แคมเปญหาเสียงของทรัมป์เชื่อว่าพวกเขาสามารถเพิ่มคะแนนในหมู่คนหนุ่มสาวได้ และพวกเขาก็ทําได้ โดยมีคะแนนเพิ่มจาก 35% ในปี 2563 เป็น 42% ในปีนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การตัดสินใจเลือกนายทรัมป์ในกลุ่มประชากรชายหนุ่ม นายทรัมป์ใช้เวลาส่วนใหญ่กับพอดแคสต์ ซึ่งมีผู้จัดได้แก่นายโจ โรแกน นักจัดพอดแคสต์ และผู้บรรยายกีฬา UFC ชื่อดัง ซึ่งกลุ่มคนที่ฟังพอดแคสต์ของนายโจ โรแกน ทั่วไปแล้วเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงได้ยาก
ข่าวระดับโลกในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นทางการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง โดยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 47 ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเหนือคู่แข่งได้แก่นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบีดสหรัฐฯ โดยตอนนี้คะแนนของนายทรัมป์ที่นับล่าสุดนั้นนำนางแฮร์ริสไปอยู่ที่ 295 คะแนน ต่อ 226 คะแนนแล้ว และเขายังชนะเสียงป็อปปูลาร์โหวต โดยได้คะแนนดิบประมาณ 72 ล้านเสียง ต่อ 67 ล้านเสียง
นี่จึงเป็นคำถามสำคัญว่าทำไมอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ถึงสามารถกลับมาได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทวิเคราะห์ของสถาบันสถาบันบรูคกิ้งส์ สถาบันจากกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการวิจัยและการศึกษาใน สาขาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะด้าน เศรษฐศาสตร์ (และ นโยบายภาษี ) นโยบายเมือง การปกครอง นโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจโลก และ การพัฒนาเศรษฐกิจมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2567 โดยคว้าชัยในรัฐสวิงสเตท หรือรัฐที่มีการแกว่งของคะแนนสูง และยิ่งไปกว่านั้นคะแนนของเขายังดีกว่าเมื่อครั้งที่ได้รับชัยชนะในปี 2559 เพราะเขาได้รับชัยในคะแนนเสียงแบบป็อปปูลาร์โหวตด้วย นอกจากนี้เขายังนําพรรครีพับลิกันไปสู่เสียงข้างมากในวุฒิสภาที่มากกว่าที่คาดไว้ นี่จึงอาจเป็นสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว
@ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์
ต้องยอมรับว่าทฤษฎีของนายทรัมป์เกี่ยวกับการหาเสียงนี้ค่อนข้างถูกต้อง ตัวเขาและทีมหาเสียงมีความเชื่อว่าจะสร้างพลังอำนาจให้กับพรรครีพับลิกันมีความแข็งแกร่งในกลุ่มชนผิวขาวชนชั้นแรงงานที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียง ผ่านการสร้างแนวร่วมชนชั้นแรงงานในหลายเชื้อชาติ ซึ่งสิ่งที่พิสูจน์ว่านายทรัมป์คิดถูกก็มาจากเอ็กซิทโพล ซึ่งเขาได้รับคะแนนเสียงในหมู่ชาวลาตินและชาวแอฟริกันอเมริกันโดยเฉพาะผู้ชาย เพิ่มขึ้นจากเดิม 12% เป็น 20% และยังได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มฮิสแปนิกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
แคมเปญหาเสียงของทรัมป์เชื่อว่าพวกเขาสามารถเพิ่มคะแนนในหมู่คนหนุ่มสาวได้ และพวกเขาก็ทําได้ โดยมีคะแนนเพิ่มจาก 35% ในปี 2563 เป็น 42% ในปีนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การตัดสินใจเลือกนายทรัมป์ในกลุ่มประชากรชายหนุ่ม นายทรัมป์ใช้เวลาส่วนใหญ่กับพอดแคสต์ ซึ่งมีผู้จัดได้แก่นายโจ โรแกน นักจัดพอดแคสต์ และผู้บรรยายกีฬา UFC ชื่อดัง ซึ่งกลุ่มคนที่ฟังพอดแคสต์ของนายโจ โรแกน ทั่วไปแล้วเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงได้ยาก
นายโจ โรแกน แสดงจุดยืนสนับสนุนนายทรัมป์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Firstpost)
ย้อนไปในช่วงหลังจากการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกันว่าจะส่งใครลงเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี ซึ่งนายทรัมป์เพิ่งจะได้รับชัยชนะในระดับพรรคในตอนนั้น เขามีทางเลือกว่าจะดำเนินการสื่อสารตามแนวทางของคู่แข่งคือนางนิกกี้ เฮลีย์ ที่ทำแคมเปญแบบแนวทางอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน หรือว่านายทรัมป์จะเดินหน้าใช้แนวทางขยายฐานเสียงสนับสนุนพรรครีพับลิกันอย่างเต็มตัว แน่นอนว่าทีมงานของนายทรัมป์เลือกแบบหลังและชนะการเดิมพันนี้
มีสามประการที่ต้องคำนึงถึงชัยชนะของนายทรัมป์ในกระบวนการหาเสียงก็คือประการแรกนายทรัมป์เชื่อว่าตัวเองมีความผูกพันที่หนาแน่นกับฐานเสียงที่หนาแน่นกับผู้สนับสนุนหลักของเขาอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจที่จะไม่ลงทุนมากในการหาเสียงแบบดั้งเดิม แต่กลับดึงเอาคนนอกมาสนับสนุนการหาเสียงแทน ซึ่งนี่แตกต่างจากแคมเปญหาเสียงของนางแฮร์ริสเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่สอง ทีมหาเสียงของนายทรัมป์รู้ดีว่ากรณีจุดยืนการหาเสียงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศนั้นเป็นจุดอ่อนของนางแฮร์ริส และเลือกที่จะโฆษณาโจมตีประเด็นนี้อย่างรุนแรงผ่านการโฆษณา ซึ่งแคมเปญการหาเสียงแบบนี้บ่อนทำลายความพยายามของนางแฮร์ริสที่ต้องการทำให้เธอมีภาพจำว่าศูนย์กลางของการเมืองฝั่งซ้าย มากกว่าแค่ตัวแทนจากนครซานฟรานซิสโก
ประการที่สาม นายทรัมป์เลือกที่จะปรับจุดยืนของเขาเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง โดยประกาศตั้งแต่แรกแล้วว่าเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่แต่ละรัฐควรจะตัดสินใจด้วยตัวเอง จากนั้นเขาจึงสาบานว่าจะยับยั้งการห้ามการทำแท้งในระดับชาติ ซึ่งนี่ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการทำแท้งหลายคนผิดหวังและโกรธแค้นก็จริง แต่มันกลับไม่ได้ส่งผลอะไรต่อคะแนนเสียงของเขามากนัก โดยเขาได้คะแนนเสียงไปถึง 81% จากกลุ่มคริสเตียนผิวขาว ซึ่งคะแนนนี้แทบไม่ต่างจากที่เขาได้เลยเมื่อสี่ปีก่อน
@ความพ่ายแพ้ของนางแฮร์ริส
สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของนางแฮร์ริส มาจากการตัดสินผลงานจากสาธารณชนในสองประเด็นหลักด้วยกันได้แก่ 1.กรณีเงินเฟ้อและ 2.ปัญหาผู้อพยพ ซึ่งนางแฮร์ริสดูเหมือนว่าจะดำเนินแนวทางแบบเดียวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ขอถอนตัวจากกระบวนการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
ข้อเท็จจริงที่ว่านายไบเดนใช้เวลานานมากกว่าจะถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่ง สิ่งนี้ส่งผลกระทบในแง่ลบกับนางแฮร์ริสเช่นกัน โดยการตัดสินใจที่ล่าช้าของนายไบเดนในการถอนตัวส่งผลทำให้นางแฮร์ริสขาดความคมชัดในการสร้างข้อโต้แย้งของเธอในการต่อสู้กับประเด็นข้างต้น และยังลดเวลาที่เธอควรจะมีในการแนะนำตัวกับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่านางแฮร์ริสทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์นี้แล้ว ทั้งความพยายามที่จะรวบรวมพรรคเดโมแครตอย่างรวดเร็วและต่อยอดเครื่องมือการหาเสียงของนายไบเดน แทนที่จะเริ่มจากศูนย์ แต่เธอก็ไม่เคยจะเอาชนะปัญหาที่เกิดมีต้นเหตุจากเรื่องตารางเวลาของนายไบเดนได้ทั้งหมด
ทฤษฎีของนางแฮร์ริสเกี่ยวกับกรณีปัญหาเรื่องการทำแท้งเองก็มีข้อบกพร่อง เมื่อดูตัวอย่างจากการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2565 นางแฮร์ริสสันนิษฐานว่าการให้สิทธิการเจริญพันธุ์ เป็นวาระหลักของเธอจะระดมเสียงจากผู้หญิงที่โกรธแค้นและทำให้ได้รับคะแนนเสียงที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ส่วนแบ่งของผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงทั้งหมดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับในปี 2563 และส่วนแบ่งของคะแนนเสียงจากผู้หญิงที่ลงให้กับนางแฮร์ริสก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นจากระดับที่เคยลงคะแนนให้กับประธานาธิบดีไบเดนในปี 2563 แต่อย่างใด และนอกจากนี้ยังพบข้อมูลด้วยว่าคะแนนเสียงของผู้ชายที่เลือกนางแฮร์ริสนั้นลดลงไปอยู่ที่ 43 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 48 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกนายไบเดนในปี 2563 ซึ่งนี่ยังเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าประเด็นเรื่องการทำแท้งมีส่วนต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของผู้ชายในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ด้วยหรือไม่ แต่ก็บ่งชี้ข้อกังวลของผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นผู้ชายนั้นไม่ได้ทำให้ทีมงานบริหารของนางแฮร์ริสเปลี่ยนทิศทาง
ข้อโต้แย้งของนางแฮร์ริสที่บอกว่านายทรัมป์มีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย สิ่งนี้ได้ผลเพียงเล็กน้อย เพราะทางฝ่ายพรรครีพับลิกันรวมถึงฝ่ายอิสระเองก็มองว่าตัวนางแฮร์ริสและพรรคเดโมแครตเองที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตย และเนื่องจากข้อกล่าวหาของนางแฮร์ริสไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ๆเลย จึงไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ตัดสินใจเลือกตั้งเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนายทรัมป์ได้
การเลือกยุทธวิธีของนางแฮร์ริสทําให้ตัวเธอเองมีปัญหาหนักขึ้นด้วยเช่นกัน ประการแรกเธอปฏิเสธโอกาสในการสร้างโปรไฟล์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น แม้ว่าความไม่เป็นที่นิยมของนายไบเดนจะทําให้นางแฮร์ริสมีภาระเรื่องการหาเสียง แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะแยกตัวเองออกจากนายไบเดนในทางใดก็ตามเพื่อที่จะโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกันนางแฮร์ริสได้ละทิ้งจุดยืนที่ดูจะเป็นข้อได้เปรียบ อาทิ จุดยืนในด้านการแก้ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนี่ทำให้การรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อนางแฮร์ริสค่อนข้างจะสับสนและเปิดประตูสู่การกล่าวหาของจากฝั่งนายทรัมป์ที่กล่าวหาว่าเธอมีลักษณะหัวรุนแรง
โดยที่ผ่านมาผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตบางคนหวังว่านางแฮร์ริสจะมีช่วงเวลาสื่อสารว่าเธอมีความแตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมของพรรคเดโมแครตและมีความเป็นอิสระ แต่สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
ประการที่สอง การตัดสินใจของนางแฮร์ริสที่จะหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์สื่อในช่วงครึ่งแรกของการหาเสียงของเธอ แม้จะสร้างความประทับใจว่าเธอมีความเป็นอิสระจากการต้องทำตามสคริปต์ แต่นี่ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นผลเสียในระยะยาวในภายหลัง เนื่องจากทำให้การจดจำแคมเปญหาเสียงของนางแฮร์ริสในสาธารณชนถูกลืมเลือน
นางกมลา แฮร์ริส ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ (อ้างอิงวิดีโอจาก Skynews)
@ข้อสรุปหลังจากนี้
ความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครตนั้นจะทำให้เกิดข้อตำหนิก่อน แล้วจึงจะต้องมาหาทางคิดว่าทำไมพรรคถึงแพ้ ย้อนไปในอดีตเมื่อพรรคเดโมแครตพ่ายการเลือกตั้งในปี 2531 พรรคจะถูกบังคับให้อภิปรายสาเหตุหลักเกี่ยวกับความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แล้วจึงใช้เวลาสักพักกว่าจะหาแนวทางที่เป็นของตัวเองและดูมีชีวิตชีวา พร้อมจะเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้งหนึ่ง
ในขณะเดียวกันนายทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีคนถัดไป จะพบกับความท้าทายเพราะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้มากมาย ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามก็คือเขาจะสามารถเก็บภาษีได้มหาศาลโดยไม่เพิ่มต้นทุนตามที่โฆษณาไว้ได้หรือไม่ ปัญหาเรื่องการระงับความขัดแย้งทั้งในยูเครนและในตะวันออกกลางได้เร็วตามที่เขาได้เคยให้สัญญาว่าจะลดภาระผูกพันในระดับโลกของสหรัฐฯ และการเนรเทศผู้อพยพจำนวนหลายล้านคนในอาจจะสร้างความขัดแย้งในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งชาวละติน และกลุ่มฐานเสียงดั้งเดิมของนายทรัมป์ก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก:https://www.brookings.edu/articles/why-donald-trump-won-and-kamala-harris-lost-an-early-analysis-of-the-results/