“…โครงการแบบนี้ มีท้องถิ่นไม่กี่แห่งที่พยายามสนับสนุนเด็ก ปั้นเด็กขึ้นมาให้เป็นดาวรุ่งแล้วมาแข่งในระดับที่สูงขึ้น เพราะไม่ใช่เด็กจะสามารถปั้นได้ทุกที่ ไม่ใช่เอาเด็กที่ไหนก็ได้จะปั้นได้ ต้องมีตัวก่อนถึงจะทำโครงการ ซึ่งการหาตัวดาวรุ่งในพื้นที่ยาก…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณี นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ปฏิบัตราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงนามในหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งระงับการดำเนินโครงการจากสมาคมพัฒนากีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ (ประเทศไทย ) เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข้อร้องเรียนว่ามีบุคคลในสมาคมพัฒนานักกีฬาฟตบอลฯ มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต
@ เบื้องต้นไม่พบความเสียหาย
ความคืบหน้าล่าสุด นายพลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตอบกลับมาแล้วจำนวน 2,000 กว่าแห่ง จาก 64 จังหวัด โดยมีท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 21 แห่ง ยังไม่พบความเสียหาย เนื่องจากเป็นโครงการที่ท้องถิ่นสมัครใจและดำเนินโครงการเอง จึงเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสมาคมฯเท่านั้น ในเรื่องการสนับสนุนผู้ฝึกสอน ซึ่งมีการจ่าย ‘ค่าตอบแทนให้ผู้ฝึกสอน’ ตามระเบียบอปท.ที่เกี่ยวข้อง
นายพลวัฒน์กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ทาง สถ.แจ้งหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังท้องถิ่นมีทั้งหมด 3 โครงการ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอปท.เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 21 แห่ง ประกอบด้วย โครงการแรก โครงการท้องถิ่นไทยพัฒนานักกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ มีอปท.เข้าร่วม 2 แห่ง ดำเนินโครงการเสร็จแล้ว ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่พบความเสียหาย โดยเชิญสมาคมฯ ช่วยสนับสนุนผู้ฝึกสอน (Coach) อปท.จ่ายเพียงค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้ฝึกสอน
นายพลวัฒน์กล่าวว่า โครงการที่สอง โครงการท้องถิ่นร่วมใจแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนด้วยกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ มีอปท.เข้าร่วม 19 แห่ง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยท้องถิ่นดำเนินโครงการเอง ไม่ได้อุดหนุนเงินให้กับสมาคมแต่อย่างใด โดยเชิญสมาคมฯ สนับสนุนผู้ฝึกสอน อปท.จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง
“ไม่ได้มีการอุดหนุนให้กับสมาคมฯแต่อย่างใด เป็นการดำเนินการตามระเบียบที่ อปท.สามารถดำเนินการได้ ในการพัฒนาคุณภาพเด็กในเขตพื้นที่ตัวเอง”นายพลวัฒน์กล่าว
นายพลวัฒน์กล่าวว่า ส่วนโครงการที่สาม โครงการท้องถิ่นไทยร่วมใจสานฝันเด็กไทยสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬา ไม่มีอปท.เข้าร่วมโครงการ
@ จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงผู้ฝึกสอน-อุปกรณ์ซื้อเอง
“สมาคมฯมานำเสนออยากให้เราช่วยประชาสัมพันธ์ เราก็ประชาสัมพันธ์ให้ พอท้องถิ่นเห็น เราก็แนะนำว่า ให้ทำเป็นโครงการขึ้นมา ว่า เป็นโครงการแบบนี้ มีงบประมาณอะไรบ้าง เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารกลางวัน ค่าอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ท้องถิ่นเป็นคนจัดซื้อเอง เพราะเป็นโครงการของท้องถิ่น ซื้อจากในพื้นที่ ท้องถิ่นมีอยู่แล้ว สมมุติอยากจะซื้อฟุตบอลก็ไปซื้อที่ร้านค้าฟุตบอล ค่าอาหารกลางวันก็จ้างแม่บ้านมาประกอบอาหาร เป็นไปตามระเบียบการฝึกอบรม สมาคมฯจะไม่ทำเรื่องนี้ (ลูกฟุตบอล ชุดกีฬา)”นายพลวัฒน์กล่าวและว่า
“ท้องถิ่นจัดแข่งขันกีฬาทุกปีอยู่แล้ว แต่โครงการนี้เป็นโครงการพิเศษ คือ เอาเด็กในท้องถิ่นมาฝึกทักษะให้เก่งขึ้น โดยมีโค้ชจากสมาคมฯ เข้ามาช่วย แต่ส่วนใหญ่ที่ท้องถิ่นจัดทุกปี คือ แข่งกีฬาหมู่บ้าน แข่งกีฬาเทศบาล แต่ละหมู่บ้านมาแข่งกัน เป็นเรื่องปกติ”นายพลวัฒน์กล่าว
นายพลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นายพลวัฒน์กล่าวว่า ท้องถิ่นจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายอปท.ได้ว่าจะซื้อที่ไหน ท้องถิ่นยืนยันว่า ทำตามระเบียบ ทำทุกปี เงินไม่เยอะ 2,000 3,000 4,000 บาท ซื้อลูกฟุตบอล ซื้ออุปกรณ์กีฬา ซื้อเสื้อ หลักพันเท่านั้น ท้องถิ่นก็จัดซื้อจัดจ้างได้เอง ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งโครงการประมาณ 10,000 – 20,000 กว่าบาทต่อแห่ง ขึ้นอยู่กับจำนวนเด็ก และจำนวนอุปกรณ์ ส่วนใหญ่ค่าโค้ชก็จะนิ่ง เพราะว่า จ่ายเป็นวัน
นายพลวัฒน์กล่าวว่า ยกเว้น ‘ค่าเบี้ยเลี้ยง’ สำหรับผู้ฝึกสอนที่สมาคมฯส่งมาให้ อปท.เป็นผู้จ่าย วันละ 2,000 – 3,000 บาทต่อคน ตลอดโครงการ ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้โค้ชประมาณ 3 คนต่อแห่ง
@ เปิดไทม์ไลน์เข้ามาติดต่อ
นายพลวัฒน์ กล่าวถึงระยะเวลาที่ทางสมาคมฯเข้ามาติดต่อว่า เกิดขึ้นในช่วงประมาณปลายปี ราวเดือนกรกฎาคม 67 บุคคลดังกล่าวได้เดินทางมาขอพบผ่านผู้บังคับบัญชา และได้แนะนำตัวเองว่า เป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ (ภจท.) สภาผู้แทนราษฎร และเป็นนายกสมาคมพัฒนานักกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ (ประเทศไทย) โดยเข้ามาเสนอโครงการท้องถิ่นไทยพัฒนานักกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ โครงการท้องถิ่นร่วมใจแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนด้วยกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ โครงการท้องถิ่นไทยร่วมใจสานฝันเด็กไทยสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬา เพื่อให้ สถ. ช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งตนได้พิจารณาดูแล้ว เป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับเด็ก และจะช่วย อปท.พัฒนาทักษะของเด็กในด้านกีฬาและแก้ปัญหายาเสพติดได้ เป็นโครงการที่ดี จึงทำหนังสือช่วยประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นทุกจังหวัด จำนวน 7,848 แห่ง
นามบัตรของบุคคลที่เข้ามาติดต่อและแนะนำตัวให้ไว้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
“เขาเข้ามาคุยว่า เขาจะบอกว่ามีโค้ชที่ผ่านการอบรมตามข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯ ในโครงการ เขามาบรรยายให้เราฟัง เราก็บอกว่า แล้วแต่ท้องถิ่น เป็นความสมัครใจ เราประชาสัมพันธ์ไป ท้องถิ่นไหนสมัครใจก็ดีลตรงกับสมาคมฯ”นายพลวัฒน์กล่าว
นายพลวัฒน์กล่าวว่า เป็นการร่วมมือกันครั้งแรก ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เขาเป็นสมาคมฯ เขารู้อยู่แล้วว่า ถ้าเขาจะทำงานกับท้องถิ่นเขาก็ต้องมาประสานกับ สถ. โดยที่เขาบอกว่า เขามีตำแหน่งเป็นเลขานุการประจำกรรมาธิการฯ ขอเข้ามาพบ เขาก็แนะนำตัว
“โครงการแบบนี้ มีท้องถิ่นไม่กี่แห่งที่พยายามสนับสนุนเด็ก ปั้นเด็กขึ้นมาให้เป็นดาวรุ่งแล้วมาแข่งในระดับที่สูงขึ้น เพราะไม่ใช่เด็กจะสามารถปั้นได้ทุกที่ ไม่ใช่เอาเด็กที่ไหนก็ได้จะปั้นได้ ต้องมีตัวก่อนถึงจะทำโครงการ ซึ่งการหาตัวดาวรุ่งในพื้นที่ยาก”นายพลวัฒน์กล่าวและว่า
“เขามาคุยก่อนเบื้องต้นว่าอยากจะทำโครงการแบบนี้ จะทำอะไรได้บ้าง กรมฯมีระเบียบอะไร เราก็บอกว่า จะให้อุดหนุนเงินคงไม่ได้ อปท.ต้องทำเอง ต้องใช้ระเบียบของอปท. เขาก็ไปกลับไปปรับรายละเอียดและให้ทางกรมฯช่วยดู กรมฯก็ทำได้เพียงออกหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังสำนักงานจังหวัด ไม่ได้ส่งอปท.โดยตรง”นายพลวัฒน์กล่าว
@ โครงการขายฝันปั้นเด็กสู่ทีมชาติ
นายพลวัฒน์กล่าวว่า หลังจากมีโครงการที่หนึ่ง หายไปพักหนึ่งก็มีโครงการที่สอง มาทีละโครงการ ไม่ได้มาทีเดียวสามโครงการ โครงการที่สามมาช่วงเดือนมีนาคม ปี 67
“ก่อนจะทำโครงการแรก ก็มาหารือ แก้ไข ขอความเห็นเราว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เขาก็ไปปรับ สักพักก็ส่งเป็นหนังสือมาตามที่ได้ปรับตามที่หารือกับกรมฯแล้ว หลังจากนั้นก็ได้ทำหนังสือแจ้ง สถ.จ.ไปว่า สมาคมฯมีโครงการนี้ ประชาสัมพันธ์ให้ท้องถิ่นทราบ ถ้าเข้าร่วมก็ประสานกับสมาคมฯ โดยตรง”นายพลวัฒน์กล่าว
นายพลวัฒน์กล่าวว่า หนังสือประทับตราในระบบราชการ ถือว่าให้ความสำคัญน้อยที่สุด ต้องเป็นหนังสือภายนอกที่เป็นตราครุฑ เป็นหนังสือในเชิงนโยบายสั่งการ แต่หนังสือประชาสัมพันธ์ ระดับผู้อำนวยการเป็นผู้เซ็น เพราะมีหลายสมาคมที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ จะประทับตราไป แต่ไม่ใช่เป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาหรือของกระทรวง เป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่อาจจจะมีการนำไปอ้าง เพราะ สถ.ดูแลอปท. จึงดูมีความน่าเชื่อถือ
“โครงการของเขาขายฝันว่า จะปั้นเด็กไปสู่ทีมชาติ แต่ในท้องถิ่นเขารู้ว่าเด็กเขามีศักยภาพแค่ไหน ถ้าเขามองว่าศักยภาพไม่ถึงเขาก็ไม่ทำ จึงมีไม่กี่ที่”นายพลวัฒน์กล่าว
@ เข้มงวดมากขึ้น
นายพลวัฒน์กล่าวว่า กรณีนี้ได้ตรวจสอบว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯจริง แต่ไม่ได้ตรวจสอบนามบัตรที่ระบุว่าเป็นเลขานุการประจำกรรมาธิการฯ ไปยังรัฐสภา ว่า มีตำแหน่งตามนามบัตรจริงหรือไม่ ซี่งส่วนใหญ่เวลามาหาเรา ทุกคนมีนามบัตรมา ก็นั่งคุยกันเลย เราเป็นหน่วยงานราชการก็ต้องต้อนรับ คงไม่ตรวจสอบว่าจริงหรือปลอมก็ต้องคุยกันไป
“เราก็ดูหลักฐานของสมาคมฯที่เอามาให้เราดู จดทะเบียนถูกต้อง มีตัวตนจริง มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานสอดคล้องกับโครงการ ไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็ดำเนินการให้ ให้ท้องถิ่นติดต่อสมาคมฯได้โดยตรง”นายพลวัฒน์กล่าวและว่า
นายพลวัฒน์กล่าวว่า หลังจากนี้คงต้องตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น ตอนนี้ต้องรีเช็กทั้งหมด ไม่กล้าเสี่ยงแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะเคยประชาสัมพันธ์ให้
อ่านข่าวประกอบ :
- สถ.สั่งระงับโครงการส.พัฒนากีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ กมธ.ป.ป.ช.อ้างพบพฤติกรรมส่อทุจริต
- เปิดปม สถ. ระงับทุกโครงการ สมาคมพัฒนานักกีฬาฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ
- เปิดหนังสือร้อง สมาคมพัฒนากีฬาฟุตบอลฯ อ้าง หา DNA อัจฉริยะเด็ก อบต.ทั่วประเทศ
- เปิดหนังสือร้อง ส.พัฒนากีฬาฟุตบอลฯ (2) จ้างทำชุดกีฬา อบต. แข่งเฉลิมพระเกียรติฯ
- เปิดคำสั่งปลด เลขานุการประจำกมธ.ฯ สภาฯ หลังแอบอ้างเรียกรับเงินเอกชน โครงการ สถ.
- รายที่3 ! ร้องเรียน กมธ.ป.ป.ช.อ้าง ส.พัฒนากีฬาฟุตบอลฯ หลอกจ่ายเงิน 4.8 ล้าน
- เปิดข้อมูลเชิงลึก ! อ้าง เลขานุการประจำกมธ.ฯ สภาฯ พบ ประวัติฉ้อโกง 20 กว่าคดี