“…ผมนำเรื่องจุดยืนของฝ่ายต่างๆ มาไตร่ตรอง และมีข้อคิดเห็นว่า ผู้ที่ไม่อยากใช้คำว่านิรโทษกรรมกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112 และการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การอุ้มหาย การทรมาน เพราะการนิรโทษกรรมความคิดที่สะเทือนใจต่อคนส่วนมากนั้น เป็นเรื่องที่สังคมทำใจได้ยาก…”
การฟอร์มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผล-ข้ออ้างเพื่อเข้ามาแก้ปัญหา 3 วิกฤตของประเทศ หนึ่ง วิกฤตรัฐธรรมนูญ สองวิกฤตเศษฐกิจ และ สาม วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ดูเหมือนว่าการบริหารประเทศภายใต้ ‘นายกฯเพื่อไทย’ ยัง ‘ไม่เข้าเป้า’
วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง 20 ปีที่ผ่านมา ลุกลามจากการปะทะทางความคิดกลายมาเป็นการใช้กำลัง-ความรุนแรง ปิดสนามบิน-ปิดสถานที่ราชการ จนกระทั่งปิดคูหาเลือกตั้ง เกิดการรัฐประหาร 2 ครั้ง - การเลือกตั้งโมฆะ 2 ครั้ง
ในห้วงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มของกระบวนการสร้างความปรองดอง-สมานฉันท์ที่ยังลูกผีลูกคน ภายหลังรายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พ่วงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดนที่ประชุมสภาฯ ปัดตก
@ หนังสือเปิดผนึกนิรโทษกรรมฉบับ ‘โคทม อารียา’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ส่วนหนึ่งในรายงานของคณะกรรมาธิการฯนิรโทษกรรม ระบุถึงหนังสือเปิดผนึกของ ‘รองศาสตรจารย์โคทม อารียา’ หนึ่งนักวิชาการด้านสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชนเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมมาธิการฯนิรโทษกรรม’ ได้เสนอบทความที่เป็นแนวคิดและแนวทางในการนิรโทษกรรมภายใต้หัวข้อ ‘กฎหมายนิรโทษกรรมและการุณยธรรม’ ไว้ดังนี้
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ผมได้รับเกียรติให้ไปเสนอความเห็นแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อมาในวันที 22 กุมภาพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ผมมีโอกาสรับฟังความเห็นของกรรมาธิการหลายคน เกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถประสงค์ของการตรากฎหมายดังกล่าว และมีข้อสรุปเบื้องต้นของผมเองว่า การตรากฎหมายมีเป้าหมายให้เกิดความสงบสุขและความปรองดองในสังคม และมีวัตถุประสงค์จะคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองโดยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ผมได้เข้าร่วมประชุมสมานไมตรี โดยมีนักการเมืองทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการและนักกิจกรรมในภาคประชาสังคม มาแลกเปลี่ยนความเห็นในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ภายใต้กติกา Chatham House Rules คือการไม่เปิดเผยว่า ความเห็นใดเป็นของผู้ใด ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น ข้อถกแถลงที่สำคัญ คือ ควรรวมมาตรา 112 เป็นฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมหรือไม่
บทความนี้เขียนขึ้น โดยนำความคิดที่ได้จากการฟังในระหว่างการประชุมที่อ้างถึงข้างต้น โดยจะขอโอกาสนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการดังกล่าวในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้
ผมจับความเองว่า ความน่าจะเป็นคือพรรคร่วมรัฐบาล ‘ยกเว้นพรรคเพื่อไทย’ ไม่ประสงค์จะนิรโทษกรรมการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยมักกล่าวว่า จะสนับสนุนในส่วนที่เป็นความเห็นพ้องต้องกัน เพราะไม่อยากให้เกิด ‘ความขัดแย้งใหม่’ พรรคก้าวไกลเห็นว่าควรอกกฎหมายให้มีคณะกรรมการมาวินิจฉัยว่าจะนิรโทษกรรมความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ส่วนภาคประชาสังคมที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เห็นว่าควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วย เพราะเป็นการกระทำด้วยเหตุทางการเมือง และจะมีผลเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันลงบ้าง
อนึ่ง มีการพูดถึงการเยียวยา การรวมการกระทำความผิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการที่รัฐควรกำหนดให้มีกระบวนการเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
@ แก้ไขความขัดแย้ง ‘ไม่มีสูตรสำเร็จ’
ผมสนใจเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งมานานพอสมควร และเข้าใจว่าเรื่องนี้ ‘ไม่มีสูตรสำเร็จ’ แต่พอมีหลักคิดอยู่ 4 ประการดังนี้
- ควรพยายายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระยะสั้นและรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวเอาไว้
- ควรยอมรับความย้อนแย้งด้วยความอยากรู้อยากเห็น โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อจินตนาการ
- ควรใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมีความริเริ่มในการหาทางออกใหม่ ๆ อย่างเปิดกว้าง
- ควรยอมรับความเสี่ยง เพราะการกักตัวอยู่ใน ‘เขตที่รู้สึกสบาย’ (comfort zone) ขณะที่บริบทเปลี่ยนไปตลอดเวลา จะทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้
ผมนำเรื่องจุดยืนของฝ่ายต่างๆ มาไตร่ตรอง และมีข้อคิดเห็นว่า ผู้ที่ไม่อยากใช้คำว่านิรโทษกรรมกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112 และการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การอุ้มหาย การทรมาน เพราะการนิรโทษกรรมความคิดที่สะเทือนใจต่อคนส่วนมากนั้น เป็นเรื่องที่สังคมทำใจได้ยาก
ผู้ที่อยากรวมมาตรา 112 ไว้เป็นฐานความผิดที่พึ่งนิรโทษกรรมนั้น อาจมีเหตุผล ดังนี้ ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีนี้หลายร้อยคน ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งต่อเจ้าตัว ญาติมิตร และผู้ที่เห็นใจจำนวนมาก หลักการสำคัญของนิรโทษกรรมทางการเมืองน่าจะเป็นการรวมทุกฝ่าย (inclusivity) ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ผู้ที่คิดทำนองนี้เห็นว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่คิดว่าตัวเองได้กระทำความผิดตามมาตรานี้ เพราะไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาทหรือดูถูกเบื้องสูง ยิ่งการอาฆาตมาดร้ายแล้วยิ่งห่างไกลจากเจตนาเข้าไปใหญ่ ในความเข้าใจของผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เขาเพียงแต่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในกรอบของรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อทางการเมืองของตน เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือผู้ที่มีผู้อ่อนไหวได้ตั้งข้อกล่าวหา พวกเขาจึงถูกดึงเข้าไปสู่กระบวนการลงโทษทางกฎหมาย การยกโทษและให้อภัยในฐานความผิดนี้ จะช่วยนำพาสังคมออกจากวงเวียนความขัดแย้งทางการเมืองได้ไม่มากก็น้อย
อนึ่ง มีข้อเสนอที่ฟังมาและมีความแยบคายข้อหนึ่งคือ ให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เฉพาะผู้ที่ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรยอมรับผิดและให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำผิดซ้ำ ข้อเสนอนี้ฝ่ายประชาสังคมที่มีส่วนเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าการยอมรับผิดจะเป็นการฝืนความเชื่อที่ว่า ตนไม่มีเจตนาที่จะทำความผิด และคิดว่าถูกลงโทษเพราะความเห็นต่างเท่านั้น อีกทั้งจะเป็นการบังคับให้เอาตัวรอด โดยทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลัง
@ อัญเชิญพระราโชวาท ‘ในหลวง ร.9’
สำหรับโจทย์ที่ยากเช่นนี้ ขออนุญาตให้ผมได้เสนอความเชื่อที่คิดว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคมในลำดับแรก ผมขออัญเชิญพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุดลอยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักของความสงบสุขดังนี้
“กฎหมายมีสำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ”
ผมเชื่อว่าสังคมสงบสุขเป็นสังคมที่มีความเมตตากรุณาต่อกันในทุกระดับชั้น จึงขออ้างถึงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในบทละครเรื่อง “เวนิสวานิช” ซึ่งมีข้อความที่ผมท่องมาตั้งแต่เด็ก ดังนี้
“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รีบสมถวิล”
ผมได้แนวคิดส่วนหนึ่งมาจากชื่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมืองสองพรรค ผมจึงตั้งชื่อบทความโดยมีคำว่า ‘การุณยธรรม’ ซึ่งคิดว่าสอดคล้องกับชื่อแหวกแนวที่ว่า ร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข ผมเชื่อว่าความสงบสุขอาจเริ่มที่ความกรุณา (compassion) นั่นคือความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นคำสอนในทุกศาสนา สำหรับศาสนาพุทธ ขออ้างอิงพระคติธรรมที่สมเด็จพระสังราช สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทรงประทานในโอกาสงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ โดยพระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) เชิญพระคติธรรมมาเผยแผ่ ดังนี้
“เมตตาการุณยธรรมนี้ย่อมสามารถผูกผสาน และประดับประคองประชาคมโลก ซึ่งหมายมุ่งจะผดุงสันติภาพบนพื้นฐานของความเข้าใจความหลากหลายของทัศนะและบริบท ประดุจภาพวิจิตรศิลป์ที่เจริญตา อันพระสัทธรรมของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมแถลงสัจจะแห่งปัจจยาการที่เป็นความจริงแห่งโลก ซึ่งล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวพัน และพึ่งพาอาศัยกันอย่างไม่เบียดเบียนได้ เพราะฉะนั้น หากมนุษยชาติยังคงดำรงอยู่ด้วยเมตตาการุณยธรรม ปัจจยาการแห่งสันติสุขย่อมยังผสาน”
@ นิรโทษกรรมไม่รวม ‘คดีทุจริต-112-ละเมิดสิทธิ์ฯ ’
ข้อทดลองเสนอของผมคือ
มาตราที่เป็นการนิรโทษกรรมควรบัญญัติว่า ให้การกระทำใด ๆ ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง และต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ ... ถึงวันที่... ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริต หรือตามมาตรา 112 หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
สำหรับการนิรโทษกรรม ถ้าเป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้ระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ให้อัยการระงับการฟ้องหรือถอนฟ้อง หรือให้ศาลจำหน่ายคดีเมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง หรือในกรณีมีคำพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง กฎหมายควรกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัย ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวกับการเมืองและการยุติธรรม นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เหมาะสม มีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หรือการผ่อนปรนตามหลักการุณยธรรม
@ ใช้หลัก ‘การุณยธรรม’ กับ ‘คดี 112’
เพิ่มมาตราที่เป็นการใช้หลักของการุณยธรรมเพื่อการผ่อนปรนกับกรณีการกรกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือมีเหตุพึ่งพิจารณาว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือไม่ หรือพึ่งพิจารณาว่าเป็นการต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือไม่ (กรณีที่ชัดแจ้งให้นิรโทษกรรมได้ ไม่ต้องยื่นคำร้อง) ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ที่อาจเข้าข่ายได้รับการผ่อนปรนหรือทนายความที่ผู้อาจเข้าข่ายแต่งตั้ง ทำคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัย อธิบายถึงเหตุจูงใจและเจตนาของการกระทำ
- ในกรณี มาตรา 112 จะต้องให้เหตุผลประกอบว่าเป็นการแสดงออกทางความคิดความเชื่อทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะต้องไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้ายแต่ประการใด
- ในกรณีการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จะต้องให้เหตุผลประกอบว่าเป็นการต่อสู้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม ภาษา ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น
- ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ต้องมีเหตุผลพึ่งผ่อนปรน เช่น เป็นการกระทำโดยประมาท หรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อป้องกันตนเอง และผู้กระทำพร้อมจะทำการชดเชยแก่ผู้ถูกกระทำโดยหวังให้มีอโหสิกรรมต่อกัน รวมทั้งคืนความจริงแก่คณะกรรมการฯและสาธารณชน
ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยเห็นว่ามีเหตุที่จะผ่อนปรน ให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับการสอบสวนหรือชะลอการฟ้อง และพนักงานสอบสวนหรืออัยการไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้กรมราชทัณฑ์พักโทษไว้ชั่วคราวก่อน ทั้งนี้ มีกำหนด ... ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัย หากพ้นกำหนดดังกล่าว ให้การผ่อนปรนมีผลเป็นการนำบทบัญญัติเกี่ยวกับผลทางปฏิบัติของนิรโทษกรรมมาใช้โดยอนุโลม แต่หากมีการทำผิดซ้ำก่อนการพ้นกำหนด ให้ยุติการผ่อนปรนทันทีเมื่อศาลรับฟ้องคดีใหม่ และให้ดำเนินการต่อไปกับกับคดีเดิม เหมือนไม่มีการผ่อนปรน
ภายใต้บังคับของมาตราว่าด้วยการผ่อนปรนตามหลักการุณยธรรม ให้มีบัญชีแนบท้ายที่ระบุฐานการกระทำความผิดทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัย โดยคณะกรรมการฯอาจเพิ่มฐานความผิดเพื่อการนิรโทษกรรมหรือการผ่อนปรนตามหลักการุณยธรรมได้ เมื่อเห็นว่าฐานความผิดที่ส่งฟ้องมีเหตุจูงใจทางการเมืองจริง
ควรมีมาตราว่าด้วยการเยียวยาทางสังคม ที่เป็นการสมานบาดแผลทางจิตใจต่อเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต ที่รัฐได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือละเว้นการกระทำที่อาจเป็นการป้องกันเหตุร้ายดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์โดยมาตรการระยะสั้น ที่เป็นการขออโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน และเป็นการเดินหน้าไปด้วยกันบนเส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับประเพณีที่เคยมีมาในอดีต ที่มีการสร้างพระเจดีย์เมื่อการสงครามหรือการฆ่าฟันกันสิ้นสุดลง เพื่อเป็นการรำลึกถึงทุกดวงวิญญาณที่ล่วงลับไป
@ สร้างอนุสรณ์สถานจารึกชื่อผู้เสียชีวิต
ตัวอย่างการเยียวยาที่อาจทำได้มี อาทิ การสร้างอนุสรณ์สถานที่มีการจารึกชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ (และอาจจารึกคำว่าบุคคลนิรนามที่ไม่ทราบชื่อ) การทำรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การเมืองเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษา การให้เงินอุดหนุนการวิจัยที่รวบรวมหลักฐานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา การพิจารณาบรรจุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบทเรียนประวัติศาสตร์การเมือง โดยไม่จำเป็นต้องชี้ผิดชี้ถูก เพียงเพื่อความไม่ประมาทและการป้องกันเหตุร้ายทางการเมืองที่เป็นการสูญเสียโอกาสการพัฒนาการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ฯลฯ
ควรมีมาตราว่าด้วยการสมานไมตรีและสร้างความปรองดอง เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่สร้างการเมืองที่เคารพความแตกต่าง และมีกติกาพื้นฐานที่เห็นพ้องต้องกัน เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความมั่นคงของมนุษย์และของรัฐ และการมีการุณยธรรม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รัฐควรพิจารณาสนับสนุนการมีพื้นที่ทางสังคมที่เปิดกว้าง โดยมีตัวอย่างกิจกรรม ดังนี้ การจัดฟอรั่ม การสัมมนา การอภิปราย เวิร์คช็อป การสานเสวนา การสัมภาษณ์ การสนทนา การสนทนากลุ่มเฉพาะ การสำรวจควานคิดเห็น หรือ การสื่อสารแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ
การนิรโทษกรรมควรมีพื้นฐานบนความกรุณาที่อยากเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ ไม่ละเลยความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมือง และเคารพความเชื่อความศรัทธาของกันและกัน ถึงเวลาแล้วที่สั่งคมจะหันหน้ามาคุยกัน และยิ้มให้แก่กัน พร้อมทั้งเยียวยาบาดแผลทางใจ บทความนี้จึงขอเสนอเรื่องนิรโทษกรรมและการุณยธรรม (Amnesty and Compassion) ไปพร้อมกัน เพื่อให้อยู่ในการคิดคำนึง ณ ปัจจุบันกาลนี้