“…เรื่องของการเป็นพยานอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าสามารถเอาคนตัวใหญ่มาลงโทษได้ คนตัวเล็ก ๆ ก็จะเกรงกลัวหรือคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการคดโกงด้วยก็จะมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่…”
‘การกันตัวไว้เป็นพยาน’ หลายคนอาจคุ้นเคยเวลาที่อ่านข่าวเกี่ยวกับการทุจริต แต่คำที่ใช้อย่างเป็นทางการ คือ ‘การกันบุคคลไว้เป็นพยาน’ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสืบหาหลักฐานในคดีทุจริตต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561 มีใจความสำคัญ คือ บุคคลใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูล การกระทำผิดของเจ้าพนักงานของรัฐรายอื่น หรือผู้ถูกกล่าวหารายอื่นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกันผู้นั้นไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดีก็ได้
นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อธิบายรายละเอียดของมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยาน ดังนี้
นายจักรกฤช ตันเลิศ
@ ความแตกต่าง ‘กันพยาน’ และ ‘คุ้มครองพยาน’
นายจักรกฤช กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับพยานบุคคล ป.ป.ช. จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. เรื่องกันบุคคลไว้เป็นพยาน 2. เรื่องคุ้มครองพยาน ซึ่งทั้งสองส่วนมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายของป.ป.ช. เรื่องกันบุคคลไว้เป็นพยาน คือ เรื่องที่มีบุคคลคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แล้วมาให้การเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการไต่สวน ทาง ป.ป.ช.ก็จะไม่ดำเนินคดีกับบุคคลคนนี้ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ‘กันพยาน’ สิ่งที่เขาได้ก็คือ ถ้าคณะกรรมการปปช.มีมติว่าให้กันบุคคลนี้เป็นพยาน เขาจะไม่ถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย
นอกจากนี้จะมีพยานอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกกันเป็นพยาน โดยพยานกลุ่มนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่เป็นประจักษ์พยาน ก็คือเป็นพยานที่ไปให้การกับพนักงานไต่สวน แต่เมื่อพยานกลุ่มนี้ให้การ แล้วไม่ได้รับความปลอดภัย ก็จะอยู่ภายใต้มาตรการคุ้มครองพยาน เช่น การย้ายบ้าน การส่งคนไปดูแลความปลอดภัย การย้ายที่ทำงาน เป็นต้น
“สองอันจะต่างกัน อันแรกการกันพยานคือกันบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยที่เราไม่ดำเนินคดี เรื่องคุ้มครองพยานเป็นเรื่องที่คุ้มครองบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานหรือคนที่ให้เบาะแสกับเราแล้วเขาไม่รับความปลอดภัยในชีวิต หน้าที่การงาน อันนี้เราคุ้มครองเขา” นายจักรกฤช กล่าว
@ ไม่มีสถิติ ‘กันพยาน’ เพราะทำได้ทุกคดี
นายจักรกฤช กล่าวว่า ในเรื่องการกันพยาน ป.ป.ช.ทำได้ทุกคดี แต่มีเงื่อนไขว่าในการทำความผิดที่สามารถกันบุคคลไว้เป็นพยานได้ ความผิดนั้นเป็นลักษณะต้องทำแบบเป็นตัวการ คือ มีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คนขึ้นไป เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดสอบคัดเลือก เป็นต้น เหล่านี้จะมีกระบวนการที่มีคนมีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ เช่น เรื่องการทุจริตการสอบบรรจุครู บรรจุข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ เป็นต้น คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่กระทำความผิด เขาจะรู้ข้อมูลแล้วเขาก็จะมาให้การกับป.ป.ช.ว่า จริง ๆ ตัวเขาเองถูกบังคับ หรือเขาถูกอะไรก็ตามที่ไม่ได้เต็มใจทำ อันนี้คือลักษณะกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เราถึงจะใช้มาตรการกันพยานได้
“ทุกคดีที่เราทำเกี่ยวกับการกันพยานที่เล่าไป ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นคดีไหน เพราะสามารถกันพยานได้หมด ถ้าเกิดว่าผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่อยู่ที่พฤติการณ์ว่าให้การเป็นประโยชน์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้เก็บสถิติไว้ว่าตั้งแต่มีกฎหมายมา เรากันพยานในคดีไหนบ้าง เท่าไหร่แล้ว”
@ ไม่ใช้งบประมาณในการ ‘กันพยาน’
นายจักรกฤช กล่าวว่า ส่วนงบประมาณที่ใช้ในมาตรการกันตัวพยานนั้น ไม่มีและไม่ใช้เลย เนื่องจากการกันพยานไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย แต่ถ้าคุ้มครองพยานต้องใช้งบประมาณ เนื่องจากป.ป.ช.จัดส่งคนไปปฏิบัติหน้าที่ เช่น พยานจะไปขึ้นศาล ป.ป.ช.ต้องเอารถไปรับพาไปขึ้นศาล หรือถ้าพยานไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ต้องมีเงินให้เขาดำรงชีพเป็นรายวัน รายเดือน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะมีระเบียบอยู่
“ปกติแล้วป.ป.ช.ก็มีไม่เยอะ แค่ประมาณ 10 ราย ที่ใช้มาตรการคุ้มครองพยาน แต่ถ้ากันพยานจะเยอะมาก เพราะคดีจัดซื้อจัดจ้าง ใครมาให้การแล้วเป็นโยชน์ก็มีส่วนช่วยในการสืบสวน เพราะถ้าไม่ได้พยานในการให้ถ้อยคำเหล่านี้ เราก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ต่อ เราต้องกันเขาไว้”
นายจักรกฤช กล่าวว่า ส่วนการคุ้มครองพยาน ป.ป.ช. ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ใครอยู่ภายใต้มาตรการคุ้มครองพยาน เพราะเป็นความปลอดภัยของพยาน เวลา ป.ป.ช. คุ้มครองพยานก็จะส่งคนไปดูแลรักษาความปลอดภัย มีมาตรการหลายอย่าง และจะเลิกคุ้มครองพยานเมื่อเหตุยุติ ‘เหตุ’ หมายถึง เหตุที่ทำให้พยานไม่ปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน ยุติ ทางป.ป.ช.จะมีการประเมิน ทุก 6 เดือน ทุก 1 ปี หรือบางทีพยานก็ทำหนังสือร้องขอมา ว่าไม่ได้รับความสะดวก เพราะเวลาจะไปไหนมาไหน ต้องแจ้งป.ป.ช.
@ ปัญหาที่พบ: พยานกลับคำให้การทำให้ศาลยกฟ้อง
นายจักรกฤช กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการกันพยาน คือ เดิมที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) ใช้บังคับ ระบุว่าเมื่อกันบุคคลไว้เป็นพยานแล้ว พยานที่เรากันไว้ต้องไปเบิกความที่ศาล เงื่อนไขหนึ่งที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลไว้เป็นพยาน คือ 1.คุณต้องให้การที่เป็นประโยชน์และสามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้ 2.ถ้าไม่มีถ้อยคำของคุณแล้วจะไม่สามารถดำเนินการทางคดีได้ 3.คุณจะต้องไปให้การกับศาลเช่นที่ให้การกับ ป.ป.ช. ซึ่งปัญหาอุปสรรคแรก คือ กว่าจะขึ้นศาลก็ใช้เวลานาน พยานอาจกลับคำให้การในชั้นศาลได้
“กฎหมายเขียนว่า การกันพยานสิ้นสุดลงเมื่อเสียหายต่อคดี ก็คือว่าอย่างที่เรียนไปแล้วว่า ถ้าเขาไม่ให้การ จะดำเนินการกับตัวการใหญ่ไม่ได้ ถ้าเขาเข้าไปกลับคำให้การในชั้นศาล โอกาสที่ศาลจะยกฟ้องมันมี อันนี้อุปสรรคแรก”
@ ปัญหาที่พบ: พยานไม่ให้ความร่วมมือ-ถูกดำเนินคดีทางแพ่ง
นายจักรกฤช กล่าวว่า อุปสรรคที่สอง คือ เวลากันเป็นพยาน ก่อนพ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับปัจจุบันใช้บังคับ ป.ป.ช.กันพยานเฉพาะคดีอาญา แต่เวลาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลจะชี้มูลทั้งอาญาและวินัยไปด้วย ถ้าเรากันพยานเฉพาะอาญา พอส่งคดีด้านวินัยไปที่ต้นสังกัด เขาก็ถูกไล่ออก เพราะเขาเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย ปัญหานี้เมื่อเขาถูกไล่ออกด้วย เราก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากพยานที่เรากัน เพราะฉะนั้นปัญหานี้ก็ถูกแก้ไขด้วยพ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับปัจจุบัน ก็คือให้กันพยานทั้งวินัยและอาญาด้วย เพราะฉะนั้นผู้ร่วมกระทำความผิดกับตัวการใหญ่ แล้วให้การกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประโยชน์ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าให้กันเขาแล้ว ทางอาญาก็ไม่ถูกฟ้อง ทางวินัยก็ถูกคุ้มครอง คือ ไม่ถูกดำเนินการทางวินัย
“แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคต่อมา คือ ทางแพ่ง ที่เรายังไม่คุ้มครอง เพราะฉะนั้นถ้าเขาไปร่วมกันทำความผิดกับตัวการใหญ่ แล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น เขายังต้องรับผิดทางแพ่งอยู่ ปัญหาหลัก ๆ ก็มีอยู่ประมาณนี้ ก็คือไม่ได้รับความร่วมมือเวลาที่ให้การไปแล้ว แล้วไปกลับคำบนชั้นศาล แล้วก็ก่อนหน้านี้ที่ไม่รับความร่วมมือเพราะว่าถูกดำเนินคดีทางวินัยด้วย ตอนนี้เราแก้ประเด็นที่สองแล้ว ส่วนประเด็นที่หนึ่งเป็นเรื่องตัวของเขาแล้ว ว่าเขาจะสำนึกหรือไม่ ที่จะไปให้การด้วยความจริงที่เคยให้การไว้คณะกรรมการ ป.ป.ช.”
“มาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยาน ผู้ที่อยู่ภายใต้มาตรการนี้จะไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล กล่าวง่าย ๆ คือ รอดคดี เทียบได้กับการถูกหวยสองเด้ง รอดทั้งคดีอาญาและวินัย นอกจากนี้มาตรการการกันบุคคลไว้เป็นพยาน ในตอนนี้มีเพียงกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่มีการรับรองว่ากันบุคคลไว้เป็นพยาน” นายจักรกฤช กล่าวทิ้งท้าย
@ ‘คดีจำนำข้าว’ ภาค 1-2 ตัวอย่างที่ใช้มาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยาน
สำนักข่าวอิศราสืบค้นข้อมูลพบคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการใช้มาตรการกันตัวบุคคลไว้เป็นพยาน ได้แก่ คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือคดีจำนำข้าว ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแบ่งเป็นสองช่วงสัญญาคือปี 2555-2556 และปี 2556 โดยสัญญาแรกนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กับพวกที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และบริษัทค้าข้าวรวม 30 ราย โดย ทาง ป.ป.ช. ได้กันบริษัทเอกชนบางส่วนไว้เป็นพยาน ได้แก่ 1.บริษัท ข้าวไชยพร จำกัด 2.บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด 3.บริษัท แคปปิตอลซีเรียลส์ จำกัด 4.บริษัท เอเชียโกลเด้น ไรซ์ จำกัด (อ่านประกอบ: เปิดชื่อ 4 บ.ค้าข้าว ป.ป.ช.กันไว้เป็นพยานคดีจีทูจีเก๊-คู่ค้ารัฐ 5.5 พันล.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ อดีตข้าราชการระดับสูงในกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง และเอกชนผู้ค้าข้าวอื่นรวม 28 ราย เป็นจำเลย
ศาลฎีกาฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิด พิพากษาลงโทษจำคุก เช่น นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 42 ปี นายมนัส สร้อยพลอย 40 ปี นายฑิฆัมพร นาทวรทัต 32 ปี นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ 24 ปี มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 151 และผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 12 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1
ส่วนกลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และเครือข่าย เช่น นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร 48 ปี นายสมคิด เอื้อนสุภา 16 ปี นายรัฐนิธ โสจิระกุล 19 ปี มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 151 ผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัท สยามอินดิก้าฯ นายอภิชาติ และ นายนิมล รักดี (โจ) ให้รวมกันชดใช้เงินจำนวน 1.69 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ: ไม่ให้ประกันหวั่นหนี!คุก'บุญทรง'42ปี 'ภูมิ'36ปี'เสี่ยเปี๋ยง'48ปีคดีจีทูจี-ชดใช้1.6หมื่นล.)
ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 มีมติชี้ความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีนักการเมืองคนสำคัญ อาทิ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สส. และผู้ถูกกล่าวหารายอื่น จำนวนมากถึง 71 ราย
โดยนายบุญทรง เตยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ถูกกันไว้เป็นพยานในคดี พร้อมกับบริษัทเอกชนบางส่วน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ด้วย (อ่านประกอบ : กันตัว 'บุญทรง' เป็นพยาน! คอนเฟิร์มคดีข้าวจีทูจีภาค 2 เข้า ป.ป.ช.ชุดใหญ่ สิ้นพ.ย.65 นี้)
ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติทั้งชี้มูลความผิดและตีตกข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาบางราย ไม่ได้ถูกชี้มูลความผิดทั้งหมด
โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดในส่วนของภาครัฐ ได้แก่ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ เป็นตัวการหลัก ส่วนนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าไม่มีความผิดให้พ้น (ตีตก) ข้อกล่าวหา ส่วนผู้ถูกกล่าวหากลุ่มเอกชน มีทั้งถูกชี้มูลความผิดและตีตกข้อกล่าวหาเช่นกัน
สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ว่าไม่มีความผิดให้พ้นข้อกล่าวหา 1 เสียง คือ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เจ้าของสำนวน
โดยในส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหตุผลที่ตีตกข้อกล่าวหา เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำกับคดีระบายข้าวจีทูจีที่ถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว
ขณะที่ นายทักษิณและนางเยาวภา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคำให้การของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่มีการกันตัวไว้เป็นพยาน ให้การกล่าวพาดพิงถึงนายทักษิณ และ นางเยาวภา ไม่ได้เป็นประโยชน์ ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่ได้พาดพิงว่าใครทำผิดอะไร และเป็นพยานที่เคยถูกลงโทษแต่มากลับคำให้การภายหลัง
นอกจากนี้ การกันตัวนายบุญทรงเป็นพยาน อาจจะเป็นขัดระเบียบด้วย ป.ป.ช.จึงอาจจะต้องมีการทบทวน และพิจารณาว่าจะมีการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรงใหม่หรือไม่ด้วย (อ่านประกอบ : ชินวัตรรอด! ป.ป.ช.ตีตกคดีข้าวจีทูจีภาค2 'ทักษิณ-ปู-เยาวภา' จ่อทบทวนกัน 'บุญทรง' พยาน)
@ ตัวอย่างกรณีรอดคดีอาญาแต่ถูกฟ้องแพ่ง
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 หัวหน้าส่วนราชการ 5 หน่วยงาน ซึ่งได้รับความเสียหายจากคดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ร่วมกันลงนามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1345/2563 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการค้าข้าวที่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติกันไว้เป็นพยานในคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3,4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562
สำหรับคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3,4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 พิพากษาให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 28 ชำระค่าเสียหายส่วนแพ่งแก่ผู้ร้องทั้ง 5 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดี ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 องค์การคลังสินค้า ที่ 2 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ที่ 3 กระทรวงพาณิชย์ ที่ 4 และกระทรวงการคลัง ที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 และจากคำพิพากษาดังกล่าวได้ระบุข้อเท็จจริงว่า มีผู้ประกอบการค้าข้าวอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการซื้อและรับมอบข้าวในโครงการจำนำข้าวดังกล่าวด้วย แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรกันผู้นั้นไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดีร่วมกับจำเลยอื่นๆ นั้น
เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของทางราชการ ในการพิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการค้าข้าวซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติกันไว้เป็นพยาน ในคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3,4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 เป็นไปด้วยความถูกต้องเรียบร้อย ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน และเป็นไปตามความเห็นร่วมกันของผู้เสียหายทั้ง 5หน่วยงานดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะทำงาน มีหน้าที่ คือ พิจารณามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการค้าข้าวแต่ละรายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติกันไว้เป็นพยาน ในคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ. 3,4/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 2-3/2562 โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดีแพ่งเพื่อการเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการค้าข้าวแต่ละราย (อ่านประกอบ : ขยายผลฟ้องแพ่ง ‘พยาน’ คดีข้าวจีทูจี! 5 หน่วยงานเซ็นตั้ง ‘คณะทำงาน’ เรียกค่าเสียหายเพิ่ม)
นอกจากนี้นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงข้อดี-ข้อเสียของมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยานของ ป.ป.ช. ดังนี้
นายมานะ นิมิตรมงคล
@ ข้อดี: หาหลักฐานได้-นำตัวการใหญ่มาลงโทษได้
นายมานะ กล่าวว่า มาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยานแล้วไม่ต้องรับโทษ ถือว่าเป็นข้อดี และมีความจำเป็นมาก เพราะในเรื่องคอร์รัปชันหาพยานหลักฐานยาก คนโกงมักจะพยายามปกปิดร่องรอยและช่วยกันทำลายหลักฐานอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเอาผู้เกี่ยวข้องบางคนมาให้ข้อมูล เป็นพยานช่วยหาหลักฐานให้ก็จะช่วยเราให้ได้รับความกระจ่าง
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ หลักการของป.ป.ช. คือ การกำจัดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนโกง เขาจึงดึงภาคเอกชนหรือประชาชนที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานไว้ เพื่อที่จะไปจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต แก้ปัญหาคอร์รัปชันและสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชน
“เรื่องของการเป็นพยานอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าสามารถเอาคนตัวใหญ่มาลงโทษได้ คนตัวเล็ก ๆ ก็จะเกรงกลัวหรือคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการคดโกงด้วยก็จะมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่” นายมานะ กล่าว
@ ข้อเสีย: เกิดข้อครหาวิ่งเต้นหลุดคดี-เอกชนไม่ยำเกรงกฎหมาย
นายมานะ กล่าวว่า ข้อเสียของมาตรการกันตัวไว้เป็นพยาน ได้แก่ 1.ทำให้เกิดข้อครหาว่ามีการวิ่งเต้นเพื่อให้ช่วยเหลือ กันใครบางคนออกไปเป็นพยาน 2.การที่กันคนนอกออกไปเป็นพยานอย่างต่อเนื่องทำให้หลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีสถิติการดำเนินคดีกับภาคเอกชนน้อยเกินไป ทั้งที่การคอร์รัปชันเกือบทั้งหมดในภาครัฐต้องมีผู้ให้และผู้รับ ส่งผลให้ภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไปไม่เกิดความรู้สึกยำเกรงต่อกฎหมาย เพราะเห็นแต่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี
“ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ. การปราบปรามและป้องกันการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าใครให้ความร่วมมือทางคดีเป็นประโยชน์ ก็จะให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะออกคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหาหรือบางข้อหา เราจะเห็นว่าตามพ.ร.บ.นั้น ให้เป็นอำนาจของอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ อัยการสูงสุดเป็นคนใช้ดุลยพินิจตรงนี้แทน ซึ่งต่างกับ ป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจตรงนี้ด้วยตัวเอง อันนี้คือความแตกต่าง นอกจากนี้กฎหมายอาชญากรรมข้ามชาติและมาตรการกันบุคคลเป็นพยาน จะทำให้คนโกงเกิดความระแวงว่าจะไม่สามารถปิดบังเรื่องได้ ดังนั้นถ้าหากเรากระตุ้นมาตรการทำนองนี้มาก ๆ จะทำให้เราสามารถจับคนโกง จับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตได้มากยิ่งขึ้น” นายมานะ กล่าว
@ ข้อเสนอแนะต่อมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยาน
นายมานะ กล่าวว่า ป.ป.ช. จะต้องสร้างความชัดเจนว่า จะใช้มาตรการนี้ในคดีประเภทใด ต้องพิจารณาความรุนแรงของคดี และเจตนารมณ์ของบุคคลที่กระทำผิด แล้วจึงจะกันตัวออกมาเป็นพยาน เช่น เจตนารมณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยตัวเอง อันนี้เป็นเจตนารมณ์ที่รุนแรง ก็ไม่ควรกันเขาออกมา แต่ถ้าให้เป็นการให้เพราะถูกกลั่นแกล้งหรือที่สภาพแวดล้อมบังคับไป อันนี้ก็ควรพิจารณาให้กันตัวมาเป็นพยานได้ และการสร้างความชัดเจนในดุลยพินิจ จะทำให้เรื่องข้อครหาในการวิ่งเต้นลดน้อยลงหรือหมดไปได้