“...สืบเนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีการกำหนดให้การกู้ยืมเงินออนไลน์ถือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้กำหนดให้การกู้ออนไลน์ เป็น 18 กลโกงมิจฉาชีพ ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งแบ่งลักษณะการกู้ออนไลน์ ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง คือ ดอกเบี้ยโหด เป็นการกู้เงินที่ได้เงินจริง แต่บังคับอนุญาต ให้ผู้กระทำความผิดสามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และติดตามทวงหนี้และคนรู้จักด้วยการข่มขู่ หรือสร้างความรำคาญ และลักษณะที่สอง คือ เงินกู้ทิพย์ มีการกระทำโดยการสร้างเว็บไซต์ปลอม หลอกให้โอนเงินค้ำประกัน หรือค่าธรรมเนียมเงินกู้ แต่ผู้กู้ไม่ได้รับเงินกู้...”
นโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา-บรรจุการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน-ทำทันที รวมถึงปัญหา ‘หนี้นอกระบบ’ ถูกจัดวางความสำคัญเป็น ‘ความท้าทายประการแรก’
ในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ให้คำสำคัญถึงขั้นให้คำนิยามว่า เป็น ‘อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ’ รวมถึงรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาประกาศเป็น ‘วาระแห่งชาติ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎรร ได้ประชุมและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษา เรื่อง ปัญหาหนี้นอกระบบและแนวทางการแก้ไขอย่างบูรณาการและยั่งยืน มีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
@ 7 กลโกง เจ้าหนี้นอกระบบ
สำหรับรูปแบบของหนี้นอกระบบ มีหน่วยงานที่ได้มีการกำหนดรูปแบบไว้อย่างชัดแจ้ง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
1.หมวกกันน็อค หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ปล่อยเงินกู้ โดยใช้วิธีการหาลูกค้า (ผู้กู้) จากการแจกใบปลิว นามบัตร หรือติดอยู่บริเวณเสาไฟฟ้า อาจมีฉายาหรือชื่อกลุ่มเงินทุนเพื่อให้ ลูกค้า (ผู้กู้) จดจำได้ง่าย และจะมาเก็บเงินจากลูกหนี้เป็นประจำทุกวัน โดยอาจใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ
โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าตามแผงลอยู่ในตลาด หรือร้านอาหารตามสั่ง แหล่งชุมชน หรือย่านเศรษฐกิจที่เข้าถึงได้ง่าย
2.ดอกเบี้ยเกินอัตรา หมายถึง การกู้ยืมที่พฤติการณ์ไม่ใช่หมวกกันน็อค เจ้าหนี้กับลูกหนี้โดยส่วนใหญ่รู้จักกัน ตกลงกู้ยืมกัน แต่อัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนด ห้วงเวลาการชำระหนี้ เช่น ผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน (ไม่มีลักษณะเก็บรายวันเหมือนหมวกกันน็อค) และ ลูกหนี้อาจโอนชำระเงินกู้ไปยังบัญชีเจ้าหนี้เองโดยตรง
3.กู้ออนไลน์ หมายถึง การกู้ยืมผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภท โดยเจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่รู้จักกันมาก่อน และกู้ยืมกันโดยไม่ต้องมาพบเจอกัน แต่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ แอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้ หรือเว็บไซต์ เป็นต้น จากนั้นเจ้าหนี้จะโอนเงินกู้ยืมให้ลูกหนี้ผ่านบัญชีธนาคาร
นอกจากนี้ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีการกำหนดให้การกู้ยืมเงินออนไลน์ถือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
โดยได้กำหนดให้การกู้ออนไลน์ เป็น 18 กลโกงมิจฉาชีพ ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งแบ่งลักษณะการกู้ออนไลน์ ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่หนึ่ง คือ ดอกเบี้ยโหด เป็นการกู้เงินที่ได้เงินจริง แต่บังคับ อนุญาตให้ผู้กระทำความผิดสามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และติดตามทวงหนี้และคนรู้จักด้วยการข่มขู่ หรือสร้างความรำคาญ
และลักษณะที่สอง คือ เงินกู้ทิพย์ มีการกระทำโดยการสร้างเว็บไซต์ปลอม หลอกให้โอนเงินค้ำประกัน หรือค่าธรรมเนียมเงินกู้ แต่ผู้กู้ไม่ได้รับเงินกู้
4.จำนำรถ หมายถึง การกู้ยืมที่ลูกหนี้ต้องนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไปจอดไว้กับเจ้าหนี้
5.ขายฝากที่ดิน หมายถึง การขายฝากตามกฎหมาย แต่สัญญาไม่เป็นธรรม อาจเขียนสัญญาไม่ครบถ้วน หรือเว้นช่องว่างเอาไว้ แล้วเจ้าหนี้มาเติมข้อความในสัญญาเองภายหลัง ที่เป็นการเอาเปรียบลูกหนี้
6.จำนองที่ดิน หมายถึง การจำนองตามกฎหมาย แต่สัญญาไม่เป็นธรรม อาจเขียนสัญญาไม่ครบถ้วน หรือเว้นช่องว่างเอาไว้แล้วเจ้าหนี้มาเติมข้อความในสัญญาเองภายหลังที่เป็น การเอาเปรียบลูกหนี้
7.วางหลักประกัน หมายถึง ลูกหนี้นำเล่มทะเบียนรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ หรือโฉนดที่ดินไปวางค้ำประกันไว้กับเจ้าหนี้ แต่ไม่ได้ทำธุรกรรมทางทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีนำเล่มทะเบียนรถยนต์ไปวางเป็นหลักประกัน (อาจจะมีการโอนลอยหรือไม่ก็ได้) ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแค่นำเล่มทะเบียนไปไว้กับเจ้าหนี้ ส่วนรถยนต์ก็ยังอยู่กับลูกหนี้
@ ลงชื่อในกระดาษเปล่า-แก้ไขตัวเลขหนี้
จากรูปแบบของหนี้นอกระบบทั้ง 7 ประเภทที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 การใช้รูปแบบกู้เงิน นอกจากที่ได้กล่าวมาในหัวข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 3 ที่ใช้รูปแบบของการกู้เงินแล้ว ยังมีลักษณะและพฤติการณ์นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินปกติ ได้แก่
1.การกู้เงินที่มีจำนวนเงินในสัญญาเงินกู้สูงกว่าเงินที่ได้กู้จริง ในการทำสัญญาเงินกู้จากแหล่งเงินทุนนอกระบบ เจ้าหนี้มักจะให้ลูกหนี้ทำสัญญาเงินกู้โดยมีการระบุจำนวนเงินที่กู้ยืมในสัญญาสูงกว่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้กู้หรือได้รับจริง
โดยเจ้าหนี้อาจอ้างว่ากำหนดจำนวนเงินไว้ หากเกิดกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้แล้วจำเป็นจะต้องฟ้องร้องจะได้ใช้เป็นหลักฐาน หรือบางรายใช้การทำสัญญาโดยได้มีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ก่อน แล้วให้ระบุจำนวนเงินกู้ในสัญญาเงินกู้ ซึ่งได้รวมเงินต้นกับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินกู้ หรือบางรายกำหนดจำนวนโดยรวมค่าใช้จ่ายหากต้องมีการฟ้องร้องกันไว้ในจำนวนเงินกู้ด้วย โดยอ้างว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จะมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวซึ่งได้รวมไว้ในสัญญา
2.ลูกหนี้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า หรือไม่มีข้อความใด ๆ ในสัญญา เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษเปล่าหรือสัญญาเปล่าที่ยังไม่มีการเขียนรายละเอียดใด ๆไว้ ลูกหนี้จะไม่ทราบว่าในสัญญามีรายละเอียดอย่างไร ในบางกรณีลูกหนี้ไม่ทราบว่าตนเองกู้เงินเป็นจำนวนเท่าใด เพราะไม่เคยเห็นสัญญากู้
3.การแก้ไขตัวเลขในสัญญาเงินกู้ เจ้าหนี้จะทำสัญญาเงินกู้กับลูกหนี้โดยระบุ จำนวนเงินกู้ไว้ในสัญญา และเมื่อลูกหนี้ลงลายมือชื่อในสัญญาแล้วและมีการผ่อนชำระตามที่ตกลงกัน เมื่อครบกำหนด หรือภายหลังเจ้าหนี้ไปทำการแก้ไขตัวเลขเงินกู้ในสัญญา เช่น ลูกหนี้กู้เงินจากเจ้าหนี้ จ้านวน 50,000 บาท เจ้าหนี้แก้ไขสัญญาโดยเพิ่มจำนวนเงินกู้เป็น 150,000 บาท เป็นต้น
@ ทำสัญญาย้อนหลัง-นิติกรรมอำพราง
4.เจ้าหนี้หักดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นวิธีการที่เจ้าหนี้หักเงินดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ได้รับเงินกู้น้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้
5.ทำสัญญากู้ย้อนหลังและนำไปฟ้องร้องบังคับคดี โดยให้ลูกหนี้ทำสัญญา ประนีประนอมยอมความ เจ้าหนี้มักจะอาศัยความรู้ความเข้าใจกฎหมายหรืออาศัยกฎหมายเพื่อเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้
โดยเจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ โดยอาจให้เงินจำนวนหนึ่งในวันทำสัญญาเงินกู้และลงวันที่ในสัญญาเงิน ซึ่งเป็นวันที่ย้อนหลังและระบุวันครบกำหนดชำระเงินไว้แล้ว เจ้าหนี้จะนำไปฟ้องร้อง ต่อศาลโดยอ้างว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะนัดลูกหนี้เพื่อไปศาลเพื่อทำสัญญาประนีประนอม ยอมความที่ศาล ซึ่งเจ้าหนี้และทนายฝ่ายเจ้าหนี้จะจัดเตรียมเอกสารทุกอย่างไว้และขอให้ศาลพิจารณา และพิพากษาตามที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกัน
ในกรณีนี้วงเงินกู้จะบังคับเต็มวงเงินตามสัญญา เจ้าหนี้จะให้เงินกู้ส่วนที่เหลือแก่ลูกหนี้ (บางกรณีเจ้าหนี้จะให้เงินกู้ทั้งจำนวนแก่ลูกหนี้หลังทำสัญญา ประนีประนอมยอมความ)
ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ เจ้าหนี้จะสามารถบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้องอีก กรณีเจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ได้ การบังคับคดีในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ในการบังคับคดีหรือยึดทรัพย์สินจากลูกหนี้
กลุ่มที่ 2 กรณีไม่ใช้รูปแบบกู้เงิน เป็นกรณีการทำนิติกรรมอำพราง หรือ หลีกเลี่ยงกฎหมายแบบหนึ่งในการกระทำของเจ้าหนี้ ได้แก่ การซื้อขายสินค้า การจำนำ การจำนอง การขายฝาก การวางหลักประกัน โดยการทำนิติกรรมเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อปิดบังหรืออำพรางการกู้ยืมเงิน