“...ปรองดองสมานฉันท์ได้ระดับหนึ่ง คนที่เดือดร้อนได้รับการปลดปล่อย คนที่ทุกข์ทรมานจากคดีพวกนี้ คนที่มีคดีค้างอยู่ อย่างน้อยก็ได้รับอานิสงส์ สังคมก็ไม่แคลงใจกันต่อไป เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องเหลือง เรื่องแดง เรื่องเอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ ไม่ได้แปลว่าไม่มีใครได้...”
รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประกาศนโยบายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เรื่องการสร้างความปรองดอง-สมานฉันท์ ภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรมถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้ง
เป็น 20 ปี ของความขัดแย้งทางการเมือง ที่เวียนมาบรรจบกับพรรคการเมืองที่เป็นหน่อเนื้อของพรรคไทยรักไทยและเข้าไปมีส่วนร่วมในทศวรรษแห่งการปะทะทางความคิดอันแหลมคม...จากม็อบสีเสื้อ เหลือง-แดง และการชุมนุมชัตดาวน์ของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ‘กปปส.’ จนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ https://www.thaigov.go.th/
@ เทียบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ฉบับ
นักการเมืองพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนกลุ่มหนึ่งที่คาดหวังว่าจะเห็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่ยาวนานมากว่า 20 ปี เพื่อเป็นหมุดหมายสู่ความปรองดอง-สมานฉันท์ ได้พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวม 4 ฉบับ จนสามารถบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง และเตรียมที่จะเข้าสู่การพิจารณาเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ประกอบด้วย
1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชาชน พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอจำนวน 29 คน พร้อมกับลงลายมือชื่อเข้าร่วมเสนอกฎหมาย จำนวน 36,723 คน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 133 (3) โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมือง
เหตุผล โดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หากนับจากความขัดแย้งหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่มาจากการร่างและลงประชามติของประชาชน
เริ่มตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 การชุมนุมของกลุ่มแนวประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการปี 2553 มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,763 ราย การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2557 การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารปี 2557-2559 กว่า 2,408 ราย
การชุมนุมของประชาชนและคณะราษฎร ปี 2563 กว่า 1,938 ราย รวมถึงการชุมนุมครั้งย่อย ๆ ของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งในทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง เกิดการรัฐประหารสร้างความเสียหายต่อระบบนิติรัฐและประชาธิปไตย
สิ่งที่ตามมา คือ คดีทางการเมืองของประชาชนที่ออกมาแสดงออกในทางการเมือง ในขณะที่ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปี เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ถือครองอำนาจรัฐกลับได้รับการยกเว้นความรับผิดและการนิรโทษกรรมมาโดยตลอด
การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกล่าสุด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ภายในระยะเวลาสามปี มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,938 ราย ด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน ฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ในโอกาสที่ประเทศกลับมาสู่การเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากประชาชน การปลดเปลื้องคดีความทางการเมืองจะนำไปสู่โอกาสในการแก้ไขความแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน คืนความยุติธรรรมให้ประชาชน
2.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.กับคณะ สส.พรรคประชาชน (อดีตสส.พรรคก้าวไกล) โดยมีหลักการและเหตุผลดังนี้
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
เหตุผล โดยที่ได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนตลอดจนมีการกระทำอื่นใดไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549
การยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และการยึดอำนาจรัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สืบเนื่องจนถึงปัจจุบันอันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนชนจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนนั้นได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อขจัดความขัดแย้งที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมใช้และตีความการกระทำความผิดแต่เพียงตามองค์ประกอบทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ดังนั้นภายใต้โครงสร้างแห่งระบบกฎหมายปกติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่สามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ เพราะการแสดงออกของประชาชนอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงจำเป็นต้อง ‘จัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม’ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมี ‘มูลเหตุจูงใจทางการเมือง’ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
3.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน กับคณะ สส.รวม 6 พรรค ได้แก่ พรรคใหม่ พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติ โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
เหตุผล โดยที่ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายที่ภาครัฐประกาศและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ขาดการยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น
บางครั้งก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ลงท้ายด้วยการจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกลงสู่สังคมไทยทุกระดับ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและวัฒนธรรม
การกระทำต่าง ๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมือง และจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง
เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
4.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาดิ์ สส.กับคณะ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยให้ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองพ้นจากความรับผิดตามกฎหมาย รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว
เหตุผล ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดการแตกแยกของความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายไปทั่วประเทศ มีการผลัดกันชุมนุมทางการเมืองของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยทำให้รัฐบาลได้ยกระดับการประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมทางการมืองอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลให้การชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนกลายเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ
หรือแม้กระทั่งประชาชนผู้ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและไม่ได้เข้าร่วมแสดงออกทางการเมือง แต่เมื่อได้มีการกระทำที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกันมาจากความขัดแย้งทางการเมือง แม้จะได้กระทำการใดๆไปเพียงเพราะมีเจตนาที่ดีต่อบ้านเมืองหรือเจตนาต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าด้วยดี
นอกจากนี้แล้วสาเหตุอันสำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการกระทำของบุคคลเช่นว่านั้นก็อาจกล่าวได้ว่าเกิดมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความยืดหยุ่น จนนำไปสู่การเผชิญหน้าของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเกิดกระทบกระทั่งทางอารมณ์ต่อกัน และเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตาย และยังมีผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองโดยบริสุทธิ์อีกจำนวนมากต้องถูกจับกุมและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งจากความผิดที่มีเจตนาที่แท้จริงเพียงต้องการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง มิใช่เจตนาชั่วร้ายหรือเจตนากระทำความผิดทางอาญา
ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ ไม่เฉพาะแต่ทางการเมือง หากแต่มีผลกระทบถึงภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติ การกระทำต่างๆ ของประชาชนผู้ร่วมชุมนุม หรือร่วมแสดงออกทางการเมือง แม้จะกลายเป็นการกระทำความผิดโดยสภาพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นการกระทำความผิดที่แท้จริงแล้วผู้กระทำมิได้มีเจตนาชั่วร้ายหรือเจตนากระทำความผิดอาญาแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงเจตนาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลเท่านั้น
ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อมีวัตถุประสงค์ที่จะกระทำผิดอาญา หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้ประชาชนหรือบุคคลผู้ที่ต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดและต้องรับโทษอย่างรุนแรงด้วยเหตุดังกล่าว พ้นจากความรับผิดตามกฎหมายและปราศจากมลทินมัวหมอง เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนและสังคมไทยที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยความสมัครสมานสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกครั้ง
อีกทั้ง ยังจะได้เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อันเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยอันจะทำให้สังคมไทยกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างเสริมสังคมสันติสุขและร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญอย่างมั่นคง และยั่งยืนสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เห็นได้ว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับ มีหลักการและเหตุผลคล้ายกัน เนื่องจากในช่วงเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมีประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต จึงควรที่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2563
@ ผ่าโครงสร้าง ‘บอร์ดนิรโทษกรรม’ 4 โมเดล
เมื่อเจาะไปที่ไส้ในของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับ แต่ละมาตราพบว่ายังคงมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น การกระทำความผิดที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม รวมถึง ‘คดีทุจริต’ และการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่
โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการนิรโทษกรรม’ ขึ้นมาพิจารณาและวินิจฉัยการกระทำที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมความผิด ซึ่งมีองค์ประกอบของบุคคลที่จะมานั่งเป็นประธานกรรมการและโครงสร้างที่มาของกรรมการทั้งเหมือนและแตกต่างกัน
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชาชน พ.ศ. .... มาตรา 6 กำหนดให้ตั้ง ‘คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน’ มีอำนาจพิจารณาการกระทำใดเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน และกรรมการ ประกอบด้วย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล สส.เลือกกันเอง จำนวน 10 คน ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
และตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการรัฐประหารปี 2549 จากการชุมนุมปี 2552-2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557-2562 และจากการชุมนุมปี 2563-2566 ช่วงเหตุการณ์ละ 1 คน และองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรมสองคน
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดย นายชัยธวัช มาตรา 5 ให้มี ‘คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม’ จำนวน 9 คน ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลดังนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธาน
บุคคคลซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คน สส.ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน โดยต้องมาจากพรรคการเมืองที่ สส.ในสังกัดของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 1 คน และต้องมาจากพรรคการเมืองที่จำนวน สส.ในสังกัดของพรรคมากที่สุด ซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 1 คน (พรรคของผู้นำฝ่ายค้าน)
ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 1 คน ตุลาการหรืออดีตตุลาการในศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการ จำนวน 1 คน และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายปรีดา มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม’ จำนวนไม่เกิน 7 คน
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... จากการเสนอโดย นายวิชัย มาตรา 4 ให้มี ‘คณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 9 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 1 คน อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน
สส. ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 คน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมวุฒิสภา จำนวน 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คน ปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับอำนาจหน้าที่ในสาระสำคัญหลักไม่แตกต่างกันมากนัก คือ การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่
ขณะที่ ‘ผลทางกฎหมาย’ หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้และมีการพิจารณาหลักเกณฑ์การได้รับการนิรโทษกรรมเป็นที่สิ้นสุดเป็นข้อยุติแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ผู้ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล หรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้ระงับการฟ้องหรือถอนฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดีให้ศาลยกฟ้อง หรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี
กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าอยู่ระหว่างรับโทษให้สิ้นสุดลงและปล่อยตัว และให้ลบประวัติอาชญากรรม ระหว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ กรณีที่ถูกฟ้องเป็นคดีและอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ให้ศาลระงับกระบวนการพิจารณา และปล่อยตัวจำเลยไป กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วให้ปล่อยตัวจนกว่าจะวินิจฉัย
@ เปิดฐานความผิดในบัญชีแนบท้ายนิรโทษกรรม
จากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้กำหนดประเด็นคดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ไว้ใน ‘ฐานความผิดในบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ’ แบ่งออกเป็น ‘คดีหลัก-คดีรอง’ และ ‘คดีที่มีความอ่อนไหว’ ดังนี้
การกระทำในคดีหลัก 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 (1) หรือ (2) (ความผิดฐานกบฏ) มาตรา 114 (สะสมกําลังเพื่อก่อกบฏ) (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ) มาตรา 116 (กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย) มาตรา 117 (ยุยงให้หยุดงานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย) มาตรา 118 (กระทำต่อธงชาติ) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย มาตรา 135/1 (2) หรือ (3) (ความผิดฐานก่อการร้าย) มาตรา 135/2 (ขู่เข็ญจะก่อการร้าย) มาตรา 135/3 (โทษของผู้สนับสนุนการก่อการร้าย)
2.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
3.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
4.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
6.ความผิดตามคำสั่ง คสช. และ 7.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
การกระทำในคดีรอง 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน) มาตรา 137 (แจ้งความเท็จ) มาตรา 138 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) มาตรา 139 (ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) มาตรา 140 (รับโทษหนักขึ้นฐานต่อสู้ขัดขวางและข่มขืนใจเจ้าพนักงาน) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม มาตรา 168 (ขัดขืนคําบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคํา) มาตรา 169 (ขัดขืนคําบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใด) มาตรา 170 (ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ) มาตรา 184 (ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ) มาตรา 190 (หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง) มาตรา 191 (ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากการคุมขัง) มาตรา 198 (ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา)
ความผิดเกี่ยวกับศาสนา มาตรา 206 (กระทำการเหยียดหยามศาสนา) มาตรา 208 (แต่งกายเป็นนักบวชในศาสนา) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (ความผิดฐานเป็นอั้งยี่) มาตรา 210 ถึง มาตรา 214 (ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ ซ่องโจร, ช่วยเหลือ อุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิกและพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พํานัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด) มาตรา 215 วรรคหนึ่ง (มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 216 (ไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน)
ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 217 ถึงมาตรา 220 (วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, เหตุฉกรรจ์วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, ตระเตรียมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น และทําให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ) มาตรา 221 (ทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตรายฯ) มาตรา 225 (ทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่ทรัพย์) มาตรา 226 (กระทำต่อโรงเรียน สิ่งปลูกสร้าง น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น)
ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ) มาตรา 296 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บด้วยเหตุฉกรรจ์) มาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส) มาตรา 299 (ชุลมุนต่อสู้บาดเจ็บสาหัส) มาตรา 300 (ประมาทเป็นเหตุให้บาดเจ็บสาหัส)ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ) มาตรา 310 วรรคหนึ่ง (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น) มาตรา 310 ทวิ (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้กระทำการให้แก่บุคคล) มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (ทำให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท)
ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 (หมิ่นประมาท) มาตรา 328 (หมิ่นประมาทโฆษณา) มาตรา 329 (แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์) มาตรา 359 (3) (เหตุเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์) มาตรา 360 (ทำให้เสียทรัพย์สาธารณประโยชน์)
ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362 (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์) มาตรา 364 (บุกรุกเคหสถาน) มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) (บุกรุกเหตุฉกรรจ์)
ความผิดลหุโทษ มาตรา 368 (ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน) มาตรา 370 (ส่งเสียงดังอื้ออึง) มาตรา 371 (พกพาอาวุธ) มาตรา 358 (กีดขวางทางสาธารณะ) มาตรา 391 (ทำร้ายร่างกายไม่บาดเจ็บ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า)
2.ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 (ศาลออกข้อกําหนดเพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล) มาตรา 31 (ละเมิดอำนาจศาล) 3.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 4.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 5.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 6.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
7.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 8.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 9.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 10.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 11.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 12.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535
13.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 14.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 15.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 16.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 17.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 18.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ.2522 19.ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ)
@ นิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ฉบับกมธ.
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ ‘เห็นต่าง’ กันอย่างกว้างขวาง คือ การกำหนดนิยามคำว่า ‘แรงจูงใจทางการเมือง’
โดยรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ เป็นประธาน และใช้เวลาศึกษา จนตกผลึกกลายเป็นรูปแบบ ‘การนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน’ ผ่านกลไก 3 ส่วน คือ
1.กลไกที่ให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา หรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตาม ‘บัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม’ แล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
2.กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายและประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคําร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น ให้หน่วยงานราชการที่รับคําร้องมีอำนาจรับคําร้องและพิจารณา หรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1.หากคดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าของคดีให้ยุติการสอบสวน
2.คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการให้พนักงานอัยการยุติการดำเนินคดี คดีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง
3.กรณีที่จําเลยถูกฝากขังในเรือนจำให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย
4.คดีที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดและผู้ต้องคดีเป็นนักโทษในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษ
5.คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคําพิพากษาว่ากระทำผิดประสงค์ขอให้ลบล้างประวัติให้ยื่นคําร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
กรณีผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมใช้สิทธิยื่นคําร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาแล้ว ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรม
3.กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย ‘ขออุทธรณ์’ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม ทั้งนี้ ในชั้นพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากคณะกรรมการนิรโทษกรรมรับเรื่องไว้พิจารณากลั่นกรองแล้ว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีคดีที่เข้าข่ายตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้หยุดการดำเนินคดีหรือการพิจารณาในคดีนั้นไว้ก่อน และศาลอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
@ ผุด ‘บอร์ดนิรโทษฯ’ รมว.ยุติธรรม นั่งหัวโต๊ะ
นอกจากนี้รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีข้อเสนอให้ตั้ง ‘คณะกรรมการนิรโทษกรรมรูปแบบผสมผสาน’ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน
กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมคุมประพฤติอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนายกสภาทนายความ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม จำนวนด้านละหนึ่งคน โดยมาจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี
กรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับบริบททางการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเลือกกันเองจำนวนสามคน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแต่งตั้งข้าราชการของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
@ รับเรื่องอุทธรณ์-ชี้ขาดนิรโทษฯ
คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน มีหน้าที่และอำนาจ 1.พิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมตามข้อ 1 เสนอ หากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมภายในกําหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนั้น
2.พิจารณา ‘อุทธรณ์’ กรณีผู้ใช้สิทธิยื่นคําร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้คําวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมมีผลผูกพันหน่วยราชการดังกล่าวให้พิจารณาการให้นิรโทษกรรม
3.หยิบยกคดีที่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้ แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งกรณีที่คณะกรรมการเห็นเอง หรือกรณีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องร้องขอ
4.พิจารณา ‘ชี้ขาด’ กรณีที่มีปัญหามาสู่คณะกรรมการว่าคดีใดได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ จากการเสนอของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการพบเห็นเอง
5.จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน
6.สื่อสารสร้างความเข้าใจสาธารณะเพื่อนําไปสู่การสร้างความปรองดอง 7.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และ 8.อำนาจหน้าที่อื่นใดเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
@ ชง นิรโทษกรรม ม.112 สถานเบา
‘รองศาสตราจารย์ โคทม อารียา’ นักวิชาการด้านสันติวิธี และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มองจุดแข็ง-จุดอ่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ฉบับว่า ตั้งหลักไว้อยู่แล้วว่าจะไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะฉะนั้นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมที่เสนอโดยนายชัยธวัชอย่างไรก็ไม่รอด รวมถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของประชาชน
“ดังนั้นจึงเหลือเพียงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่มีโอกาสผ่านความเห็นชอบของสภา แต่ไม่รอบคอบรัดกุม ถ้าไม่มีร่างนิรโทษกรรมอีกฉบับเข้าไปประกบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ควรจะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาอีก 1 ฉบับ เป็นฉบับหลัก”รองศาสตราจารย์ โคทม กล่าว
รองศาสตราจารย์ โคทม กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่ควรเสนอเข้าไปควรปิดช่องโหว่ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ เรื่อง ‘ล้างมลทิน’ สอง คดีเล็กๆ น้อย ไม่ควรนำมารวมเป็นคดีที่ต้องได้รับการล้างมลทิน สาม ควรมีคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ไม่ควรให้คณะกรรมการกลั่นกรองมะงุมมะงาหรา โดยขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ อัยการ ราชทัณฑ์ รายงานมาเลยว่า คดีใดเป็นคดีการเมือง และใครเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ไม่ต้องมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
“โดยทั่วไป เวลานิรโทษกรรมแล้ว ยังติดอยู่ในระบบของตำรวจ เรียกว่า ทะเบียนอาชญากรรม คำว่า ล้างมลทิน ในที่นี้ คือ การไปคัดชื่อออกจากทะเบียนอาชญากรรม เสมือนกับว่าไม่เคยกระทำความผิด”รองศาสตราจารย์ โคทม ขยายความคำว่า ‘ล้างมลทิน’
ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่ดีที่สุดของ ‘รองศาสตราจารย์ โคทม’ มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ‘นักสันติวิธี วัย 81 กะรัต’ บอกว่า “สำหรับผมต้องรวม 112 แบบมีเงื่อนไข”
“มาตร 112 มีโทษเบาไปหาหนัก จากหมิ่นประมาทถึงอาฆาตมาดร้าย ถ้าเป็นการอาฆาตมาดร้ายจริง ๆ ก็ไม่อยู่ในข่าย เพราะจะไปทำร้าย แต่ถ้าหมิ่นประมาท พูดจาไม่เหมาะสม อาจจะนิรโทษกรรมได้ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขประกอบอื่น ๆ อีก เช่น บริบทการกระทำผิด หรือจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขึ้นมาก่อนว่าเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมหรือไม่ มีความหนักเบาของสถานการณ์หรือเปล่า เช่น การแชร์ข้อความที่คนอื่นส่งมาให้ไปที่อื่น การแชร์ผมถือว่าเป็นเรื่องเบา”รองศาสตราจารย์ โคทมกล่าว
ส่วนการนิรโทษกรรมจะสามารถสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้จริงหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ โคทม กล่าวว่า “ทะเลาะกันเรื่องอะไร ถ้าทะเลาะกันเรื่องเก่าแล้ว เรื่องเหลือง แดง กปปส. ก็คงจะ (ปรองดองสมานฉันท์) ได้บ้าง แต่ก็ยังมีคนที่ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมแต่ยังโกรธเคือง แต่เลิกแล้วต่อกันบางส่วนไปก็ยังดีกว่าไม่เลิกแล้วต่อกันเลย”
รองศาสตราจารย์ โคทม กล่าวว่า สำหรับความขัดแย้งเรื่องบทลงโทษความหนักเบาของมาตรา 112 ซึ่งคนจำนวนหนึ่งคิดว่า ควรจะแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทลงโทษ คนเหล่านี้ก็ยังเห็นว่า ไม่ยุติธรรม ยังอยู่ในใจ
“แต่ตอนนี้ มองดูแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะเสนอเรื่องนี้ เพราะว่า เสนอเรื่องนี้นิดหนึ่งก็จะโดนยุบพรรคแล้ว ก็ยังอยู่ในใจ ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ถ้าจะให้ดีบ้าง ไม่ใช่ดี 100 % อย่างน้อยก็ต้องนิรโทษกรรม มาตรา 112 ส่วนหนึ่ง ให้ผ่อนคลายลง”รองศาสตราจารย์ โคทมกล่าว
@ นิรโทษกรรม ม.112 – ขัดแย้งรอบใหม่
ด้าน ‘ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสาร ตันไชย’ อดีตเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้าและรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คนที่หนึ่ง กล่าวถึง ‘เงื่อนไขสำคัญ’ ในการนิรโทษกรรมให้ประสบความสำเร็จ ว่า การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดอง แต่เงื่อนไขของการจะสร้างความปรองดองได้มีหลายเรื่อง เช่น สถานการณ์ หรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดการให้อภัยกัน
ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสาร กล่าวว่า นิรโทษกรรมเป็นเรื่องหนึ่งของการให้อภัย บรรยากาศของการให้อภัยกันก็แปลว่า ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องเหล่านี้ควรให้อภัยกันได้ และเลิกแล้วต่อกัน เป็นอารมณ์ของสังคม เพราะฉะนั้นถ้าตกผลึกหรือได้ความเห็นที่ส่วนใหญ่เห็นว่า น่าจะให้อภัยกันได้แล้ว บรรยากาศเอื้ออำนวยแล้ว การจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือการจะออกกติกาใด ๆ เพื่อการให้อภัยกันก็สามารถทำได้ และไม่ว่าจะเรื่องใด
“แต่ถ้าบรรยากาศนั้น หรือสถานการณ์ตอนนั้น ไม่เอื้ออำนวยให้ ยังมีขั้วทางความคิดต่อเรื่องการนิรโทษกรรมอยู่ หรือการให้อภัยว่า เรื่องบางเรื่องให้อภัยได้ เรื่องบางเรื่องยังให้อภัยไม่ได้ ถ้าผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมก็อาจจะเป็นปัญหา สร้างความขัดแย้งใหม่ได้กับสังคม”ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าว
ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสาร กล่าวว่า จากประสบการณ์ในหลายประเทศ กว่าจะมีการให้อภัยสังคมต้องตกผลึกความคิดพอสมควร และมีทางออก สิ่งสำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องยุติความก้าวร้าวต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ แล้วทุกฝ่ายพร้อมให้อภัยและหันกลับมาพูดกันว่า เราจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร เป็นโจทย์ที่สำคัญ
ที่มาภาพ : Facebook สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (https://www.facebook.com/@OPM.Society/)
“วันนี้หลายเรื่องอาจจะมีบรรยากาศที่เห็นตรงกันแล้ว เช่น การนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองจากการชุมนุม แต่ความผิดอีกหลายประเภท ผมคิดว่าสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกัน คือ ความผิดตามมาตรา 112 ยังมีความเห็นที่แตกต่าง หลายฝ่ายยังคิดว่าเรื่องนี้ให้อภัยไม่ได้ ซึ่งก็เป็นชุดความคิดหนึ่ง หลายฝ่ายก็คิดว่าควรให้อภัยได้ เมื่อยังไม่ลงตัว ถ้าเราจะผลักดันอะไรไปในเรื่องเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ได้ในสังคม”ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าว
ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสาร กล่าวว่า สุดท้ายโซลูชั่นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจาพูดคุย การจะได้โซลูชั่นหรือข้อยุติมา ต้องได้ข้อยุติในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้ว ถ้านิรโทษกรรมเพียงการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 48 คิดว่าไม่มีปัญหา คนไม่เห็นด้วยน้อยมาก
“แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามรวมเรื่อง มาตรา 112 ในขณะนี้เข้าไปก็อาจจะมีข้อโต้แย้ง และมีความคิดในเชิงเห็นว่า ยังไม่สมควร ตรงนี้ เรื่องเงื่อนไขของบรรยากาศหรือสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดการปรองดองจึงสำคัญ ดังนั้น ถ้าจะนิรโทษกรรมทั้งหมดก็ยังไม่สำเร็จ แต่ถ้าจะเอาบางเรื่อง คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้”ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าว
ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสาร กล่าวว่า ถ้าหากย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองแบบเสื้อเหลือเสื้อแดงก็อาจจะยังไม่ยอมกัน ถ้าย้อนกลับไปในบรรยากาศนั้น เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ ทุกคนยังคิดว่าตัวเองได้เปรียบ ทุกคนคิดว่าตัวเองถูก แต่วันนี้ทุกคนเปียกน้ำเหมือนกันหมด ทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันหมด ทุกคนจึงเห็นว่า ควรมีข้อยุติได้แล้วกับการให้อภัย กับเรื่องของการให้อภัยในเรื่องของการชุมนุมทางการเมือง
“แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 15 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ (เสื้อเหลืองเสื้อแดง) ก็อาจจะไม่ยอม ก็เหมือนมาตรา 112 จะเห็นว่า หลายเรื่องกว่าจะตกลงกันได้ เห็นพ้องต้องกันได้ต้องการเวลาสุกงอมของสังคมพอสมควร ตราบใดก็ตามที่เรื่องมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นเปราะบาง อ่อนไหวอยู่ ถ้าเอาเข้าไปก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้าเอาแค่เรื่องการชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว คดีทางการเมืองทั้งหมด ข้อโต้แย้งจะน้อย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า คนเสนอกฎหมายคาดหวังแค่ไหน จะแก้กันทีละเปลาะ หรือหวังว่าจะแก้ทีเดียวให้ได้ทุกฝ่าย ได้ทุกคน โอกาสเป็นไปได้ยาก ขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมในแต่ละช่วงเวลา”ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าว
เครื่องหมายคำถามคือ ถ้าหากนิรโทษกรรมเพียงคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ไม่ร่วมคดีมาตรา 112 จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้จริงหรือไม่นั้น ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าวว่า
“ปรองดองสมานฉันท์ได้ระดับหนึ่ง คนที่เดือดร้อนได้รับการปลดปล่อย คนที่ทุกข์ทรมานจากคดีพวกนี้ คนที่มีคดีค้างอยู่ อย่างน้อยก็ได้รับอานิสงส์ สังคมก็ไม่แคลงใจกันต่อไป เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องเหลือง เรื่องแดง เรื่องเอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ ไม่ได้แปลว่าไม่มีใครได้ กฎหมายออกมาขนาดไหนคนได้รับประโยชน์ตรงไหนก็ได้ไป สังคมก็ได้ คือ ความขัดแย้งเหล่านี้หายไป แต่เรื่องบางเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติ แล้วจะไปเอาข้อยุติ ก็มีโอกาสที่จะไปสร้างความขัดแย้งใหม่”ศาสตราจาร์ย์ วุฒิสารกล่าวทิ้งท้าย
ในวาระที่พรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจรัฐอีกครั้ง จึงเป็นโอกาสที่จะแก้มือและลบล้างอดีตกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งของกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กลับประชาชนทุกสีเสื้อ ขณะเดียวกันก็เป็นวิกฤตได้หากตัดสินใจผิดพลาด
ทั้งหมดคือ ‘พิมพ์เขียว’ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษ ส่วนจะเป็นบันไดสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้จริงหรือไม่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์