"...ความเป็นไปได้อีกทางคือ การยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีจำนำข้าวมาต่อสู้อีกครั้ง โดยอ้างอิงพยานหลักฐานใหม่ คาดกันว่าจะยกข้อต่อสู้ ‘มิได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่’ เพราะเคยลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรในระหว่างเป็นนายกฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าว และโครงการจำนำข้าว มาแล้ว..."
เป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีและเรื่องอื้อฉาว แลนดิ้งกลับไทย หลังหลบหนีคำพิพากษาคดีทุจริตไปอยู่ต่างประเทศนานกว่า 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2551
ปัจจุบันเขาได้รับโทษตามคำพิพากษาจำคุก 1 ปี ใน 3 คดีทุจริต และพ้นโทษออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาที่เขาได้รับคำพิพากษาให้จำคุกคดีทุจริตนั้น เขาถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ และส่งต่อให้ รพ.ตำรวจ เพื่อรักษาสารพัดโรครุมเร้า ท่ามกลางเสียงครหาจากหลายฝ่ายว่า เขาไม่เคยได้เข้าคุกแม้แต่วินาทีเดียว จนถูกร้องเรียนหลายหน่วยงานว่า เขายังคงทรงอิทธิพล และบารมีทางการเมือง แม้ว่าจะพักรักษาตัวอยู่บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ก็ตาม จนถูกขนานนามว่า ‘นักโทษเทวดา’
@ ทักษิณ ชินวัตร
ปัจจุบันเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้สรุปผล และส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ถูกกล่าวหาว่า ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘ทักษิณ’ ได้พักรักษาตัวบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ แล้ว
แม้เขาจะประกาศกร้าวตั้งแต่ก่อนกลับไทยว่า สาเหตุที่เดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิดครั้งนี้เพื่อ “เลี้ยงหลาน” และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการเฟ้นหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งไป บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เดินทางไปที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ อันเป็นฐานที่มั่นของ ‘ทักษิณ’ และตระกูล ‘ชินวัตร’ คล้อยหลังมา 1 วัน มติคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) เคาะชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ส่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 จากการโหวตของสภาฯ
ถือเป็นการประสบความสำเร็จอีกครั้งของ ‘ทักษิณ’ ที่ส่ง ‘ลูกสาว’ นั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ หลังจากเคยส่ง ‘น้องเขย’ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (สามี เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว) เป็นนายกฯปี 2551 และ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ น้องสาวคนเล็ก ขึ้นเป็นนายกฯได้เมื่อปี 2554
@ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ประเด็นที่น่าสนใจ หลังจากเขาสามารถผ่านพ้น ‘กระบวนการยุติธรรม’ พ้นโทษอย่างเป็นทางการ ออกเป็น ‘พลเมือง’ 100% เมื่อราว 3 เดือนก่อน ทว่า ‘ยิ่งลักษณ์’ อดีตนายกฯ น้องสาว ยังคงเผชิญชะตากรรม ‘หลบหนี’ คดีถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ศาลฎีกาฯพิพากษาโทษจำคุก 5 ปี อยู่ต่างประเทศ
ว่ากันว่าก่อนหน้านี้ มีความพยายามผลักดัน ‘ทางลับ’ เพื่อหาช่องกฎหมาย ช่วยเหลือ ‘ยิ่งลักษณ์’ ให้ได้กลับเข้าไทย แบบเดียวกับ ‘พี่ชาย’ แต่หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง บรรดามวลชน-พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ส่งสัญญาณเตรียมลุกฮือ หากเกิดปรากฎการณ์ ‘นักโทษเทวดา’ ภาค 2 ขึ้นมาอีก
ทำให้แผนนี้ต้องถูกพับเก็บไว้ก่อน กระทั่ง ‘ทักษิณ’ พ้นโทษออกมาอย่างเป็นทางการ ล่าสุด มีความพยายามปัดฝุ่นรื้อฟื้นแผนการนี้กลับมาอีกครั้ง?
โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมานิตยสาร Nikkei Asia เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ครั้งแรก ภายหลังพ้นโทษ โดยเขาหล่นคำตอบบางห้วงบางตอนถึง ‘ยิ่งลักษณ์’ ว่า พยายามจะทำให้แน่ใจว่า ‘เธอ’ จะได้กลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า (พ.ศ. 2568) และไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร ที่จะขัดขวางไม่ให้เธอได้กลับบ้าน อย่างไรก็ตามคิดว่าเธออาจได้กลับบ้านก่อนหน้านั้นเล็กน้อย อยู่ที่จังหวะและโอกาสที่เหมาะสม
คำตอบของ ‘ทักษิณ’ ดังกล่าว สะท้อนว่า แผนการพา ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้าน ที่เคยถูกพับเก็บไว้ก่อนหน้านี้ เริ่มถูกหยิบมาดำเนินการอีกครั้ง เพราะช่วงเวลาหลังจากนี้ค่อนข้าง ‘พอเหมาะพอเจาะ’ นั่นคือ ‘ทักษิณ’ พ้นโทษทัณฑ์สารพัดคดีหมดแล้ว เหลือแค่กรณีถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็น ‘ชนักปักหลัง’ แค่เรื่องเดียว ซึ่งจะมีการไต่สวนในช่วงกลางปี 2568
ขณะที่สารพัดคดีปักหลัง ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นจำเลยต่างก็ถูกตีตก หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีกล่าวหาว่า ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมกรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท หรือแม้แต่คดีโยกย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ พ้นเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบเมื่อปี 2566 ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเช่นกัน
เช่นเดียวกับคดีค้างในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่น คดีถูกกล่าวหาว่าทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป หรือคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ ‘จีทูจี’ ชื่อของเธอก็ถูกตีตกข้อกล่าวหาไปหมดแล้วเช่นกัน
ทำให้ปัจจุบันเธอเหลือเพียง 1 คดีเท่านั้นที่ต้องกลับมาเผชิญ นั่นคือ กรณีศาลฎีกาฯพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ว่ากันว่า คดีดังกล่าว ‘แกนนำค่ายแดง-นายใหญ่’ มองความเป็นไปได้อยู่ 2 กรณี เพื่อทำให้ ‘น้องสาว’ รอดพ้นบ่วงกรรม หรือ ‘ผ่อนหนักเป็นเบา’ เพราะต้องเข้าใจว่า ‘เธอ’ ไม่สามารถอาศัยช่องทางแบบเดียวกับ ‘พี่ชาย’ ได้ เนื่องจากการถูกจับตามองจากหลายฝ่าย และหากใช้วิธีการเดิม อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญสู่การล่มสลายของ ‘อาณาจักรชินวัตร’ ภาค 2 ได้
ความเป็นไปได้แรก ‘ยิ่งลักษณ์’ อาจใช้ช่องทางตามกฎหมายคือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘ขังนอกคุก’ อย่างไรก็ดีการใช้ช่องทางนี้ อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึง ‘2 มาตรฐาน’ และส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมิต้องสงสัย
ดังนั้นความเป็นไปได้อีกทางคือ การยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีจำนำข้าวมาต่อสู้อีกครั้ง โดยอ้างอิงพยานหลักฐานใหม่ คาดกันว่าจะยกข้อต่อสู้ ‘มิได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่’ เพราะเคยลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรในระหว่างเป็นนายกฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าว และโครงการจำนำข้าว มาแล้ว
ที่น่าสนใจขณะนี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ กุมบังเหียนในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญที่ดูแลเรื่อง ‘จำนำข้าว’ นำโดย ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ ที่ผ่านมาเขาคือตัวตั้งตัวตีในการรื้อฟื้นกรณี ‘ข้าว 10 ปี’ ตั้งแต่สมัยยุค ‘จำนำข้าว’ นำออกมาจำหน่ายใหม่ ในหลายโกดัง โดยเจ้าตัวเดินสาย ‘รับประทาน’ ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการ ‘การันตี’ ว่า ข้าวในโครงการรับจำนำ ‘ไม่ได้เน่า’ ตามข้อครหา
นอกจากนี้ว่ากันว่า พยานคนสำคัญในคดีจำนำข้าว นั่นคือ ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่กุมหลักฐานชิ้นสำคัญเอาไว้ และว่ากันว่าถึงขั้น ‘ขู่’ ไม่ยอม ‘ตายเดี่ยว’ เตรียมเปิดโปงมาก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็เงียบหายไป เห็นได้จากคดีระบายข้าวจีทูจีภาค 2 ชื่อของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เจ๊แดง’ ถูกตีตกไปทั้งหมด
ปัจจุบันลูกชายของเขาไปสังกัดพรรคประชาชน (ปชน.) และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.เชียงใหม่ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่คนอย่าง ‘บุญทรง’ รู้ดีว่า ‘ตัวแปรทางการเมือง’ ณ ขณะนี้ยังไม่ใช่พรรค ปชน. แต่คือ ‘ค่ายสีแดง’ ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ ‘นายเก่า’ ของเขาได้กลับเข้าประเทศ และเดินเหินไปมาได้อย่างอิสรเสรีอีกครั้ง ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของ ‘บุญทรง’ ทั้งสิ้น
ดังนั้นหลังจากนี้น่าจะมีส่งสัญญาณอะไรบางอย่างจาก ‘ลาดยาว’ ถึง ‘จันทร์ส่องหล้า’ หรือไม่ เพื่อ ‘เคลียร์ใจ’ หาข้อตกลงอันพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ให้ต่างฝ่ายต่างได้ไปต่อ
ในปี 2568 จึงเป็นอีกปีที่สถานการณ์การเมือง น่าจะร้อนแรงขึ้นไปอีก นอกเหนือจากการประกาศศึกชิงเก้าอี้การเมืองท้องถิ่น ระหว่าง ‘ค่ายแดง’ vs ‘ค่ายส้ม’ แล้ว ยังมีประเด็นพา ‘นายหญิง’ กลับบ้านอีกเรื่อง สุดท้ายเรื่องเหล่านี้ความเป็นไปได้จะออกหน้าไหน ต้องติดตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ กระบวนการยุติธรรมของไทย ยังคงถูกท้าทายจาก ‘ฝ่ายการเมือง’ มาหลายปี ดูท่าคงจะไม่น่าได้ปฏิรูปเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน