"...สำหรับเกาะในประเทศไทย โดยมากจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ ส่วนการที่มีประชาชนครอบครองที่ดินบนเกาะต่าง ๆ เกิดขึ้นเนื่องจาก มีผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบนเกาะ ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ รวมถึงก่อนการมีกฎหมายที่ดิน..."
เป็นเรื่องฮือฮาในสังคมออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพและข้อความประกาศขายที่ดินบนเกาะส่วนตัว เกาะขาม จ.ตราด ในราคา 1.8 พันล้านบาท โดยระบุรายละเอียดว่า
“ขายเกาะส่วนตัว “ขายเกาะขาม” เกาะที่สวยติด top 10 ของประเทศ และเป็นเกาะที่สวยที่สุดในจังหวัดตราด พร้อมรีสอร์ทกำลังสร้างและได้หยุดสร้างไป สามารถทำต่อ ให้คนมาเช่าได้เลย เกาะนี้มีอินฟลูมารีวิวเยอะมากก สะอาด เป็นส่วนตัว ทะเลสวย น้ำใส ทรายขาว และมีทะเลแหวก หินภูเขาไฟ #ติดทรัพย์ co-agent welcome”
อีกทั้ง “มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ กรรมสิทธิ์ของของบุคคลค่ะ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งแหลมงอบ จังหวัดตราด ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะหมากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะหมาก ห่างกันเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น สามารถเดินทางด้วยเรือเร็วโดยใช้เวลาเพียง 30-40 นาที”
สําหรับจุดเด่นของเกาะขาม คือ “นอกจากจะมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ชายหาดขาวสะอาด ทอดยาวกว่า 300 เมตร เกาะขามเป็นหนึ่งใน 9 เกาะบริวารของเกาะหมาก ซึ่งได้รับฉายาจากเหล่านักท่องเที่ยวว่าเป็น “มรกตแห่งท้องทะเลตราด” ด้วย ลักษณะของเกาะที่มีน้ำทะเลใสเป็นสีเขียวเหมือนกับมรกต โดยมีแนวชายหาดอยู่เพียงชายขอบด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ และมีความยาวประมาณ 300 เมตร ส่วนด้านอื่นเป็นภูเขาและหน้าผา-รีสอร์ท ที่กำลังสร้างและหยุดสร้างไป สามารถขอรูปเพิ่มเติมได้”
อีกทั้ง “กลุ่มหินภูเขาไฟที่วางตัวเรียงรายราวกับประติมากรรมทางธรรมชาติ อยู่บริเวณหาดทรายขาวละเอียดทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ หาดทรายขาวและก้อนหินภูเขาไฟสีดํา นับเป็นเกาะส่วนตัวเพียงแห่งเดียวที่มีสิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติอันโดดเด่นน่าเที่ยวชมที่สุด”
อย่างไรก็ตาม เกาะขาม คือ เกาะที่อยู่ห่างจากเกาะหมากแค่ 10 นาที มีพื้นที่เล็กแต่ธรรมชาติยิ่งใหญ่ น้ำใสเหมือนมรกต จนอดตั้งฉายาให้ไม่ได้ว่าเป็น “ไข่มุกมรกตแห่งทะเลตราด” อีกด้วย
ภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้มีผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ และเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า การซื้อขายเกาะในประเทศไทย สามารถทำได้หรือไม่
ทั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการประกาศที่ดินบนเกาะส่วนตัว โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีการรายงานถึงการโพสต์ขายที่ดินบนเกาะส่วนตัว ชื่อเกาะไม้ซี้ โดยเกาะดังกล่าวมีสนามบินส่วนตัว ที่มีทางวิ่งมีความยาว 860 เมตร มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มาลงประจำ ซึ่งอยู่ใน จ.ตราด เช่นเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา ได้มีการสืบค้นข้อมูล พบว่า เว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการระบุว่า จังหวัดตราด มีเกาะทั้งสิ้นจำนวน 66 เกาะ ตั้งอยู่ใน 11 ตำบล 5 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งหมด 357.298 ตารางกิโลเมตร เกาะส่วนมากอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะช้าง รองลงมาคือ เกาะกูด ทั้งสองเกาะมีขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนเกาะที่มีขนาดรองลงมา คือ เกาะหมาก เกาะรัง เกาะกระดาด และเกาะไม้ซี้
ทั้งนี้ นอกจากเกาะช้าง หมู่เกาะในจังหวัดตราด ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมาก อาทิ เกาะกูด เกาะหมาก เกาะขาม เกาะเหลายา เกาะหวาย เกาะทรายขาว และเกาะง่าม ซึ่งในส่วนของ เกาะขาม อยู่ในพื้นที่ ต.เกาะหมาก กิ่ง อ.เกาะกูด มีพื้นที่ 0.112 ตารางกิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เกาะขาม จ.ตราด เกาะขาม จ.ตราด
"สำหรับการซื้อขายที่ดินบนเกาะส่วนตัวนั้น ถ้าไม่ใช่อยู่ในพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติ และมีเอกสารสิทธิ์ หรือโฉนด ก็สามารถซื้อขายได้" นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา
สำหรับเกาะในประเทศไทย โดยมากจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ ส่วนการที่มีประชาชนครอบครองที่ดินบนเกาะต่าง ๆ เกิดขึ้นเนื่องจาก มีผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบนเกาะ ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ รวมถึงก่อนการมีกฎหมายที่ดิน
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกาะ ประกอบด้วย
-
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติให้ “ป่า” หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย
-
ประมวลกฎหมายที่ดิน ในมาตรา 1 หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป กำหนด “ที่ดิน” หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วยหนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย และ
-
กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในหมวด 3 โฉนดที่ดิน ข้อ 14 (3)
ข้อ 14 ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดิน ต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน ได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน ดังต่อไปนี้ ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐาน แจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว
จึงสรุปได้ว่า ห้ามออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะ เว้นแต่มีใบรับรองที่เป็นหลักฐานว่า ทำประโยชน์แล้ว จึงจะสามารถออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ที่ดินบนเกาะ ส่วนมากจะมีผู้ครอบครองมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยาน หรือการประกาศใช้กฎหมายที่ดิน จึงทำให้ผู้ครอบครอง มักจะมีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง เช่น โฉนดที่ดิน (นส.4) , นส. 3 ก. , นส. 3/นส. 3 ข นั้น สามารถซื้อ ขาย โอนได้ แต่หากเป็นเอกสารสิทธิ์ประเภท ส.ป.ก.4-01 , นส. 2 , ใบจอง สทก. , ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ ไม่สามารถ ซื้อ ขาย โอนได้