระทำความผิด เพื่อให้กระบวนการจับกุมและควบคุมตัวสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
@ ปลอมแปลงเช็ค
ปลอมแปลงเช็คเพื่อเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด คดีนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2546 – สิงหาคม 2553 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด (อบต.โคกสะอาค) โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี ระดับ 4 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นราษฎร สามีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ได้ร่วมกันเติมข้อความในเช็ค ซึ่งได้รับอนุมัติให้จ่ายให้กับ อบต.โคกสะอาด โดยใช้ชื่อบัญชี ‘อบต.โคกสะอาด’ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมข้อความชื่อผู้รับเงินในเช็ค จากชื่อ ‘อบต.โคกสะอาด’ เป็น ‘ชอบตั้งโคกสะอาดพาณิชย์’ โดยชื่อผู้รับเงินบัญชีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชี แล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำการเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จำนวน 5 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,450.000 บาท (สิบเอ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
รูปแบบการทุจริต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นสามีผู้ถูก กล่าวหาที่ 1 ได้ร่วมกันเติมข้อความในเช็ค ซึ่งได้ รับอนุมัติให้จ่ายให้กับ อบต.โคกสะอาด โดยใช้ชื่อบัญชี ‘อบต.โคกสะอาด’ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ชื่อผู้รับเงินในเช็ค จากชื่อ ‘อบต.โคกสะอาด’ เป็น ‘ชอบตั้งโคกสะอาดพาณิชย์’ (เพิ่มพยัญชนะ และสระ ช. ช้าง หน้า อ. อ่าง เติมไม้หันอากาศและไม้โท บน ต. เต่า เขียน ง. งูทับจุดข้างหลัง หลัง ต. เต่า และเติมคำว่า พาณิชย์ท้ายคำว่าโคกสะอาด) ซึ่งบัญชีชื่อผู้รับเงิน ‘ชอบตั้งโคกสะอาดพาณิชย์’ ของธนาคารกรุงไทย สาขา ก. มีผู้ถูกกล่าวที่ 2 เป็นเจ้าของบัญชีและได้เปิดบัญชีไว้วันที่ 14 ธันวาคม 2552 ณ สาขาดังกล่าว แล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำการเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน จำนวน 5 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,450,000 บาท (สิบเอ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
บทลงโทษ ความผิดทางอาญา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำพิพากษา ที่ 39/2563 ให้จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 157 และมาตรา 161 ต่างกรรม ต่างวาระ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดลงโทษจำเลยที่ 1 กำหนด 12 ปี 6 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 16 เดือน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 8,532,000 บาท (แปดล้านห้าแสนสามหมื่นสองพันบาทถ้วน) แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด (จำเลยได้โอนเงินให้กับหน่วยงานบางส่วนก่อนหลบหนี)
แนวทาง/มาตรการป้องกันการทุจริต
- หน่วยงานต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยกรณีนี้จะเห็นได้ว่า หากมีการตรวจสอบสถานะทางการเงินอย่างเป็นประจำ หน่วยงานอาจจะตรวจสอบพบว่ามีเงินหายจากระบบไปตั้งแต่ครั้งแรกๆ แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำทุจริตได้หลายครั้ง
- หน่วยงานไม่ควรมอบหมายให้บุคคลคนเดียวกันปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการเงินที่ซ้ำช้อนกันหลายหน้าที่ อันเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
- ผู้มีอำนาจลงนามในเช็คต้องตรวจสอบเช็คให้ละเอียดรอบคอบว่า เจ้าหน้าที่ที่จัดทำเช็คได้ ขีดฆ่าคำว่า ‘หรือผู้ถือ’ ‘หรือตามคำสั่ง’ ออกและขีดคร่อมเรียบร้อยหรือไม่ และระบุชื่อผู้รับเงินอย่างชัดเจน และเมื่อเขียนชื่อผู้รับเงินเสร็จแล้ว ต้องตรวจดูว่า การเขียนหรือพิมพ์จำนวนเงินในเช็ดที่เป็นตัวอักษร มีช่องว่างที่จะเขียนหรือพิมพ์จำนวนเงินเพิ่มเติมได้หรือไม่ และเช็คต้องขีดเส้นชิดชื่อผู้รับเงินทั้งด้านหน้าและด้านหลังรียบร้อยหรือไม่ เพื่อเป็นการปิดโอกาสไม่ให้เกิดการแก้ไขเช็คได้
- เจ้าหน้าที่การเงินหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรายงานผลการเบิกจ่ายเงิน พร้อมหลักฐานยืนยันการจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิได้รับโดยถูกต้องให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน
- ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องกำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตาปตามระเบียบที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเมื่อผู้บังคับบัญชาพบเห็นข้อบกพร่องต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร้องในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาทันที กรณีที่มีการปล่อยปละละเลย ให้ถือเป็นความผิดทางวินัย
- จากการตรวจสอบมูลเหตุจูงใจในการกระทำการทุจริตพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเล่นการพนัน ดังนั้นหน่วยงานจึงควรหมั่นตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะในรายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจัดการเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยงาน
ทั้งหมดเป็น แผน 10 ประทุษกรรมคดีทุจริตในภาครัฐ และพฤติการณ์การโกง ตั้งแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการกระทำการทุจริต ไปจนกระทั่งการใช้ความรู้และความสามารถเชี่ยวชาญในงานเบียดบังเอาทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นของส่วนตัว