"...นอกจากเรื่อง ‘MOU44’ แล้ว ‘ค่ายสีแดง’ ยังต้องเผชิญชะตากรรมกรณี ‘สนามกอล์ฟอัลไพน์’ ที่ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพบว่า ‘นายกฯอิ๊งค์’ เคยถือหุ้นในบริษัทสนามกอล์ฟดังกล่าว ซึ่งพื้นที่สนามกอล์ฟอัลไพน์ เคยถูกศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแล้วว่าเป็น ‘พื้นที่ธรณีสงฆ์’ และมีคำพิพากษาจำคุก ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์’ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีต รมว.มหาดไทย อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในกรณีข้างต้นมาแล้ว..."
พ้นบ่วง 6 คำร้องแสนสาหัสในศาลรัฐธรรมนูญลงได้ แต่ทว่าฉากชีวิตของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ศาสดา ‘ค่ายสีแดง’ นับจากนี้ต่อไป ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
เพราะหากนับคดีความที่คั่งค้างส่วนตัว มีอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่
1.กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอาญา โดยศาลนัดสืบพยาน 1 ก.ค. 2568
2.กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 ลงวันที่ 30 ก.ค. 2567 ประเด็นตรวจสอบการเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า ‘ทักษิณ’ เมื่อครั้งได้รับโทษตามคำพิพากษาจำคุก 1 ปีใน 3 คดีทุจริต ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ส่อเอื้อประโยชน์ให้ ‘ทักษิณ’ ได้นอนพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 ปัจจุบันเรื่องนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายหลังเขาพ้นโทษออกมาโลดแล่นก่อร่างสร้าง ‘อาณาจักรชินวัตร’ ภาค 2 อยู่ ณ เวลานี้ ขุมกำลังของ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ แข็งแกร่งขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้บรรดา ‘นักร้อง-ฝ่ายแค้น’ ขยับตัวลำบาก ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เจาะหาช่องโหว่เพื่อโจมตีค่อนข้างยาก
นอกจากนี้ พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง 5 ประเด็น และมีมติเสียงข้างมาก 7-2 เสียงยกคำร้องอีก 1 ประเด็น กรณีกล่าวหาว่า ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างการปกครอง ยิ่งทำให้ ‘ทักษิณ’ กลายเป็น ‘พยัคฆ์ติดปีก’ เดินเหินไปไหนได้อย่างอิสรเสรี เพราะคดีที่เป็นชนักปักหลังเขาอยู่ ยังอีกนานกว่าจะมีการพิจารณา หรือตัดสิน
สอดคล้องกับแผนการของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่หวังให้ ‘ทักษิณ’ มาเป็น ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ โดยเทียบเคียงกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ถูกแบนทางการเมือง 10 ปี ก็สามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับ ‘พรรคประชาชน’ (ปชน.) ค่ายสีส้มลำดับที่ 3 ในเวลานี้ได้เช่นกัน
ว่ากันว่าหลังจากนี้ ‘ค่ายสีแดง’ เตรียมพา ‘ทักษิณ’ ทัวร์เหนือล่องอีสาน ปลุกกระแส ‘แฟนคลับชินวัตร-คนเสื้อแดง’ ที่เสื่อมความนิยมลงไป หลังการมาถึงของ ‘ค่ายสีส้ม’ ให้กลับมาศรัทธาในบารมี ‘ตระกูลชินวัตร’ อีกครั้ง ด้วยนโยบาย ‘ประชานิยม’ ภาคใหม่ โดยมี ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกฯคนที่ 31 ‘ลูกสาว’ เป็นตัวชูโรง
ทักษิณ ชินวัตร
ชนกับ ‘ค่ายสีส้ม’ ที่กำลังเหิมด้วย ‘กระแส’ ของ ‘คนรุ่นใหม่-วัยทำงาน’ แม้ว่าจะถูกยุบพรรคไปแล้วถึง 2 รอบก็ ‘ฆ่าไม่ตาย’ หวนกลับคืนบัลลังก์ได้ทุกครั้ง ที่สำคัญในการเลือกตั้งปี 2566 สร้างประวัติศาสตร์ได้จำนวน สส.ถึง 151 เสียง (จำนวน สส.พรรคก้าวไกล ขณะนั้น) มากที่สุดในสภาฯจากการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ยัดเยียดความปราชัยให้ ‘ค่ายสีแดง’ ในการเลือกตั้ง สส.เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544
‘ค่ายสีแดง’ จึงขึ้นแบล็คลิสต์ ‘ค่ายสีส้ม’ เป็น ‘ศัตรูทางการเมือง’ หมายเลข 1 เหนือกว่า ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ที่ตอนนี้กำลังเสื่อมความนิยมจากหลายปัจจัย ทั้งช่วงวัย ทั้งบริบทที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน เป็นต้น
ทว่าตอนนี้กระแส ‘ม็อบรักชาติ’ จาก ‘ฝ่ายขวา’ กำลังถูกปลุกเร้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นำโดย ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ หน้าเก่าเจ้าเดิม ที่เคยปลุกมวลชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ ขึ้นมาโค่นอำนาจ ‘รัฐบาลทักษิณ 2’ สำเร็จมาแล้ว จนเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และโค่นรัฐบาล ‘สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ในปี 2551
คราวนี้หยิบจับประเด็นข้อพิพาทตาม ‘MOU44’ หรือชื่อเต็มว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อสมัยรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดย ‘สุรเกียรติ์ เสถียรไทย’ รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามกับ ‘ซก อัน’ รมต.อาวุโส และประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา เมื่อ 18 มิ.ย. 2544
ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวถูกนำมาโหมโรงวิพากษ์วิจารณ์ ‘รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง’ อีกครั้ง มีการหยิบยกเรื่องไทยจะเสียดินแดน ‘เกาะกูด’ เปรียบเทียบกับกรณีเสีย ‘เขาพระวิหาร’ ให้กับกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลก ณ กรุงเฮก เมื่อปี 2554 ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ
เพราะหากพิจารณาใน 6 คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกล่าวหา ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างการปกครองนั้น จำนวน 5 คำร้อง ศาลมีมติเอกฉันท์ว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ยกคำร้อง ทั้งที่ใน 5 คำร้องดังกล่าวเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เช่น การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ใน ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ หรือแม้แต่ประเด็น ‘นักโทษเทวดา’ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ
มีเพียงประเด็นเดียวที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ‘เสียงแตก’ นั่นคือ กรณีผู้ถูกร้องที่ 1 (ทักษิณ) สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทย ให้แก่ ประเทศกัมพูชา
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 เสียง มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 เสียง เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
เรื่องนี้ร้อนถึง ‘เต้น’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของนายกฯใน ‘บ้านพิษณุโลก’ ทำหน้าที่ ‘สแกนม็อบ-ประเมินสถานการณ์การเมือง’ ถึงกับมองว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวบางอย่างจาก ‘ฝ่ายขวาสุด’ จับวาระ ‘ชาตินิยม-ปกป้องดินแดน’ เพราะรู้ว่าเรื่องนี้กระทบหัวใจทั้งประชาชนทั่วไป และคนที่มีสถานะเข้มแข็งในสังคม
ณัฐวุฒิ ระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย รัฐบาลเจอกับพลังขวาสุดด้วยข้อกล่าวหาเรื่องค่านิยมหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น ปฏิญญาฟินแลนด์ ทำบุญวัดพระแก้ว เขาพระวิหาร ผังล้มเจ้า ฯลฯ จนเกิดความเคลื่อนไหวมวลชน เปิดทางให้อำนาจนอกระบบ นี่เป็นข้อยืนยันว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังคงวนรอบเรื่องเดิม ๆ
แม้ว่าบรรดา ‘บิ๊กเนมเพื่อไทย-ค่ายแดง’ จะพยายามประเมินสถานการณ์ ณ ตอนนี้ว่า ยังไม่ถึงจุด ‘สุกงอม’ ที่จะ ‘ปลุกม็อบ’ ขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาลแบบเดิม ๆ เหมือนยุค ‘กลุ่มพันธมิตร-นปช.-กปปส.’ ก็ตาม แต่จะประมาทเรื่องนี้ไม่ได้เช่นกัน จึงมีการ ‘มอนิเตอร์’ สถานการณ์อย่างใกล้ชิด คอยรายงานเบื้องบนให้รับทราบข้อมูล
นอกจากเรื่อง ‘MOU44’ แล้ว ‘ค่ายสีแดง’ ยังต้องเผชิญชะตากรรมกรณี ‘สนามกอล์ฟอัลไพน์’ ที่ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพบว่า ‘นายกฯอิ๊งค์’ เคยถือหุ้นในบริษัทสนามกอล์ฟดังกล่าว ซึ่งพื้นที่สนามกอล์ฟอัลไพน์ เคยถูกศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแล้วว่าเป็น ‘พื้นที่ธรณีสงฆ์’ และมีคำพิพากษาจำคุก ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์’ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีต รมว.มหาดไทย อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในกรณีข้างต้นมาแล้ว
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะเรื่อง ‘อัลไพน์’ พยานหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การคุมของ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ‘เนวิน ชิดชอบ’ เป็นครูใหญ่ของพรรค
อย่างไรก็ดี ‘ค่ายสีแดง’ ก็มีข้อได้เปรียบใน ‘กระทรวงคมนาคม’ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ แห่งพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างดำเนินการข้อพิพาทของกรมที่ดิน (สังกัด มท.) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. สังกัดคมนาคม) ประเด็น ‘ที่ดินเขากระโดง’ กว่า 5 พันไร่ ในจำนวนนี้มีกว่า 200 ไร่เป็นเอกสารสิทธิของคนในตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทั้งในชื่อบุคคล และนิติบุคคล
เมื่อทั้ง ‘ค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน’ ต่างกุมความได้เปรียบของอีกฝ่ายเอาไว้ จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า จะเกิดแรงต่อรองทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นหรือไม่
ทั้งหมดคือชนักปักหลัง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ที่อาจทำให้ยังไม่สามารถเดินเหินได้สะดวกมากนัก แม้จะพ้นโทษออกมาอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม
สุดท้ายจะแก้ไขสถานการณ์เบื้องหน้าเหล่านี้อย่างไร คงต้องติดตามกัน