“…ต้องพลิกตรงนี้ให้ได้ ขั้นตอนแรกก็คือ หนึ่ง จัดหนี้ ลดหนี้ลงไปเพื่อให้หนี้บริหารได้ สองเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่าย เพื่อให้เงินสะพัดทั่วทั้งประเทศ…”
รัฐบาลนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดิน มาแล้วกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 แจกเงิน 10,000 บาท ล็อตแรก ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-คนพิการ 14 ล้านคน
ทว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยก็ยังไม่กลับมาคึกคักจนเต็มกำลัง จนต้องงัดมาตรการเศรษฐกิจชุดใหญ่-อัดฉีดยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับมาพองโต จนกลายเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลพรรรคเพื่อไทยคาดหวัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 โดยในเบื้องต้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะขอความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
@ ก.คลัง ขนแพคเกจสินเชื่อซอฟต์โลน-ลดค่าครองชีพ
กระทรวงการคลัง จะนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ภาคอสังหาริมทรัพย์ แบ่งออกเป็น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (ภายในเดือนธันวาคม 2567- ปี 2568) อาทิ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงแรม สินเชื่อเพื่อซื้อ-สร้าง หรือ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก
มาตรการระยะยาว (ภายในปี 2568) อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยด้วยการปล่อยเช่าที่ดินของภาครัฐในระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย
มาตรการกระตุ้นเศษรฐกิจ ภาคการบริโภคภาคเอกชน แบ่งออกเป็น มาตรการระยะสั้น (ภายในปี 2568) อาทิ โครงการจ่ายเงินอุดหนุนค่าครองชีพ โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โครงการ soft loan ari score sand box และโครงการสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)
@ สุริยะ ลุย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ขณะที่กระทรวงคมนาคม ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นหัวเรือใหญ่ เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (ภายในกันยายน 2568) อาทิ มาตรการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
มาตรการระยะยาว (ภายในปี 2572) อาทิ มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งของเขตเศรษฐกิจสำคัญในประเทศ ครอบคลุมถึงโครงการแลนด์บริดจ์
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงดีอีเอส โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น อาทิ โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาภาระด้านหนี้สินให้เกษตรและมีต้นทุนการผลิตในรอบการผลิตต่อไป โดยโครงการจะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม 2568 และ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรในปี 2568
สำหรับมาตรการระยะยาว ที่จะเกิดขึ้น ภายในปี 2568 อาทิ มาตรการจัดโซนนิ่ง มาตรการยกระดับการทำเกษตรให้สมัยใหม่ ผ่านเทคโนโลยีด้านเกษตร (Agri-Tech) มาใช้ในการพัฒนาอาชีพ ด้านการเกษตร ประมงและปศุสัตว์
@ จัดของขวัญปีใหม่กระตุ้นท่องเที่ยว
ฟากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มี นายสุรวงศ์ เทียนทอง เป็นเจ้ากระทรวง เตรียมจัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ที่จะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2568 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนมาตรการระยะยาวในปี 2568 อาทิ มาตรการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations)
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกโครงการขวัญปีใหม่ 2568 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการภายในต้นปี 2568 ส่วนมาตรการระยะยาวภายในปี 2568 กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทยจะออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอวีซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ให้ประเทศไทยเป็นช่วงไฮซีซั่นตลอดทั้งปี 2568
ขยับมาที่กระทรวงพลังงาน จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเป็นมาตรการระยะยาวภายในปี 2568 เพื่อวางรากฐานทางพลังงานเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติที่หนีจากภัยสงครามการค้า อาทิ มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยพลังงานสะอาดที่ต้นทุนต่ำ
ขณะเดียวกันสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี จะมีมาตรการเร่งรัดและการเพิ่มการลงทุนผ่านบีโอไอและอีอีซี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อม ๆ กันด้วย
@ ลุ้นแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ในนามพรรคเพื่อไทย ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการแจกเงินหมื่นบาท เฟสสอง ว่า ใครได้เงินหมื่นไปแล้วบ้าง ใครยังไม่ได้อยากได้หรือไม่
“มาแน่ มาช้าดีกว่าไม่มาใช้ไหม เป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย พูดอะไรต้องทำ แต่วันนี้มันทำอยากกว่าเมื่อก่อน เงิน 10,000 ได้แล้ว เดี๋ยวมาอีก ใครอายุเกิน 60 ผมก็เห็นว่าเงิน 10,000 จะมาแล้วพี่น้อง”นายทักษิณกล่าวบนเวทีปราศรัยที่จังหวัดอุดรธานี
นายทักษิณยังกล่าวด้วย ว่า วันนี้รัฐบาลมีนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลตคนละ 10,000 บาท เกิดขึ้นเพราะว่า จะไปเติมเงินที่หายไป เงินที่ถูกดูดออกไป แบงก์ชาติดูดออกไป เราก็เติมใหม่ ถ้าไม่เติมพี่น้องก็ถ้าเติมไปแล้วยังถูกดูดอีก กระทรวงการคลังก็เล่าให้นายกฯ ฟังว่า ถ้าดูดอีก เราก็เติมอีก เติมจนกว่าเม็ดเงินจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพียงพอ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดมีตังค์ใช้ วันนี้ ไปร้านไหนมีคนขายมากกว่าคนซื้อ เหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540
“ ต้องพลิกตรงนี้ให้ได้ ขั้นตอนแรกก็คือ หนึ่ง จัดการหนี้ ลดหนี้ลงไปเพื่อให้หนี้บริหารได้ สองเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่าย เพื่อให้เงินสะพัดทั่วทั้งประเทศ”นายทักษิณกล่าว